การทำคลอดปกติ

การทำคลอดบุตรเป็นของธรรมดาโลก ไม่รู้ว่ามนุษย์หรือสัตว์ก็ต้องมีการผสมพันธุ์ด้วยกันทั้งนั้น ถ้าไม่มีการผสมพันธุ์ ในโลกนี้ก็เงียบและสิ่งต่างๆ ก็พลอยดับสูญไปหมด หลังจากที่มีการผสมพันธุ์ ถ้าไม่มีเหตุอันใดมาขัดข้องแล้วทารกในครรภ์ก็จะต้องเติบโตเป็นลำดับ ครั้นครบกำหนด 9 เดือน ทารกก็จะคลอดออกมา

การคลอดบุตรเปรียบเหมือนผลไม้สุกก็จะหล่นออกจากขั้ว โดยไม่ต้องมีลมพัดหรือคนมาเขย่า สัตว์ในโลกก็มีการคลอดเช่นเดียวกันกับมนุษย์ แต่ไม่ต้องมีผดุงครรภ์เป็นผู้ทำคลอดให้ ออกมาได้เองโดยไม่ต้องมีการช่วยเหลือ เราจะเห็นได้ว่าไม่ค่อยมีการติดขัด แต่บางรายที่มีการคลอดง่ายหรือยากนั้นมักเป็นไปตามพันธุ์มารดา หรือมีเหตุขัดข้อง เช่น ศีรษะทารกโต แต่ช่องเชิงกรานมารดาแคบเล็ก หรือมีการฝืนท้องและเป็นเหตุให้การคลอดจึงต้องติดขัดได้ อีกประการหนึ่ง ถ้าเม็ดไข่ได้ผสมแล้วไปติดค้างอยู่ที่หลอดปากแตร ทำให้เกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูก เมื่อครบกำหนดไม่มีทางออกต้องนำส่งโรงพยาบาลทำการผ่าตัดเอาออกได้ ในสมัยนี้การผ่าท้องเอาทารกออกเป็นของธรรมดา และรอดทั้งทารกและมารดา

แต่อย่างไรก็ดี หน้าที่ของนางผดุงครรภ์ควรต้องยึดให้มั่นว่า คนที่เจ็บท้องคลอดอย่าไปรุกรานให้มากนัก ต้องรอใจเย็นๆ ไว้ให้ถึงเวลาตามธรรมดาเสียก่อน อย่าใจร้อนเร่งเร้าตามที่เขาบอก โดยช่วยฝืนท้องหรือข่มท้องแต่ก็อย่าขัดใจ ช่วยให้กำลังใจแก่มารดาได้โดยช่วยลูบๆ คลำพอให้เป็นพิธี เพื่อปลอบใจมารดา

1.อาการที่แสดงการคลอดบุตร

ก่อนหน้าที่จะถึงกำหนดการคลอด 2-3 วัน ร่างกายสามารถจะรู้สึกตัวก่อน เพื่อทำการเตรียมตัวสำหรับให้ทารกคลอดออกมาซึ่งเป็นธรรมชาติของร่างกายดังต่อไปนี้ คือ เต้านมจะคัดแข็ง ปากช่องคลอดบวม ท้องลดต่ำลง ท้องกลมแข็ง เหตุการณ์เหล่านี้คือ มดลูกได้ทำการขยับขยายตัวให้ทารกรู้จักทางออก ทารกจะกลับตัวเอาหัวลงมาจ่อตรงปากมดลูก ตอนนี้มารดาจะมีอาการเป็นเหน็บชาที่เท้า บางทีทำให้อาการบวมตามขา เลือดลมคั่ง เพราะมดลูกมากดทับเส้นโลหิตใหญ่ ถ้ามารดาที่ใจเสาะมักจะขอร้องให้ผดุงครรภ์ช่วยฝืนท้องให้ ถ้าผดุงครรภ์รู้เท่าไม่ถึงการณ์และช่วยฝืนผลักดันเป็นการใหญ่ ทำให้เป็นการติดขัดต่อไปได้ เพราะการฝืนท้องนี้เท่ากับการฝืนธรรมชาติ (ตามกฎกระทรวงมหาดไทย ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมประกอบโรคศิลปะ พุทธศักราช 2479 (ฉบับที่ 3 ) และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม หมวดที่ 3 ข้อ 20 (3) มีข้อความว่า มิให้ผู้ประกอบโรคศิลปะแผนโบราณทั่วไป สาขาการผดุงครรภ์ กระทำการข่มท้อง หรือตรวจภายในช่องคลอด จึงมิควรปฏิบัติเพราะจะเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายในการประกอบโรคศิลปะ) ตามปกติมดลูกจะทำหน้าที่ของตัวเองคือ ขยับขยายบีบรัด ให้ศีรษะทารกมาอยู่ที่ปากช่องคลอด เพื่อให้ดันปากมดลูกขยายตัวในวันคลอด หรือก่อนหน้าสัก 1 วัน เมื่อปากมดลูกแย้มออกมาบ้างแล้ว ศีรษะทารกก็จะดันให้ปากมดลูกเปิด ตอนนี้ที่มารดาใจเสาะมักจะขอร้องให้ผดุงครรภ์ฝืนท้อง และคัดมดลูกให้ หมอที่ไม่เข้าใจก็จะฝืนคัดเป็นการใหญ่เลยทำให้เกิดการติดขัด จึงไม่ควรทำ ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของมดลูกเองจะดีกว่า ในขณะที่กำลังปวดมาก แม้จะช่วยข่มสักเท่าใด เมื่อปากมดลูกยังไม่เปิดก็จะออกมาไม่ได้เป็นอันขาด (ตอนนี้จงจำไว้ให้ดี) เมื่อมีการข่มท้องก่อนเวลา ศีรษะทารกมักจะกดทับชื่อจนเป็นรอยบุ๋ม พอได้เวลามดลูกบีบรัดตัวเร่งให้ทารกเปฺดปากมดลูก ทารกมักจะเลื่อนลงไปที่รอยบุ๋มตามเดิม เพราะถูกหัวทารกกดไว้จนเป็นรอยบุ๋มเสียแล้ว ทารกจะขยับออกจากทางออกเป็นการยาก จึงเกิดมีการติดขัด เช่นนี้เป็นการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของผดุงครรภ์ จึงไม่ควรทำและมักมีหญิงคลอดบุตร บางรายถึงแก่ความตายก็มี

