ปรัชญาและแนวคิดของการนวดแผนไทยภาคเหนือ
- การแพทย์พื้นบ้านภาคเหนือได้รับอิทธิพลทางความคิดมาจากพุทธศาสนาผสานกับความเชื่อเรื่องผีและพิธีกรรมทางลัทธิพราหมณ์ โดยมีความเชื่อว่า การกำเนิดของคนประกอบด้วยธาตุทั้ง 4 และมีพลังจิต หรือที่เรียกว่า ขวัญ เข้ามาเชื่อมต่อกับอวัยวะทั้ง 32 เพื่อการรับรู้และแสดงอาการต่าง ๆ นอกจากนั้นยังเชื่อว่า สิ่งเป็นอยู่ตามธรรมชาติ สาเหตุที่เกิดโรคว่า คนประกอบขึ้นด้วยรูปและนาม อย่างสมดุลและสัมพันธ์กัน เมื่อมีเหตุที่ทำให้เสียสมดุล จะมีผลกระทบกับสุขภาพได้
- การนวดพื้นบ้านภาคเหนือ เรียกว่า นวดเอาเส้นเอาเอ็น ในท้องถิ่นอื่น เรียกว่า จับเส้น
- ผู้ที่ทำการนวดแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ หมอนวดผู้ชายที่ผ่านการบวชเรียน จะมีพิธีกรรม มีการใช้บทสวดหรือคาถาประกอบการนวด และมีภูมิความรู้ด้านการแพทย์แผนโบราณ เรียกว่า พ่อหมอ และหมอนวดผู้หญิงที่มีความชำนาญ ซึ่งส่วนใหญ่สืบทอดความรู้เกี่ยวกับการดูแลมารดาคลอดจากญาติหรือคนใกล้บ้าน เรียกว่า แม่จ้าง
รูปแบบวิธีการนวดแผนไทยภาคเหนือ
- การนวดเอาเอ็น มีวิธีการนวดดังนี้ การกดเน้น การกดคลึง การดัด/การดึง
- การเช็ด คือ การใช้ใบไม้ (ใบพลู) เสกคาถาใส่ แล้วลูบไปตามผิวหนังบริเวณที่มีอาการปวดหรือบวมอันเกิดจากโรคฝีหรือโรคผิวหนัง เป็นการรักษาคนไข้ที่มีอาการเจ็บปวด เส้นเอ็นขี่กัน เส้นเลือดตีบ และอาการป่วยไม่รู้สาเหตุ เข่น โดนปิ๊ด โป่ง ปิ๊ดยำ (ปิ๊ดเจ็บปวดข้างใน) อุปกรณ์การเช็ด ประกอบด้วย ใบพลู ใบผักดีด น้ำส้มป่อยที่นำมาทำเป็นน้ำมนต์
- การแหก คือ การใช้มีดหมอ (ไม่คม) กรีด แหก ขูด ผิวหนังบริเวณที่มีอาการปวดหรือบวม โดยต้องใช้คาถาประกอบ เป็นการรักษาต่อเนื่องจากวิธีการเช็ด หากรักษาด้วยการเช็ดแล้วไม่หายต้องทำการแหกต่อ อุปกรณ์การแหก ประกอบด้วย เขี้ยวหมู เขี้ยวเสือ มีดหมอ ไม้ตายฟ้าผ่า งาช้าง เขาควายเผือก เขาควายตายฟ้าผ่า และน้ำปูเลย (น้ำส้มป่อย) เพื่อทำน้ำมนต์ แต่ถ้าไม่มีอะไรเลย ใช้น้ำปูเลยแหกก็ได้
- การตอกเส้น คือ การนวดโดยใช้ลิ่มไม้และค้อนไม้ตอกกระตุกเส้นที่อยู่ลึกเพื่อให้เส้นสะดุ้ง แล้วใช้สมุนไพรประคบ
╰☆โรคที่รักษาด้วยการนวดแบบตอกเส้น คือ โรคปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โรคปวดข้อ โรคทางเส้น (โรคกระดูกทับเส้น เส้นเกร็ง อัมพฤกษ์ อัมพาต)
╰☆โรคทีห้ามรักษา คือ โรคหัวใจและโรคความดันโลหิตสูงหรือโรคประสาท และผู้ที่เป็นไข้
╰☆สมุนไพรที่ใช้ประกอบการรักษา คือ น้ำมัน (น้ำมันเลียงผาหรือน้ำมันงา) สมุนไพร - การย่ำขาง คือ การใช้เท้าชุบน้ำมันงาหรือน้ำสมุนไพร (ไพล) แล้วย่ำลงบนขาง (เหล็ก) ที่ร้อน หลังจากนั้นไปเหยียบย่ำร่างกายผู้ป่วยบริเวณที่ปวด พ่อหมอนิยมใช้ขางที่เป็นเหล็กหัวไถนา อาการที่สามารถรักษาด้วยการย่ำขาง คือ อาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดเอ็น ปวดข้อ/กระดูก อาการที่ชาบริเวณ มือ แขนขา เอว จากการไหลเวียนของเลือดไม่สะดวก อาการอัมพฤกษ์ อัมพาต