การดูแลมารดาและทารกในระยะหลังคลอด

ในระยะหลังคลอดนี้ คือเข้าระยะที่ต้องให้การดูแลแก่มารดาเป็นพิเศษเนื่องจากร่างกายของมารดาจะมีความอ่อนเพลียอย่างมาก จากการคลอดและต้องเสียโลหิตจากบาดแผลที่เกิดขึ้นจากการลอกตัวของรกและมีการเสียโลหิตจากบาดแผลฉีกขาดของช่องคลอด ผดุงครรภ์ จำเป็นต้องให้การสังเกตอาการมารดาอย่างละเอียดถี่ถ้วน รวมถึงต้องสังเกตอาการต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับทารกที่อยู่ในช่วงของการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมภายนอก

การดูแลมารดาในระยะหลังคลอด จำแนกได้เป็น 2 ระยะ คือ ระยะ 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด และระยะ 2 เดือนแรกหลังคลอด

1.ระยะ 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด

เมื่อกระบวนการคลอดสิ้นสุดลง รกและถุงน้ำคร่ำได้ออกมาเสร็จแล้ว ในระยะ 1-2 ชั่วโมงแรกของการคลอดนี้อาจมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดอันเป็นผลเนื่องมาจากการคลอดเกิดขึ้นอย่างกะทันหันได้ เพราะผู้คลอดย่อมเหน็ดเหนื่อยและเสียกำลังเป็นอย่างมาในการคลอด ส่วนมดลูกก็ทำงานหนักเป็นเวลานานอาจหมดแรงหรือไม่สามารถทำงานต่อไปตามปกติได้ หรืออาจมีการฉีกขาดของช่องทางคลอดอีกด้วย

มดลูกระยะนี้หมดสิ่งกีดขวางแล้วจึงหดรัดตัวเล็กลงเป็นก้อนแข็ง คลำดูที่หน้าท้องจะพบได้ง่าย การหดรัดตัวลงนี้จะดำเนินไปเป็นพักๆอีก แต่ระยะนี้การพักจะสั้นกว่าเดิม ผู้คลอดจึงรู้สึกเจ็บท้องเป็นพักๆโดยเฉพาะในรายที่เคยคลอดมาแล้ว แต่ผู้ที่คลอดเป็นครั้งแรกอาจรู้สึกเจ็บเพียงเล็กน้อยหรือไม่รู้สึกเลย

การเจ็บท้องในระยะนี้เป็นการแสดงออกที่ดี เพราะมดลูกทำงานอยู่เสมอ การหดรัดตัวของมดลูกในระยะนี้ทำให้หลอดเลือดที่ผนังมดลูกตรงที่รกเคยเกาะอยู่นั้น ซึ่งเมื่อรกหลุดไปหลอดเลือดจึงขาดและเปิดอยู่นั้นกลับถูกบีบให้ตีบและแฟบลงหลอดเลือดจึงตันโดยที่เลือดค้างอยู่ในหลอดเลือดแข็งตัวเป็นก้อน เป็นลิ่มจุกอยู่ กับที่มดลูกคลายตัวกลับหดรัดตัวเล็กลง ผลักดันให้เลือดที่ไหลซึมออกจากผนังตรงที่รกเคยเกาะและค้างอยู่ในโพรงมดลูกให้ออกจากโพรงมดลูก และในไม่ช้าเลือดที่ไหลซึมออกก็จะหยุดได้และกลายเป็นน้ำคาวปลาต่อไป

การช่วยมารดาเมื่อคลอดบุตรแล้ว

เมื่อทารกคลอดแล้วรกยังไม่ออกมา เวลานั้นควรให้มารดารับประทานยาควินินกับแอสไพรินอย่างละ 1 เม็ด แล้วจึงคลึงมดลูก โดยเอามือกุมหน้าท้องมารดา แล้วคลึงให้มดลูกหดตัวจนแข็ง แล้วให้มารดานอนหงายตั้งขางอเข่า ให้เอาหมอนหนุนตรงเอวพอสบาย แล้วให้นอนเฉยๆ เพื่อให้รกหลุดออกมาเอง และเพื่อให้มารดาได้พักผ่อนด้วย พักอยู่ประมาณ 25 นาที (ถ้ารกยังไม่ออกต้องนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน) เมื่อรกออกมาแล้วรีบให้มารดารับประทานยาประสะไพลเพื่อขับน้ำคาวปลา แล้วคลึงมดลูกดังกล่าวค้างต้น แล้วให้มารดาเหยียดขาออกไปทั้ง 2 ข้างคลึงเร่งมดลูกให้เหี่ยวเล็กลงจนแข็ง แล้วจัดการเอาน้ำยาฆ่าเชื้อโรคล้างปากช่องคลอดและระหว่างขาให้เลือดที่เปื้อนอยู่หมดไป จึงผลัดผ้านุ่งใหม่ ขณะนี้ห้ามมารดาลุกขึ้นนั่งเป็นอันขาด อาจจะเป็นลมล้มสลบหรืออาจตายได้ และอาจเป็นเหตุให้มดลูกเคลื่อนออกมาภายนอกได้ เพราะเส้นเอ็นที่เหนี่ยวรั้งมดลูกหย่อนยานมาก

เมื่อผลัดผ้านุ่งมารดาแล้ว จึงใช้ผ้าพันท้องมารดา และให้รับประทานยาขับน้ำคาวปลาแล้ววางกระเป๋าน้ำร้อนที่หน้าท้องให้อุ่นพอควร ส่วนบาดแผลนั้น ถ้ามีขาดประมาณ 2 เซนติเมตรขึ้นไปก็ควรนำส่งโรงพยาบาล ถ้ามีน้อยประมาณ 1 เซนติเมตร ก็ไม่ต้องเย็บ ใช้วิธีชำระล้างวันละ 2 หน ต้องใช้ด่างทับทิมละลายน้ำอุ่นล้างทุกจุด แล้วซับให้แห้งใช้ยาผงโรยจนกว่าแผลจะหาย

การปฏิบัติตัวระหว่างอยู่ไฟ

คลอดบุตรวันแรกแล้ว ให้รับประทานยาขับน้ำคาวปลาทุก 3 ชั่วโมงต่อครั้ง วันที่ 2 ให้รับประทาน 3 ครั้งต่อวัน วันที่ 3-4 ให้รับประทานเช้าและเย็น วันที่ 5 ให้รับประทาน 1 ครั้งต่อวัน เมื่อหยุดรับประทานยาขับน้ำคาวปลาแล้ว ให้รับประทานน้ำเกลือที่ชื่อ โซดาไฮซัลเฟต ต่อไปอีก 6 สัปดาห์ วันละ 2 ครั้ง ส่วนยาควินินนั้น ให้รับประทานมื้อละ 1 เม็ด ตั้งแต่วันแรกคลอดตอนเช้าและกลางคืนจนครบ 5 วัน

ถ้าวันใดน้ำคาวปลาไม่เดิน คนไข้มีอาการไม่สบาย หนักคิ้ว ปวดศีรษะ ควรให้รับประทานยาควินินอีก ตามความเห็นของผู้เขียนเห็นว่า ควรให้ยาขับน้ำคาวปลาตั้งแต่แรกคลอด วันละ 3 ครั้ง เพื่อขับน้ำคาวปลาและแก้ไขแก้อักเสบไปในตัว พร้อมกับยารักษามดลูกและยาประสะน้ำนมไปพร้อมกัน ในการรับประทานยาเพื่อขับน้ำคาวปลาออกแล้วใส่ความร้อนที่หน้าท้องน้อย น้ำคาวปลาก็จะออกมา ช่วยทำให้สบาย ถ้าน้ำคาวปลาออกแล้วรู้สึกรำคาญไม่สบายก็ควรล้างช่องคลอดด้วยน้ำอุ่นผสมด่างทับทิม เช้า-เย็น

เมื่อคลอดบุตรได้ 3 วันแล้ว ยังไม่ถ่ายอุจจาระ ให้รับประทานน้ำมันละหุ่ง 1 ช้อนโต๊ะ การรัดท้องคนอยู่ไฟนั้น ให้ทำสัก 10 วัน แล้วจึงเลิก ใช้ความร้อนอุ่นๆ ทับตรงมดลูกเสมอ

