การเจริญเติบโตและการดูแลทารก

การเลี้ยงดูทารกให้มีการเจริญเติบโตทั้งร่างกายและจิตใจอย่างแข็งแรงสมวัยนั้น ต้องเริ่มตั้งแต่ที่บิดามารดามีความต้องการและตั้งใจที่จะให้กำเนิดบุตร เพื่อทารกเกิดมาแล้วสามารถให้การเลี้ยงดูเป็นอย่างดี ทั้งในด้านอาหาร ความสะอาดและการป้องกันรักษาโรคต่างๆ เป็นต้น ซึ่งมารดาครรภ์แรก อาจจะไม่ทราบวิธีการเลี้ยงดูที่ถูกต้องเหมาะสม จึงเป็นหน้าที่ของผดุงครรภ์ที่จะต้องให้การดูแล ให้การแนะนำแก่มารดาในด้านต่างๆ

  1. การเลี้ยงทารกด้วยนมมารดา

ในสองสามวันแรกหลังคลอดแล้ว น้ำนมมารดาจะเป็นน้ำใสๆ หรือที่เรียกกันว่า นมน้ำเหลือง น้ำนมใสๆนี้มีโปรตีนอยู่เท่ากับในโลหิตของมารดา ซึ่งนับว่าเป็นอาหารที่ดีที่สุดและมีประโยชน์สำหรับทารกเกิดใหม่ คือ เมื่อทารกรับประทานน้ำนมเหลืองนี้เข้าไปในกระเพาะอาหารแล้ว กระเพาะอาหารทารกไม่ต้องทำงานมาก จะซึมเข้าในโลหิตทันที โดยไม่ต้องย่อย ต่อมา 3-4 วัน น้ำนมน้ำเหลืองใสๆ นี้ก็จะเปลี่ยนสีเป็นสีขาวขึ้น ซึ่งเป็นระยะพอดีกับเครื่องย่อยอาหารของทารก (การปรับตัวของธรรมชาติ) จะเคยชินทำการย่อยอาหารใหม่ได้เลย น้ำนมเหลืองนี้ก็เป็นยาถ่ายขี้เทาของทารกได้ดีอีกด้วย

1.1  ระยะเวลาในการให้นมทารก

ระยะสามวันแรกหลังจากคลอดแล้ว ควรให้ทารกรับประทานน้ำต้มสุกอุ่นๆ ให้ทุก 2-3 ชั่วโมง ไม่จำเป็นต้องใส่ของหวาน (เช่น น้ำผึ้ง น้ำตาล) ลงในน้ำนี้ เพราะร่างกายของทารกในระยะนี้ยังไม่มีความต้องการ และอาจทำให้ทารกปวดท้องได้ด้วย ถ้าใน 2-3 วันแรก มารดายังไม่มีน้ำนมมาเลย ไม่ควรให้นมผสมแก่ทารก เพราะในสามวันแรกในลำไส้ของทารกยังอัดแน่นไปด้วยขี้เทา ยังไม่ต้องการอาหารใดๆทั้งสิ้น นอกจากน้ำเท่านั้น จนภายหลังน้ำนมมารดามาแล้วจึงให้กินได้บ้าง น้ำนมน้ำเหลืองนี้จะกระตุ้นให้ขี้เทาที่อยู่เต็มในลำไส้ของทารกถ่ายออกมา เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ทารกจะเริ่มหิวโหย ในท้องจะมีลมมาก ทารกจะร้องกวนถ้าทารกมีอาการเช่นนี้เกิดขึ้นในระยะนี้ อย่าทำการสวนลำไส้ทารก

หลังจากทารกเกิด 2 วันแล้ว ควรให้ดูดนมมารดาข้างละ 3 นาที จะทำให้น้ำนมออกเร็วขึ้น เมื่อเอาทารกออกจากการดูดนมแล้ว ควรให้ทารกรับประทานน้ำสุกสัก 1-2 ช้อนชาเสมอๆ วันที่ 3 ให้ทารกดูดนมเพิ่มขึ้นข้างละ 5 นาที วันที่ 4 เพิ่มขึ้นเป็นข้างละ 7 นาที วันที่ 5 เพิ่มขึ้นเป็นข้างละ 10 นาที และให้ตามเวลาและควรให้ดูดนมมารดาเวลาเท่ากันทั้ง 2 ข้าง การให้นมทารกควรให้เป็นเวลาห่างกัน 3 ชั่วโมงต่อ 1 ครั้ง เช่น มื้อแรกให้เวลา 06.00 น. มื้อต่อๆไปควรให้เวลา 09.00 น. , 12.00 น. , 15.00 น. และมื้อ 18.00 น. ถ้าให้ดังนี้ได้จะดีมาก ก่อนให้ทารกดูดนมควรใช้สำลีชุบน้ำสุกอุ่นๆ ล้างบริเวณหัวนมทุกครั้ง เมื่อลูกดูดนมแล้วก็ควรล้างอีกครั้งหนึ่งด้วย แล้วให้ทารกรับประทานน้ำสุก 1-2 ช้อนกาแฟ ทุกครั้งหลังจากดูดนมเพื่อเป็นการล้างปากให้สะอาดด้วย