เมื่อปากมดลูกขยายตัวกว้างออกตามที่ควรแล้ว ถุงน้ำคร่ำก็จะถูกเลื่อนดันให้โป่งออกในบริเวณศีรษะของทารก ถ้ามดลูกเปิดถึง 3 นิ้ว ก็เกือบถึงกำหนดคลอดแล้ว ถุงน้ำคร่ำก็จะแตก แสดงว่า น้ำทูนหัวแตกออกแล้ว ตอนนี้มดลูกบีบรัดตัวเร่งให้ทารกเปิดปากมดลูกมากขึ้น มารดาจะรู้สึกปวดนักมากขึ้น มารดาอยากเบ่งเป็นการใหญ่ และผดุงครรภ์ช่วยบอกจังหวะการเบ่งให้มารดาปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง เมื่อมดลูกเปิดเต็มที่ และเห็นศีรษะทารก ทารกก็จะคลอดออกมาอย่างปลอดภัย

การตรวจปากมดลูก 

การตรวจปากมดลูก ต้องตัดเล็บจนสั้นจนชิดเนื้อ ล้างมือฟอกสบู่ด้วยแปรงหรือฟองน้ำ ล้างตามซอกนิ้วมือและตามซอกจมูกเล็บล้างจนให้ถึงข้อศอก เสร็จแล้วยกชูมือไว้ให้แห้ง พอแห้งแล้ว ใช้วาสลีนทาตามนิ้วมือ ใช้นิ้วชี้กบนิ้วกลางเหยียดตรง ส่วนนิ้วนางกับนิ้วก้อยและนิ้วหัวแม่มือให้พับงอเข้าไว้ในอุ้งกลางใจมือ แล้วค่อยๆ สอดสองนิ้วเข้าช่องทวารหนัก จะทำให้รู้สึกเวลาคลอดดังนี้ ปากมดลูกเปิดเท่ากับเหรียญสลึง จะต้องรอต่อไปอีก 2 ชั่วโมง แล้วทำการตรวจใหม่ ระยะนี้ยังไม่คลอด ถ้าเปิดกว้างเท่าเงินบาท ต่อไปตรวจทุกๆชั่วโมง ถ้ามดลูกเปิดกว้างถึง 3 นิ้ว น้ำทูนหัวจะไหลออกมา มดลูกจะบีบรัดตัดทารกด้านข้างขึ้น ทำให้เป็นการช่วยเร่งทารกคลอดออกเร็ว แต่มารดาจะรู้สึกเจ็บปวดมาก มีลมเบ่ง ตอนนี้พอเห็นว่าปากมดลูกเปิดกว้างเต็มที่แล้ว  ต้องช่วยตรวจช่องทางทารกว่าอยู่ในท่าที่ถูกต้องหรือไม่ ถ้าถูกท่าจะออกได้แล้ว ผดุงครรภ์ช่วยบอกจังหวะให้มารดาออกแรงเบ่งให้ถูกต้อง ตามธรรมดาถ้าทารกมีการติดขัดภายในช่องทางคลอด ปล่อยไว้เฉยๆ มดลูกก็จะทำหน้าที่ขยับให้ทารกถูกท่าออกจนได้

2.อุปกรณ์การทำคลอด

  1. ผ้ากันเปื้อน 1 ผืน
  2. ผ้าพลาสติกปูลองคลอด 1 ผืน
  3. ผ้าเช็ดมือ 2 ผืน
  4. หมวกคลุมผม 1 ใบ
  5. กรรไกรปลายป้านสำหรับตัดสายสะดือ 1 อัน
  6. ลูกโป่งยางสำหรับสวนอุจจาระ 1 อัน
  7. ลูกโป่งยางสำหรับดูดเลือด 1 อัน
  8. ชามกลม 2 ใบ
  9. ชามรูปไต 1 ใบ
  10. เชือกผูกสะดือ ผ้าห่อสะดือ 1 ห่อ
  11. แปรงล้างมือ 1 อัน
  12. คีบคีบเครื่องมือต้ม 1 อัน
  13. สบู่ และ กล่องสบู่ 1 ชุด
  14. แอลกอฮอล์ 1 ขวด
  15. ทิงเจอร์ไอโอดีน 50 ซีซี 1 ขวด
  16. ยาหยอดตา หรือ ขี้ผึ้งปฏิชีวนะป้ายตาเด็ก 1 ขวด หรือหลอด
  17. แอมโมเนีย
  18. มีดโกนหนวด หรือมีดโกน 1 เล่ม
  19. ด่างทับทิม 1 ตลับ
  20. สำลี
  21. ผ้าอนามัย

3.วิธีทำการคลอดปกติและการดูแลขณะคลอด

การที่เด็กอยู่ในท่าศีรษะตรงปากมดลูก จะเป็นคว่ำหรือหงายก็ได้ การคลอดจะดำเนินไปได้เองโดยไม่มีการติดขัด จริงอยู่การคลอดอาจมีเหตุผิดปกติในระยะต่อมา สาเหตุที่ทำให้ศีรษะทารกไม่สามารถจะผ่านออกมาได้ อาจเพราะติดกระเพาะปัสสาวะและอุจจาระซึ่งปิดขวางทางช่องคลอด หรือดันปากมดลูกหมุนเปลี่ยนท่าไป ทำให้ศีรษะไม่หมุนไม่เลื่อนต่ำลงมา มดลูกหดรัดตัวนานจนเหนื่อยอ่อนกำลังลง และหมดแรงหดรัดตัวอาจทำให้การคลอดปกติก็มีความลำบากอยู่บ้าง เกิดขึ้นได้ในกรณีต่อไปนี้เช่น ในระยะครรภ์แรก (ท้องสาว) ก็ย่อมต้องใช้เวลาคลอดนานกว่ารายที่เคยคลอดมาแล้ว อายุของผู้คลอด ก็ทำให้การคลอดติดขัดได้เหมือนกัน ทำให้การคลอดผิดปกติ และเวลาคลอดจะช้าหรือเร็วก็ได้ เช่น ผู้คลอดอายุ 30 ปีขึ้นไป และเป็นครรภ์แรกมักจะประสบกับการคลอดลำบากเป็นส่วนมาก

3.1 การดูแลด้านจิตใจแก่หญิงตั้งครรภ์ขณะรอคลอด

สภาพจิตใจของหญิงขณะรอคลอด ให้พิจารณาอารมณ์ของหญิงขณะคลอด มีผลต่อปฏิกิริยาของกระบวนการในการคลอดเพราะความรู้สึกไม่สบาย เป็นสาเหตุให้สภาพร่างกายและจิตใจนั้นอ่อนเพลีย ทำให้ระยะเวลาคลอดนั้นยาวนานขึ้น