การช่วยทารกคลอดแล้ว

เมื่อทารกคลอดแล้ว ให้ควักเลือดที่ในจมูกและในปากออกโดยใช้ผ้าพันนิ้ว ถ้าทารกไม่หายใจให้เอามือกดที่หน้าท้องทารกเบาๆ และกระตุ้นให้แรงๆ สัก 2-3 ครั้ง ถ้ายังไม่หายใจให้เอามือวักน้ำร้อน (พอทนได้) ประที่หน้าอกทารก แล้วเอามือกระตุ้นที่ท้องอีก ถ้ายังไม่หายใจอีก ใช้น้ำร้อนกับน้ำเย็นสลับกัน ประลงที่ท้องทารกแล้วก็กระตุ้นท้อง ถ้ายังไม่หายใจ ให้หิ้วตัวทารกขึ้นโดยจับรอบข้อเท้าทั้งสองข้างยกขึ้นให้หัวทารกห้อยลง แล้วเอามือเขย่าหน้าอกให้หายใจ ถ้ายังไม่หายใจ ให้ทำการสูญลมหายใจโดยจับแขนทั้ง 2 ข้างของทารกเหยียดตรงขึ้นทางเหนือศีรษะ แล้วหักกลับลงมากอดอกไว้ เอามือกดแขนแนบกับสีข้าง บีบลมออกจากปอดและเหยียดตรงไปตามเดิมอีกเพื่อให้ลมเข้าปอด ในเวลาทำการสูดลมหายใจนี้ควรเอาน้ำอุ่นราดตามตัวทารกบ่อยๆ เพื่อให้ทารกเกิดความอบอุ่น ควรใช้น้ำอุ่นจัดๆจึงจะดี ในที่สุดถ้าทารกยังไม่ฟื้นให้เอาปากจุ๊บลงที่จมูกและปากของทารกโดยแรง เพื่อให้ก้อนเมือกที่อุดหลอดลมของทารกได้หลุดออกมา หรือบางทีเยื่อบางๆ ที่ปิดปากและหลอดลมของทารกยังไม่ขาด ถ้าจุ๊บไม่ออกจงเป่าลมลงไปให้แรงๆ จนกว่าจะหายใจได้ เพราะถ้าหัวใจทารกหยุดเต้นเสียแล้วจะแก้ไม่ฟื้น โดยมาทารกที่ออกมาแล้วจะร้องทันทีหรือพอกวักเมือกในปากออกแล้วทารกก็จะร้อง แต่บางคนก็หายใจปกติมิได้ร้องเลย อยู่ต่อมาอีก 3-4 ชั่วโมงหรือบางคนถึง 12 ชั่วโมง จึงร้องก็มี ถ้าทารกหายใจได้แล้ว ถึงทารกไม่ร้องก็ไม่เป็นไร การร้องของทารกก็เท่ากับทารกได้หายใจเป็นครั้งแรก การหายใจครั้งแรกของทารกเกิดขึ้นได้จากสาเหตุหลายประการคือ

  1. เมื่อศีรษะออกแต่ตัวทารกยังไม่ออก มดลูกหดรัดตัวอย่างแรง การเดินของเลือดในตัวทารกไปสู่ศีรษะทารกติดขัด สมองขาดออกซิเจน ศูนย์กลางประสาทที่บังคับการหายใจจึงถูกกระตุ้น ทารกจึงถอนหายใจเข้าแรงและหายใจออกอีก จึงเกิดเป็นเสียงร้องดังขึ้น
  2. เมื่อทารกกำลังผ่านช่องคลอดถูกบีบรัดอยู่ตลอดเวลา เมื่อเกิดออกมาไม่มีอะไรบีบรัดอยู่ร่างกายของทารกผายออกเต็มที่ ช่วยกระตุ้นทำให้ทารกเกิดการหายใจจึงมีเสียงร้องดังขึ้น
  3. เมื่อทารกเกิดมา ผิวหนังได้รับอากาศภายนอกท้องของมารดา ซึ่งมีความเย็นมากกว่าในท้อง้ป็นเครื่องกระตุ้นระบบการหายใจเริ่มทำงาน จึงมีเสียงร้อง
  4. เมื่อร่างกายของทารกออกมาแล้ว เลือดในร่างกายของทารกไหลผ่านสู่สมองโดยเร็ว กระตุ้นเตือนประสาททั่วไป ทำให้ทารกร้องได้

2.การดูแลมารดาระยะ 2 เดือนแรกหลังคลอด

ระยะหลังคลอด เป็นระยะซึ่งอวัยวะของผู้คลอดบุตรซึ่งโดยมากได้แก่ อวัยวะในช่องเชิงกรานกลับคืนสู่สภาพเดิม เหมือนก่อนตั้งครรภ์ซึ่งกินเวลาประมาณ 6-8 สัปดาห์ แต่ถ้าจะพูดกันตามความจริงแล้วยังมีอวัยวะอีก 2 อย่างที่ยังทำงานต่อไปคือ

  1. เต้านม  ซึ่งยังคงทำงานต่อไปจนถึงเด็กหย่านม ซึ่งตามธรรมชาติกินเวลาราว 10 เดือน
  2. รังไข่  ซึ่งตามธรรมชาติจะไม่มีไข่สุกและไม่มีระดูตลอดเวลาที่เด็กยังกินนมอยู่ แต่ไม่แน่เสมอไปทุกคน

การเปลี่ยนแปลงทั่วๆไป ของมารดาหลังคลอดทันทีทันใด คนไข้รู้สึกอ่อนเพลียมาก เนื่องจากการคลอดคนไข้ต้องการความสงบและต้องการนอนพักเอาแรง และมีการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ ดังต่อไปนี้

  1. ชีพจร ปกติหรือช้าเล็กน้อย
  2. ความร้อนของร่างกาย หลังจากการคลอดแล้ว ความร้อนของแม่ขึ้นประมาณ 99 องศาฟาเรนไฮต์ แต่ในระยะ 2-3 ชั่วโมงแรกหลังคลอดใหม่ๆ ยังคงสูงเล็กน้อยอาจถึง 100 องศาฟาเรนไฮต์ เกี่ยวแก่การออกกำลังกายมากนั้นเอง ถ้าหากการคลอดเป็นเวลานาน เมื่อคลอดเสร็จแล้ว ความร้อนอาจสูงถึง 101 องศาฟาเรนไฮต์ ในระยะระหว่างเวลานอนพักในระยะหลังคลอดนี้ ความร้อนอาจขึ้นได้อีกแต่ไม่สูงนัก เนื่องจากคัดนม ซึ่งมักปรากฏหลังคลอดแล้ว 3 วัน อาการท้องผูกและความตื่นเต้น ทำให้ความร้อนของร่างกายขึ้นได้เหมือนกัน ถ้าหากว่าความร้อนสูงกว่าปกติมาก เราต้องหาต้นเหตุซึ่งมักเกิดจากความสกปรกในช่องคลอดและมดลูก
  3. ความดันของโลหิต จะลดลงทันทีเมื่อเด็กคลอด จะต่ำสุดเมื่อรกออกแล้วและจะค่อยๆ คืนสู่ปกติในราววันที่ 5 หลังคลอด
  4. การถ่ายเทของเสียออกจากร่างกาย

4.1  การถ่ายปัสสาวะ  ในสามวันแรกจะถ่ายมากกว่าปกติ ต่อไปภายใน 7 วันหลังคลอดจะคืนสู่สภาพปกติ น้ำปัสสาวะตรวจพบน้ำตาลได้ในราววันที่ 3 หลังคลอด และเมื่อทารกดูดนมแล้ว น้ำตาลในปัสสาวะก็น้อยลง และถ้ามารดากินน้ำนมเพิ่ม น้ำตาลจะออกทางปัสสาวะเพิ่มขึ้น (แต่ไม่ใช่เป็นโรคอย่างใด) ธาตุไข่ขาวมีเล็กน้อยหลังคลอด บางคนก็มี บางคนก็ไม่มี ธาตุเบ็บโตน มีปรากฏในปัสสาวะในระหว่างมดลูกเข้าอู่ ธาตุยุเรีย มีสูงมาก

การถ่ายปัสสาวะ ถ่ายยากและปวดเจ็บเวลาถ่ายใน 2-3 วันแรก เนื่องความระบบอักเสบของช่องเชิงกราน

4.2  การถ่ายของเสียทางผิวหนัง มีเหงื่อออกมาก

4.3  การถ่ายอุจจาระ ท้องผูกเสมอ

5.การเปลี่ยนแปลงของโลหิต เม็ดโลหิตขาวซึ่งขึ้นถึง 10,000 เซลล์ต่อลูกบาศก์เดซิลิตร ในระหว่างเวลาคลอด จะลดลงอยู่สภาพปกติหลังจากคลอดแล้ว 2 วัน แต่ในวันที่ 3 เม็ดโลหิตขาวจะสูงขึ้นอีกเล็กน้อย เนื่องจากเลี้ยงทารกด้วยนมมารดา เม็ดโลหิตแดงและความเข็มข้นของโลหิตจะลดน้อยลงใน 3 วันแรกของการคลอด แต่ต่อไปจะคืนสู่สภาพปกติ

6.การเปลี่ยนแปลงเฉพาะอวัยวะบางส่วนของร่างกายของมารดา ได้แก่ การเข้าอู่ของมดลูก คือ มดลูกค่อยเปลี่ยนแปลงสู่ลักษณะเหมือนก่อนตั้งครรภ์ ประกอบด้วย ขนาดของมดลูกหดตัวลง การเปลี่ยนแปลงของกล้ามเนื้อและเส้นโลหิตของมดลูก การเปลี่ยนแปลงของเยื่อบุพื้นมดลูก

