การปฏิสนธิ (ครรภ์วาระกำเนิด)

สตรีมีรังไข่อยู่คู่หนึ่ง ภายในช่องท้องส่วนล่างข้างละหนึ่งรัง รังไข่นี้ประกอบด้วย ไข่เล็กๆ เป็นจำนวนมากซึ่งมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น เมื่อสตรีเริ่มสาวแล้วไข่จะค่อยๆเจริญเติบโตจนสุก ไข่ที่สุกนี้อยู่ติดกับพื้นนอกของรังไข่ก่อนเมื่อแก่เข้าจะเคลื่อนไปสู่ใจกลางของรังไข่ แล้วค่อยๆ เคลื่อนกลับมาพื้นที่นอกของรังไข่อีก ในที่สุดจะทะลุเยื่อหุ้มของรังไข่หลุดออกไปอยู่ในช่องท้อง แล้วต่อไปจะถูกดูดเข้าไปอยู่ในท่องรังไข่ ระยะที่ไข่แตกออกจากรังนี้จะเกิดประมาณวันที่ 14 หลังจากวันมีระดู จากนั้นแผลตรงที่มีไข่ทะลุออกมาจะเป็นเนื้อที่เล็กๆ เป็นก้อนสีแดงก่อน แล้วกลายเป็นสีเหลือง ซึ่งเจริญขึ้นเป็นลำดับ ตลอดเวลาที่ไข่ยังไม่ตาย ถ้ามีการผสมพันธุ์เกิดขึ้น ก้อนสีเหลืองที่รังไข่นี้ก็เจริญเติบโตมากขึ้นมีคุณภาพห้ามไข่อื่นในรังไข่ไม่ให้สุกได้อีก และเจริญเติบโตมากที่สุดในเดือนที่ 3 ของการตั้งครรภ์ เริ่มละลายตัวสูญหายไปเมื่อตั้งครรภ์ได้ 5-6 เดือน และละลายตัวไปหมดสิ้นเมื่อท้องครบ

ถ้าหากไข่ไม่ได้รับการผสมพันธุ์ ไข่จะมีชีวิตอยู่ได้เพียง 4-5 วันเท่านั้น สีเหลืองที่ติดอยู่ที่รังไข่ก็จะละลายไปพร้อมกับเยื่อบุพื้นภายในมดลูก (โพรงมดลูก) ซึ่งจะละลายตัวกลายเป็นระดูไหลออกมา เมื่อไข่ได้รับการผสมพันธุ์แล้ว ซึ่งโดยมากมักเกิดขึ้นในปีกมดลูก ต่อไปไข่จะไหลผ่านปีกมดลูกซึ่งกินเวลาราว 3-6 วันกว่าไข่จะผ่านปีกมดลูกเข้าไปอยู่ในโพรงมดลูก และยังคงลอยตัวอยู่ในมดลูกอีกประมาณ 6-7 วัน รวมระยะเวลาการเดินทางของไข่จากรังไข่เข้าสู่โพรงมดลูกทั้งหมดประมาณ 10 วัน ในระยะเวลานี้ไข่ได้อาหารจากไข่แดงและจากน้ำเลี้ยงของต่อมภายในมดลูกซึ่งซึมเข้าไปสู่ไข่ ในระหว่างที่ไข่เดินทางมาสู่มดลูกนี้ มักจะมีการแบ่งตัวเรื่อยไป ขนาดของไข่ในระยะนี้ประมาณ 2 มม. ต่อไปไข่ฝังตัวลงไปในเยื่อบุของโพรงมดลูก บริเวณที่ไข่ฝังตัวลงไปโดยมากเป็นตอนบนบริเวณด้านหน้า หรือด้สนหลังของโพรงมดลูก การส่งอาหารจากตัวผู้ตั้งครรภ์ให้แก่ไข่ผ่านทางเส้นโลหิตในระยะที่ไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์แล้วมาฝังตัวอยู่นี้ บริเวณบุโพรงมดลูกหนากว่าธรรมดามาก

ครั้นโลหิตตั้งขึ้นได้แล้วอยู่ 7 วันก็บังเกิดเป็นปฐมกะละละนั้นเรียกว่า ชัยเภท คือ มีระดูหน้าที่ 1 ถ้ามิดังนั้นก็ให้มารดาฝันเห็นวิปริต ก็รู้ว่าตั้งครรภ์

เมื่อครรภ์ตั้งขึ้นแล้ว มิได้วิปริตครบ 7 วัน ก็ขันเข้าดังน้ำล้างเนื้อ  เมื่ออีก 7 วัน เป็นชิ้นเนื้อ     ไปอีก 7 วันเป็นสัณฐานดังไข่งู ไปอีก 7 วัน ก็แตกออกเป็นปัญจสาขา 5 แห่ง คือ ศรีษะ 1 มือ 2 เท้า 2 ไปอีก 7 วันก็เกิดเกศา โลมา นขา ทันตา ลำดับกันไปดังนี้