การกลัวการคลอด เมื่อการคลอดเริ่มขึ้น จะมีอารมณ์เกิดขึ้นหลากหลายแตกต่างกันไป ในรายที่เป็นครรภ์แรก มารดาอาจดีใจที่การคลอดกำลังจะเกิดขึ้นหลังจากรอคอยมานาน แต่ขณะเดียวกันจะมีอารมณ์ตรงข้าม คือ กลัวการคลอด และผลที่เกิดขึ้นซึ่งไม่แน่นอน เช่น กลัวเครื่องมือ กลัวเจ้าหน้าที่ หรือกลัวอนาคต เช่น รายที่จะต้องคลอดบุตรที่ไม่มีใครเป็นบิดาหรือเมื่อสภาพครอบครัวยังไม่พร้อมจะมีบุตรเป็นต้น

การตอบสนองด้านอารมณ์ ความกลัวและการเจ็บครรภ์ มีผลต่อความเชื่อมั่นของมารดา เราควรให้มารดารู้สึกปลอดภัย และให้คลอดโดยไม่มีการทำร้ายทางด้านอารมณ์ เราควรจะชี้แจงและอยู่เป็นเพื่อนจะช่วยให้มารดาสนองตอบความต้องการด้านต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ที่จะเกิดความเชื่อมั่น และมีความกลัวลดลง

ความต้องการเพื่อน ความรู้สึกโดดเดี่ยวทำให้เกิดการกลัว การอยู่เป็นเพื่อน ให้ความสะดวกสบายรับฟัง อธิบาย พูดคุย ให้กำลังใจ ให้ความมั่นใจ หรือเงียบในบางครั้ง เป็นสิ่งทีมีค่ายิ่งสำหรับมารดาในช่วงนี้ หญิงช่วงก่อนคลอดนี้ต้องการการเอาใจ ต้องรับฟังคำพูดที่ไพเราะ กาจช่วยนวดตามร่างกายเบาๆ เป็นการทำให้ผู้คลอดเกิดความรู้สึกอบอุ่นใจได้ดียิ่งขึ้น

3.2 วิธีการคลอดบุตร

การคลอดบุตรนี้เป็นธรรมดาของโลกทั่วไป เมื่อทารกอยู่ในท้อง ครรภ์แก่ครบกำหนดแล้วก็จะต้องคลอดออกเองเป็นธรรมดา เปรียบเหมือนผลไม้ที่สุกงอมก็จะร่วงหล่นออกจากขั้ว ไม่ต้องเขย่าหรือถูกลมพัด แต่ถึงกระนั้นก็ดี วิธีการที่จะคลอดบุตรนั้นแบ่งออกเป็น 3 จำพวกคือ

พวกที่ 1   เด็กอยู่ในครรภ์เมื่อครบกำหนดก็คลอดเองได้ตามปกติ

พวกที่ 2   คลอดเมื่อครรภ์แก่เกินกำหนด 1-2 เดือน หรือทารกในครรภ์ตัวโตมาก ทำให้สามารถคลอดเองตามปกติได้ หรืออาจเรียกได้ว่า คลอดผิดธรรมดา

พวกที่ 3  คลอดโดยใช้เครื่องมือช่วย หรือมีวิธีช่วยให้คลอดได้ เช่น การใช้เครื่องสูญญากาศดูดหรือการใช้คีมคีบ เป็นต้น ซึ่งวิธีการเหล่านี้ผู้ที่กระทำได้คือแพทย์แผนปัจจุบันเท่านั้น ผดุงครรภ์แผนโบราณ จะใช้เครื่องมือช่วยการทำคลอดไม่ได้ ถ้ามีการติดขัดของการคลอด ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาล

3.3  การเจ็บท้อง

การเจ็บท้อง คือ การที่กล้ามเนื้อของมดลูกหดรัดตัวเล็กลง การหดรัดตัวนี้เกิดขึ้นเป็นระยะครั้งหนึ่งๆ ประมาณครึ่งนาทีถึงหนึ่งนาทีครึ่ง แล้วมีการพัก ในระยะนี้กล้ามเนื้อของมดลูกคลายตัว แล้วมดลูกจะหดรัดตัวอีกในขณะมดลูกหดรัดตัวนี้ สิ่งที่อยู่ในโพรงมดลูก คือ ทารกจะถูกพลักดันให้ออกไปตามทางที่เปิดอยู่ คือ ปากมดลูก ดังนั้น ทารกจึงถูกดันให้ออกมาพ้นโพรงมดลูกได้ การเจ็บท้องมีอยู่หลายชนิดดังต่อไปนี้

1.การเจ็บท้องเตือน

การเจ็บท้องเตือน เกิดขึ้นเมื่อใกล้ถึงกำหนดจะคลอด เกิดขึ้นเนื่องจากการหดรัดตัวของมดลูกบ่อยครั้ง แต่การหดรัดตัวของมดลูกไม่มีกำหนดเป็นระยะแน่นอน แต่เป็นประโยชน์คือทำให้ศีรษะทารกหมุนเลื่อนต่ำลงมา และลำตัวของทารกอยู่ในลักษณะตามยาว เพื่อหัวทารกจะได้เข้าไปอยู่ในช่องเชิงกรานได้โดยตลอด การเจ็บท้องเช่นนี้ ตามธรรมดาไม่รู้สึกเจ็บปวดมาก เป็นแต่เพียงรู้สึกท้องแข็งบ่อยกว่าปกติ และมักจะมีอาการเมื่อยที่หลัง หรือกระเบนเหน็บ เพราะตัวทารกลดต่ำลงมา ทำให้กระดูกสันหลังบริเวณช่วงเอวมีการโค้งไปด้านหน้ามากขึ้น การเจ็บท้องเตือนมักจะเกิดขึ้นประมาณ 2-3 วันก่อนคลอด ในบางรายอาจเกิดขึ้นหนึ่งสัปดาห์ก่อนคลอด หรือบางทีเจ็บท้องเตือนแล้วเจ็บท้องคลอดเลยก็มี การเจ็บท้องเตือนมีประโยชน์คือ ทำให้ผู้คลอดได้ทราบว่า จวนจะถึงกำหนดคลอดแล้ว จะได้มีเวลาเตรียมตัว ไม่เดินทางไกล  เพื่อจะได้มีการระมัดระวังมากขึ้น