6.1  ขนาดของมดลูกหดตัวลงทันทีทันใด หลังจากรกออกแล้ว มดลูกจะรัดตัวแน่น แล้วค่อยๆคลายตัวสลับกันอยู่เช่นนี้ ตำแหน่งและรูปร่างของมดลูกจะเปลี่ยนแปลงไป มดลูกจะอยู่เต็มในช่องเชิงกรานมีลักษณะพลิกตัวไปทางด้านหน้าเล็กน้อย และเป็นรูปเรียว ส่วนยอดของมดลูกหนามาก ส่วนล่างของมดลูกบางและอ่อน ปากมดลูกหนาอย่างปกติ ยอดของมดลูกสูงกว่าระดับหัวเหน่าประมาณ 5 นิ้วฟุต แต่ในคนเคยมีลูกแล้ว ยอดมดลูกจะสูงกว่าระดับนี้เล็กน้อย หรือถ้าปัสสาวะมีเต็มกระเพาะปัสสาวะ ยอดมดลูกจะสูงกว่านี้ ต่อจากนี้ 10 วัน แล้วต่อไปจะค่อยๆ หดตัวลงวันละเล็กวันละน้อยจนถึงสัปดาห์ที่ 6 จะเข้าสู่สภาพปกติ

การลดขนาดของมดลูกตามปกติ ปลายสัปดาห์แรกยอดมดลูกจะลดลงเหลือกึ่งกลางระหว่างหัวเหน่ากับสะดือ ปลายสัปดาห์ที่ 3 ยอดมดลูกจะรู้สึกว่าคลำพบอยู่เหนือหัวเหน่าเท่านั้น การหดตัวของมดลูกจะช้ามากในรายต่อไปนี้คือ

6.1.1  มีโลหิตก้อนยังคงติดค้างอยู่ในมดลูก

6.1.2  มีเศษรกติดค้างอยู่ในมดลูก

6.1.3  มีเนื้องอกที่ตัวมดลูก

6.1.4  ทารกไม่ได้ดูดนมมารดา เช่น ในรายที่ทารกเกิดก่อนกำหนดคลอด เด็กไม่มีกำลังดูดนมหรือเกิดแล้วเด็กตาย

6.1.5  มดลูกอักเสบทั่วไป

6.2  การเปลี่ยนแปลงกล้ามเนื้อและเส้นโลหิตของมดลูก

จำนวนกล้ามเนื้อของมดลูกคงมีเท่าเดิม แต่เมื่อคลอดแล้วขนาดจะค่อยๆ เล็กลงทั้งส่วนกว้างและส่วนยาว

การเปลี่ยนแปลงของเส้นโลหิตของมดลูก

6.2.1  เส้นโลหิตแดง ขนาดของเส้นโลหิตแดงเล็กลงโดยกล้ามเนื้อของเส้นโลหิตหดตัว และเยื่อภายในหลอดโลหิตและเส้นโลหิตถูกทำลาย

6.2.2  เส้นโลหิตดำจะสูญหายไปและกลายเป็นเนื้อพังผืดเกิดขึ้นแทนที่

6.3  การเปลี่ยนแปลงของเยื่อบุพื้นมดลูก  หลังคลอดแล้วเยื่อบุพื้นมดลูกส่วนบนจะหลุดภายใน 10 วัน ปนออกมากับน้ำคาวปลาและเยื่อพื้นส่วนลึกของมดลูกจะตั้งต้นเจริญเติบโตใหญ่ ตั้งแต่วันที่ 15 หลังคลอดเป็นต้นไป และเรียบร้อยภายใน 2 เดือน ในบริเวณแผลที่รกเกาะของมดลูกหลังคลอดแล้ว แผลรกที่เกาะจะกลายเป็นเนื้อที่ประมาณ 4 นิ้วฟุต นูนสูงกว่าระดับอื่นในพื้นที่มดลูก แผลนี้มีโลหิตก้อนเล็กๆ ปิดอยู่ และแผลนี้ถ้ามีเชื้อสกปรกอยู่ในมดลูกกระทำให้เกิดอักเสบเป็นสันนิบาตหน้าเพลิงขึ้นในเวลาต่อมา ส่วนอื่นๆ ของพื้นมดลูกก็มีโอกาสอักเสบจากเชื้อโรคได้เหมือนกัน แต่มีโอกาสน้อยกว่า ภายหลังคลอดแล้วใต้แผลที่รกเกาะนี้ จะมีเม็ดโลหิตขาวจำนวนมากล้อมรอบแผลไว้เพื่อคอยฆ่าเชื้อโรคที่เกิดในแผลและจะกระจายต่อไป ฉะนั้นหลังคลอดแล้ว 3 วัน ไม่ควรขูดมดลูกเลย เพราะจะทำให้กำแพงเม็ดโลหิตขาวนี้เสียไป จนกว่า 2 สัปดาห์แล้ว จึงจะขูดมดลูกได้ แผลนี้เมื่อปลายสัปดาห์ที่ 2 จะเหลือโตเพียง 3 ซม. เท่านั้น ปลายสัปดาห์ที่ 6 แผลจะเหลือโตเพียง 5 ซม.ครึ่ง และเมื่อถึงปลายเดือนที่ 6 จะเหลือเป็นจุดแดงๆ เล็กๆ เท่านั้น

7.การเปลี่ยนแปลงขอคอมดลูก  หลังคลอดแล้วปากมดลูกมีลักษณะอ่อนมาก และรูปร่างไม่ชัดเจนเหมือนเก่า ปลายสัปดาห์แรกยังเปิดอยู่ขนาด 2 นิ้ว มือลอดเข้าไปได้ คอมดลูกกลับเข้าที่ช้ามาก และจะเรียบร้อยเหมือนเดิมเมื่อครบ 1 เดือน

8.การเปลี่ยนแปลงของช่องคลอด กว่าจะกลับคืนสู่สภาพเดิมก็กินเวลานาน 3 สัปดาห์ แต่ถึงอย่างไรก็ไม่เหมือนเดิม เนื่องจากการฉีกขาดจากการคลอด ปากช่องคลอดจะกว้างกว่าเมื่อยังไม่มีบุตรแผลที่เคยฉีกขาด เมื่อหายแล้วจะกลายเป็นแผลเป็นเล็กๆ เยื่อพรหมจารีย์ขาดหมดเหลือแต่ตุ่มๆ ของเยื่อติดอยู่ข้างๆ ปากช่องคลอดเท่านั้น

9.น้ำคาวปลา จะไหลออกมาเป็นปกติ ในระยะสัปดาห์แรกออกจากแผลที่รกเกาะพื้นมดลูกแผลที่คอและปากมดลูกและช่องคลอดฉีกขาดก่อนใน 2-3 ชั่วโมงแรก น้ำคาวปลามีลักษณะเป็นน้ำโลหิตใสและโลหิตก้อนเล็กๆ น้ำคาวปลาแบ่งออกเป็น 3 ชนิด

9.1  มีสีแดง ใน 3 วันแรก ประกอบด้วยเม็ดโลหตแดง เม็ดโลหิตขาว เยื่อบุพื้นมดลูกและเมือก เรียกว่า น้ำคาวปลาแดง

9.2  จากวันที่ 5 ถึงวันที่ 7 สีของน้ำคาวปลาเป็นสีน้ำตาลซีดๆ มีเม็ดโลหิตแดงและเม็ดโลหิตขาวมาก เรียกว่า น้ำคาวปลาสีเหลือง

9.3  หลังวันที่ 7 สีน้ำคาวปลาจะเป็นสีเหลือง แล้วกลายเป็นสีเขียวอ่อนๆ และในที่สุดกลายเป็นสีขาว ประกอบด้วยไขมันและเยื่อพื้นมดลูก และเม็ดโลหิตขาวเรียกว่า น้ำคาวปลาขาว

จำนวนน้ำคาวปลาทั้งหมดที่ออกมาประมาณ 500 ถึง 1,000 ซีซี. และค่อยๆ น้อยลงทุกทีจนหมด ทีแรกน้ำคาวปลามีคุณภาพเป็นด่าง และจะค่อยๆ กลายเป็นกรดเมื่อเกือบหมดแล้ว เชื่อโรคที่มีในน้ำคาวปลาเป็นเชื้อธรรมดาไม่ใช่เชื้อร้ายแรงอะไร ถ้าคนไข้เป็นหนองในก็มีเชื้อหนองในออกมาด้วย จำนวนน้ำคาวปลาจะออกมากในพวกหญิงผิวดำ ถ้าหลังคลอดแล้วล้างมดลูกหรือมดลูกอักเสบขึ้น น้ำคาวปลาจะออกน้อย

การรักษาช่องคลอด ให้ใช้ผ้าขาวที่สะอาดซ้อนทับพับหลายๆ ชั้น โตประมาณเท่าฝ่ามือหรือใช้ผ้าขาวห่อสำลีปิดปะไว้ที่ช่องคลอด แต่ต้องล้างช่องคลอดให้สะอาดเสียก่อนด้วยน้ำด่างทับทิมหรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค เพื่อให้ดูดน้ำเหลืองภายในแล้วผูกโยงติดไว้กับเอว ต้องคอยเปลี่ยนวันละ 2-3 ครั้ง หรือจะใช้ผ้าอนามัยก็ได้ ที่นอนของมารดาใช้แผ่นพลาสติกหรือกระดาษฟางรองรับทับข้างบนได้ สำหรับรองรับน้ำเหลืองหรือน้ำคาวปลา