ในขณะเทื่อครรภ์ตั้งขึ้นได้ 1 เดือนกับ 12 วัน โลหิตจึงบังเกิดเวียนเข้าเป็นตานกยูง ที่หัวใจเป็นเครื่องรับดวงจิตวิญญาณ ถ้าทารกในครรภ์เป็นเพศหญิง โลหิตจะเวียนซ้าย ถ้าเป็นเพศชายจะเวียนขวาแต่ไม่ได้ปรากฏออกมา

ครั้นเมื่อครรภ์ครบไตรมาสแล้ว โลหิตนั้นก็แตกออกไปตามปัญจสาขา เมื่อตั้งครรภ์ได้ 4 เดือน จึงจะมีอาการครบ 32 ประการ ซึ่งจะบังเกิดตาและหน้าผากก่อน ส่วนอื่นๆจะเกิดขึ้นเป้นอันดับไป เมื่อตั้งครรภ์ได้ 5 เดือน จึงจะมีจิตและเบญจขันธ์รู้จักร้อนและเย็น เมื่อมารดารับประทานอาหารเผ็ดร้อนเข้าไปก็จะดิ้นทุรนทุราย ขณะที่อยุ่ในครรภ์มารดานี้ ทารกจะอยู่ในท่านั่งยองกอดเข่ากำมือไว้ใต้คางหันหน้าเข้าสู่กระดูกสันหลังของมารดา หันหลังออกข้างนาภี

อวัยวะหุ้มห่อและเลี้ยงดูทารก

ทารกขณะที่อยู่ในมดลูก มีอวัยวะต่างๆ หุ้มห่อเลี้ยงดู ดังต่อไปนี้

1.รก เมื่อเส้นโลหิตจากเยื่อบุโพรงมดลูกมาเลี้ยงไข่มีมากขึ้น รวมกันบริเวณหนาฝังติดอยู่กับพื้นมดลูกต่อไปส่วนนี้เริ่มกลายเป็นรก เมื่อทารกมีอายุได้ 2 เดือน และจะเป็นรกโดยครบถ้วน เมื่อทารกมีอายุ 4 เดือน ด้านหนึ่งยึดแน่นมีเส้นโลหิตเดินติดต่อกับพื้นมดลูก รกมีหน้าที่นำอาหารและออกซิเจนจากมารดาไปสู่ทารก โดยรวมกันไหลเข้าสู่โลหิตของสายสะดือของมารก แล้วนำของเสียซึ่งร่างกายใช้แล้วกลับไปสู่ตัวมารดาเพื่อถ่ายเท ลักษณะของมารกเมื่อครบคลอด มีลักษณะคล้ายน้ำตาลปึกขนาดโตประมาณ 7-8 นิ้วฟุต หนา 1 นิ้วฟุต และหนักประมาณครึ่งกิโลกรัมทางด้านที่หุ้มเข้าหาตัวทารก คือ ทางที่สายสะดือเกาะมีลักษณะลื่นเรียบ เพราะมีเยื่อถุงหุ้มทารกบุอีกชั้นหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ป้องกันโลหิตของมารดาไม่ให้ไหลย้อนไปสู่ทารกในครรภ์ได้อีกเพราะความดันโลหิตของมารดาสูงกว่าของมารดา

ถ้ามีการไหลติดต่อกันโดยตรง ความดันโลหิตของมารดา จะทำให้อวัยวะของเด็กทนไม่ได้ ตัวยาและเชื้อโรคซึ่งอยู่ในกระแสโลหิตของมารดามีโอกาสเข้าถึงเด็กได้ เช่น มารดาเป็นไข้รากสาด หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธุ์บางชนิด (เช่น ซิฟิลิส เอดส์ เป็นต้น) เด็กมีโอกาสได้รับเชื้อด้วย

2.สายสะดือ เป็นสายที่ติดต่อระหว่างเด็กกับรก ภายในสายสะดือมีเส้นโลหิตแดง 2 เส้น นำโลหิตจากมารดามาสู่ตัวทารก และเส้นโลหิตดำ 1 เส้น นำโลหิตจากทารกสู่มารดา สายสะดือมีเยื่อเหนียวอย่างเดียวกันกับเยื่อของถุงหุ้มตัวทารก สายสะดือยาวประมาณ 20-22 นิ้วฟุต เมื่อครบกำหนดคลอด สายสะดือมักจะบิดเป็นเกลียวประมาณ 10 รอบ ส่วนที่เกาะอยู่ที่เยื่อหุ้มเด็กข้างๆ รกก็มี ตำแหน่งการเกาะของสายสะดือกับรกดังลักษณะนี้ เวลาคลอดมีอันตรายมาก สายสะดือนี้ถ้าเด็กดิ้นมากจนสายสะดือบิดเป็นเกลียวมากๆ ทำให้โลหิตมารดาไปสู่เด็กไม่ได้ เด็กอาจเสียชีวิตได้