2.การเจ็บท้องคลอด

การเจ็บท้องคลอด คือ การเจ็บท้องโดยที่มดลูกหดรัดตัวแรงกว่าเดิม และมีเป็นระยะ เป็นกำหนดแน่นอนในขั้นแรกคือ เจ็บประมาณ 1 นาที และมีระยะพักหายใจประมาณครึ่งชั่วโมงเป็นเช่นนี้สัก 5-6 ครั้ง ระยะพัก คือระยะที่มดลูกคลายตัวจะค่อยๆ สั้นๆ ลงๆ ตามลำดับ ขณะที่เจ็บท้อง ผู้คลอดจะรู้สึกว่าท้องแข็ง ปวดบริเวณท้องน้อย บริเวณกระเบนเหน็บ หลัง และโคนขา การเจ็บท้องคลอดแบ่งได้เป็น 3 ระยะ ดังกล่าวในหัวข้อต่อไปนี้ ได้แก่ ระยะมดลูกเบ่งและเปิด ระยะทารกออกจากช่องคลอดพ้นออกมาจากตัวมารดา (ตกฟาก) และระยะรก

3.การเจ็บท้องหลังคลอด

การเจ็บท้องหลังคลอด คือ การหดรัดตัวของมดลูกในระยะหลังคลอด ในระยะนี้ไม่มีอะไรเหลือค้างอยู่ในมดลูกเลย รัดตัวอยู่ตลอดเวลา บางทีมีอาการคลายตัวบ้างนานๆ ครั้ง และหดรัดตัวขึ้นอีก ดังนั้นจึงมีความรู้สึกท้องแข็ง และปวดเป็นครั้งเป็นคราว แต่ไม่บ่อยนัก และมักจะรู้สึกมากขึ้นขณะบุตรดูดนม เพราะการดูดนมของทารก จะเป็นการกระตุ้นให้มดลูกของมารดาหดรัดตัวแรงขึ้นเพราะมีเส้นประสาทติดต่อกัน

3.4 การเบ่ง

การที่ผู้คลอดรู้สึกอยากเบ่ง เป็นการใช้กำลังกล้ามเนื้อหลังและกระบังลม ซึ่งจะหดรัดตัวอย่างแรงทำให้กล้ามเนื้อภายในช่องท้องเล็กลง ความกดดันภายในช่องท้องมากขึ้น กำลังความกดดันนี้ มีพลังต่อมดลูกโดยตรง ช่วยให้มดลูกมีกำลังหดตัว รัดตัวแรงเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ความรู้สึกอยากเบ่งนี้ เป็นความรู้สึกที่รุนแรงและอดกลั้นไม่ได้ การเบ่งชนิดนี้เกิดขึ้นเมื่อปากมดลูกเปิดแล้ว ถ้าไม่มีอะไรกีดขวางทางช่องคลอดอีก ทารกก็จะออกผ่านออกมาได้โดยสะดวก

3.5 ช่องทางคลอด

ช่องทางคลอด คือ อวัยวะภายในอุ้งเชิงกราน ซึ่งประกอบไปด้วยกระดูกเชิงกรานและเนื้อเยื่ออ่อนที่บุเชิงกราน เป็นทางซึ่งเมื่อเด็กถูกผลักดันออกมาจากโพรงมดลูก จะผ่านลงมาตามช่องทางนี้โดยตลอด จนกระทั้งออกมาพ้นปากช่องคลอด ทางคลอดเริ่มต้นตั้งแต่รูปากมดลูกตลอดช่องคลอด จนกระทั้งถึงปากช่องคลอดส่วนที่เป็นกระดูกของทางช่องคลอดนั้นเมื่อไม่มีครรภ์จะทรงตัวอยู่อย่างมั่นคง แต่เมื่อมีการตั้งครรภ์ อาจจะขยายตัวออกได้บ้างเล็กน้อย เพื่อช่วยให้ทารกคลอด ทั้งนี้ผิดกับเยื่อและเนื้ออ่อนซึ่งมีความยืดหยุ่นได้มาก และขยายตัวออกเป็นช่วงกว้าง เพื่อให้เด็กผ่านออกมาได้ แต่ก็มีเขตจำกัดเพียงแค่ความกว้างของกระดูกที่ล้อมอยู่ภายนอกการคลอดที่จะผ่านทางนี้ซึ่งแม้จะมีความยืดหยุ่นได้ ก็มีความต้านทานมาก จึงจำเป็นต้องอาศัยกำลังการคลอดทำการช่วยผลักดันทารก มิใช่ทารกจะเคลื่อนออกมาเองได้โดยลำพัง ด้วยเหตุนี้ทารกในครรภ์จะตายหรือมีชีวิตอยู่ จึงจำเป็นต้องอาศัยกำลังการคลอดทำการ ในการผ่านของทารกออกมาเป็นหน้าที่ของมดลูกจะทำการให้เท่านั้น

3.6  กำลังการคลอด

กำลังผลักดัน ที่จะทำให้ทารกออกจากโพรงและเคลื่อนลงมาตามช่องคลอด คือ กำลังการผลักดัน ที่เกิดจากาารหดรัดตัวของมดลูก ที่ทำให้เกิดการผลักดันต่อทารกโดยตรง ผลที่ได้รับการผลักดันโดยทางอ้อมจากการที่มารดาออกกำลังเบ่ง โดยบังคับการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อท้อง กล้ามเนื้อหลัง และกระบังลม ซึ่งทำให้เนื้อในช่องท้องน้อยเล็กลง ผลเป็นให้เกิดความดันภายในช่องท้องทวีมากขึ้น โดยเหตุนี้ การคลอดต้องอาศัยกำลังของการคลอดทั้ง 2 ชนิดที่กล่าวมาแล้ว เรียกว่า การเจ็บท้องคลอดและการเบ่ง

3.7  ร่างของทารก

ในการคลอดนี้ทารกไม่มีการช่วยเหลือตัวเองในการเคลื่อน เพื่อเป็นผลในการคลอดเลย การเปลี่ยนแปลงในการคลอดนี้ เกิดขึ้นเนื่องจากความกดดันที่มีต่อตัวทารกทั้งสิ้น คือ อวัยวะทำหน้าที่ทั้งนั้น

ขณะที่อยู่ในครรภ์ เด็กมีการเคลื่อนไหวทำให้เปลี่ยนเป็นท่าต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง แต่ในระยะคลอดความกดดันของการหดรัดตัวของมดลูกบังคับให้อยู่ในทางทรงคว่ำ แต่ในตอนหลังของการเกิด ศีรษะกับถูกบังคับให้เปลี่ยนแปลงเป็นทรงหงาย