ประโยชน์ของการให้ทารกดูดนม  3 ชั่วโมงต่อครั้ง คือ

  1. ภายในท้องทารกมีเวลาว่างมากขึ้น
  2. ทารกมีเวลาพักผ่อนมาก
  3. ทารกมีกำลังแรงที่จะดูดนม

จะเป็นการออกกำลังกายทำให้ขากรรไกรแข็งแรง และยังทำให้น้ำนมมารดามากขึ้นด้วย ในเวลากลางคืน ไม่ควรให้ทารกดูดนมตั้งแต่แรกเกิด คือ ในระหว่าง 22.00 น. ไปจนถึง 06.00 น. ถ้าร้องควรให้น้ำสุกอุ่นๆแทน ถ้าทารกนอนร้องไม่หลับอีกก็ควรให้ตอนเวลา 22.00 น. ได้บ้าง ถ้าทารกหลับก็ให้หลับต่อไป จนกว่าจะตื่นจึงให้ดูดนมต่อไป

1.2  การดูแลและให้นมทารก

การดูแลทารกและให้นมของมารดาแก่ลูก เมื่อการคลอดและทุกอย่างเรียบร้อย ให้มารดารับประทานยาขับคาวปลา หรือยาประสะไพล ยาไฟประลัยกัลป์ เพื่อขับน้ำคาวปลา และรักษามดลูกให้เข้าอู่และประสะน้ำนม

การให้นมลูกหลังคลอด บางคนก็จะมีน้ำนมมาเร็ว บางคนก็จะมีหลังคลอด 1-2 วัน น้ำนมที่เริ่มมีจะมาเป็นน้ำสีเหลืองรสกร่อยๆ ซึ่งมีประโยชน์อย่างยิ่งแก่ทารก เพราะช่วยถ่ายขี้เทาและล้างท้องทารก

ทุกครั้งที่จะให้นมลูกมารดาต้องล้างหัวนมให้สะอาดก่อนจะให้นมลูกมารดาควรคลึงเต้านมให้ทั่วเสียก่อน แล้วจึงให้ลูกดูดนม

ประโยชน์ของน้ำนมแม่ต่อทารก

  1. มีคุณค่าด้านอาหารครบถ้วน เพราะกลั่นกรองมาจากเลือดในอกของมารดา ถ้าลูกหิวเมื่อใดแม่จะรู้ถึงความต้องการอาหารของลูก คือ น้ำนมจะไหลออกมาเอง
  2. ด้านจิตใจแม่กับลูก จะมีความผูกพันซึ่งกันและกัน ลูกจะมีความสุขเวลาได้ดูดนม มีความผูกพัน ดูดดื่ม อบอุ่น ลูกจะมีสุขภาพจิตที่ดี
  3. ด้านสมอง เวลาลูกกินนม แม่สามารถถ่ายทอดความรัก ความนึกคิดให้ลูกซึมซับได้ รับรู้ความคิด ความห่วงใยซึ่งกันและกัน ทารกที่กินนมแม่จะมีความคิดอ่านและมั่นใจในตัวเอง
  4. น้ำนมแม่ สะอาดกว่าอาหารอื่นใด เมื่อลูกหิวก็ไม่ต้องเตรียม เพราะธรรมชาติสร้างมาให้พร้อมแล้ว
  5. น้ำนมแม่ เป็นอาหารวิเศษที่ธรรมชาติสร้างมา น้ำนมของมารดานั้น จะมีความเข้มข้นขึ้นตามความเจริญวัยของทารก
  6. น้ำนมของมารดา ก็มีขอบเขตจำกัดได้ เช่น เมื่อลูกเจริญวัยขึ้น น้ำนมก็จะลดลง เพราะลูกกินอาหารเองได้แล้ว
  7. ประโยชน์ของการให้นมแม่แก่ลูกนั้น ยังช่วยยึดเวลากาตั้งครรภ์ คือ เป็นการคุมกำเนิดไปด้วย
  8. ข้อสำคัญของการให้นมลูก ถ้าแม่มีภารกิจเกิน 3-4 ชั่วโมง เมื่อจะให้นมลูก ให้บีบน้ำนมทิ้งก่อนแล้วค่อยคลึงเต้านมให้ทั่ว เพื่อให้ลูกกินนม

น้ำนมมารดาให้โทษแก่ทารก

  1. แม่ไม่สบาย เป็นไข้
  2. แม่ที่ถูกสัตว์มีพิษกัดต่อย
  3. แม่ตั้งครรภ์มีท้องอ่อน ห้ามลูกกินนม

ในพระคัมภีร์ปฐมจินดา ท่านกล่าวไว้ว่า น้ำนมพิกามี 3 จำพวก ดังนี้

  1. สตรีขัดระดู จำพวกหนึ่ง
  2. สตรีอยู่ไฟมิได้ จำพวกหนึ่ง
  3. สตรีมีครรภ์อ่อน จำพวกหนึ่ง

ถ้าสตรีมีครรภ์ลักษณะนี้ ถ้ากุมารกินน้ำนมเข้าไปดุจบริโภคยาพิษ จะบังเกิดโรคพยาธิได้

