การเจริญของครรภ์ (ครรภ์ปริมณฑล)

สตรีผู้ใดมีครรภ์ตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป ถึง 10 เดือน และเป็นไข้ดังที่กล่าวมาแล้ว จะแก้ด้วยสิ่งใดๆ ก็มิฟัง ท่านให้แต่ยาขนานนี้กิน มีตัวยาดังนี้ โกฐสอ โกฐเขมา โกฐหัวบัว โกฐเชียง โกฐก้านมะพร้าว เทียนดำ เทียนแดง เทียนขาว เทียนเยาวพาณี เทียนสัตตบุษย์ ดอกสัตตบุษย์ ดอกบัวเผื่อน ดอกบัวขม ดอกลินจง ดอกจงกลนี กฤษณา กระลำพัก ชะลูด ขอนดอก จันทร์แดง จันทร์ขาว สน กรักขี เทพทาโร สมุลแว้ง อบเชยเทศ รากสามสิบ ยา 27 สิ่งนี้ เอาส่วนเท่ากัน ต้ม 3 เอา 1 กิน แล้วรักษาไข้ในครรภ์ตลอดไป แต่ต้นจนปลายดีนัก

อีกวิธีหนึ่งท่านให้เอา แก่นขี้เหล็ก แก่นสะเดา แก่นสน จันทร์แดง จันทร์ขาว รากหญ้านาง ผลมะขามป้อม ผลกระดอม บอระเพ็ด ผลมะตูมอ่อน หัวแห้วหมู ฝักราชพฤกษ์ ก้านสะเดา 33 ก้าน ยา 13 สิ่งนี้ เอาส่วนเท่ากัน ต้ม 3 เอา 1 กินแก้ครรภ์รักษาและแก้ไข้เป็นต่างๆ ให้จับ ให้ลง ให้รากเป็นโลหิต และพิษโลหิตทำต่างๆ ถึงคลอด แท้งลูก โลหิตทำให้ร้อนและหนาว ให้รำส่ำระส่ายก็ดี ให้กินยานี้ หายสิ้นได้ใช้มามากแล้ว และมียารักษาครรภ์ในระยะเจริญอยู่ในพระคัมภีร์ปฐมจินดา

การเจริญเติบโตของทารกในครรภ์

ในระยะ 1 เดือนแรก  ตัวผสมพันธุ์ในน้ำอสุจิชายได้เข้าไปผสมกับไข่สุกของผู้หญิงแล้ว เป็นเวลาล่วงเลยมาได้ 2 สัปดาห์ ทารกก็จะเกิดเป็นกระดูกอ่อนขึ้นก่อน เป็นมูลฐานเดิมเริ่มตั้งต้นชีวิตขึ้นแล้ว ก็เกิดเนื้อสมองและเนื้อประสาท แล้วเกิดเป็นหลอดขึ้นภายในติดต่อเรื่อยมา หลอดภายในนี้ต่อไปก็จะเป็นหัวใจ ขณะที่ทารกได้เกิดขึ้นแล้ว มีลักษณะกลมๆ พอย่างเข้าสัปดาห์ที่ 3 ทารกจะมีลักษณะเหมือนตัวด้วง พอย่างเข้าครบหนึ่งเดือน จะเกิดเป็นช่องต่างๆ ขึ้นภายในคือ ช่องทรวงอกและช่องท้องขณะที่หลอดที่เป็นหัวใจก็จะมีอาการเริ่มตื่นเต้นระริกๆ น้อยๆ บ้างแล้ว และตัวทารกนั้นก็จะเกิดมีปุ่มออกข้างๆ พอสังเกตได้ต่อไปปุ่มนี้ก็จะเป็นมือและเท้า ครั้นล่วงเลยถึง ปลายสัปดาห์ที่ 5 เนื้อประสาทที่เกิดขึ้นภายในเจริญเห็นได้ชัด ขณะที่ทารกจะโตขึ้นประมาณเท่ากับไข่นกพิราบยาวประมาณ 1 นิ้ว พอเห็นได้ว่า ทางด้านใดเป็นหัว ทางใดเป็นเท้า ทางหัวโตกว่าทางเท้า และลำไส้ภายในยาวตลอดตัว และมองเห็นเป็นจุดดำๆ จุดดำนี้คือ ลูกตาจะเห็นหลอดนี้อยู่ข้างใน หลังหลอดนี้จะไหวตัวได้เสมอ ต่อไปจะเป็นหัวใจ และจะมีหลอดอีกอันหนึ่งจะเป็นลำไส้ต่อไปอีกด้วย