ร่างกายของทารกเป็นตัวประกอบสำคัญในการคลอดและมีความสำคัญต่อช่องคลอดเป็นอันมาก โดยที่ร่างกายของมารดาและร่างกายของทารกต้องมีขนาดอันเหมาะสม เช่น ไม่ใหญ่จนเกินไป และอยู่ในลักษณะที่เหมาะสมคือ ทารกต้องงอศีรษะอยู่เบื้องล่างและทรงคว่ำ แขนและขางอพับกับทรวงอก นอกนั้นการผ่านของทารกลงมาตามทางช่องคลอดนั้น จะติดขัดหรือสะดวกก็ต้องแล้วแต่การเปลี่ยนทรง และการหมุนศีรษะ หมุนไหล่ เหล่านี้เป็นไปตามความเหมาะสมของช่องคลอดอีกด้วย

3.8  อาการของมารดาเมื่อทารกจะคลอด

ก่อนที่ทารกจะคลอดนี้ อวัยวะในร่างกายของมารดาและทารกได้มีการเตรียมตัวดังต่อไปนี้

เริ่มด้วยมดลูกจะบีบหดรัดตัวทารกเพื่อให้ทารกเคลื่อนออกมาศีรษะทารกก็จะหันกลับลงทันที ประมาณ 3-4 วัน ศีรษะทารกนั้นก็จะเลื่อนมาอยู่ที่ปากมดลูก เวลานี้มารดาจะรู้สึกว่าท้องลด (ทารกกลับตัวแล้วศีรษะลงมาอยู่ในอุ้งเชิงกราน) เมื่อศีรษะทารกมาถึงปากมดลูกแล้ว ก็จะดันปากมดลูกให้แย้มออก เมื่อปากมดลูกได้แย้มออกแล้ว เมือกหรือเสมหะที่จุกอยู่ในปากมดลูกก็จะหลุดออกมาตามช่องคลอด โดยมีโลหิตเจือปนออกมาด้วย แสดงว่าปากมดลูกขยายเปิดตัว ตั้งแต่นี้ไป ถ้าครรภ์เป็นธรรมดาแล้ว ภายในเวลา 24 ชั่วโมง ทารกก็จะคลอดออกมาเอง ในช่วงที่มารดาจะรู้สึกเจ็บท้องและปวดตามกระเบนเหน็บ หน้าขาและหัวเหน่า บางทีเท้าเริ่มบวม ถ้ามีการเจ็บครรภ์ถี่ขึ้นเป็นพักๆ แสดงว่า มดลูกเริ่มทำงานแล้ว และยิ่งเจ็บทวีขึ้นมากและเริ่มถี่ๆเข้า เริ่มมีลมเบ่ง ครรภ์ยิ่งกลมเข้า เวลาเจ็บขึ้นมาท้องจะแข็งและเจ็บครรภ์ร้าวไปทั้งตัว กับมีอาการปวดอยากจะถ่ายอุจจาระ และปัสสาวะด้วย

เมื่อมดลูกขยายตัวเปิดออกมาบ้างแล้ว น้ำคร่ำก็จะดันถุงน้ำคร่ำตุงออกมาถ่างปากมดลูกให้ขยายตัวออก มดลูกก็ยิ่งบีบรัดตัวมากขึ้น และน้ำคร่ำก็ยิ่งดันมดลูกออกมา ปากมดลูกจะถูกขยายโตขึ้นทุกที จนกว่าทารกสามารถคลอดออกมาได้ โดยผ่านมดลูกและข้อกระดูกของอุ้งเชิงกราน ทารกก็จะคลอดออกมาทันที นี่เป็นอาการธรรมดาของการออกลูกหรือคลอดบุตร

ลมเบ่งเกิดจากการที่มดลูกหดตัว บีบรัดให้ทารกออก เมื่อเบ่งหนักๆเข้า ถุงน้ำคร่ำก็ไหลออกมา เมื่อน้ำคร่ำออกมาแล้ว มดลูกก็จะเหี่ยวเล็กลง ยิ่งเหี่ยวเล็กเท่าใด ก็ยิ่งบีบทารกหนักเข้า ทารกที่มีร่างกายธรรมดาก็คลอดออกมาได้สะดวก

ส่วนน้ำคร่ำมีประโยชน์ทำให้เกิดการหล่อลื่น ทารกก็คลอดผ่านออกมาได้ตามปกติ ธรรมชาติของการคลอดทั่วๆไป ระยะนี้ผดุงครรภ์ก็ต้องช่วยประคับประคองตรวจอาการของมารดาหรือรับทารกออกมา ทารกที่ออกมานั้นมิได้ออกมาแรงๆ แต่ได้หมุนตัวออกมาตามรูป หรือ ช่องทางของอุ้งเชิงกรานจนกว่าจะตกฝาก เพราะฉะนั้นแพทย์หรือผดุงครรภ์จะต้องช่วยในตอนนี้ เมื่อมีลมเบ่ง ต้องประคองศีรษะและช่วยรับตัวทารก หรือหมุนศีรษะทารกให้พอดีกับช่องเชิงกราน

3.9  กระบวนการของการคลอด

กระบวนการคลอดซึ่งจะดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย ไม่ติดขัดนั้น ต้องอาศัยความเหมาะสม 3 ประการ คือ ช่องคลอด กำลังการคลอดและร่างกายของเด็ก ทั้ง 3 ประการนี้ ต้องมีความเหมาะสมซึ่งกันและกัน เช่น ร่างกายของทารกโตกว่าขนาดช่องทางคลอด ก็จะเกิดติดขัด หรือร่างกายของทารกมีขนาดพอดี แต่ช่องคลอดของมารดาเล็กมากกว่าธรรมดา หรือ บิด เบี้ยว ไม่เหมาะสม การคลอดก็จะติดขัด หรือร่างกายของทารกกับช่องคลอดพอดีเหมาะสม แต่กำลังคลอดไม่พอดี หรือมดลูกไม่มีกำลังหดรัดตัวหรือผู้คลอดไม่มีกำลังเบ่ง การคลอดต้องเสียเวลานาน หรือติดขัดก็ได้ เวลาที่ใช้คลอดจะช้าหรือเร็ว ต้องอาศัยความเหมาะสมทั้ง 3 ประการนี้ด้วย กระบวนการของการคลอดบุตร แยกออกได้ 3 ระยะคือ

