ทฤษฎีการนวดไทยแบบราชสำนักเพื่อการบำบัดโรค

เอกลักษณ์ของการนวดไทยแบบราชสำนัก มีรายละเอียด ดังนี้

  • ต้องมีกิริยามารยาทเรียบร้อย
  • ไม่เริ่มนวดฝ่าเท้านอกจากจำเป็นจริง ๆ โดยมากจะเริ่มใต้เข่ามาข้อเท้า หรือจากต้นขามาถึงข้อเท้า
  • ใช้เฉพาะมือ คือ นิ้วหัวแม่มือ ปลายนิ้วอื่น และอุ้งมือในการนวดเท้านั้น
  • ท่าทางในการนวดผู้ป่วยอยู่ในท่านั่ง นอนหงายและนอนตะแคง เท่านั้น และไม่นวดในท่าที่ผู้ป่วยนอนคว่ำ
  • ไม่ใช้การดัดงอข้อหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายผู้ป่วยด้วยกำลังที่รุนแรง ไม่มีการนวดโดยใช้เท้า เข่า ข้อศอก
  • ใช้หลักวิชาของหัตถเวชกรรมแผนไทยแบบราชสำนักในการตรวจร่างกาย เพื่อวินิจฉัยและรักษาโรค
  • หลักในการรักษาโรคโดยการนวดแบบราชสำนัก มุ่งหวังผลเพื่อต้องการทำให้เกิดผลต่ออวัยวะและเนื้อเยื่อที่อยู่ลึก โดยเพิ่มการไหลเวียนเลือดและเพิ่มการทำงานของเส้นประสาทให้มีประสิทธิภาพขึ้น

ความรู้เกี่ยวกับกายวิภาคศาสตร์และสรีระวิทยาหัตถเวชแผนไทยแบบราชสำนัก

  • ระบบผิวหนัง (ตโจ) ผลของการนวดทำให้การไหลเวียนของเลือดที่ผิวหนังดีขึ้น  กระตุ้นการขับเหงื่อและไขมัน ทำให้เลือดมาเลี้ยงที่ผิวหนังมากขึ้น
  • ระบบกล้ามเนื้อ (มังสัง) ผลของการนวด เกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อลาย ทำให้ลดการคั่งค้างของกรดแลคติก เพิ่มการไหลเวียนเลือดและส่งผลให้อาการเมื่อยหายไป
  • ระบบกระดูก (อัฐิ)และข้อต่อ (ลสิกา) ผลของการนวดช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือด ทำให้กระดูกหักติดกันได้เร็วและดีขึ้น ข้อต่อมีการเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น
  • ระบบไหลเวียนเลือด (โลหิตัง) การนวดมีผลโดยตรงทำให้เลือดคลายตัวและหดตัวได้ เพิ่มการไหลเวียนของเลือด ข้อควรระวัง การเปิดประตูลม ไม่ควรกดนานเกินกว่า 45 วินาที เพราะอาจทำให้เกิดอาการชาได้เนื่องจากเส้นประสาทขาดเลือดไปเลี้ยง
  • ระบบประสาท (มัตถเกมัตถลุงคัง) ผลของการนวด เกิดโดยอ้อม ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางระบบประสาทเกินปฏิกิริยาโต้ตอบ และควบคุมการหลั่งสารสื่อประสารทภายในร่างกาย ทำให้เกิดความรู้สึกผาสุกในรูปแบบของการผ่อนคลาย
  • ระบบย่อยอาหาร (อุทริยังและกรีสัง) ช่วยแก้อาการท้องอืด ลมในท้องมากได้ และยังช่วยแก้อาการท้องผูกในกรณีผู้ที่เป็นเถาดานพรรดึก

ความรู้พื้นฐานด้านหัตถเวชกรรมแผนไทยแบบราชสำนัก

  • คุณสมบัติของหมอ ต้องประกอบด้วย ศีลธรรมจรรยา มรรยาท
    • ศีลธรรมจรรยา มี 5 ประการ คือ ตั้งสัจจะ ตั้งนิ้ว ตั้งสมาธิ ตั้งตา และตั้งใจ และศีลของหมอมี 3 ประการ คือ ไม่ดื่มสุรา ไม่หลอกลวง ไม่เจ้าชู้
    • มรรยาทของผู้นวด มีขั้นตอนดังนี้ เดินเข่าเข้าหาผู้ป่วย นั่งพับเพียบ ยกมือไหว้ผู้ป่วย ตรวจชีพจร ขณะทำการนวด ไม่ควรก้มหน้าและสำรวมกิริยา
  • ความรู้ในการทำหัตถกรรมเวชแผนไทยแบบราชสำนัก
    • ท่าที่ใช้ ผู้ป่วย (นอนหงาย นอนตะแคงคู้เข่า นั่งขัดสมาธิ นั่งห้อยเท้า) หมอ (นั่งพับเพียบ นั่งคุกเข่าคู่ พรหมสี่หน้า หนุมานถวายแหวน ยืนหกสูง กลางและต่ำ)
    • การวางมือ
    • ขนาดของแรงและเวลาที่ใช้ในการนวดแต่ละครั้ง แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ น้ำหนักเบา (50 ปอนด์) น้ำหนักปานกลาง (70 ปอนด์) และน้ำหนักมาก (90 ปอนด์)
    • การกำหนดลมหายใจ ลมหายใจออกเป็นตัวกำหนด เรียกว่า 1 คาบ การหายใจปกติ 1 ครั้ง เรียกว่า คาบน้อย (10-15 วินาที) ส่วนใหญ่ใช้ในการนวดพื้นฐาน หายใจเข้าลึก หายใจออกยาว 1 ครั้ง เรียกว่า คาบใหญ่ (30-45 วินาที) ส่วนใหญ่ใช้กับการนวดรักษาโรค และการเปิดประตูลม
    • การกำหนดองศามาตราส่วน คือ การวางท่านวดของหมอตำแหน่งที่จะนวด
    • ตำแหน่งที่นวด
    • การนวดซ้ำในแต่ละจุด (จุดเน้น)
    • เทคนิคการใช้นิ้วในการนวด