2.  การเจริญเติบโตด้านร่างกายของทารกในวัยต่างๆ

ทารกครบกำหนดและสมบูรณ์ที่เกิดมาต้องมีลักษณะ ดังนี้

  1. น้ำหนักตัวราว 3,000 กรัมขึ้นไป หากต่ำกว่าก็ต้องไม่น้อยกว่า  500 กรัม
  2. เคลื่อนไหวตัวได้แข็งแรง
  3. ออกมาแล้ว ร้องเสียงดัง
  4. ผิวหนังตามตัวหนา
  5. เล็บมือ เล็บเท้าเป็นปกติ
  6. ขนตามตัวไม่มี
  7. ใบหน้าอิ่ม ไม่เหี่ยวย่นเหมือนคนแก่
  8. ดูดนมได้แรงดี

ทารกไม่ครบกำหนด ไม่สมบูรณ์ คลอดออกมาแล้วมีลักษณะดังนี้

  1. น้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ
  2. เคลื่อนไหวตัวไม่แข็งแรง
  3. ร้องเสียงแผ่วเบามาก
  4. ผิวหนังตัวบางและใส ดุจผิวหนังของลูกหนูที่ออกมาใหม่ๆ
  5. เล็บมือ เล็บเท้ายาวผิดปกติ
  6. มีขนตามตัว
  7. ใบหน้าเหี่ยวย่นเหมือนคนแก่
  8. ดูดนมไม่แข็งแรง

อาการที่ทารกรับประทานนมมากเกินไป มีอาการดังนี้

  1. อุจจาระบ่อยๆ คือ เกินกว่าวันละ 3 ครั้ง ครั้งแรกจะมีสีเหลืองเหนียว ต่อไปจะค่อยๆเปลี่ยนเป็นเหลวและเปลี่ยนเป็นสีเขียว และในที่สุดจะเหลวเป็นน้ำ
  2. จะอาเจียนและลงท้อง เนื่องจากกระเพาะอาหารอ่อนเพลียไม่มีกำลังที่จะย่อย
  3. เสียดท้องและมีอาการกระสับกระส่าย ไม่หลับ ไม่นอน ร้องไห้โยเย ซึ่งทำให้มารดาเข้าใจว่าทารกมีอาการหิว จึงให้ดูดนมเข้าไปอีก อาการเลยเป็นมากขึ้น น้ำหนักตัวตอนแรกจะเพิ่มขึ้น แต่ต่อมาจะลดลงเป็นลำดับ ซึ่งมักจะทำให้มารดาเข้าใจว่า น้ำนมของตนไม่ถูกกับตัวทารก และพยายามจะให้ทารกหย่านม
  4. ทารกมักจะร้อง และในขณะที่เอานมออกจากปาก แม้จะนอนนิ่งๆ ก็อาจร้องเช่นเดียวกัน

สำหรับรายที่ให้ทารกดูดนมไม่เป็นเวลา คือ เมื่อทารกร้องขึ้นเมื่อใดก็เอานมให้ทารกดื่มทุกครั้งทุกคราวไป ซึ่งแสดงว่า ให้นมทารกมากเกินไป จึงมีอาการดังกล่าวแล้ว จึงควรหัดให้ทารกรับประทานนมเป็นเวลาทุก 3 ชั่วโมง หรือ 4 ชั่วโมงก็ได้

ถ้าจะให้ทารกดูดนมน้อยนั้น ควรให้มารดาประมาณเวลาดูด ถ้าทารกเคยดูด 8-10 นาทีก็ควรลด ให้ดูดสัก 5-7 นาที ทารกบางคนดูดนมเร็วประมาณ 5-7 นาที ก็อิ่มแล้ว

นอกจากนี้ ถ้ามีอุจจาระเป็นสีเขียว ควรให้รับประทานน้ำมันละหุ่งสัก 1 ช้อนชา ถ้าเวลานี้ถึงเวลารับประทานนม ก็ควรให้น้ำสุกไปก่อน เมื่อระบายแล้วจึงให้รับประทานนมต่อไปตามเดิม

ทารกดูดนมน้อยไป  มีอาการดังนี้

  1. มักร้องไห้ทั้งก่อนนอนและหลังเมื่อดูดนมแล้ว
  2. อุจจาระที่ถ่ายออกมาจะเป็นก้อนเล็กๆ ไม่มากนัก และมีสีน้ำตาลแกมเขียว หรือบางทีมีสีเขียวมีเมือกปนคล้ายเสมหะ
  3. น้ำหนักตัวไม่เพิ่มขึ้นเท่าที่ควร ถ้าจะให้ทารกดูดนมมากขึ้น ควรปฏิบัติตามวิธีให้นมมากขึ้นตามที่ได้กล่าวมาแล้ว หรือชั่งน้ำหนักตัวทารกตรวจดูด้วย เพื่อตรวจดูว่าน้ำหนักตัวทารกขึ้นหรือลง

การให้อาหารทารกในวัยต่างๆ

มีไว้ดังนี้ นมหวานไม่ควรให้ทารกรับประทาน เพราะมีน้ำตาลมากเกินไป ทำให้ขาดอาหารเลี้ยงร่างกาย และทำให้ท้องเสียบ่อยๆ ควรให้นมผง จะเป็นชนิดใดควรปรึกษาสูตินรีแพทย์