10. ความรู้สึกเจ็บท้องหลังคลอด เนื่องจากมดลูกบีบตัว

10.1  มักเกิดมีในหญิงที่เคยมีบุตรแล้วหลายคน

10.2  เกิดในเมื่อเด็กดูดนม

10.3  ในเมื่อยังมีก้อนโลหิตตกค้างอยู่ในมดลูก

นอกจากนี้ยังมีในพวกที่มดลูกบีบตัวไม่ดี หรือที่ปฏิบัติในการเอารกออกไม่ดี แต่อาการเหล่านี้ มักหายไปหลังคลอดแล้ว 4 วัน

11.การเปลี่ยนแปลงของเต้านม ได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของเต้านมในเวลาตั้งครรภ์ เมื่อคลอดแล้วนมก็ยังคัดเต่งอยู่ตามเดิมจนคลอดแล้ว 2 วัน ในระหว่างวันที่ 2 นี้ ถ้าบีบเต้านมจะมีน้ำขุ่นๆ เหลืองๆ ขาวๆ ไหลออกมาอย่างเดียวกับเมื่อจวนคลอด น้ำใสๆ นี้เรียกว่า โคลอสตัม (Colostum) ซึ่งประกอบด้วย น้ำเหลืองมีไขมัน และส่วนประกอบอื่นๆ อีกเล็กน้อย มีคุณภาพเป็นยาระบายอ่อนๆ ให้แก่เด็กคลอดใหม่ๆ เพราะฉะนั้นเมื่อเด็กคลอดใหม่ๆ รับประทานนมมารดาท้องจึงไม่ผูก

ส่วนที่แท้จริงนั้นปรากฏในวันที่ 3 น้ำนมจะเริ่ม เต้านมจะคัดตึงและเจ็บปวดเล็กน้อย น้ำนมขุ่นข้นมีลักษณะสีขาว ในระยะนี้มารดาจะรู้สึกครั่นตัวเล็กน้อย เนื่องจากเต้านมคัด

สำหรับผู้มีบุตรคนแรกใน 24 ชั่วโมงแรก น้ำนมมีทั้งหมดราว 15 ซีซี. เท่านั้น ในวันที่ 2 มีน้ำนมประมาณ 60 ซีซี. ในวันที่ 3 มีน้ำนม 150 ซีซี. ในคนเคยมีบุตรแล้ว น้ำนมจะมาราววันที่ 2 และตั้งแต่วันที่ 4 เป็นต้นไป น้ำนมที่ออกมานี้จะมีราว 500 ซีซี. ประกอบด้วยนม 12% (มีธาตุโปรตีน 2% ธาตุไขมัน 4% ธาตุคาร์โบไฮเดรท 6%) มีน้ำ 88%

ในน้ำนมนอกจากมีส่วนประกอบข้างบนนี้แล้วยังมีเกลือ หินปูน เกลือฟอสเฟต น้ำหล่อเลี้ยง จากต่อมต่างๆ ในร่างกายมารดา วิตามิน และสิ่งป้องกันโรค (Antibodies) อีกหลายอย่าง เด็กที่กินนมมารดาจะฉลาดและแข็งแรง จำนวนน้ำนมและคุณสมบัติผิดกันแล้วแต่ชนชาติ (ยิว จีน แขก และญี่ปุ่น มีน้ำนมมากกว่าและดีกว่า) รูปร่าง (หญิงผอมเกร็งมีน้ำนมมากกว่าคนอ้วนใหญ่โตแข็งแรง) อาหาร (อาหารดี มีน้ำนมมาก และดีกว่า) อายุ (อายุระหว่าง 18-40 ปี มีน้ำนมมาก อายุต่ำกว่านั้นหรือสูงกว่านั้น น้ำนมไม่ดีและนมน้อย) ระดู (ถ้าระดูไม่ดี นมไม่ดี เด็กมักปวดท้องและท้องเสียในเวลานี้) มารดาที่รับประทานยาบางชนิด เช่น ยาถ่าย เหล้าและฝิ่นปรอท ผ่านน้ำนมได้ เพราะฉะนั้นแม่กินยาถ่ายต้องคิดถึงลูกเสมอ เพราะทำให้ลูกท้องเดินได้ อาหารที่แม่กินทำให้น้ำนมเปลี่ยนแปลงไปได้บ้าง อาหารเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด ถ้าแม่กินจะทำให้เด็กท้องเสียได้

การปฏิบัติตัวของมารดาในระยะหลังคลอด

  1. ภายหลังคลอดทันทีทันใด ต้องสังเกตว่ามดลูกรัดตัวแน่นหรือเปล่า และต้องแต่งปากมดลูกและช่องคลอดดังอธิบายมาแล้ว       อุจจาระและปัสสาวะ  ภายหลังถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะทุกครั้ง ต้องล้างปากช่องคลอดให้สะอาดด้วยด่างทับทิมอ่อนๆ หรือแช่น้ำยาแชฟลอน 1 ซีซี. ต่อน้ำ 1,000 ซีซี. เสมอ แล้วเช็ดให้แห้ง
  2.  หน้าท้อง ต้องใช้ผ้ารัดท้องภายหลังคลอดแล้ว เพื่อช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น และไม่ให้หน้าท้องหย่อนยาน นอกจากนั้นยังทำให้หญิงหลังคลอดถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะได้สะดวกอีกด้วย ต้องนวดหน้าท้องบ่อยๆ เพื่อให้กล้ามเนื้อหน้าท้องทำงานดี หลังคลอดแล้ว 10 วัน ควรหาหมอนวดที่ชำนาญนวดหน้าท้องทุกวันให้ครบ 3 สัปดาห์
  3. การพักผ่อน หลังคลอดแล้วต้องให้คนไข้นอนหลับพักผ่อนให้มาก ใน 2-3 วันแรก อย่าให้มีกังวลและตื่นตกใจอย่างใด ควรนอนอยู่กับเตียงสัก 10 วัน หรืออย่างน้อยก็ควรเป็น 4 วัน (และหลังคลอด) แล้ว 3 วัน ควรให้คนไข้นอนคว่ำ ใช้หมอนรองบริเวณท้องน้อย (เพื่อยกให้บริเวณสะโพกสูงขึ้น) นานครั้งละ 10 นาที เช้าและเย็นทุกๆ วัน เพื่อให้ยอดมดลูกพลิกกลับไปอยู่ด้านหน้า เมื่อมดลูกเข้าอู่แล้วจะได้อยู่ในลักษณะเดิมเหมือนก่อนตั้งครรภ์ เวลามีระดูต่อไปความเจ็บปวดจากการมีระดูจะได้น้อยลง หลังจากอยู่กับเตียงได้ 10 วันแล้ว คนไข้จะลุกเดินได้วันละ 1-2 ชั่วโมงทุกๆวัน จนทำงานได้ตามปกติ
  4. การนอน สำคัญมากต้องให้คนไข้นอนให้มากๆ ถ้านอนไม่หลับให้ยาระงับประสาทเล็กน้อย เช่น ยาโปแตสเซียมโบรไมด์(Mixt Potassium Bromide) 30 ซีซี. ก่อนนอน การนอนไม่หลับอาจทำให้คนไข้เป็นโรคเส้นประสาทได้ในระยะหลังคลอด
  5. อาหาร  หลังคลอดแล้ว 24 ชั่วโมง ควรให้อาหารธรรมดาที่มีคุณภาพดี เช่น นม ไข่ไก่ ไม่ต้องงดอาหาร เพราะต้องเลี้ยงทารกด้วยนมมารดา

การคลอดแบบโบราณ หมอตำแยหรือผู้ทำคลอดโดยมากให้หญิงหลังคลอดอดอาหารซึ่งเป็นการเข้าใจผิด คนคลอดบุตรจึงเป็นโรคเหน็บชากันมากเพราะเหตุนี้ และเมื่อมารดาเป็นโรคเหน็บชาทารกที่ดูดนมมารดาก็เป็นเหน็บชา ส่วนมากมักตาย

6. ลำไส้ หลังคลอดแล้วคนไข้มักท้องผูกเสมอ ควรให้ยาระบายอ่อนๆ เช่น น้ำมันละหุ่ง 30 ซีซี. ในวันที่สองหลังคลอด

7.  หัวนม ควรให้ทำความสะอาดเต้านมและหัวนมเวลาที่ชำระร่างกายทุกครั้ง โดยใช้สบู่กับน้ำอุ่นๆล้างหัวนม เพื่อชำระล้างเหงื่อไคลออกให้สะอาด น้ำนมจะได้เดินสะดวก ไม่เกิดนมหลง(นมคัด) หรือเป็นพิษ มารดาควรใช้ฟองน้ำชุบน้ำอุ่นเช็ดให้ทั่วตัว ถ้าเป็นผดก็โรยด้วยแป้งบอริคสัก 7-8 วัน ควรรักษาความสะอาดของร่างกายและเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มให้ดี และก่อนที่จะไปอุ้มหรือดูแลเด็กควรจะล้างมือให้สะอาดก่อนทุกครั้ง

*คำว่า อดอาหาร ซึ่งผู้เขียนเป็นแม่มาแล้วด้วยการคลอดลูกหลายคน และเคยอยู่ดูแลคนคลอดลูกตลอดจนดูแลเรื่องอาหาร และการปฏิบัติตัวของแม่หลังคลอดก็เลยอยากจะทำความเข้าใจในคำว่าอดอาหารที่จริงหน้าจะใช้คำว่าเลี่ยงอาหารบางอย่างระหว่างพักผ่อนในระยะหลังคลอดบุตร