การเปลี่ยนแปลงอวัยวะต่างๆ ของมารดาเนื่องจากการตั้งครรภ์

การเปลี่ยนแปลงของอวัยวะต่างๆ ของหญิงจากการตั้งครรภ์มีหลายอย่าง เราแบ่งได้เป็นส่วนๆ ดังนี้

  1. การเปลี่ยนแปลงเฉพาะที่
  2. การเปลี่ยนแปลงโดยทั่วไป
  3. การเปลี่ยนแปลงของการเผาผลาญของร่างกาย
  4. การเปลี่ยนแปลงต่อมไม่มีท่อภายในร่างกาย

1.การเปลี่ยนแปลงเฉพาะที่ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของอวัยวะในบริเวณช่องเชิงกราน หน้าท้องถัน (เต้านม) และผิวหนัง การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ และมากขึ้นเวลาครรภ์แก่

1.1.มดลูก มดลูกจะโตขึ้นตามลำดับ น้ำหนักจะเพิ่มมากขึ้น ก่อนตั้งครรภ์ มดลูกหนักประมาณ 50 กรัม ในโพรงมดลูกมีน้ำบรรจุอยู่ราว 2 ซีซี. เวลาครรภ์ครบกำหนดคลอดมีน้ำหนักราว 1,000 กรัม จุได้ราว 4,000-5,000 ซีซี. หรือมากกว่านั้น นอกจากนั้นมดลูกยังขยายทั้งขนาดและจำนวนของกล้ามเนื้อเส้นโลหิตต่างๆ ที่เยื่อบุมดลูกก็โตตามไปด้วย ทำให้โลหิตมาหล่อเลี้ยงมากขึ้น ปลายเดือนแรกมดลูกโตเพียงเล็กน้อย ปลายเดือนที่สองโตเท่าไข่เป็ด ปลายเดือนที่สามโตเท่าหัวทารก ราวสัปดาห์ที่ 18 จะคลำพบมดลูกอยู่เหนือหัวเหน่า (ระดับยอดมดลูกอยู่ราวกึ่งกลางระหว่างหัวเหน่ากับสะดือ) ในราวปลายเดือนที่ 6 ยอดมดลูกอยู่ที่สะดือพอดี ยอดมดลูกจะอยู่สูงสุดในสัปดาห์ที่ 38 ต่อไปจะลดต่ำลงมาเรียกว่า ท้องลด เกิดขึ้นจากหัวเด็กลงไปอยู่ในช่องเชิงกรานส่วนล่าง ซึ่งมักจะเป็นสัปดาห์ที่ 40 มดลูกของหญิงตั้งครรภ์มักจะเอียงไปทางขวามากกว่าทางซ้าย และมีลักษณะอ่อนนิ่ม จะตั้งต้นนิ่มที่มดลูกส่วนล่างก่อน จะพบว่า ปากมดลูกนิ่มมาก ซึ่งเป็นอาการอย่างหนึ่งของการตั้งครรภ์ มดลูกมีการบีบตัวอยู่ตลอดเวลา และมีมากขึ้นเมื่อท้องใกล้ครบกำหนด ซึ่งการบีบตัวของมดลูกนี้ไม่ทำให้เกิดอาการเจ็บปวด นอกจากสตรีที่มีโรคประสาทอ่อนแม้เด็กดิ้นก็รู้สึกปวดได้ การบีบตัวของมดลูกนี้เป็นสิ่งที่ช่วยให้รู้ได้ว่า มดลูกนั้นตั้งครรภ์หรือเปล่า การบีบตัวของมดลูกใน 2-3  เดือนแรกมีประมาณครั้งละ 2-3 วินาที และเกิดประมาณ 20 นาทีต่อครั้ง มดลูกจะบีบตัวมากกับระยะมีระดู จึงควรระวังมากสำหรับคนท้องในเมื่อถึงระยะเวลามีระดู

1.2.ช่องคลอด จะมีโลหิตล่อเลี้ยงมากขึ้น จึงมีสีม่วงช้ำตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ จะยึดได้มากขึ้นเนื่องจากมีโลหิตมาล่อเลี้ยงมากน้ำหล่อเลี้ยงช่องคลอดในระยะนี้มีสภาพเป้นกรดมากขึ้นแคมปากช่องคลอดก็เปลี่ยนเป็นสีม่วงช้ำเช่นกัน

1.3.กล้ามเนื้อ เอ็น ข้อกระดูกในบริเวณช่องเชิงกราน เหล่านี้นุ่มยืดและเคลื่อนไหวได้มากขึ้นตั้งแต่อายุครรภ์ราว 5 เดือนจนถึงครบกำหนด เพื่อช่วยให้คลอดง่ายขึ้น