ระยะที่ 1  ตั้งแต่มารดาเจ็บครรภ์จนปากมดลูกเปิดพอดีกับศีรษะทารก ทารกก็จะออกมาได้โดยสะดวก (ออกจากปากมดลูก)

ระยะที่ 2  ตั้งแต่ทารกออกจากปากมดลูกออกมา จนกระทั้งตกฟาก หรือพ้นร่างกายของมารดา (พ้นช่องคลอดแล้ว)

ระยะที่ 3  หลังจากทารกคลอดออกมาแล้วจนกระทั้งรกออก (เป็นระยะรกคลอด) แต่ระยะรกนี้เป็นระยะอันตราย ถ้ารกไม่ออกหรือฉีกขาด เศษรกติดอยู่ภายในจะทำให้เกิดผลเสียตามมา

ระยะที่ 1  เป็นระยะปากมดลูกเปิด หรือส่วนล่างของมดลูกหรือคอมดลูกขยาย ถ่างออกเต็มที่ ส่วนคอมดลูกซึ่งเมื่อแรกยังเป็นขอบอยู่นั้นจะค่อยๆ ถูกดึงขึ้น ขอบจึงบางและในที่สุดขอบก็จะไม่เหลือเลยปากมดลูกจึงเปิดหมด เป็นช่องทางคลอดออกมาได้ ในขณะที่คอมดลูกเปิดนี้ หากใช้นิ้วคลำดูจะพบว่าที่ปากมดลูกมีรูใช้นิ้วสอดเข้าไปได้ และรอบรูจะเป็นสันแข็ง รูที่ปากมดลูกนี้จะมีถุงยางจุกอยู่ เมื่อเอามือกดถุงนี้ จะรู้สึกว่าหยุ่นๆ และมีน้ำในถุง เรียกว่า “ถุงน้ำทูนหัวหรือถุงน้ำคร่ำ”

ระยะที่ 2  ระยะนี้เป็นระยะเบ่ง เริ่มต้นเมื่อปากมดลูกเปิดและกลไกลการคลอดของทารกจะเริ่มขึ้นจนกระทั้งเด็กออกมาจากมดลูกมาอยู่ที่ช่องคลอด ซึ่งขณะเดียวกันมดลูกก็เริ่มยืดขยายตัวออก เพื่อให้ศีรษะเด็กผ่านลงมา การผลักดันให้เด็กเคลื่อนลงมาอย่างนั้น กระทำโดยมดลูกและอาศัยโดยกำลังกล้ามเนื้อหน้าท้อง ซึ่งบังคับใช้งานโดยผู้คลอดเอง จะสังเกตเห็นเหตุการณ์ที่ปรากฏการเบ่งดังนี้ คือ ผู้คลอดเริ่มต้นด้วยการหายใจอย่างเต็มที่ก่อน แล้วจึงกลั้นใจออกกำลังเบ่งอย่างสุดแรง กล้ามเนื้อหน้าท้อง กล้ามเนื้อหลัง และจากส่วนของร่างกายช่วยการออกกำลังในการเบ่งนี้จนผู้คลอดหน้าแดง และมีเหงื่อออกโทรมตัว บางครั้งอาจจะต้องครวญครางในขณะเบ่งด้วย และคลอดออกมาเรียกว่าตกฟาก (เด็กคลอดออกมาจากช่องคลอดแล้ว)

ระยะที่ 3  ระยะรกคลอด ระยะนี้เกิดขึ้นภายหลังเด็ก คลอดออกมาแล้วจะมีรกและสายสะดือ ถุงน้ำหล่อตัวเด็กออกมา เมื่อเด็กเกิดออกมาแล้ว มดลูกก็จะหดตัวเล็กลง ก้นมดลูกอยู่สูงเพียงระดับสะดือและตัวมดลูกก็เล็กลงมีขนาดประมาณเท่ากับศีรษะเด็ก ลักษณะของมดลูกในขณะนี้ ปรากฎว่า บางครั้งก็แข็ง บางครั้งก็เป็นก้อนกลมบางครั้งก็อ่อนนิ่มลง จนคลำดูรูปร่างไม่ได้แน่นอน ดังนี้ สลับกันไปประมาณ 15 ถึง 20 นาที จนกระทั้งหลุดออกจากผนังมดลูก ถูกมดลูกผลักดัน จนมาอยู่ในช่องคลอด มดลูกจึงหดตัวเต็มที่เป็นก้อนกลมแข็งลอยขึ้นสูงกว่าเดิม เมื่อเป็นเช่นนี้มักมีเลือดออกมาบ้าง พร้อมกับสายสะดือตามออกมา แต่รกที่ออกมาคั่งค้างอยู่ที่ช่องคลอดนั้น มักจะไม่เลื่อนออกมาเอง นอกจากต้องใช้วิธีช่วยกดผลักดันออกมา กดผลักหน้าท้องเบาๆ รกก็จะออกมาได้ ถ้ารกไม่ออกหรือฉีกขาดตกอยู่ในมดลูก หรือมดลูกปลิ้นถลก เศษรกเน่าเป็นพิษได้

3.10  ลักษณะท่าทางที่ทารกจะคลอด

การที่ทารกจะคลอดออกได้ ต้องเปลี่ยนแปลงหลายท่าหลายทางตามอริยาบทต่างๆกัน ทั้งที่อวัยวะของมารดาก็ช่วยให้เป็นไปตามธรรมชาติอยู่แล้ว ตั้งแต่เคลื่อนจากมดลูกจนตกฟาก มีอยู่ 3 แบบ แต่ละแบบมีท่าต่างๆ กันดังต่อไปนี้คือ

ท่าคว่ำหน้าออก  ทารกอยู่ในมดลูก คว่ำอยู่ คือหันหน้าเข้าหาหลังของมารดา ในท่านี้ทารกจะคลอดออกมาได้หรือ ตกฟากได้ต้องหมุนตัวครึ่งรอบ เพื่อไหล่จะได้หลุดออกจากช่องเชิงกราน จนคลอดออกมาตกฟากได้

ท่าทารกหงายหน้าออก  ทารกอยู่ในมดลูกนอนหงาย หันหน้าออกหน้าท้องของมารดา เมื่อศีรษะเคลื่อนหลุดพ้นจากมดลูกแล้ว ศีรษะตะแคงได้ ลอดอุ้งเชิงกราน ตัวเด็กคว่ำ บ่าจะได้หลุดลอดพ้นจากช่องเชิงกรานออกจากช่องคลอดและตกฟากได้