อาหารของมารดาระยะนี้ (คลอดบุตรใหม่) ควรรับประทานมื้อน้อยๆ ก่อน แต่รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และย่อยง่าย ขณะทำเสร็จใหม่ๆ ร้อนๆ และนมสดมากๆ และเป็นอาหารที่บำรุงน้ำนมเพื่อลูกด้วย ควรเว้นอาหารย่อยยาก และของหมักดอง และรสเผ็ดจัด เค็มจัด เปรี้ยวจัด ฯลฯ

วัฒนธรรมภาคเหนือ  จะให้รับประทานข้าวจี่ คือ ข้าวเหนียวที่นึ่งแล้วปั้นเสียบไม้ไผ่จี่ คือ ย่างให้เหลืองหอมน่ากิน กินกับน้ำพริก ก็ต้องเป็นพริกแห้ง ย่างให้เกรียมตำกับข่ากับเกลือ (เกลือก็ต้องคั่วจนเหลืองสำหรับคนที่อยู่กรรมหลังคลอดบุตร) ผักต้ม ได้แก่ พวกผักกาดเขียว (ผักโสภณ) หน่อข่า กะหล่ำปลี ยอดผักต่างๆ กินกับน้ำพริก

พวกปลาจะเป็นปลาช่อนย่าง ปลาช่อนปลาเกลือ หรือ ปลาช่อนย่างแห้ง แกงต่างๆ และจะใส่พริกหอมทั้งชูรส ชูกลิ่น และขับลม หมูจะย่าง จะต้มหรือผัดก็ได้ อาหารที่ต้องหลีกเลี่ยงได้แก่ แตงกวา ฟักเขียว ฟักทอง หน่อไม้ หรือของที่มีรสเย็นต่างๆ น้ำดื่ม จะใช้ไพลสดหรือไพลแห้งต้มดื่มต่างน้ำเปล่า

การแปรงฟัน อาบน้ำก็จะให้ใช้น้ำอุ่น แต่ส่วนใหญ่ ภาคเหนือ จะมีใบไม้สำหรับต้มอาบ ได้แก่ ใบเปล้าหลวง หมากผู้หมากเมีย ใบไพล ตะไคร้แกงทั้งต้น ใบมะขาม ใบละหุ่ง ผักบุ้งแดง ใบหนาด ฯลฯ ซึ่งแต่ละท้องถิ่นแตกต่างกันไป

ถ้าตามหลักคนจีน ก็ต้องมีการตุ๋นกระเพาะหมูใส่ซีอิ๊วขาวและพริกไทย ให้กินระหว่างอยู่ไฟ อย่างน้อยให้รับประทานสัปดาห์ละ 1 วัน นอกจากนี้ยังมีไก้ผัดขิง หรือหมูผัดขิงใส่เหล้า หรือมีขายเป็นเหล้าให้มารดาหลังดื่มคลอด

ถ้าอยู่ไฟ จะไม่ไม่ให้ผู้หญิงหลังคลอดออกมาถูกฝน ถูกลม ให้อยู่ในห้องพัก และให้นอนพักผ่อนมากๆ การทำงานต้องหยุด สำหรับลูกหัวปลีหรือท้องแรก 40 วัน ยกของหนักและเดินมากไม่ได้ห้ามเด็ดขาด ห้ามอาบน้ำเย็น เพราะช่วงหลังคลอดสุขภาพของคนคลอดขาดภูมิคุ้มกัน หลังคลอดเรียบร้อยแล้ว ก่อนให้คนไข้พักผ่อนควรให้คนไข้กินยาขับน้ำคาวปลาตามกำหนดของยาแต่ละขนาน มีการกำหนดของเจ้าของผู้ปรุง

การปฏิบัติสำหรับผู้ทำการคลอด ผู้ทำการคลอดควรปฏิบัติต่อผู้คลอดบุตร ดังนี้

  1. ใน 5 วันแรก ควรเยี่ยมหญิงหลังคลอดทุกๆวัน เพราะในวันที่ 3 ถึง วันที่ 5 เป็นระยะที่เกิดโรคแทรกได้ ต่อไปเยี่ยมวันเว้นวันจนครบ 2 สัปดาห์ จึงหยุดการเยี่ยมได้
  2. ในการเยี่ยมครั้งหนึ่งๆ ต้องสังเกตอาการทั่วๆไป ของมารดาว่า สบายดีหรือไม่ และวัดอุณหภูมิของร่างกาย จับชีพจรดูด้วยว่าปกตอดีหรือไม่ ถ้าผิดปกติมาก เช่น หญิงหลังคลอดมีอาการไข้สูง และชีพจรเร็วต้องนึกถึงสิ่งต่อไปนี้

2.1  สันนิบาตหน้าเพลิง (Puerperium Infection)

2.2  น้ำคาวปลาเดินไม่สะดวก

2.3  นมคัดมากและอักเสบแดง

2.4  ไข้จากสิ่งอื่น เช่น ไข้จับสั่น หวัด เป็นต้น

แล้วต้องตรวจหาต้นเหตุของสิ่งที่ทำให้เกิดอาการผิดปกติให้ได้ และปรึกษาแพทย์ เพื่อทำการรักษาต่อไป

3.  หลังคลอดแล้ว 48 ชั่วโมง ควรให้ยาถ่ายน้ำมันระหุ่ง 30 ซีซี. แก่คนไข้ 1 ครั้ง ถึงคนไข้จะท้องผูกหรือไม่ผูกก็ตาม ซึ่งโดยมากมักท้องผูก ประโยชน์เนื่องจากถ่ายยานี้ คือ ช่วยให้น้ำคาวปลาเดินสะดวก ทำให้น้ำนมออกได้มาก ทำให้การไหลวนเวียนของโลหิตของอวัยวะเชิงกรานดีขึ้น ถ้าคนไข้ไม่ถ่ายอุจจาระเลยถึง 2 วัน ก็ควรจะสวนอุจจาระด้วยสัก 1 ครั้ง ก่อนให้ยาถ่ายน้ำมันละหุ่ง

4.  ความดันโลหิต ถ้าคนไข้อาการบวม หรือเมื่อตั้งครรภ์ ปรากฎว่ามีอาการเป็นพิษจากการตั้งครรภ์เกิดขึ้น ต้องวัดความดันโลหิตเสมอ วันละครั้ง หรือทุกๆ ครั้งที่ไปเยี่ยม ตรวจไข้ ถ้าความดันโลหิตยังสูงมากควรให้ยาระบายด้วยน้ำมันละหุ่งทุกๆ วัน

5.  การถ่ายปัสสาวะเนื่องจากขณะทำคลอดอาจได้รับความกระทบกระเทือนบริเวณกระเพราะปัสสาวะและหลอดปัสสาวะ เมื่อคลอดแล้วบางคนถ่ายปัสสาวะไม่ออก ถ้าคนไข้ถ่ายปัสสาวะไม่ได้เองภายในเวลา 8 ถึง 10 ชั่วโมง ต้องสวนปัสสาวะ การสวนปัสสาวะต้องระวังความสะอาดให้มากที่สุดดังได้เคยกล่าวมาแล้วข้างต้น

6.  ทุกครั้งที่เยี่ยมหญิงหลังคลอดต้องตรวจดูยอดมดลูกทุกๆ ครั้งว่า อยู่สูงเท่าใด โดยคลำหน้าท้องเปรียบเทียบระดับของมดลูกทุกๆวัน เพื่อจะได้รู้ว่า มดลูกเข้าอู่ได้ดีหรือไม่เพียงใด และควรดูสีน้ำคาวปลาซึ่งติดผ้าอยู่ ดูจำนวนที่ไหลออกมา และกลิ่นของน้ำคาวปลา เหม็นหรือไม่ ถ้ามีกลิ่นเหม็นมักเกิดจากพวกสันนิบาตหน้าเพลิงอย่างแรง

7.  ให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวแก่มารดาในระหว่าง 10 วันแรกหลังคลอด ดังนี้

7.1 หลังคลอด 6 ชั่วโมง คนไข้นอนตะแคงได้บ้างแล้ว

7.2 วันที่ 2 เวลารับประทานอาหาร ใช้หมอนพิงหลังได้บ้างแล้ว

7.3 วันที่ 3 และวันที่ 4 ให้ลุกขึ้นนั่งเวลารับประทานอาหารได้บ้าง แต่เสร็จแล้วต้องนอนพักอย่าลุกจากเตียง

7.4 วันที่ 5 ถึงวันที่ 7 เดินได้บ้างเล็กน้อย

7.5 ต่อจากนั้นค่อยๆ ลุกเดินได้มากขึ้นทุกๆ วัน จนถึงวันที่ 16 จึงทำงานเบาๆ ได้

7.6 แต่ถ้าผู้ทำงานหนัก เช่น ชาวสวน ชาวนา ควรพักงานหนัก 6 สัปดาห์ขึ้นไป จึงควรทำงานปกติได้

