การนวดแผนไทยขั้นพื้นฐาน

กระบวนการและเทคนิคการนวดแผนไทยขั้นพื้นฐาน

  • การนวดแผนไทยขั้นพื้นฐานเป็นการนวดทั้งตัว มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดการผ่อนคลายทั่วร่างกาย
  • กระบวนการนวดแผนไทยขั้นพื้นฐาน โดยเริ่มจากท่านอนหงาย ท่านอนตะแตงซ้าย-ขวา ท่านอนคว่ำ และจบด้วยท่านั่งเพื่อนวดต้นคอและศีรษะ
  • เทคนิคการนวดแผนไทยขั้นพื้นฐาน มีดังนี้
    ❐ การใช้นิ้วหัวแม่มือกดทับกัน เป็นการนวดในบริเวณพื้นที่แคบ เช่น แนวบริเวณฝ่าเท้า และตามร่องนิ้ว
    ❐ การใช้ฝ่ามือกดทับนิ้วหัวแม่มือ เป็นการนวดในบริเวณพื้นที่ปานกลาง มีลักษณะเป็นร่องเนื้อ เช่น บริเวณร่องกระดูกสันหน้าแข้ง
    ❐ การใช้ฝ่ามือกดทับฝ่ามือ เป็นการนวดในบริเวณพื้นกว้าง และรู้สึกเจ็บได้ง่าย เช่น ต้นขา
    ❐ การใช้สันมือย่ำ เหมือนกับฝ่ามือกดทับฝ่ามือ แต่ใช้แรงน้อยกว่า เป็นการคลายกล้ามเนื้อ
    ❐ การใช้ท่อนแขนหรือศอกกดคลึง ใช้บริเวณที่มีเนื้อหนา ๆ เช่น ส้นเท้า
    ❐ การใช้ส้นมือทั้งสองชนกันแล้วกด ใช้นวดกล้ามเนื้อบริเวณต้นขา ซึ่งรับความรู้สึกได้ไว
    ❐ การใช้ท่อนขาหรือเข่ากด ใช้กับการนวดบริเวณต้นขาด้านใน
    ❐ การใช้นิ้วมือนวดวนไปมา หรือนวดขยำ ใช้นวดบริเวณต้นคอ หนังศีรษะ หน้าผาก ขมับ
    ❐ การใช้นิ้วหัวแม่มือนิ้วเดียว ทำการกดบริเวณไหล่ ต้นคอ แต่จะใช้ฝ่ามือประคองบริเวณที่ทำการกดด้วย

วิธีการนวดแผนไทยขั้นพื้นฐาน
การนวดแผนไทยขั้นพื้นฐานมีด้วยกัน 6 ท่า คือ

  • ท่าที่ 1 เป็นท่านอนหงาย นวดบริเวณเท้า (ข้างขวา) นวดบริเวณขาช่วงล่าง (ร่องกระดูกสันหน้าแข้งด้านใน) นวดบริเวณกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า นวดกลับลงไปที่ขาช่วงล่าง โดยมีข้อควรจำคือ เวลานวด แขนทั้งสองต้องดึง หลังแอ่น ทำให้มีน้ำหนักในการกดดีและผู้นวดไม่ปวดหลังควรใช้น้ำหนักตัวช่วยเพิ่มแรงกด
  • ท่าที 2 เป็นท่านอนหงาย แนวที่ทำการนวด คือ บริเวณหลังเท้า ข้อเท้า แนวกระดูกสันหน้าแข้งในด้านนอก 3 เส้น โดยมีข้อควรจำ คือ 1)เมื่อทำการหมุนข้อเท้า ควรจับข้อเท้าให้แน่น 2)เวลาทำการนวดบริเวณต้นขา ต้องนวดเบา ๆ 3)การกดจุดเพื่อเปิดประตูลม ไม่ควรทำเกิน 30 วินาที
  • ท่าที่ 3 เป็นท่านอนหงาย บริเวณที่ทำการนวด คือ กล้ามเนื้อต้นขาด้านใน เส้นที่ 1 และ 3 และกล้ามเนื้อต้นขาด้านนอก เส้นที่ 3โดยมีข้อควรจำ คือ 1)การนวดในท่านี้ช่วยคลายกล้ามเนื้อบริเวณต้นขาได้ดี แต่ต้องทำอย่างระมัดระวัง โดยพิจารณาถึงความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อเป็นหลัก 2)ควรใช้มือประคองที่เข่าเวลาต้องการยืดกล้ามเนื้อต้นขา 3)ควรทำการนวดทีละขั้นเพื่อให้กล้ามเนื้อค่อย ๆ ยืดตัว 4)ควรให้ฝ่าเท้าของผู้ถูกนวดยันกับแขนของผู้นวดเพื่อช่วยยืดกล้ามเนื้อขาทุกส่วนให้ตึง
  • ท่าที่ 4 เป็นท่านอนตะแคงซ้าย จะทำการนวดบริเวณฝ่าเท้า น่อง สะโพก และหลัง โดยมีข้อควรจำ คือ เวลาใช้ศอกกดคลึงจะต้องทำเบา ๆ ใช้ท่อนแขนสวนต่อกับศอกกดคลึงไม่ใช้เฉพาะส่วนของศอกซึ่งมีความแหลมคม ควรใช้ท่อนขาบริเวณที่ติดกับเข่าช่วยนวดด้วย ไม่ใช้เฉพาะส่วนเข่าอย่างเดียว
  • ท่าที่ 5 เป็นท่านอนคว่ำ บริเวณที่จะนวด คือ บริเวณกล้ามเนื้อต้นขาด้านหลังและด้านใน นวดกล้ามเนื้อน่อง และนวดหลัง โดยมีข้อควรจำ คือ เวลาทำการนวดกดเพื่อยืดขาทั้งหมด หรือเวลานวดโดยใช้หัวเข่าช่วยนั้น ควรทำอย่างนุ่มนวล ค่อย ๆ ทิ้งน้ำหนักลงไปทีละน้อย และให้ใช้เข่าและบริเวณที่ต่อจากเข่านวดด้วย ไม่ใช้เฉพาะส่วนแหลมของเข่าเท่านั้น
  • ท่าที่ 6 เป็นท่านอนหงาย แนวการนวด คือ ส่วนแขนทั้งหมด มือ และท่านั่ง คือ ไหล่ คอ ศีรษะ โดยมีข้อควรจำ คือ 1)เมื่อทำการนวดบริเวณนิ้วมือ ฝ่ามือ ควรทำอย่างรวดเร็ว แรงพอสมควร เพื่อให้ได้จังหวะและน้ำหนัก เนื่องจากบริเวณนั้นไม่ค่อยมีกล้ามเนื้อ 2)ควรนวดเบา ๆ บริเวณศีรษะ หน้าผาก และขมับ
Scroll to top