ท่าทารกเอาก้น ขา หรือเท้าออก  ตรวจดูจะพบว่านิ้วเท้าเสมอกัน ถ้านิ้วมือจะไม่เสมอกัน กิริยาที่เอาเท้าคลอดนี้มีข้อสำคัญ ฉะนั้นเมื่อตรวจพบว่า เด็กอาจจะคลอดในท่านี้ ควรจะนำส่งไปคลอดที่โรงพยาบาล เพื่อความปลอดภัยของมารดาและเด็ก

ท่าทารกเอามือและแขนออก  ผดุงครรภ์ไม่สามารถทำคลอดท่านี้ได้และมีความรู้ไม่พอจะช่วยจะเป็นอันตรายแก่ทารกและมารดา การที่ทารกเอามือและแขนออกมาเช่นนี้โดยมาก เกิดจากการฝืนท้องมากเกินไป คือ ทีแรกทารกจะเอาหัวออกหมอตำแยไม่เข้าใจ ผลักไสหรือกล่อมท้อง ทำให้ศีรษะทารกนั้นพลาดจากช่องคลอด แขนจึงเลื่อนมาที่ช่องคลอด และคลอดออกมา นอกจากจะช่วยให้แขนเข้าไปตามเดิม เพราะทารกจะกลับเองไม่ได้ เมื่อมือออกมาก็จะทราบได้ว่ามือซ้ายหรือมือขวาโดยจับมือคลำนิ้วทารก ถ้ามือทารกคว่ำ ตัวทารกคว่ำ ถ้ามือทารกหงาย ตัวทารกก็หงาย เท้าของทารกจะมาอยู่ที่ก้นของทารก ถ้าเป็นดังกล่าวมาแล้วนี้ ทารกจะคลอดออกมาไม่ได้ คล้ายกับทารกขว้างตัว ติดตัว และติดหัว คอ แพทย์ต้องช่วยให้คลอดแบบอื่นๆ ถ้าผดุงครรภ์แบบโบราณได้พบปะอาการดังกล่าวนี้ ต้องรีบช่วยเหลือนำส่งโรงพยาบาลทันที

3.11  กลไกการคลอดในท่าต่างๆ ของทารก

ท่าคว่ำหน้าออก

  1. งอตัวก้มหน้าคอพับ คางติดกับหน้าอก
  2. เลื่อนลงมาจดศีรษะจรดปากมดลูก
  3. พลิกหรือหมุนตัวให้เหมาะกับช่องเชิงกราน เพื่อศีรษะจะได้คลอดออกมาได้
  4. ศีรษะลอดช่องเชิงกรานและคลอดได้
  5. หมุนตัวภายในมดลูกให้พอดี
  6. ตัวก็จะคลอดออกมาพ้นตัวมารดา

ท่าทารกหงายหน้าออก

  1. หงายหน้าขึ้นจนท้ายทอยจรดหลัง
  2. เลื่อนลงมาจนศีรษะจรดปากมดลูก
  3. พลิกหรือหมุนศีรษะให้พอเหมาะกับที่จะลอดช่องเชิงกราน เพื่อให้ศีรษะทารกลอดออกมาได้
  4. ศีรษะลอดช่องเชิงกราน และคลอดออกมาได้
  5. พลิกหรือหมุนตัวภายในมดลูกให้พอดีกับช่องเชิงกราน
  6. ตัวทารกก็จะคลอดออกมา พ้นตัวมารดา

3.12  การปฏิบัติของผดุงครรภ์ในระยะของการคลอด

1.ความสะอาดของการผดุงครรภ์ เมื่อจะไปทำการคลอดบุตร ผดุงครรภ์ควรอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดเสียก่อน และควรเปลี่ยนเสื้อผ้าที่ซักฟอกใหม่ๆ ที่สะอาด เพื่อโรคอาจติดต่ออยู่ตามเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มที่ได้ไปรักษารายอื่นๆมาก่อน และยังมิได้ชำระล้างฟอกสบู่ อาจมีโรคติดต่อกันได้ เช่น โรคฝีดาษ หัด สุกใส หรือโรคต่างๆ ย่อมเกิดขึ้นต่อมารดาและทารก

สถานที่คลอดต้องสะอาดปลอดโปร่ง จัดไว้สำหรับคลอดบุตร ล้างด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคให้ทั่วบริเวณหรือล้างแล้วรมด้วยกำมะถันอบก็ได้ หรือฟอร์มาลินก็ได้ อย่าให้มีกลิ่นโสโครก ทำความสะอาดห้องจนถึงวันคลอดจะดีมาก ห้องนี้ต้องจัดให้เป็นพิเศษ อย่าให้คนเข้าไปพลุกพล่านเป็นอันขาด

2.การปฏิบัติและการช่วยเหลือในระยะคอมดลูกเปิด

ในระยะคอมดลูกเปิด การเจ็บท้องไม่รุนแรง และเมื่อถุงน้ำทูนหัวยังไม่แตก ศีรษะทารกกำลังเข้ามาติดแน่นในช่องเชิงกรานนั้น ไม่ควรให้ผู้คลอดนอนอย่างเดียว ควรชวนและแนะนำให้ลุกเดินบ้าง เช่น ช่วยในการเตรียมจัดของสำหรับเด็ก เป็นต้น จงกระทำให้ผู้คลอดเพลิดเพลินและลืมความเจ็บปวดได้บ้าง การเคลื่อนไหวจะช่วยให้ศีรษะทารกลดต่ำลงเร็วขึ้น แต่ไม่ควรให้ออกแรงหรือเข้าห้องส้วม เพราะอาจเกิดการคลอดฉับพลัน เป็นอันตรายแก่ทารกได้

เมื่อการคลอดก้าวหน้าไปจนถึงตอนปลายของระยะคอมดลูกเปิด ซึ่งสังเกตได้จากการเจ็บท้องถี่ขึ้น และดารเจ็บรุนแรงขึ้น ให้ตรวจหน้าท้องดูอีกครั้งหนึ่งเพื่อดูว่า การคลอดยังเป็นปกติดีอยู่หรือไม่มีความก้าวหน้าไปแค่ไหน ศีรษะเด็กลดต่ำลงกว่าเดิมหรือไม่ เมื่อใกล้ระยะที่ 2 ของการคลอด อาการเจ็บท้องจะถี่ขึ้น และมีการปวดที่กระเบนเหน็บมากขึ้น ผดุงครรภ์อาจแนะนำให้กดและบีบที่กระเบนเหน็บไว้บ้าง จะเป็นการช่วยบรรเทาการเจ็บปวดลงบ้าง