อาหารที่ใช้เพิ่มให้ทารกนอกจากนม มีดังนี้

  • เมื่อทารกอายุ  2 เดือน  ควรให้น้ำส้มคั้นหรือน้ำผลไม้เล็กน้อย
  • เมื่อทารกอายุ  3 เดือน  ควรให้กล้วยน้ำว้าบดหรือกล้วยหักมุกเผาบด พอควร
  • เมื่อทารกอายุ  4 เดือน  ควรให้ข้าวบดกับน้ำแกงจืดตามสมควร
  • เมื่อทารกอายุ  5 เดือน  ควรให้ไข่แดงสุกเพิ่ม
  • เมื่อทารกอายุ  6-7 เดือน  เพิ่ม ตับบด ปลา เนื้อหมูสับ ทำให้สุกเพิ่มทีละน้อย ทีละอย่าง ครั้งแรกๆ ควรให้วันละ 1 ครั้ง และต่อไปเพิ่มเป็นวันละ 2 ครั้ง หรือสามครั้ง
  • เมื่อทารกอายุ  8-10 เดือน  ให้ข้าวและกับวันละ 2 มื้อ ให้ขนมปังบ้าง ตัดเป็นชิ้นๆ ให้เด็กถือกินเอง เพื่อต้องการให้เหงือกและฟันแข็งแรง

เมื่อทารกอายุ  1 ปี  ให้อาหารและผลไม้อย่างผู้ใหญ่ได้ ยกเว้นอาหารที่มีรสเผ็ดร้อนวันละ 3 มื้อ

การเจริญเติบโตของทารกปกติ  เป็นดังนี้

  • เมื่ออายุ  1 เดือน  จ้องหน้าคนพูดด้วย และทำปากคลายจะพูด
  • เมื่ออายุ  2 เดือน  ยิ้มได้ ออกเสียงอ้อแอ้ มองตามคนผ่าน
  • เมื่ออายุ  3 เดือน  ชันคอแข็ง หันมองตามเสียง
  • เมื่ออายุ  4 เดือน  คว่ำเอง หัวเราะดัง คว้าของและถือได้
  • เมื่ออายุ  5 เดือน  คว่ำและหงายเองได้ ชอบเอามือดึงเท้า และเอาของเข้าปาก
  • เมื่ออายุ  6 เดือน  เวลาจับยืนจะเต้นขย่ม นั่งเอง แขนยันพื้นได้
  • เมื่ออายุ 7 เดือน  นั่งเอง รู้จักเสียงเรียกชื่อตัวเอง พูดได้บางคำที่ไม่มีความหมาย เป็นพยางค์เดียว
  • เมื่ออายุ  8 เดือน  คืบได้ จับให้ยืนเกาะได้ พูดคำไม่มีความหมาย สองพยางค์ได้
  • เมื่ออายุ  9 เดือน  คลานได้ โหนตัวเกาะยืนขึ้นเอง หยิบของด้วยหัวแม่มือและนิ้วชี้
  • เมื่ออายุ  10 เดือน  เมื่อเกาะยืนยกขาได้ ยกมือลา หรือไหว้ได้
  • เมื่ออายุ  11 เดือน  เดินเกาะราว พูดคำที่มีความหมายได้คำเดียว สนใจรูปภาพ
  • เมื่ออายุ  12 เดือน  ยืนได้เอง จูงมือข้างเดียวเดินได้ ชอบโยนของทิ้ง พูดได้สองสามคำ
  • เมื่ออายุ  15 เดือน  คลานขึ้นบันไดได้ เดินคล่อง ป้อนอาหารเข้าปากเองได้
  • เมื่ออายุ  18 เดือน  เกาะราวขึ้นบันไดได้ พูดได้หลายคำ เมื่อปวดปัสสาวะ อุจจาระ จะบอกได้
  • เมื่ออายุ  21 เดือน  เดินถอยหลังตามอย่างได้ ทำตามคำสั่งง่ายๆ ได้ 2-3 อย่าง
  • เมื่ออายุ  24 เดือน  ขึ้นลงบันไดได้เอง เตะลูกบอลก็ได้ พูดคล่อง มักไม่ปัสสาวะรดที่นอน

3.   อาการและการดูแลรักษาทารกในวัยต่างๆ

3.1  โรคสะท้าน (บาดทะยักในเรือนไฟ)

โรคนี้เป็นเมื่อสายสะดือหลุด และมีเชื้อโรคเข้าไปในแผลสายสะดือ แผลหายแล้วประมาณ 7-8 วัน โรคนี้ก็จะแสดงอาการที่แผลจะอักเสบขึ้นอีก และมีอาการทำให้ขากรรไกรแข็งและชักกระตุกเป็นพักๆ เมื่อเป็นขึ้นแล้วรักษาไม่หาย มียารักษาสงบเพียงชั่วคราวเท่านั้น ต้องตายทุกราย