พอย่างเข้าเดือนที่ 2  เกิดเยื่อบางๆ หุ้มจุดดำทั้งภายนอกและภายในโดยรอบตัว และมีสายดือยาวประมาณ 3 นิ้วเท่ากับตัวทารก มองเห็นมีปาก จมูก หู ตา มือ เท้า งอกเจริญขึ้นเป็นจุดดำๆ รวมทั้งกายโตประมาณเท่าไข่ไก่

พอย่างเข้าเดือนที่ 3  ตัวทารกเริ่มเกิดเป็นนิ้วมือ นิ้วเท้า แยกออกเป็นนิ้วๆ รวมกับตัวด้วยโตประมาณเท่าไข่ห่าน อวัยวะอื่นๆ ก็งอกงามกว่าเดิม สายสะดือและตัวยาวเท่ากันประมาณห้านิ้ว เท่ากับตัวทารก

พอย่างเข้าเดือนที่ 4  อวัยวะในตัวทารกเกิดเกือบพร้อมกันหมด แต่ตาไม่มี เล็บมือ เล็บเท้างอกออกครึ่งหนึ่ง ถ้าจะฟังดูที่ด้านหน้าท้องมารดาจะได้ยินเสียงหัวใจทารกเต้นเท่ากับครบ 3 เดือนย่างเข้าเดือนที่ 4 ทารกในครรภ์จะเริ่มดิ้นได้แล้ว ถ้าท้องสาวจะไม่ไคร่รู้สึก ถ้ามารดามีครรภ์ที่สองที่สามมาแล้ว จะสังเกตเห็นได้ดีในเดือนนี้ สายสะดือและตัวทารกจะยาวหกนิ้วเท่ากัน

พอย่างเข้าเดือนที่ 5  ผู้ที่เคยฟังหัวใจทารกในครรภ์ อาจจะได้ยินเสียงหัวใจทารกเต้าได้ถนัด และนับได้ว่าเต็นนาทีละเท่าใด การฟังหัวใจทารกในครรภ์ ต้องฟังที่ใกล้สะดือที่หน้าท้องมารดาทางขวาหรือทางซ้าย หรือรอบๆสะดือ เมื่อทารกดิ้นได้จะสังเกตได้แน่ชัดกับอาการต่างๆ ของอวัยวะมีครบบริบูรณ์ เช่น ผมดำ ลืมตา หลับตาได้บ้างแล้ว สายสะดือและตัวยาวเก้านิ้ว เท่ากับตัวทารก

พอย่างเข้าเดือนที่ 6   เล็บของทารกยังงอกไม่เต็มที่ สายสะดือและตัวยาว 12 นิ้วเท่ากับตัวทารก ถ้าคลอดในเดือนนี้ บางทีเลี้ยงรอดได้ แต่ต้องใช้ความร้อนเลี้ยงร่างกายให้อบอุ่น ให้เพียงพอเท่ากับอยู่ในครรภ์มารดาจึงจะรอดได้ บางที่คลอดได้เพียง 12 วันก็ตาย เหตุที่ทารกตายเพราะกรดแลคติคในกระเพาะอาหารทารกไม่มี ทำให้ไม่เกิดการย่อยของน้ำนม ครั้นทารกกินนมเข้าไปแล้วเกิดอาการท้องเสีย ไม่มีสารอาหารไปเลี้ยงร่างกาย เลือดเนื้อในร่างกายทารกเสียหมด หากทารกนี้เลี้ยงรอดต่อไปได้ก็ไม่แข็งแรง มักจะเป็นเด็กขี้โรค ออดแอด และอ่อนแอ

พอย่างเข้าเดือนที่ 7   ถ้าทารกคลอดในเดือนนี้ เลี้ยงรอดได้ แต่ห้ามไม่ให้อาบน้ำเย็น ให้ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นๆ เช็ดตัวทารกให้แห้ง ทาด้วยน้ำมันสลัด หรือน้ำมันมะพร้าวตามตัวทารก เอาผ้าสำลีหุ้มห่อตัวทารกไว้เสมอ เพื่อให้ความอบอุ่นให้เพียงพอ ควรให้อาหารคือ เกลือละลายน้ำพอกร่อยๆ หยดให้กินทีละน้อยๆ สักสองสามวันแล้วจึงให้น้ำนมต่อ

พอย่างเข้าเดือนที่ 8  ทารกจะมีอวัยวะครบทุกอย่าง ถ้าทารกคลอดในเดือนนี้เลี้ยงได้ง่าย ปฏิบัติเช่นเดียวกับเด็กที่เกิดในเดือน 7 ทารกและสายสะดือยาว 16 นิ้ว เท่ากับตัวทารก

