ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการนวดแผนไทยประยุกต์

ประวัติความเป็นมาและความสำคัญของการนวดแผนไทยประยุกต์
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ แพทย์ในราชสำนักมีตำแหน่งเป็น หลวง ขุน หมื่น พัน และมีศักดินา ดังนี้

  • ตำแหน่ง เทียบเท่า ศักดินา
  • ขุนอุดมโอสถ ปลักกรม 400
  • ขุนมณีโอสถ นายเวร 200
  • พระวรองค์รักษา จางวาง 800
  • หลวงสัมพาหแพทย์ ปลัดจางวาง 400
  • หลวงสัมพาหภักดี ปลัดจางวาง 400
  • หลวงประสาทวิจิตร เจ้ากรมซ้าย 800
  • หลวงประสิทธิหัดถา เจ้ากรมขวา 800
  • ขุนวาตาพินาศ ปลัดกรมขวา 400
  • ขุนศรีสัมพาห ปลัดกรมซ้าย 400

ในปี พ.ศ. 2466 ได้ออก พรบ.การแพทย์เพื่อควบคุมการประกอบโรคศิลปะ เป็นฉบับแรก และมีการจัดให้สอบขึ้นทะเบียน 4 สาขา คือ เวชกรรม เภสัชกรรม ผดุงครรภ์ และการนวด ต่อมาในปี พ.ศ.2479 ได้ออก พรบ.การประกอบโรคศิลปะ และได้ยกเลิกสาขานวด มีผลให้การนวดแบบรักษาจะต้องมีใบประกอบโรคศิลปะสาขาเวชกรรม

หมอแผนไทยซึ่งไม่ได้เป็นหมอราชสำนักแล้วมีการจัดตั้งเป็นสมาคมขึ้น สมาคมแห่งแรกตั้งขึ้นใน พ.ศ.2475 โดยอาจารย์สีตวาทิน เป็นนายกสมาคมคนแรก

ใน พ.ศ.2525 ศาสตราจารย์ นายแพทย์อวย เกตุสิงห์ ได้ก่อตั้งการแพทย์แผนไทยประยุกต์ขึ้น และได้มีการนำการนวดแผนไทยประยุกต์มาใช้ในการรักษา

ขอบเขตและหลักการนวดแผนไทยประยุกต์
ขอบเขตเนื้อหาการเรียนวิชานวดแผนไทยประยุกต์ มีดังนี้

  • ประวัติการนวด
  • ศีล จรรยาบรรณ และสถานที่อโคจร
  • พิธีการไหว้ครู มอบตัวศิษย์ ครอบครู
  • เส้นประธาน 10
  • การฝึกนิ้วมือ
  • ประโยชน์และข้อควรระวังของการนวด
  • วิธีการฝึกนวดแนวเส้นพื้นฐาน 10เส้น พร้อมวิธีการแต่งรสมือ
  • วิธีการนวดจุดสัญญาณที่สำคัญ 50 จุด พร้อมความหมาย ประโยชน์ และข้อควรระวัง
  • ทฤษฎี กลไกการเกิดโรค อาการโรค หลักการวินิจฉัย
  • หลักการนวดรักษาสูตรพื้นฐานและการนวดรักษาโรคที่ใช้การนวดที่ซับซ้อน
  • ทักษะการนวดผู้ป่วยจริง
  • การให้คำแนะนำหลังการรักษา
  • การวิเคราะห์โรคเทียบเคียงกับแผนปัจจุบันและการส่งต่อผู้ป่วย

การแต่งรสมือ คือ การปรุงแต่งวิธีการนวดให้เหมาะสมกับโรคและลักษณะคนไข้เป็นราย ๆ ไป โดยแต่ละจุดที่นวดนั้นจะต้องมีสมาธิ หน่วง เน้น นิ่ง และใช้หลักการแต่งรสมือ 2 อย่าง คือ

  • การกำหนดองศา มาตราส่วน ซึ่งเป็นการควบคุมทิศแรงและน้ำหนักแรง แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ น้ำหนักขนาดเบา น้ำหนักขนาดปานกลาง น้ำหนักขนาดหนัก
  • คาบ คือ ระยะเวลาที่กดนวดในแต่ละจุด แบ่งออกเป็น คาบน้อยและคาบใหญ่
    – คาบน้อย คือ การกำหนดลมหายใจให้มีระยะเวลาในการกดสั้น (10-15 วินาที) โดยมากจะใช้กับการนวดแนวเส้นพื้นฐาน
    – คาบใหญ่ คือ การกำหนดลมหายใจให้มีระยะเวลาในการกดนาน (30-45 วินาที) โดยมากจะใช้ในการเปิดประตูลมและการนวดบังคับจุดสัญญาณ

หลักการใช้ประโยชน์ของการนวด มี 2 อย่าง คือ

  • เป็นการหวังผลจากการนวดเฉพาะที่ เพื่อบังคับเลือด ความร้อน พลังประสาท มาสู่จุดที่รักษา
  • เป็นการหวังผลแบบปฏิกิริยาสะท้อนกลับ คือ การกดนวดจุดหนึ่ง แล้วร่างกายเกิดปฏิกิริยาอีกตำแหน่งหนึ่ง เช่น การนวดสัญญาณ 5 ขาด้านใน แล้วสามารถช่วยเรื่องหัวใจวายเฉียบพลัน

ธรรมเนียมปฏิบัติแต่โบราณในการนวดแผนไทยประยุกต์
ศีล จรรยาบรรณ มี 3 ข้อ คือ ไม่ดื่มเหล้าหรือติดของมืนเมา ไม่เจ้าชู้ ไม่หลอกลวงเพื่อหวังผล
กฎระเบียบแบบราชสำนัก มีดังนี้

  • การเดินเข่า ควรเดินห่างจากคนไข้ 4 ศอก
  • นั่งพับเพียบ ควรห่างจากคนไข้ 1 ศอก (1 หัตถบาท)
  • ยกมือไหว้ ตามศักดิ์ของคนไข้
  • ตรวจจับชีพจร มือ-เท้า เพื่อสังเกตดูกำลังเลือดลม ลักษณะการเต้นของหัวใจ จำนวนครั้ง ความหนักเบาของชีพจร
  • ในขณะนวดต้องไม่ก้มหน้า- ไม่แหงนหน้า

พิธีกรรมไหว้ครู มีการประกอบพิธีกรรม 2 ขั้น คือ

  • การมอบตัวศิษย์ โดยศิษย์ใหม่จะต้องถือจานดอกไม้ ธูป เทียน พร้อมเงินบูชาครู 6 บาท
  • การครอบครู สำหรับผู้ที่จบการเรียนไปแล้ว และมีประสบการณ์การนวด 5 ปี (เป็นการป้องกันไม่ให้วิชาด้อยลง) โดยศิษย์เก่าจะนำดอกไม้ ธูปเทียน เงินบูชาครู 12 บาท

การฝึกพลังนิ้วมือ มีขั้นตอน คือ นั่งขัดสมาธิเพชร วางมือ/นิ้ว เกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้องและกำลังแขนยกให้ตัวลอย (ก้นพ้นพื้น) ประมาณ 30-60 วินาที

Scroll to top