การปฏิบัติตัวของมารดาเวลาให้มารกดูดนม

  1. ต้องล้างหัวนมให้สะอาด คือ ฟอกสบู่ทุกครั้งเมื่ออาบน้ำเช้า-เย็น ตลอดทั้งมือมารดาก็ต้องทำความสะอาดทุกครั้งก่อนให้ทารกดูดนม
  2. ในเวลาที่มารกดูดนมต้องปลุกทารกให้ตื่นไว้เสมอ อย่าให้หลับ
  3. ต้องสลับเปลี่ยนเต้านมให้ทารกดูดทั้งสองข้าง เพื่อให้น้ำนมจะได้ไหลเท่าๆ กัน ทั้งสองข้าง และ อย่าให้ทารกดูดข้างใดนานเกินไป จะทำให้นมทั้งสองข้างไม่เท่ากัน และทำให้หัวนมแตกได้
  4. ในขณะที่มารดายังลุกจากเตียงไม่ได้ เวลาทารกดูดนมให้มารดานอนตะแคงให้มารกดูดนม เมื่อมารดานั่งได้แล้ว ควรนั่งและวางทารกที่หน้าขาทั้งสองข้างในท่าที่สบายที่สุด
  5. อย่าให้ลูกดูดนมเร็วเกินไป เพราะจะทำให้ทารกสำรอกน้ำนมออกมาได้
  6. หลังจากทารกดูดนมแล้ว อุ้มทารกไว้ในแขนให้ทารกสูงกว่าระดับลำตัว ลูบหลังเบาๆ ให้ทารก เรอเสียก่อน หรือกล่อมให้ทารกหลับก่อนแล้วจึงให้ทารกนอนเปล

การให้น้ำทารก

  1. ใน 3 วันแรกเนื่องจากน้ำนมมารดายังออกไม่พอ จึงควรให้ทารกดื่มน้ำอุ่นๆ ให้มากๆ มิฉะนั้นน้ำหนักของทารกจะลดมากกว่าธรรมดา และทารกมีอาการดีซ่านเพราะเม็ดโลหิตแดงแตกมาก ตัวเหลืองและ ตาเหลือง
  2. หลังจาก 3 วันแรกแล้ว ควรให้ทารกดื่มน้ำอุ่นๆ ครั้งละ 1 ถึง 2 ช้อนโต๊ะ หลังจากให้นมแล้วราว 1 ชั่วโมง โดยใส่ขวดมีหัวนมให้ดูดหรือหยอดใส่ปากก็ได้ แต่อย่าให้ใกล้ระยะให้นมมากเกินไป เพราะจะทำให้ทารกอิ่มเสียก่อน และอย่าให้หลังจากให้นมเพราะจะทำให้ทารกสำรอก ควรให้ 1 ชั่วโมง หลังจากให้นมทารกแล้ว การให้น้ำอุ่นทารก ก็เพื่อเพิ่มจำนวนน้ำในตัวทารกให้มาก เพื่อป้องกันท้องผูกและกันร่างกายทารกทรุดโทรม

ลักษณะของทารกที่เจริญเติบโต

  1. น้ำหนักทารกขึ้นทุกๆ วันละประมาณ 150 กรัม ถึง 200 กรัม
  2. ควรถ่ายอุจจาระวันละ 3-4 ครั้ง มีลักษณะสีเหลืองเหลว ไม่เป็นมูกเป็นปม
  3. ผิวหนังทารกแดง เปล่งปลั่ง และร้องเสียงดัง แข็งแรงเล่นหัวดี ดูดนมได้ดี นอนหลับเป็นปกติ

การเลี้ยงทารกด้วยนมผสม

ถ้ามารดาไม่สามารถให้ทารกดูดนมได้ดังกล่าวมาแล้ว และหาแม่นมไม่ได้ จึงจำเป็นต้องเลี้ยงทารกด้วยนมผสม ควรปฏิบัติดังนี้

  1. ต้องล้างขวดนมให้สะอาด และต้มให้เรียบร้อยก่อนใส่นมทุกครั้ง
  2. เลือกนมชนิดที่ทดลองให้ทารกว่า จะมีความพอดี เหมาะสมตามที่ฉลากของนมชนิดนั้นๆ ถ้าทารกมีอาการผิดปกติอื่นใด ควรรีบปรึกษาแพทย์โดยเร็ว

การรัดท้องให้ระยะหลังคลอด

ในการรัดท้องนี้ เป็นการทำเพื่อป้องกันมิให้มดลูกเคลื่อนเอี้ยวไปจากที่ของมดลูกเพื่อมิให้ผนังหน้าท้องหย่อนยาน และยังทำให้อวัยวะทุกส่วนที่หย่อนยานกลับเข้าที่เดิม จึงจะต้องรัดท้องและรับประทานยา ผ้าสำหรับรัดท้องนั้น ใช้ผาขาวขนาดกว้างพอดีกับหน้าท้องประมาณ 8 นิ้วฟุต ยาวประมาณ 2 เมตรใช้เป็นผ้ารัดท้องปูขวางที่นอนด้านหลังตรงเอว หรือสอดเข้าไปใต้เอว แล้วเอาผ้าอีกผืนหนึ่งทำเป็นวงกลมหนาๆ ขนาดโตเท่าฝ่ามือวางทับที่หน้าท้องตรงบริเวณมดลูกก่อนจะพันผ้าทับหน้าท้อง ต้องคลึงมดลูกให้แข็งตัวเสียก่อนแล้ววางผ้าวงกลมตรงมดลูก แล้วจึงนำผ้าผืนที่ใช้รัดท้องพันทับขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง รัดพอสบายอย่าให้แน่นเกินไปหรือหลวมเกินไป แล้วใช้เข็มช่อนปลายกลัดไว้ ควรพันรัดหน้าท้องไว้สัก 15 วัน (ต้องพันใหม่ทุกวันหลังเช็ดตัวหรือเปลี่ยนเสื้อผ้า) ถ้าน้ำคาวปลาไม่เดินต้องแก้ผ้าพันออกตรวจดู อย่าให้ผ้าพันนั้นกดตรงมดลูกเกินไปจนโลหิตไม่เดินพันไว้แต่พอดีๆ เท่านั้น

การทับหม้อเกลือ หลังคลอดบุตร

ถ้าคลอดธรรมดา หลังคลอดไม่เกิน 10-12 วัน ทับหม้อเกลือได้ (ถ้าผ่าหน้าท้องคลอด ต้องรอให้ครบ 1 เดือนถึงทำได้)

อุปกรณ์

  1. เตาถ่าน 1 เตา
  2. เกลือเม็ด
  3. หม้อดินใบเล็ก 2 ใบ
  4. ผ้าขาวขนาด 50×50 เซนติเมตร จำนวน 1 ผืน
  5. เครื่องยา ไพล ว่านนางดำ การบูร ใบพลับพลึง
  6. เครื่องยาเข้ากระโจม ใบมะกรูด ใบมะนาว ใบส้มโอ ใบข่าตะไคร้ทั้ง 5 ใบมะขาม ใบพลับพลึง ใบส้มป่อย ใบว่านน้ำ ผักบุ้งแดงทั้ง 5 อย่างละ 1 กำมือ การบูร

ก่อนเข้ากระโจม  อย่าพึ่งรับประทานอาหาร ถ้าจะทำประคบเปียก อาจทำให้อาเจียน

วิธีทำ  นำเครื่องยาทุกชนิดใส่ในหม้อต้ม ใส่น้ำให้เต็มหม้อ (ต้องใช้เตาถ่าน) ปิดฝาหม้อจนกว่าจะใช้เพราะถ้าเปิดหม้อก่อนกลิ่นยาจะหนี

เวลาเข้ากระโจม  ใช้เวลาเข้ากระโจมไม่เกิน 15-20 นาที ค่อยแย้มฝาหม้อรมไอให้ทั่ว ลืมตารมควันรมทั้งตัว เวลาออกจากกระโจมแล้วต้องรอให้ตัวแห้งเสียก่อน แล้วจึงเอาน้ำที่ต้มยาผสมอาบ

หมายเหตุ  ถ้ามารดาเป็นไข้ ห้ามทำเด็ดขาด

โลหิตเป็นพิษ

พระตำรานี้ สำหรับแก้โลหิตระดูขัดและคลอดบุตร โลหิตไม่ออกสิ้นเชิง คนทั้งหลายว่าเป็นบ้า พุทธยักษ์ บางคนก็ว่าพรายเข้าอยู่ บางคนก็ว่าเป็นไข้สันนิบาต เพราะว่าโลหิตนั้นตีขึ้นจับหัวใจก็ให้ครั่งเพ้อบางทีขบฟัน จักษุเหลือง แลบชิวหา ให้เท้าเย็นมือเย็น เพราะว่าโลหิตออกไม่หมด จึงทำให้เป็นไปต่างๆ หญิงใดคลอดบุตรได้ 1,2,3 วันก็ดี จนถึงเดือนหนึ่งก็ดี กำหนดโลหิตร้ายนั้นยังอยู่ ถ้าถึงสองเดือนแล้วจึงพ้นกำหนดโลหิตเน่าร้าย ถ้าว่ากำลังโลหิตกล้านักให้ดีขึ้นไปไม่สมปฤดี ให้สลบ ให้ชัก มือกำ เท้ากำ อ้าปากมิออก ลิ้นกระด้าง คางแข็ง ทำให้คนทั้งหลายกลัว อันนี้ชื่อว่า โลหิตเน่าเป็นใหญ่กว่าลมทั้งหลาย จึงให้มีโทษดุจดังกล่าวมานี้ ฯลฯ (มียารักษาให้ศึกษาในตำราเวชกรรม)