การดูแลรักษา  ต้องรักษาสายสะดือให้ดี อย่าให้เป็นแผล เน่า หรือเป็นหนอง ในชั้นแรกต้องสะอาดทุกอย่างในเรื่องการตัดสายสะดือ มือ เชือก ผ้าห่อ การตัด ใส่ยา เปลี่ยนผ้า อย่าให้ถูกน้ำเป็นอันขาดจนกว่าสายสะดือจะหลุดใช้เวลาประมาณ 5 ถึง 7 วัน และอย่าดึงสายสะดือเป็นอันขาด ต้องปล่อยให้หลุดเอง

3.2  โรคทวารตัน

ทารกเกิดใหม่ๆ บางคนจะได้พบทวารตัน แต่นานๆ จึงจะได้พบสักคนหนึ่ง คือ ถ่ายอุจจาระไม่ออก ที่ช่องทวารหนักมีเยื่อบางๆ เหมือนพังผืดปิดช่องทวารลึกเข้าไปประมาณ 1 นิ้ว ควรนำส่งโรงพยาบาล

3.3  อาการปัสสาวะไม่ออก

เมื่อทารกคลอดออกมาแล้ว อยู่ในระหว่างเรือนไฟ เกิดปัสสาวะไม่ออก จะเห็นได้จากผ้าปูที่นอนทารกที่ไม่เปียกเลย และบางครั้งทารกจะร้องบ่อยๆ

การดูแลรักษา ท้องผูก ให้สวนด้วยน้ำอุ่นๆ ล้างท้องเสียก่อน ถ้ายังไม่ออกเอาทารกนั้นแช่ในน้ำอุ่น 1 ชั่วโมง ถ้ายังไม่ออก ให้ใช้ยา สบิรทเอเทอร์ไนเตรท ทาตรงบริเวณท้องน้อยตรงกระเพาะปัสสาวะ ถ้ายังไม่ออกควรนำส่งโรงพยาบาล

3.4  อาการปวดท้องของทารกในเรือนไฟ

โรคปวดท้องทารกในเรือนไฟนี้ จะสังเกตได้จากทารกร้องไห้ไม่หยุด และบางทีเหงื่อออกเท้าเย็นนิ้วมือหงิก และร้องมากเป็นพักๆ บางครั้งร้องกรี๊ดก็มี

การดูแลรักษา  ต้องเคาะดูที่หน้าท้องทารกว่าท้องขึ้นหรือเปล่า ถ้าท้องขึ้นให้เอาโซดาไบคาร์บอเนตผสมกับน้ำอุ่น  1-2 หยด ละลายให้กิน (ผู้เขียนเห็นว่าเราใช้ไพลสด ฝนกับฝาละมี ละลายน้ำอุ่นหยดให้ทารกกิน และทาท้องและหยอดอกทารก ก็จะบรรเทาอาการท้องขั้น) ถ้ายังไม่หายร้อง ให้กินทิงเจอร์ฝิ่น การบูร 2-3 หยด ถ้าท้องผูกให้ส่วนด้วยน้ำอุ่นๆ แล้วใช้ผ้าพันท้องพันให้อุ่นไว้เช่น ใช้ใบพลูลนไฟนาบท้องให้อุ่นไว้ หรือใช้มหาหิงคุ์ทาท้องไว้บ้าง ก็อาจจะหาได้ง่าย (ถ้าทารกกินนมแม่ ก็ขอให้แม่ระวังอาหารด้วย ถ้าอาหารรสจัดๆ จะส่งผลให้ลูกมีอาการ เพราะอาหารแสลงท้องทารก

3.5  โรคหลอดน้ำดีตันของทารก

โรคนี้เป็นเฉพาะหลอดน้ำดีตัน มีอาการท้องอืด ตาเหลือง เป็นอย่างนี้สัก 5-6 วัน ถุงน้ำดีแตก มีอาการโลหิตออกทางปาก ทางจมูก ทารกจะเป็นอันตราย

การดูแลรักษา เมื่อเห็นทารกมีอาการท้องขึ้น ตัวเหลือง และอุจจารปัสสาวะเหลือง ท้องผูกให้ล้างท้อง แล้วให้กินโซดาไบคาร์บอเนตละลายน้ำจางๆ แล้วใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นปิดตรงชายโครงข้างขวา ต้องให้ผ้านั้นอุ่นอยู่เสมอ จะใช้ใบพลูหรือใบพลับพลึงนาบพออุ่นๆ ก็ได้ ทำอย่างนี้ถ้าไม่ทุเลา จะทำให้ถุงน้ำดีแตกภายใน 7 วัน ทารกจะต้องตาย การรักษาโรคนี้รักษาไม่หาย แต่ต้องรักษาไปตามอาการ หรือพอตรวจรู้อาการดังกล่าวควรรีบส่งโรงพยาบาลทันที เพราะเป็นโรคที่รักษายาก