1.4.หน้าท้อง จะพบการเปลี่ยนแปลงได้ชัดในครึ่งหลังของการตั้งครรภ์ เพราะว่าในระยะแรกๆ มดลูกยังอยู่ในเชิงกราน เมื่อมดลูกค่อยๆ โตขึ้น หน้าท้องจะค่อยๆ ยืด บางออกไปทุกทีจนผิวหนังหน้าท้องส่วนล่างแตกเป็นเส้นๆ ถ้าคนท้องแรกๆ จะเป็นสีชมพูอ่อนๆ ครรภ์หลังๆ มีสีซีดๆ รอยแตกของหน้าท้องนี้จะปรากฏในราวท้อง 8 เดือนขึ้นไป นอกจากนี้จะมีเส้นดำปรากฏขึ้นอีกหนึ่งเส้นตรงกลางท้องจากหัวเหน่าไปจนถึงสะดือ เส้นนี้เห็นชัดในตอนหลังของการตั้งครรภ์ และจะค่อยๆ จางหายไปหลังจากคลอดแล้ว

1.5.นม แบ่งได้เป็นสองส่วนคือ ส่วนเต้านมและส่วนบริเวณหัวนม ทั้งสองส่วนนี้จะโตขึ้นตั้งแต่ท้องได้ 1 เดือนขึ้นไป เต้านมจะคัดเพราะมีไขมันมาเพิ่มที่ใต้ผิวหนัง ทำให้มารดารู้สึกปวดตึงบ้างเล็กน้อย ปลายเดือนที่สองต่อมน้ำนมโตมากขึ้น คลำพบต่อมเป็นก้อนภายในเต้านม และในระยะต่อๆ ไปบริเวณเต้านมมีเส้นโลหิตดำปรากฏอยู่ใต้ผิวหนังเป็นเส้นเขียวๆ เวลาบีบเต้านมจะมีน้ำใสๆ ออกมาเล็กน้อย แต่ในระยะครรภ์ครบกำหนดคลอด น้ำนี้จะเปลี่ยนเป็นน้ำเมือกขุ่นขาว หัวนมจะใหญ่ขึ้น สีดำจัดขึ้นมีเม็ดดำๆ เล็กๆ ล้อมรอบหัวนมคล้ายกับหนามพองตัวโตขึ้นราว 10-20 เม็ด และเมื่อครรภ์แก่เข้าจะมีจุดดำๆ รอบหัวนมกว้างขึ้นทุกที แต่สีเข้มน้อยกว่า

1.6.ผิวหนัง นอกจากการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังบริเวณนมและหน้าท้องแล้ว ยังมีการเปลี่ยนแปลงที่ผิวหนังบริเวณหน้าอีก คือปรากฏเป็นจุดดำๆ ทั้งสองข้างของโหนกแก้มและดั่งจมูก ทำให้มีรูปร่างคล้ายผีเสื้อ โดยสมมติเอาดั่งจมูกเป็นตัวผีเสื้อ หลังจากคลอดแล้วจุดดำๆ พวกนี้จะค่อยๆ หายไปบางคนมีครรภ์บ่อยๆ และมีจุดดำๆ ขึ้นซ้ำๆ กันในเวลาตั้งครรภ์ หลังคลอดแล้วจุดดำๆ นี้จะมีอยู่ตลอดชีวิต

2.การเปลี่ยนแปลงโดยทั่วไปของร่างกาย ได้แก่สิ่งต่อไปนี้

2.1.ระบบทางเดินของอาหาร เกิดการเปลี่ยนแปลงอันแรกคือ มีคลื่นไส้อาเจียนในเวลาเช้าๆ หลังจากลุกขึ้นจากที่นอน หรือหลังจากรับประทานอาหารเช้าแล้ว มีราว 2 ใน 3 ของจำนวนผู้ตั้งครรภ์ทั้งหมดและมักเป็นคนที่มีครรภ์เป็นครั้งแรก และคนเป็นโรคประสาทอ่อน มักตั้งแต่อาทิตย์ที่ 8 ถึงอาทิตย์ที่ 12 สิ่งที่อาเจียนออกมาเป็นอาหารที่รับประทานเข้าไปหรือน้ำลายใสๆ ถ้าเป็นมากๆ อาจอาเจียนเอาน้ำดีออกมามีอาการเหมือนเมาคลื่น แต่หาต้นเหตุไม่ได้แน่นอนและแก้ไขยาก แต่ไม่ทำให้ร่างกายทรุดโทรม เพราะว่าอาเจียนในเวลาเช้าเท่านั้น บางคนแพ้มากๆ มีอาเจียนตลอดวัน แม้แต่ดื่มน้ำก็อาเจียน ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย ฟันของคนท้องจะพบว่า ฟันผุได้ง่าย เพราะหินปูนมารดารับประทานเข้าไปนั้น ทารกเอาไปใช้ในการสร้างกระดูกเสียเป็นอย่างมาก การอยากกินอาหารผิดๆ แปลกๆ มีเสมอเช่น อยากรับประทานของเปรี้ยว ของขม ดินเผา เกลือ หรือของพิศดารอื่นๆ ในสามเดือนแรก มีท้องขึ้น ท้องเฟ้อ ท้องผูกและเบื่ออาหารเสมอ แต่ในสามเดือนหลังก่อนคลอดรับประทานอาหารได้ ทำให้อ้วนใหญ่ แข็งแรง แต่ท้องคงผูกเสมอ เพราะมดลูกกดบนลำเส้นใหญ่