สันนิบาตหน้าเพลิงหรือการติดเชื้อโรคของมารดาในระยะหลังคลอด

ในระหว่างทำคลอด ถ้าผู้คลอดไม่ระวังรักษาความสะอาดไม่เพียงพอ หรือการคลอดกินเวลานานหลายชั่วโมงหลังจากถุงน้ำทูนหัวทารกแตกแล้ว คนไข้อาจมีโอกาศได้รับเชื้อโรคจากภายนอกได้ ทำให้เกิดการอักเสบแก่มดลูกแลอวัยวะภายในช่องเชิงกราน หรือตามภาษาชาวบ้านเรียกว่า สันนิบาตหน้าเพลิง ซึ่งทำให้ผู้คลอดบุตรเสียชีวิตเป็นจำนวนไม่น้อย อาการของสันนิบาตหน้าเพลิงจะเกิดภายใน 2 สัปดาห์หลังคลอด เชื้อโรคที่ทำให้เกิดโรคสันนิบาตหน้าเพลิง มีหลายชนิด

  1. เชื้อสเตรีพโตคอลคัส (Streptococcus) เป็นเชื้อที่พบบ่อยที่สุดและอันตรายมากที่สุด โดยมากเป็นพวกที่สามารถทำให้เม็ดโลหิตแดงแตกได้
  2. เชื้อสแตฟไฟโลคอคคัส (Staphylococcus Aureus) อาจทำให้เกิดอาการได้มากแต่พิษร้ายแรงน้อยกว่าพวกสเตร็พโตคอคคัส
  3. เชื้อเอสเชอลิเชียโคไล (Escherichai Coli) อาจพบอยู่ชนิดเดียวหรือมีปนอยุ่กับเชื่ออื่น และทำให้เชื้ออื่นมีพิษแรงขึ้นอีก เมื่อมีอยู่ในมดลูกทำให้เกิดมีลมขึ้น เชื้อนี้มาจากอุจจาระ เมื่อถ่ายอุจจาระแล้วล้างปากช่องคลอดไม่ถูกวิธีหรือไม่สะอาดพอ
  4. เชื้อหนองในกล่าวกันว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้มีอาการไข้ในระยะหลังคลอดบ่อยๆ แต่อาการไข้ไม่สู่มากนัก มักปรากฏอาการในวันที่ 5 หญิงหลังคลอดไม่ใครตายเพราะพิษของมัน
  5. เชื้อโรคคอตีบ เคยมีปรากฏพบในรายที่มดลูกอักเสบหลังคลอด ถ้าเกิดจากเชื้อนี้ พื้นมดลูกจะมีอาการอักเสบหลุดลอกตัวออกมาเป็นแผ่นๆ

นอกจากนี้ยังมีเชื้ออื่นๆ อีกหลายอย่าง แต่เป็นชนิดที่ไม่ใคร่พบบ่อยนัก

สาเหตุที่ทำให้เกิดสันนิบาตหน้าเพลิง คือ

  1. หญิงหลังคลอดมีร่างกายอ่อนแอลง เป็นโอกาสทำให้เกิดโรคร้ายนี้ได้ง่าย มีสาเหตุมาจาก

1.1 ในระยะตั้งครรภ์

1.1.1. ป่วยเป็นโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น บิด ไข้จับสั่น กามโรค มีพิษเกิดจากการตั้งครรภ์ดังได้อธิบายมาแล้ว

1.1.2. ขาดอาหาร คือ ได้รับอาหารไม่เพียงพอในช่วงเวลาตั้งครรภ์

1.1.3. ร่วมเพศกับสามีในระยะ 3  เดือนแรก และในเดือนหลังของการตั้งครรภ์ดังกล่าวมาแล้ว

1.2 ในขณะคลอด ได้แก่

1.2.1. ตกโลหิตมาก หรือได้รับบาดเจ็บจากการคลอดมาก

1.2.2. ความสกปรกมาจากผู้ทำคลอด เช่น ผู้ทำคลอดไม่รักษาความสะอาดให้เพียงพอเวลาทำคลอด

1.2.3. ถุงน้ำทูนหัวทารกแตกอยู่นานตั้งแต่ 4 ชั่วโมงขึ้นไปก่อนทารกคลอด

1.3 ในระยะเวลาหลังคลอด

1.3.1. ทำการล้างช่องคลอดหรือตรวจทางช่องคลอดในช่วงสัปดาห์แรกหลังคลอด

1.3.2. น้ำคาวปลาเดินไม่สะดวกหรือเดินน้อยกว่าปกติ

1.3.3. ทารกตายและเน่าอยุ่ในครรภ์ หรือมีเศษรกค้างในครรภ์

ที่มาของเชื้อโรคที่ทำให้เกิดสันนิบาตหน้าเพลิง เกิดจาก

1.  จากภายนอกร่างกายของผู้คลอด ได้แก่

1.1  ความสกปรกของผู้ทำการคลอดนำไปโดย

1.1.1. ฝอยน้ำลายของผู้ทำคลอดเวลาทำคลอดไม่ระวัง น้ำลายกระเด็นลงไปในบริเวณปากช่องคลอด โดยผู้ทำการคลอดไอ จาม หรือหัวเราะ เพราะฉะนั้นคนทำการคลอดต้องปิดปากและจมูกด้วยผ้าก๊อชอย่างน้อย 4 ชั้น

1.1.2. จากนิ้วมือของผู้ทำการคลอด ซึ่งไม่ล้างมือให้สะอาดเสียก่อน

1.1.3. จากเครื่องมือที่ใช้ ต้มไม่สะอาดพอ หรือไม่ได้ต้ม และไม่ทำความสะอาดให้เพียงพอ

เพราะฉะนั้นเวลาทำคลอดต้องระวังความสะอาดให้มากที่สุดมือก็ต้องล้างฟอกสบู่ให้สะอาดแล้วใส่ถุงมือ เครื่องมือเครื่องใช้ทุกๆ อย่างต้องสะอาดหมด

1.2  จากสามี โดยเกี่ยวข้องกับสามีใน 1 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ เพราะว่าอวัยวะสืบพันธุ์ของผู้ชายมีเชื้อสเตร็พโตค๊อคคัสชนิดทำลายเม็ดโลหิต เมื่อคลอดแล้วเชื้อซึ่งอยู่ช่องคลอดจะเข้าไปในมดลูก ทำให้เกินสันนิบาตหน้าเพลิงขึ้น

1.3  จากผงในอากาศ เช่น ในสถานที่สกปรก เช่น คลอดในห้องที่เคยป่วยมีผู้ป่วยมีเชื้อโรคนี้อยู่ก่อนและสถานที่ๆ ไม่ได้ทำความสะอาด

2. จากภายในร่างกายของผู้คลอดเอง เช่น คนไข้มีฟันผุอยู่ก่อนคลอด คนไข้เคยทอนซิลอักเสบบ่อยๆ หรือมีการอักเสบในส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ถ้าเชื้อพวกนี้เข้าสู่กระแสโลหิตของผู้ป่วยแล้ว มีผลให้ เยื่อบุพื้นมดลูกอีกเสบ

ลักษณะของการอักเสบของพื้นมดลูก เป็นดังนี้

การอักเสบจะปรากฏที่แผลที่รกเกาะ เพราะเป็นแผลมีโลหิตก้อนเล็กๆ ติดอยู่มาก และจะต้องเน่าหลุดลงมาภายหลัง ซึ่งเป็นที่เจริญเติบโตของเชื้อโรคได้อย่างดี การอักเสบจะเริ่มเกิดขึ้นแล้วจะแผ่ไปทั่วบริเวณแผลที่รกเกาะ และต่อไปก็ทั่วเยื่อพื้นภายในมดลูก อีกประการหนึ่งเชื้ออาจลามมาจากแผลที่คอมดลูกได้เพราะเวลาคลอดปากมดลูกจะต้องมีการฉีกขาดเสมอ ถ้าแผลที่ปากมดลูกได้รับเชื้อโรคดังกล่าวแล้ว เชื้อจะ ลุกลามอักเสบเข้าถึงแผลที่รกเกาะ เยื่อมดลูกก็จะอักเสบทั่วไป จะทำให้พื้นมดลูกมีลักษณะหนาหยาบและมีโลหิตมาเลี้ยงมากขึ้น และมีน้ำคาวปลาออกน้อยลง ซึ่งเป็นการอักเสบอย่างรุนแรง ถ้ารักษาไม่ถูกต้องทำให้ผู่ป่วยตาย ถ้าหากว่าพื้นมดลูกอักเสบจากเชื้อที่ทำให้เนื้อเน่า ทำให้เยื่อมดลูกเน่ามากขึ้น ซึ่งเป็นธรรมดาน้ำคาวปลาที่ออกมาจะเหม็นเน่า แต่ไม่มีความร้ายแรงอย่างใด