พอย่างเข้าเดือนที่ 9  เป็นทารกที่ครบกำหนดคลอด อวัยวะครบถ้วนทุกอย่าง สายสะดือและตัวยาวเท่ากับ 17 นิ้ว หัวใจเด็กหญิงเต้น (ประมาณ 130 ถึง 140 ครั้งต่อหนึ่งนาที) เร็วกว่าเด็กชาย (ประมาณ 125 ถึง 130 ครั้งต่อหนึ่งนาที) โดยฟังจากหน้าท้องมารดา ในระยะนี้การฟังเสียงหัวใจเด็ก ให้ฟังที่หน้าท้องมารดาบริเวณรอบๆ สะดือห่างประมาณ 3 นิ้ว จะได้ยินถนัด ต่อไปก็จะเริ่มเจ็บท้องเตือน และเจ็บท้องคลอด จะได้กว่าต่อไป

กิริยาทารกในครรภ์

ทารกเมื่ออยู่ในครรภ์นั้นได้งอตัวอยู่ในมดลูก และลอยแยู่ในน้ำคร่ำ มีสายสะดือติดต่อเป็นขั้วอยู่กับรกและดิ้นพลิกตัวไปมาได้รอบๆ โดยมีน้ำคร่ำหล่ออยู่ เมื่อทารกโตประมาณ 3 เดือนเศษ ใช้กำลังแขน ขา มือ เท้าถีบกระทุ้งตามข้างมดลูก ซึ่งมารดาจะรู้สึกว่าทารกดิ้น หัวใจทารกก็เต้นด้วย ทารกในครรภ์ถ่ายอุจจาระและปัสสาวะได้บ้าง แต่ไม่มากเหมือนทารกนอกครรภ์

ทารกในครรภ์ ได้รับอาหารจากโลหิตของมารดาซึ่งมาตามสายสะดือ โดยมีการแลกเปลี่ยนอาหารจากโลหิตแดงของมารดา ไหลเวียนกลับมาบำรุงเลี้ยงทารกให้เติบโตขึ้นมาเป็นลำดับ สายสะดือมีความสำคัญมาก ถ้าเป็นปมเป็นขอดดังกล่าวแล้ว หรือถ้าทารกกดทับหรือพันที่คอทารกหรือพันคอ และพันตามขาหนีบมากเกินไป ทำให้การส่งอาหารไปมาไม่สะดวก ก็จะทำให้ทารกในครรภ์มีร่างกายไม่สมบูรณ์ อาจจะเป็นเด็กอ่อนแอหรือเล็กแคระ บางทีเล็กเป็นลูกกรอก ชาวบ้านนับถือว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์

ครรภ์ผิดปกติ หรือ การตั้งครรภ์ผิดปกติ

การตั้งครรภ์ผิดธรรมดานั้นคือ รกเกาะติดอยู่ปากมดลูก เมื่อเป็นดังนี้ ถึงเวลาคลอด รกจะต้องออกมาก่อนจึงทำให้เลือดออกมามาก สตรีผู้คลอดมักตาย

การช่วยเหลือ ต้องรีบผ่าคลอดรกออกและช่วยให้ทารกคลอดโดยเร็ว และช่วยระงับโลหิตแล้วส่งแพทย์ด่วน

อีกอย่างหนึ่ง ไข่สุกที่ผสมแล้วไปติดอยู่ที่หลอดปากแตร มักเป็นแก่หญิงที่เคยมีบุตรแล้ว ส่วนสตรีสาวนั้นมักไม่ค่อยเป็น เมื่อเป็นเช่นนี้อยู่มาในไม่ช้า ถุงหุ้มตัวเด็กจะแตกออก มักทำให้สตรีนั้นเป็นอันตราย แม้ว่าจะรู้สึกได้ว่าการตั้งครรภ์นั้นผิดปกติ ทำให้มีอาการผิดปกติ เช่น มีระดูหยุดเหมือนตั้งครรภ์ธรรมดา แต่ท้องนั้นไม่โต คือ ไม่นูนออกมากลางท้อง แต่กลับไปนูนข้างๆท้อง ตามที่ทารกติดอยู่ ถ้าพบเช่นนี้ในระหว่างตั้งครรภ์ได้ 2-4 สัปดาห์ สมควรทำอย่างหนึ่งอย่างใดให้ทารกตาย (เป็นหน้าที่ของแพทย์แผนปัจจุบัน) การชำเช่นนี้บางทีช่วยมารดาได้ เมื่อทารกตายแล้วไม่ต้องวิตกกังวล ในระยะต่อมาจะสลายตัวไปเอง (ควรจะพบแพทย์โดยเร็วเมื่อพบการผิดปกติของครรภ์เช่นนี้) โดยร่างกายของมารดาทำการดูดซึมคือ สายสะดือจะกลืนหายไปเอง การตั้งครรภ์วิปลาสจะไม่พบบ่อยนำมากล่าวไว้เพื่อพบปะจะได้เข้าใจเมื่อตรวจพบและส่งโรงพยาบาลได้ทันที

โรคแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์

1.อาการอาเจียนอย่างรุนแรง หลังอายุครรภ์ได้ 16 สัปดาห์  อาการคลื่นไส้อาเจียนยังไม่หายไป บางรายอาจเป็นจนกระทั้งคลอด รายที่มีอาการรุนแรงจะมีอาการเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ซึม ผิวหนังแห้ง ลิ้นแห้ง ลิ้นเป็นฝ้า ริมฝีปากแห้งแตก ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น ปัสสาวะน้อย สีเข้ม เป็นอาการของภาวะขาดน้ำหรือขาดสารอาหารได้

การช่วยเหลือ –ควรได้รับการรักษา ตั้งแต่แรกจะได้ผลดีกว่าทอดทิ้งไว้นาน

2.โรคพิษแห่งครรภ์  หรือ โรคครรภ์เป็นพิษ  มักพบหลังอายุครรภ์ได้ 28 สัปดาห์ไปแล้ว มักเกิดขึ้นในมารดาที่มีครรภ์แฝด เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงเรื้องรัง หรือมีการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก

อาการ –ความดันโลหิตสูง เมื่อวัดความดันโลหิตขณะตรวจครรภ์ได้สูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท หรือความดันโลหิตเพิ่มขึ้นจากครั้งก่อนมาก มีอาการบวมมากกว่าปกติ คือ บวมที่ขา เท้า มือ ท้อง และหน้า จะสังเกตได้จากการชั่งน้ำหนักตัวเวลาตรวจครรภ์ ถ้าเพิ่มมากกว่าสัปดาห์ละ 1/2 กิโลกรัม ควรสังเกตครั้งต่อไป นอกจากนี้ยังมีอาการปวดหัว ตามัว ตาพร่า หรือมีไข่ขาวในปัสสาวะ หรืออาจมีอาการชักเกิดขึ้นได้

การช่วยเหลือ –ต้องแนะนำโดยเน้นให้หญิงที่มีครรภ์มาตรวจครรภ์อย่างสม่ำเสมอ หรือเมื่อมีสภาพผิดปกติดังที่กล่าวข้างต้น ควรมาพบแพทย์โดยด่วน

3.โรคหัวใจ  ถ้าเกิดในหญิงตั้งครรภ์จะมีอันตราย เพราะขณะตั้งครรภ์หัวใจต้องทำงานมากกว่าคนปกติอยู่แล้ว ฉะนั้นถ้าคนที่มีอาการโรคหัวใจมากๆ จะตั้งครรภ์ไม่ได้ แพทย์อาจต้องพิจารณาให้ทำแท้งให้เพื่อช่วยชีวิตของมารดา และในรายที่ตั้งครรภ์ได้แพทย์จะต้องช่วยเหลือในการคลอดด้วยหรือในระยะครรภ์อาจต้องพักผ่อนหรือได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด

การช่วยเหลือ – เราสามารถถามอาการจากการตรวจครรภ์ว่า เคยมีอาการเหนื่อยบ่อยๆ หรือไม่ ถ้าพบหญิงมีครรภ์เป็นโรคหัวใจ ต้องมาให้แพทย์ตรวจตามนัดอย่างสม่ำเสมอและทำคลอดเอง

4.ท่อทางเดินปัสสาวะอักเสบ  มักเกิดในท้องแรก เมื่อตั้งครรภ์ได้ประมาณ 24 สัปดาห์

อาการ – ปวดท้องอย่างรุนแรง โดยเฉพาะบริเวณบั้นเอว มีไข้สูง หนาวสั่น ชีพจรเต้นเร็ว ปัสสาวะขุ่นข้น

การช่วยเหลือ – ส่งต่อแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง มิฉะนั้นอาจเกิดการติดเชื้อที่รุนแรงขึ้นภายในร่างกาย และอาจเกิดการแท้งได้

Scroll to top