2.2.ระบบทางเดินของโลหิต จะมีการเปลี่ยนแปลงดังต่อไปนี้

2.2.1.จำนวนโลหิตจะเพิ่มขึ้นราว 15 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนโลหิตทั้งหมดในระยะตั้งครรภ์ เพราะฉะนั้นคนท้องแก่จึงมีหน้าตาสดใสแข็งแรง และรู้สึกว่าร่างกายสมบูรณ์ที่สุด การที่มีโลหิตมากขึ้นเพราะว่าอวัยวะต่างๆ ของร่างกายหลายอย่างเจริญเติบโตขึ้น ต้องการโลหิตมาเลี้ยงมาก แต่เป็นน้ำหล่อเลี้ยงโลหิตมากกว่าเม็ดโลหิต ฉะนั้นเมื่อนับเม็ดโลหิตจะเห็นว่ามีเม็ดโลหิตน้อยไปเล็กน้อย คนไข้จึงบวมได้ง่าย เม็ดโลหิตขาวเพิ่มมากขึ้นเพื่อต่อสู้กับพิษเกิดจากการตั้งครรภ์ (ขณะตั้งครรภ์โลหิต 1 คิวบิคมิลลิมิเตอร์ มีเม็ดโลหิตขาวประมาณ 15,000 เม็ด ซึ่งตามธรรมดามีเพียง 8,000 เม็ด) นอกจากนี้ส่วนผสมที่ทำให้โลหิตแข็งเร็วก็มีมากขึ้น ซึ่งเป็นภาวะปกติที่ร่างกายปรับตัวขึ้น เพื่อป้องกันมิให้มารดาเสียโลหิตมากไปเวลาคลอด

2.2.2.หัวใจ หัวใจต้องทำงานเพิ่มขึ้นโดยไม่รู้สึกผิดปกติ มีผลให้กล้ามเนื้อของหัวใจโตขึ้น เพราะจำนวนโลหิตมีเพิ่มขึ้นประการหนึ่งและหัวใจถูกดันขึ้นไปเนื่องจากมดลูกโตขึ้นอีกประการหนึ่ง ฉะนั้นผู้ที่เป็นโรคหัวใจพิการอยู่แล้ว ในเวลาครรภ์แก่หัวใจมักทำงานไม่ไหว จึงไม่ควรมีบุตร

2.2.3.ความดันของโลหิต ในครึ่งแรกของการตั้งครรภ์ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างใด ในครึ่งหลังของการตั้งครรภ์ ความดันจะต่ำเล็กน้อย และสูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อใกล้คลอด แต่เมื่อคลอดเสร็จแล้วจะลดลงทันที และจะต่ำอยู่ราว 5 วันหลังคลอด แล้วจะขึ้นมาสู่ระดับปกติ

2.3.ระบบทางเดินหายใจ ในระยะหลังๆ ของการตั้งครรภ์ มดลูกจะดันปอดขึ้นไปในที่จำกัดจึงทำให้การหายใจลำบาก ปอดต้องทำงานมากขึ้น ทำให้รู้สึกเหนื่อยง่าย แต่อาการเหล้านี้จะหายไปหลังจากคลอดแล้วประมาณ 10 วัน ฉะนั้นผู้ป่วยเป็นวัณโรคจึงมักมีอาการกำเริบมากขึ้น เพราะปอดทำงานมากในระยะนี้

2.4.ระบบทางเดินปัสสาวะ จะกล่าวได้เป็นอย่างๆ ดังนี้

2.4.1.ไตจะทำงานมากขึ้นมนระยะหลังของการตั้งครรภ์ เพื่อขับของเสียของมารดาและเด็กออกมา ฉะนั้นคนที่เป็นโรคไตพิการอยู่แล้ว ไตจะพิการมากขึ้น และยังทำให้เกิดการตั้งครรภ์มีพิษได้ง่ายด้วยตามธรรมดาปัสสาวะของผู้หญิงตั้งครรภ์ไม่ควรมีไข่ขาว ปัสสาวะที่มีไข่ขาวแสดงว่าเริ่มเกิดการตั้งครรภ์มีพิษแล้วถ้าจะตรวจเพื่อให้แน่นอนต้องสวนปัสสาวะออกมาตรวจ

2.4.2.ปริมาณน้ำปัสสาวะจะเพิ่มจำนวนจากเดิมประมาณ 1 ใน 4 ส่วน รวมทั้งกระเพราะปัสสาวะของหญิงตั้งครรภ์ถูกมดลูกกดไว้ จึงทำให้ปัสสาวะบ่อยครั้ง