3.6 โรคฝีดาษและโรคหัดของทารก

ทั้งสองโรคนี้ อาจเป็นกับทารกในเรือนไฟได้ และก็ยังมีวิธีป้องกัน ถ้ามีคนเป็นฝีดาษชุกชุมให้นำทารกปลูกฝี ถ้าเป็นหัด หรือมีคนรอบข้างเป็นหัด ก็ให้พาทารกหนีไปอยู่ห่างไกลให้พ้น ถ้าที่แห่งใดเป็นโรคฝีดาษ หัด สุกใส อย่าไปทำการคลอดในหมู่บ้านนั้น ถ้าจำเป็นก็ต้องทำความสะอาดเสียก่อน โดยล้างโดยน้ำฆ่าเชื้อโรค (Antiseptic) จนทั่วท้อง รมด้วยไฟกำมะถัน 1-2 วัน ห้ามคนที่เป็นโรคเข้ามาใกล้เคียงในเมื่อทำการคลอด เป็นหน้าที่ของผดุงครรภ์จะต้องพิจารณาก่อนคนอื่น และสถานที่นั้นต้องมีอากาศปลอดโปร่ง ไม่อบอ้าว อากาศถ่ายเทเข้าออกได้

3.7  ภาวะสายสะดือรั่ว

คือ โลหิตที่รั่วตามสายสะดือ ตรงที่ติดกับสายสะดือรั่วไหลซึมออกมา

การดูแลรักษา  ต้องใช้ยาฝาด ปิดแผลที่รั่ว หรือใช่สารส้มบดให้ละเอียดโรยก็ได้ แล้วใช้ผ้าสะอาดปิดทับไว้ให้แน่นพอควร ถ้าเลือดยังไม่หยุด ให้ใช้วาสลินทาบ้าง ถ้ายังไม่หยุด ให้ใช้มือบีบไว้นานๆ อาจหยุดได้ ถ้าไม่หยุดต้องเย็บตรงที่โลหิตไหลออก ทารกเป็นโรคชนิดนี้รักษาได้ แต่อยู่ไม่นานนักจะเป็นโรคลำไส้และโลหิตจาง ถ้าไม่เข้าใจในวิธีการรักษา ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลเป็นการด่วน ผดุงครรภ์แผนโบราณถ้าไม่เข้าใจอย่าทำเป็นอันขาด ควรพยาบาลให้ขั้นต้นเท่านั้น ถ้าเห็นว่าทำไม่ได้ ต้องส่งแพทย์ทันที

3.8  โรคไส้เลื่อนทางช่องสะดือ

โดยมากเป็นเพราะสายสะดือหลุด เนื่องจากทารกร้องมากเกินไป เบ่งจนทำให้ไส้นั้นเลื่อนออกมาทางช่องต้นขั้วสะดือ

การดูแลรักษา ต้องใช้เครื่องกดทับ แล้วใช้ผ้าขาวยาวปิดกดทับไว้แล้ว อย่าให้ไส้ดันออกได้ใช้ผ้าทำเป็นหมอนเล็กๆ ขนาดเท่าสะดือ ใช้ผ้าขาวสะอาดกดทับไว้สัก 2-3 สัปดาห์ ก็หายได้ โรคนี้ไม่สู้ยากนัก ถ้าพบเข้าใจคงทำได้

4.  การป้องกันบำบัด รักษาตามบทบาทหน้าที่ผดุงครรภ์แผนโบราณ

เมื่อกุมารและกุมารี คลอดออกจากครรภ์มารดาแล้ว และกำเริบอันเป็นเหตุให้บังเกิดโรคต่างๆ นั้นคือ การสำรอก 7 ครั้ง จะเกิดขึ้นเมื่อ

  1. เมื่อรู้ชันคอครั้ง 1 เพราะเส้นเอ็นนั้นไหว ซางจึงพลอยทำโทษเอาครั้ง 1 นั้นคือ ทารกจะมีอาการตัวร้อน สำรอกน้ำนม โยเย
  2. เมื่อรู้คว่ำ กระดูกสันหลังคลอน ซางจึงทำให้เกิดโทษครั้ง 1 (ทารกอาจจะมีไข้หรือท้องเดิน ให้มารดาดูแลให้ดี)
  3. เมื่อรู้นั่ง กระดูกก้นกบขยายตัว ซางจึงทำให้เกิดโทษครั้ง 1 (ทารกอาจจะถ่ายเป็นมูกหรือตัวอุ่นท้องอืด)
  4. เมื่อทารกรู้คลาน ตะโพกและเข่าเคลื่อน ซางจึงกระทำโทษเอาครั้ง 1 (ทุกครั้งที่ทารกเปลี่ยนอิริยาบถจะมีอาการ ขอให้ผู้เป็นมารดาดูแลทารกให้ดี)
  5. เมื่อดอกไม้ขึ้น (ฟันขึ้น) ซางจะทำโทษครั้ง 1
  6. เมื่อทารกรู้ยืน เพราะรู้ว่ากระดูกทั้ง 300 ท่อนนั้นสะเทือน และเส้นเอ็นกระจายสิ้น ท่านว่าสำรอกกลาง (ให้ดูแลรักษาให้ดี)
  7. เมื่อทารกรู้ยืน รู้ย่าง เพราะว่าไส้ พุง ตับ ปอดนั้นคลอน ท่านว่าสำรอกใหญ่ให้ระวังจงดีเถิด ซางก็พลอยทำโทษครั้ง 1