ขั้นตอนในการฝึกปฏิบัติ

  • กลุ่มอาการที่สามารถรักษาด้วยหัตถบำบัด
    • เป็นอาการที่มาด้วยการบอกเล่าอาการ เช่น เจ็บ ปวด บวม ขัดยอก
    • ความพิการเรื้อรังเสียรูปผิดรูป เช่น ขาโง เดินกะเผลก
    • การอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ เช่น อัมพฤกษ์ อัมพาต
    • โรคเฉียบพลันจากการอักเสบของข้อ เช่น ภาวะข้ออักเสบ ข้อยึดติดแข็ง ข้อเคลื่อน
    • การนวดเพื่อกระตุ้นระบบไหลเวียนของโลหิตทำให้ผ่อนคลาย เช่น ภาวะเครียด ภาวะทางจิต
  • ข้อห้าม
    • มีไข้เกิน 38.5 องศา
    • ไข้พิษ ไข้กาฬ เช่น อีสุกอีใส งูสวัด
    • โรคผิวหนังที่มีการติดต่อ
    • โรคติดต่อ เช่น วัณโรค
    • ไส้ติ่งอักเสบ
    • กระดูกแตกหัก ปริ ร้าวที่ยังไม่ติด
    • สภาวะผิดปกติของเลือด เช่น เลือดไม่แข็งตัว
    • สภาวะที่มีอาการอักเสบทั้งระบบของร่างกาย
  • ข้อควรระวัง
    • สตรีมีครรภ์ ไม่ทำการนวดในเดือนที่ 3 ของการตั้งครรภ์ เนื่องจากเป็นช่วงที่มีการปรับฮอร์โมน และเดือนที่ 7 เนื่องจากช่วงที่เด็กเริ่มกลับหัว
    • ใส่อวัยวะเทียมหลังผ่าตัดกระดูก
    • ความดันโลหิตสูงเกิน 140/90 มิลลิเมตรปรอท
    • สภาวะข้อต่อหลวม

แนวเส้นพื้นฐานของหัตถเวชกรรมแผนไทยแบบราชสำนัก แบ่งเป็น 4 ขั้นตอน

  • หลักการนวดแนวเส้นพื้นฐาน มีทั้งหมด 10 เส้น คือ
    • บริเวณบ่า ประกอบด้วย 1)เส้นพื้นฐานบ่า 2)เส้นพื้นฐานไหล่ 3)เส้นพื้นฐานโค้งคอ
    • บริเวณแขน ประกอบด้วย 4)เส้นพื้นฐานแขนด้านใน 5)เส้นพื้นฐานแขนด้านนอก
    • บริเวณหลัง ประกอบด้วย 6)เส้นพื้นฐานหลัง
    • บริเวณขา ประกอบด้วย 7)เส้นพื้นฐานขา 8)เส้นพื้นฐานขาด้านนอก 9)เส้นพื้นฐานขาด้านใน
    • บริเวณท้อง ประกอบด้วย 10)เส้นพื้นฐานท้อง (การนวดพื้นฐานท้อง ก่อนทำการนวดท่าอื่น ต้องทำการนวดท่าแหวก ท่านาบก่อน และข้อควรระวัง คือ ไม่กดนวดรอบสะดือในระยะ 1 นิ้วมือ ก่อนนวดต้องให้ผู้ป่วยปัสสาวะก่อน และหลังรับประทานอาหารแล้วอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง ก่อนนวด ต้องนวดเส้นพื้นฐานอื่นให้เสร็จก่อน ห้ามนวดในผู้มีโรคประจำตัว เช่น มะเร็งในช่องท้อง ตับโต หรือแผลผ่าตัดที่ยังไม่หาย และในคนอ้วน เวลานวดท้องให้ชันเข่าทั้งสองข้างขึ้น
  • หลักการนวดจุดสัญญาณ จุดสัญญาณ คือ จุดหรือตำแหน่งสำคัญของเส้นในร่างกาย ที่สามารถบังคับจ่ายเลือด ความร้อน และพลังประสาทไปเลี้ยงบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย จุดสัญญาณ มีหลักอยู่เส้นละ 5 จุด ในแต่ละโรคอาจมีแนวเส้นรอง หรือจุดลูกสัญญาณประกอบอีก ได้ โดยมีทั้งหมด 50 จุด ดังนี้
    • สัญญาณขาด้านนอก สัญญาณขาด้านใน สัญญาณแขนด้านนอก สัญญาณแขนด้านใน สัญญาณหลัง สัญญาณหัวไหล่ สัญญาณศีรษะด้านหลัง สัญญาณศีรษะด้านหน้า สัญญาณท้อง มีเส้นละ 5 จุด
    • สัญญาณเข่า มีเส้นละ 3 จุด
    • สัญญาณข้อท้า และสัญญาณจุดจอมประสาท มี เส้นละ 1 จุด
  • หลักการเรียนทฤษฎีโรคต่าง ๆ และการรักษา
  • หลักการเรียนเทคนิคในการรักษาโรค

Scroll to top