2.5.การเปลี่ยนแปลงเกี่ยวแก่ระบบประสาท ทำให้เกิดอาเจียนในเวลาเช้าดังกล่าวแล้วข้างต้นอาจมีนิสัยใจคอตรงกันข้ามกับเมื่อยังไม่ได้ตั้งครรภ์ พูดอะไรไม่แน่นอน ทำอะไรไม่ไคร่คิด

3.การเผาผลาญของร่างกาย การเผาผลาญของส่วนต่างๆ ของร่างกายจำเป็นต้องเพิ่มมากขึ้น เพราะทั้งมารดาและเด็กมีการเผาผลาญในอวัยวะต่างๆ ขึ้นด้วยกันในระยะเวลาเดียวกัน

4.ระบบของต่อมไม่มีท่อในร่างกาย ต่อมที่ไม่มีท่อในร่างกาย เช่น ไทรอยด์ ตับอ่อน ต่อมแอดรีนอล เป็นต้น จะเจริญเติบโตขึ้นทุกๆ ต่อม และต้องทำหน้าที่มากกว่าธรรมดา

เมื่อครรภ์ควรจะครบกำหนดคลอด อวัยวะต่างๆ ของทางช่องคลอดก็ขยายตัวขึ้น แม้กระทั้งกระดูกเชิงกราน ถุงน้ำทูนหัวมีการยืดขยายตัวโตขึ้นตามลำดับ เป็นเพราะร่างกายเตรียมตัวสำหรับคลอดบุตรซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติ

มดลูกของผู้หญิงที่ตั้งครรภ์จะมีขนาดโตขึ้น เพราะทารกอยู่ในมดลูก มดลูกก็ขยายตัว ให้พอกับทารกที่อยู่ในครรภ์ ที่ปากมดลูกของผู้หญิงเมื่อยังไม่ได้ตั้งครรภ์คลำดูจะเหมือนเอามือกดที่ปลายจมูก ส่วนกล้ามเนื้อที่ห่อหุ้มลูกก็จะขยายกว้างขวางออกไปอีก และเอ็นที่ยึดมดลูกก็จะยืดออกมากกว่าเดิม

เมื่อครรภ์ได้ตั้งขึ้นแล้วสามเดือน มารดาจะรู้สึกว่าทารกดิ้นในท้อง การตั้งครรภ์สำหรับท้องแรกหรือที่เรียกว่า ท้องสาว จะดิ้นช้ากว่าท้องหลัง หรือท้องต่อไป เพราะหนังท้องยังตึงอยู่รัดทารกแน่นกว่าท้องหลัง(เพิ่มเติมจากผู้เขียน) บอกตำราก็บอกว่าสี่เดือน จะรู้สึกว่าทารกในท้องดิ้นพอเป็นเครื่องกำหนดการตั้งครรภ์ถึงวันคลอดอีก 6 ถึง 7 เดือน ครบ 280 วัน ยังเอาแน่ไม่ได้ ขอให้พิจารณาเองด้วย สังเกตจำได้ว่าวันครบแน่ 9 เดือน หรือ 280 วัน อาจจะขาดหรือเกินได้ก็ไม่ถึงสิบวันเป็นธรรมดา

น้ำทูนหัวหรือน้ำคร่ำ

น้ำทูนหัวหรือน้ำคร่ำนี้ เกิดขึ้นในเยื่อบางๆ เป็นถุงน้ำเรียกว่า ถุงน้ำคร่ำหรือถุงน้ำทูนหัว เป็นน้ำที่มีสีเหลืองอ่อนๆ เมื่อแรกเกิดเป็นน้ำใสๆ รสเค็ม กร่อย ครั้นทารกอยู่ในครรภ์ได้หกเดือน น้ำคร่ำก็จะข้นเข้ามีกลิ่นแรงสาบๆ มีสีเปลี่ยนแปลงไป เช่น เขียวบ้าง เหลืองบ้าง ถ้าน้ำคร่ำวิปริต จะเป็นสีแดงอันตราย ซึ่งควรระวังแก้ไขในน้ำคร่ำ มีธาตุต่างๆ เช่น ยูริน น้ำตาล ยูเรีย และซัลเฟต ฯลฯ น้ำคร่ำในระยะแรกมีเล็กน้อย ต่อไปจะเกิดมีมากจนท่วมตัวทารก

ประโยชน์ของน้ำคร่ำ เพื่อหล่อเลี้ยงทารกในครรภ์ไม่ให้ทารกถูกกระทบกระเทือนจากของแข็ง และเป็นเครื่องถ่างให้มดลูกพองตัวอยู่เสมอ จะหดตัวเหี่ยวลงไม่ได้ ทารกอยู่ในที่หลอมตัวจะหมุนตัวได้สะดวก โดยน้ำคร่ำจะดันถุงน้ำคร่ำให้ตุงออกมาที่ปากมดลูก ทำให้มดลูกขยายตัวกว้างออกทุกทีจนกว่าทารกจะออกได้และช่วยให้เป็นการหล่อลื่นให้ทารกคลอดสะดวกอีกด้วย