ซึ่งว่ามาทั้งนี้ ธรรมดาวิสัยมนุษย์ทุกคนมิได้เว้นเลย ดังนี้ ท่านจึงประกาศสรรพคุณยาไว้ให้กุมารกินเป็นยาประจำท้องทุกเดือน หวังจะกันเสียซึ่งสำรอก และต้านซาง อันที่ผดุงครรภ์จะได้ป้องกันอาการต่างๆ ที่ซึ่งจะต้องเกิดกับทารกทุกคน ไม่มีเว้น จะได้พูดต่อไปในข้อหน้า

การดูแลทารกในวัยต่างๆ

  1. ถ้ากุมารกุมารีผู้ใด คลอดออกครรภ์มารดาได้เพียง 1 ท่านให้เอาใบกระเพรา ใบเสนียด ใบตานหม่อน บอระเพ็ด บดละลายน้ำให้กินประจำท้องกันสำรอก
  2. กุมารกุมารี คลอดออกจากครรภ์มารดาได้ 2 เดือน ท่านให้เอาใบคนที่สอ ใบสะเดา ใบผักขวง ใบขอบชะนางแดง บอระเพ็ด บดละลายน้ำร้อนให้กินเป็นยาประจำท้องก่อนสำรอก
  3. ถ้าได้ 3 เดือน ท่านให้เอาใบสวาด ใบขอบชะนางขาว ใบกระพังโหม บอระเพ็ด บดละลายน้ำร้อน กินเป็นประจำก่อนสำรอก
  4. กุมารกุมารี คลอดจากครรภ์มารดาได้ 4 เดือน ท่านให้เอาผักกระเฉด ใบทับทิม ใบตานหม่อน ใบเสนียด บอระเพ็ด บดละลายน้ำร้อนให้กินก่อนสำรอก
  5. กุมารกุมารี คลอดจากครรภ์มารดาได้ 5 เดือน ท่านให้เอาใบผักคราด ใบหญ้าใต้ใบ ใบกระทืบยอด ใบกระพังโหม บอระเพ็ด บดละลายน้ำร้อนให้กินประจำท้องกันสำรอก
  6. กุมารกุมารี คลอดจากครรภ์มารดาได้ 6 เดือน ท่านให้เอาใบฝ้ายแดง ใบกระทุ่มนา ใบขอบชะนางแดง ใบหนาด บดทำแท่ง ละลายน้ำกินให้เป็นประจำท้องกันสำรอก
  7. กุมารกุมารี คลอดจากครรภ์มารดาได้ 7 เดือน ท่านให้เอาใบนมพิจิตร ใบมะกล่ำเครือ ใบสมอภิเพก ขมิ้นอ้อย บอระเพ็ด บดทำแท่งไว้ ละลายน้ำร้อนกินประจำท้องกันสำรอก
  8. กุมารกุมารี คลอดจากครรภ์มารดาได้ 8 เดือน ท่านให้เอาใบมะเดื่อ ใบพิมเสน ไพล ขมิ้นอ้อย บดทำแท่งไว้ละลายน้ำร้อนกินเป็นประจำท้องกันสำรอก
  9. กุมารกุมารี คลอดจากครรภ์มารดาได้ 9 เดือน ท่านให้เอาใบมะขวิดอ่อน ใบสะแด ไพล ขมิ้นอ้อย บอระเพ็ด บดทำแท่งไว้ละลายน้ำร้อนกินเป็นประจำท้องกันสำรอก
  10. กุมารกุมารี คลอดจากครรภ์มารดาได้ 10 เดือน ท่านให้เอาใบคนที่สอ ใบคนที่เขมา ขมิ้นอ้อย บดทำแท่งไว้ ละลายน้ำร้อนให้กินประจำ ท้องกันสำรอก
  11. กุมารกุมารี ผู้ใดคลอดจากครรภ์มารดาได้ 11 เดือน ท่านให้เอาใบเสนียด ใบผักคราด ใบปีบ ใบระงับ ใบขี้กาแดง ใบขี้กาขาว ใบโคกกระออม ใบขี้เหล็ก ใบสะเดา ไพล กะทือ ตรีกฏก บดทำแท่งไว้ละลายน้ำร้อนกินประจำท้องกันสำรอก
  12. กุมารกุมารี คลอดจากครรภ์มารดาได้ 12 เดือน ท่านให้เอาใบเทียนย้อม 1 กำมือ ขมิ้นอ้อย บอระเพ็ด ใบมะคำไก่ ใบหนาด ใบคนที่สอ ตรีกฏก ไพล ขิง การบูร เม็ดผักกาด กระเทียม หอม สารส้ม ดินประสิว บดทำแท่ง ให้กินประจำท้องกันสำรอก 12 เดือนดีนัก

การให้ยาทารกในวัยต่างๆ

ยากวาดทารกแรกเกิด

ทารกตกฟากแล้วเมื่อผดุงครรภ์กวักเอาเมือกมันและโลหิตสิ่งสกปรกออกจากปากทารกหมดแล้ว เอาขี้แมลงสาบคั่วไฟพอควร ใบสะระแหน่สด 3 ใบ บดกับน้ำผึ้งป้ายปากทารกที่เกิดใหม่