อาการของสันนิบาตหน้าเพลิง

  1. อาการมักจะปรากฏในวันที่ 2 ถึงวันที่ 4 หลังคลอด ถ้าปรากฏอาการเร็ว แสดงว่า อาการของโรครุนแรงมาก ถ้าเกิดจากเชื้อหนองในยิ่งมีอันตรายมาก เพราะลุกลามไปได้โดยเร็ว
  2. มีอาการไข้ตลอดเวลา และถ้าเป็นไขสูงทันทีทันใดพร้อมด้วยมีอาการหนาวสั่น แสดงว่าพิษของเชื้อโรคเข้าในโลหิตมาก อาการไข้จะมีสูงกว่าธรรมดา ซึ่งควรมีในระยะหลังคลอด ดังได้อธิบายมาแล้ว (ความร้อนอาจขึ้นสูงถึง 102-104 องศาฟาเรนไฮต์)
  3. ชีพจรเร็ว เนื่องจากพิษของเชื้อโรคทำให้หัวใจต้องทำงานมาก ชีพจรอาจมากถึง 120 ครั้งต่อ 1 นาที
  4. อาการหนาวสั่นในรายที่เชื้อไม่รุนแรง คนไข้จะรู้สึกหนาวๆ เท่านั้น ถ้ามีอาการหนาวสั่นแสดงว่ามีพิษในโลหิตมาก ถ้ามีอาการหนาวสั่นบ่อยๆ ควรสงสัยว่า มีหนองจากพื้นมดลูกซึ่งอักเสบอยู่แล้วหลุดเข้าไปในกระแสโลหิตได้
  5. มดลูก มีลักษณะบวมอักเสบและเวลากดบริเวณมดลูกทางหน้าท้อง จะรู้สึกเจ็บมากและมดลูกเข้าอู่ช้า เนื่องจากมีโลหิตคั่งค้างอยู่มาก ขนาดของมดลูกจึงลดตัวลงช้ากว่าธรรมดา แต่ในรายที่เชื้อโรคเข้าในกระแสโลหิตแล้ว มดลูกอาจลดตัวลงได้วันละเท่าๆ กับรายที่ไม่มีอาการอักเสบเลยก็ได้ น้ำคาวปลามีลักษณะผิดปกติ คือ ถ้ามีอาการอักเสบเฉพาะที่มดลูกแห่งเดียว น้ำคาวปลาจะมีสีแดงจัดและเหม็นมาก อาการไข้มีเล็กน้อย ถ้ามีอาการอักเสบที่มดลูกและเชื้อโรคเข้ากระแสโลหิต คนไข้จะมีอาการไข้สูง หนาวสั่น น้ำคาวปลาน้อยและกลิ่นไม่เหม็นนัก อันตรายแก่คนไข้มีมาก
  6. ท้องร่วงและอาเจียน ไม่จำเป็นต้องมีในทุกรายไป แต่มีได้ในรายที่เชื้อแรงและมีอาการไข้สูงและในรายที่ทำให้เยื่อบุช่องท้องอักเสบ
  7. อาการอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ คือ ปวดศีรษะมาก นอนไม่หลับ ลิ้นหนาขาว เหงื่อออก สติฟั่นเฟือน เพราะอาการไข้และพิษของโรค

การดูแลช่วยเหลือ  ต้องรักษาช่องคลอดให้สะอาด เครื่องมือเครื่องใช้ต้องสะอาดทุกอย่าง จะรักษาให้หายต้องใช้ ยาจำพวกยาฆ่าเชื้อโรค เพราะมีเชื้ออยู่ในโลหิต ทำลายพิษเชื้อโรคในโลหิตก็หายได้จริง เมื่อตรวจพบรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที จะได้ปลอดภัยทุกอย่าง

ภาวะน้ำคาวปลาไม่ออก

เป็นเพราะปากมดลูกหย่อนยานต่ำลงมา แล้วไปติดปากช่องคลอด ทำให้น้ำคาวปลาเดินไม่ได้

การดูแลช่วยเหลือ ให้ฝืนมดลูกขึ้นข้างบนหรือผลักมดลูกไปมา อาจทำให้น้ำคาวปลาออกได้กับทั้งให้ล้างมดลูกเช้า เย็น ด้วยน้ำผสมด่างทับทิมหรือน้ำยาปรอทคลอไรด์ หรือ แซฟลอนให้รักษาความสะอาดช่องคลอดโดยเรียบร้อยเครื่องมือ เครื่องใช้ หม้อสวนต้องลวกน้ำร้อนหรือล้างให้สะอาด ทุกสิ่งทุกอย่างความสะอาดสำคัญมาก จะลืมเสียมิได้

อาการที่อาจเกิดขึ้นกับสตรีในระหว่างอยู่ไฟ

คือ สตรีที่คลอดบุตรแล้วใหม่ๆ บางคนปวดทองแทบจะทนไม่ไหว โดยมดลูกบีบรัดตัวแข็งแรงเข้า

การดูแลช่วยเหลือ ให้รับประทานยาทิงเจอร์ฝิ่นการบูร หรือจันทลีลา ก็ได้ ใช้ความร้อนทับหน้าท้องอุ่นจัดๆ อยู่เสมอ อาจหายได้แน่นอน ถ้าไม่หายสงสัยตกเลือดคั่งภายใน ให้ส่งแพทย์ทันที

ภาวะเต้านมคัด

คือ น้ำนมไหลออกไม่ได้ โดยหัวนมแข็งทำให้ช่องที่น้ำนมไหลมาตีบตัน

การดูแลช่วยเหลือ ให้ใช้วาสลิน หรือขี้ผึ้งทาปาก ทาที่หัวนมแล้วเอาน้ำอุ่นๆ ประคบ หรือใช้ที่ดูดนมที่เป็นหลอดแก้วก้นยางปั๊ม

ภาวะนมคัดมาแต่กำเนิด

โรคนี้ไม่มีช่องทางน้ำนม ทำให้น้ำนมไหลออกมาไม่ได้ หรือเกิดบุตรตายแล้ว 2-3 วัน นมจะคัดมากทิ้งไว้อาจเป็นฝี

การดูแลช่วยเหลือ ให้เอาการบูร 2 ออนซ์ และแอลกอฮอล์ 12 ออนซ์ ละลายเข้าด้วยกัน ใช้ทาหัวนมวันละหลายๆ ครั้ง เมื่อน้ำนมแห้ง นมที่คัดก็จะเล็กลงได้

การดูแลมารดาตามบทบาทของผดุงครรภ์โบราณ

ท้อง 2 เดือน ถ้ายาขนานก่อนไม่หาย ให้ใช้ยาขนานต่อไปนี้

ท่านให้เอา รากบัวหลวง รากบัวเผื่อน แห้วสด กระจับสด ใบผักแว่น ขิงสดแต่น้อย บดด้วยน้ำแรมคืน น้ำนมโคก็กินได้ กินยาแก้ปวดท้องและท้องขึ้นหาย ยาชโลมขนานนี้ ท่านให้เอาใบหนาด ใบโพกพาย รากผักไห่ เม็ดใบขนุน ละมุด ดินสอพอง บดด้วยน้ำซาวข้าว ชโลมหายดีนัก

ท้อง 3 เดือน ถ้ายาขนานนี้ไม่หาย ให้ใช้ยาขนานต่อไป

ท่านให้เอา ข้าวตอก ข้าวเหนียวกัญญา บดละลายน้ำโคกินหาย  ยาชโลมขนานนี้ ท่านให้เอารากกระจับบก ใบบัวหลวงอ่อน จันทร์หอม เปราะหอม หญ้าแพรก แฝกหอม เถาชิงช้าชาลี บดละลายน้ำซาวข้าว ชโลมดีนัก

ท้อง 4 เดือน ใช้ยาต่อไปนี้

ท่านให้เอา ดอกสัตตบงกช โกฐกระดูก รากบัวหลวง กระจับบก จันทร์หอม รากขัดมอน หัวแห้วหมู รากมะตูม ผลผักชี ขิงสด ยา 10 สิ่งนี้ นำมาเท่ากัน ต้ม 3 เอา 1 กินหาย

ยาชโลมสำหรับประกอบกัน ยาขนานนี้ ท่านให้เอา รากสลอดน้ำ รากหญ้านาง รากทองหลาง รากพุมเรียงบ้าน พุมเรียงป่า จันทร์แดง จันทร์ขาว รากพุงดอ รากตำลึง รากฟักขาว เกสรบัวหลวง ดินประสิว ดินสอพอง รวมยา 12 สิ่งนี้เอาเท่ากัน กระทำให้เป็นจุณ บดทำแท่งไว้ ละลายน้ำซาวข้าวทั้งกินทั้งชโลมดีนัก เป็นยากล่อมลูกมิให้เป็นอันตรายได้วิเศษนัก

ท้อง 5 เดือน  มียาต่อดังนี้

ถ้าไม่หายให้เอา ใบบัวบก เทียนดำ ขมิ้นผง ปูนแดง บดละลายน้ำสุรา กินแก้ลงโลหิต ทางทวารหนัก ทวารเบานั้นหาย

Scroll to top