ถ้าน้ำคร่ำมากเกินไปเกินกว่า 2 ขวดเบียร์ บางรายมีตั้ง 6-8 ขวดเบียร์ จะสังเกตุได้ว่ารูปร่างท้องไม่ยาวรี แต่ท้องจะกลมใหญ่ คลำดูส่วนของทารกไม่ใคร่พบ ฟังเสียงหัวใจของทารกไม่ใคร่ได้ยิน หนังหน้าท้องแบนราบมาก ทำให้ตาของทารกผิดปกติ ร่างของทารกถูกบังคับจากการหดรัดตัวของมดลูก ส่วนน้ำจึงไม่เข้าช่องเชิงกราน เมื่อถุงน้ำคร่ำแตกจะมีน้ำคร่ำมากไหลออกมา

การให้การดูแลแก่หญิงตั้งครรภ์ เมื่อมีผู้มาฝากครรภ์ ผดุงครรภ์ควรทำดังต่อไปนี้

1.การชักประวัติของ

1.1 อายุ ที่อยู่ อาชีพ ระยะเวลาการแต่งงาน

1.2 ประวัติทั่วไป แบ่งออกได้เป็น

1.2.1 ประวัติครอบครัว ซักถามถึงภาวะการเจ็บป่วยทางสามีและบุคคลในครอบครัวทั้ง 2 ฝ่าย อาจมีผลต่อการตั้งครรภ์ เช่น ประวัติโรคเลือด หรือโรคทางกรรมพันธุ์อื่นๆ

1.2.2 ประวัติการเจ็บป่วย ในอดีต ที่เกิดขึ้นในระยะก่อนตั้งครรภ์ เหตุผลที่ให้ความสนใจเพราะ โรคและความเจ็บป่วยบางประเภท อาจมีผลต่อสุขภาพของมารดาและทารกขณะตั้งครรภ์ เช่น อาการขาดอาหาร โรคปอด ไอ หอบ โรคหัวใจ (มีอาการบวม หอบ เหนื่อย หรือ อาการเหนื่อยง่าย) โรคไต (ประวัติการถ่ายปัสสาวะสีน้ำล้างเนื้อ และการบวม)

1.2.3 ประวัติการคลอด ต้องซักถาม จำนวนครั้งของการแท้งและการตั้งครรภ์ อาการผิดปกติช่วงก่อนคลอด วิธีการคลอดและประวัติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคลอดบุตรในครรภ์ก่อนๆ อาการผิดปกติในช่วงหลังคลอด จำนวนบุตรที่มีชีวิตในปัจจุบัน

1.2.4 ประวัติการมีระดู ต้องซักถามถึง อายุของการมีระดูครั้งแรก อาการในระยะก่อนมีระดู ประวัติการมีระดูครั้งสุดท้าย ซึ่งจะนำไปใช้ในการคาดคะเนกำหนดการคลอดในครรภ์นี้ได้

1.2.5 อาการผิดปกติที่ต้องพบแพทย์ ซักถามถึง ประวัติการมีเลือดออกทางช่องคลอดอาการบวมบริเวณหน้า นิ้วมือ เท้า อาการปวดศรีษะมากและติดต่อกันเป็นเวลานาน อาการตกพร่า หรือ มองเห็นวัตถุไม่ชัด อาการปวดท้อง อาการอาเจียนติดต่อกันเป็นเวลานาน อาการไข้หนาวสั่น ประวัติการมีน้ำใสๆ ไหลออกมาจากช่องคลอด เด็กไม่ดิ้น

1.2.6 การนัดตรวจครรภ์ แพทย์จะนัดให้มาตรวจบ่อยครั้งขึ้นเมื่อครรภ์ใกล้ครบกำหนดโดยจะเริ่มตั้งแต่มารดามีอายุครรภ์ 28-36 สัปดาห์ นัดตรวจทุก 2 สัปดาห์ อายุครรภ์ 1 สัปดาห์

1.2.7 การตรวจครรภ์ ผดุงครรภ์ต้องตรวจครรภ์มารดาเพื่อค้นหาสิ่งผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น และหาทางป้องกันให้การคลอดครั้งนี้ปลอดภัยทั้งมารดาและบุตร โดยแนะนำให้มารดาไปฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลทันทีที่ทราบว่าตั้งครรภ์

1.2.8 การตรวจเลือด ถ้ามารดาไปฝากครรภ์ที่โรงพยาบาล จะต้องได้รับการตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อกามโรคหรือตรวจหาอาการผิดปกติหรือโรคอื่นๆ ตามที่แพทย์สงสัย