ยาประจำท้องทารก

ตั้งแต่แรกคลอดไปจนถึง 10 เดือน หรือ 1 ขวบ ท่านให้เอาผิวมะกรูด 1 บาท ไพล 1 บาท เจตพังคี 1 บาท ว่านน้ำ 1 บาท บอระเพ็ด 1 บาท มหาหิงคุ์ 1 สลึง ยาทั้งนี้หั่นให้ละเอียด คั่วไฟให้เกรียม (คั่วด้วยกระทะ) บดเป็นผงละลายน้ำผึ้งป้ายลิ้นทารก แก้ท้องขึ้น ท้องอืด ระบายลม รักษาธาตุดี

ยากวาดทารกแก้สะพั้น

ท่านให้เอาใบลานเผาไฟพอเป็นถ่าน ละลายกับน้ำผึ้งป้ายปากทารก แก้สะพั้น เด็กอ่อนภายใน 7 วัน

ยากวาดล้างขี้เทา

ท่านให้เอาพิมเสน 1 เฟื้อง น้ำประสานทองสะตุ 2 สลึง ขี้แมลงสาบคั่ว 2 สลึง หางปลาช่อนแห้งเผา 3 หางเมล็ดมะกอกสุก 3 เม็ด หมึกหอมแท่งเล็ก 1 แท่ง ทองคำเปลวแผ่นใหญ่ 8 แผ่น ชะมดปรุงพอสมควร สรรพยา 8 สิ่งนี้บดด้วยน้ำสุกกวาดทารกพึ่งคลอด ถ่ายล้างขี้เทาใช้ 1-2 ครั้งก็ได้ เพื่อล้างโทษลามกมิให้กระทำพิษ

ยาแก้ทรางให้หอบ-ให้ชัก

ท่านให้เอา ไพล ใบผักคราดหัวแหวน ใบพิมเสน สิ่งละ 1 กำมือ น้ำประสานทองสะตุ 1 เฟื้อง บดทำผงเป็นเม็ด กวาดกับน้ำนมหรือน้ำสุก แทรกขันฑสกรนิดหน่อย ถ้าชักน้ำกระสายสุรา

แก้ทารกร้องไห้ 3 เดือน

ท่านให้เอาหัวหอม 1 เปราะหอม 1 ใบให้ละเอียดเท่าๆกัน แทรกพิมเสนทาตัวเวลากลางคืนดีนักแล

ศิลปะการกวาดยา

ได้มีกันมานานแล้ว โดยการเรียนสืบต่อกันมานานหลายยุคหลายสมัย ตามในพระคัมภีร์ปฐมจินดาจนถึงปัจจุบันนี้ ในอดีตกาลผู้ป่วยที่จะกวาดยาจะกระทำตอนพระอาทิตย์ตกในตอนเย็น แต่ในปัจจุบันจะกวาดได้ตลอดทั้งวัน

ก่อนอื่นต้องมีการเตรียมยาและน้ำกระสายยาในการวาด เตรียมอุปกรณ์ในการกวาดยา ได้แก่ ครกบดยาขนาดเล็ก น้ำกระสายยา มีเหล้าขาว น้ำสุก เกลือ มะนาว และผ้าขาวที่สะอาดใช้เช็ดมือด้วย 1 ผืน

ผู้ที่จะกวาดยาต้องเตรียมคือ ต้องตัดเล็บให้สั้นเสมอและไม่คม ก่อนกวาดยาต้องล้างมือให้สะอาดและเช็ดมือให้แห้ง เมื่อกวาดยาคนหนึ่งแล้วก็ต้องล้างมือไว้เตรียมกวาดยาคนใหม่เสมอทุกครั้ง เมื่อจะกวาดยาต้องถามแม่เด็กว่าเด็กทานข้าวมานานหรือยัง เพราะว่าถ้าทานแล้วมากวาดยาจะทำให้เด็กอาเจียนออกมาได้ เนื่องจากนิ้วมือที่กวาดเข้าไปถึงโคนลิ้น

ผู้ที่จะกวาดยาจะใช้นิ้วชี้ในการกวาดยา ให้กวาดไปที่โคนลิ้น กวาดไปทางเดียวไม่กวาดกลับไปกลับมา ถ้ากวาดเด็กทารกจะใช้นิ้วก้อยก็ได้ เด็กทารกยังไม่ถึงเดือนจะไม่ใช้น้ำกระสายพวกสุรา

เด็กทารกเมื่อไม่สบายก็จะเรียกว่าเป็นซางต่างๆ เด็กทารกที่ไม่สบายกันมาก เช่น ลิ้นเป็นฝ้า เป็นละออง เป็นซางขุม เป็นหละ ท้องขึ้น ท้องเสีย ต่อมโต (ต่อมทอนซิลอักเสบ) เป็นแผลร้อนใน ไอ ท้องผูก เป็นต้น

ก็สามารถจะใช้ยาสามัญประจำบ้านได้ ถ้ามีความชำนาญขึ้นให้เรียนต่อสาขาเภสัชกรรมแผนโบราณทั่วไปและเวชกรรมแผนโบราณทั่วไป

เมื่อรักษาคนไข้ไม่ได้ หรือไม่หายภายใน 4-7 วัน ต้องรีบส่งต่อหรือแนะนำไปโรงพยาบาลด่วนไม่ควรเก็บรักษาไว้เอง

Scroll to top