1.2.9 ตรวจปัสสาวะ เพื่อหาน้ำตาลและไข่ขาวในปัสสาวะทุกครั้งที่ไปตรวจครรภ์ตามนัด

2.การให้คำแนะนำผู้ตั้งครรภ์

เป็นสิ่งสำคัญที่สุดควรให้หญิงมีครรภ์เข้าใจว่า การตั้งครรภ์ไม่ใช้โรคหรือความเจ็บป่วย แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงของร่างกายชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น อาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นสามารถป้องกันหรือควบคุมแก้ไขให้เกิดอาการน้อยลงได้ ถ้าปฏิบัติตามคำแนะนำ ฉะนั้นการให้คำแนะนำแก่มารดาเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการฝากครรภ์ เพราะจะทำให้มารดาได้เข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นแก่ตน และจะได้ให้ความร่วมมือกับแพทย์และผดุงครรภ์ในการตรวจรักษา เมื่อเริ่มตั้งครรภ์ในระยะแรกหรืออายุครรภ์ได้ 1-2 เดือน จะมีอาการแพ้ท้อง คลื่นเหียน อาเจียนในตอนเช้า เป็นเพราะเส้นประสาทของมดลูกติดต่อถึงกระเพราะอาหาร จึงมีอาการคลื่นเหียนคือ การแพ้ท้อง ในหญิงตั้งครรภ์แต่ละคนอาจจะมีอาการแพ้ท้องที่แตกต่างกัน บางรายอาจมีอาการ เบื่ออาหาร บางรายอยากรับประทานอาหารรถแปลกๆ บางรายสามีก็มีอาการแพ้ท้องร่วมด้วย อาการเหล่านี้จะหายไปเมื่อถึงกำหนดตามธรรมชาติ บางรายจะมีอาการหงุดหงิด โมโหร้าย ปริวัตอ่อนเพลีย ผดุงครรภ์ควรให้รับประทานยาหอม หรือ ใช้มะกรูด มะนาว สูดดมก็ได้

2.1แนะนำผู้ตั้งครรภ์เรื่องอาหาร อาหารเป็นสิ่งสำคัญต่อมารดาและทารก แนะนำให้มารดารับประทานอาหารที่มีคุณค่าต่อทารกในครรภ์ ได้แก่ ไข่ นม เนื้อ ปลา และถั่ว พืชผักต่างๆ ทั้งฟักเขียว ฟักทอง ฯลฯ ผลไม้เช่น มะละกอ กล้วยน้ำว้า ส้ม น้ำมะพร้าวอ่อน ฯลฯ ดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อให้การขับถ่ายสะดวก ไม่มีอาการท้องผูก

2.2แนะนำผู้ตั้งครรภ์เรื่องเครื่องนุ่งห่ม เครื่องนุ่งห่มต้องสะอาด ผู้ตั้งครรภ์ควรใส่เสื้อผ้าที่สีสดใสหลวมๆ ใส่สบายๆ ต้องซักให้สอาด มีไว้เพียงพอผลัดเปลี่ยน เพื่อสุขภาพจิต

2.3แนะนำผู้ตั้งครรภ์ปฏิบัติต่อร่างกาย เช่น การดูแลความสะอาดของร่างกาย การดูแลครรภ์ การรักษาผิวพรรณและสุขภาพร่างกาย และสังเกตอาการผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้น หรือให้มารดารับรู้ถึงอาการผิดปกติที่ต้องรีบไปพบแพทย์ บางรายหัวนมอาจจะจมหรือคุด ให้ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบแล้วดึงหัวนม ควรทำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง บางรายคันหน้าท้องคันตามร่างกาย แนะนำไม่ให้มารดาเกา คสรใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่นจัดบิดให้แห้งประคบหน้าท้องและตามตัวที่คัน แล้วโรยด้วยแป้งเด็ก มารดาอาจมีอาการคันในช่องคลอด เพราะช่วงตั้งครรภ์ การผลิตขับหลั่งต่างๆ ของร่างกายจะแตกต่างจากช่วงปกติให้ผู้ตั้งครรภ์ใช้อ่างดินหรือภาชนะชนิดตื้น ใส่น้ำอุ่นๆ นั่งแช่สัก 5-10 นาที แล้วซับให้แห้งจนรู้สึกสบาย นอกจากนี้ยังห้ามหญิงตั้งครรภ์ลงอาบน้ำในลำคลอง

2.4แนะนำผู้ตั้งครรภ์ไม่ให้ทำงานหนัก ควรระวังสุขภาพในการทำงานให้มีเวลาพักผ่อน หรือผู้ที่ต้องทำงานที่ต้องหิ้วหรือแบก ก็อย่าทำหนักกว่าเคย เพราะอาจทำให้เกิดอาการแท้ง หรือเกิดอุบัติเหตุซึ่งเป็นอันตรายต่อมารดาและทารกในครรภ์ได้

2.5แนะนำเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ หลังจากตั้งท้องถึง 6 เดือนแล้ว ห้ามการมีเพศสัมพันธ์เด็ดขาด

Scroll to top