ในระยะนี้ถุงน้ำทูนหัวอาจจะแตกขณะหนึ่งขณะใดก็ได้ จึงควรป้องกันการไหลเลอะเทอะ เช่น จัดให้ผู้คลอดนอนลงบนหม้อนอน ในระยะนี้ผดุงครรภ์เตรียมตัวสำหรับทำการช่วยคลอดได้แล้ว โดยตรวจอยู่เครื่องใช้ในการคลอดของทารก และยาที่จะเป็นอีกครั้งหนึ่งแล้วคอยเฝ้าดูน้ำทูนหัวอาจโป่งยื่นออกมา ถ้าเป็นเช่นนั้นและถุงยังไม่แตกออกก็ควรใช้กรรไกรเจาะถุงที่ยื่นโป่งออกมา ควรใช้นิ้วแนบปลายกรรไกรสอดเข้าไปในถุงด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้ปลายกรรไกรแทงไปถูกร่างกายทารก ถุงก็จะแตกได้ ขณะถุงน้ำทูนหัวแตกต้องสังเกตสีและปริมาณของน้ำทูนหัวและจดจำเวลาที่น้ำทูนหัวแตกไว้ด้วย หากผิดปกติป็นสีเขียวแสดงว่า มีขี้เท่าของทารกปนอยู่ด้วย ก็หมายความว่า ทารกอยู่ในเขตอันตราย ถ้าประเมินอาการดูหรือว่าทารกจะคลอดลำบากหรือใช้เวลาคลอดนานหรือคลอดเองไม่ได้ ควรรีบส่งโรงพยาบาลโดยด่วน

จิตใจของผู้คลอดในตอนปลายของระยะที่ 1 นี้มักมีอาการหงุดหงิดถึงหวาดกลัว ควรต้องช่วยปลอบใจ และช่วยอธิบายให้ผู้คลอดเข้าใจว่า ทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินไปเป็นปกติ และก้าวหน้าเป็นอย่างดี เพื่อให้ผู้คลอดหมดความวิตกกังวลและทุกร้อนใจ

เมื่อแรกเจ็บครรภ์ควรแนะนำให้คนท้องนั้นหมั่นลุกนั่ง ลุกขึ้นยืน เดินบ้าง นั่งบ้าง จะดีกว่าที่จะนอนอยู่อย่างเดียว เพราะมีประโยชน์ช่วยให้ทารกหมุนศีรษะลงมาและน้ำหนักทารก ถ่วงลงมาด้วยศีรษะทารกก็จะดันและขยายช่องทางที่จะคลอด ทำให้ทารกคลอดสะดวกสบายขึ้นอีกด้วยและหาเรื่องต่างๆ ให้พูดคุยเล่นเพื่อให้เพลิดเพลินไปพลางๆ ก่อนอีกด้วย

ถ้าเห็นว่าเจ็บครรภ์นั้นมากขึ้นทุกที ก็ควรสวนอุจจาระ ปัสสาวะออกให้หมด จะได้ไม่เป็นการขัดขวางทางคลอด และควรให้ชำระล้างช่องคลอดด้วย (ด้วยน้ำยาแอนตี้เซพติค คือ ไลโซลหรือด่างทับทิม หรือคาร์เบอร์ลิค 3 เปอร์เซนต์) ขนตามบริเวณอวัยวะเพศควรโกนออกเสียด้วยยิ่งดีมากเพื่อป้องกันความสกปรก ความสกปรกเป็นสิ่งสำคัญมากต่อการคลอดบุตร และเป็นอันตรายมากด้วย

อาหาร เมื่อหญิงมีครรภ์ต้องการจะกินก็ให้กินได้ เช่น น้ำชา น้ำนม หรือน้ำมะพร้าวอ่อน หรือน้ำชุบชูกำลังบางคนชอบเหล้าองุ่น หรือแชมเปญ หรือบรั่นดีก็ให้สักเล็กน้อยได้ เพื่อเป็นการชูกำลังไม่แสลง ไม่มีอันตราย

3.การปฏิบัติการและการช่วยเหลือมารดาในระยะเบ่ง

เมื่อถุงน้ำทูนหัวแตกแล้ว การเบ่งก็เริ่มต้น เมื่อคอมดลูกเปิดหมดแล้ว และเบ่งในขณะที่มดลูกหดรัดตัว การเบ่งทุกครั้งผู้คลอดต้องออกแรงเหน็ดเหนื่อย จึงควรพยายามให้การเบ่งนั้นเป็นผลอย่างมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ บางครั้งจึงต้องช่วยสอนผู้คลอดให้ทำการเบ่งในวิธีที่ถูกต้อง คือ เมื่อรู้สึกท้องแข็ง เจ็บท้อง ก็ให้ผู้คลอดตั้งขาทั้งสองข้างขึ้นแล้วหุบปากอึดใจอยู่ได้ แล้วรีบถอนใจเต็มที่ครั้งหนึ่ง หรือหุบปากแล้วพยายามบังคับให้ลมภายในช่องท้องลงไปที่ส่วนช่องคลอดอย่าให้มีลมออกมาทางปาก โดยต้องหุบปากไว้ เบ่งอีกเมื่อมีการหดรัดตัวของมดลูก เมื่อมดลูกคลายตัว ช่วยให้ผู้คลอดได้พักผ่อนให้เหยียดขาทั้งสองข้างให้สบาย ช่วยบีบนวดและเช็ดเหงื่อให้และชวนพูดคุยบ้าง หรือถ้ารู้สึกเหนื่อย ให้สูดลมหายใจเข้าออกยาวๆ ลึกๆ แล้วกลั้นไว้สักครู่จึงผ่อนลมหายใจออก ต้องอธิบายให้ผู้คลอดเข้าใจถึงวิธีเบ่งและคอยตักเตือน อย่าให้ร้องครวญครางในขณะเบ่ง เพราะทำให้ขาดการออกกกำลังช่วยมดลูก

ในบางรายผู้คลอดรู้สึกเมื่อยหลับในขณะที่นอนหงายนานๆ ก็ควรให้นอนตะแคงได้บ้างเป็นการพักผ่อนได้ชั่วขณะหนึ่ง แต่ในรายที่ศีรษะทารกผลุบโผล่ต้องให้ผู้คลอดนอนหงายต่อไป เพื่อทำการคลอดศีรษะทารกในวิธีที่ผู้คลอดนอนหงาย

ในระยะพักควรฟังหัวใจทารก และตรวจหน้าท้องเป็นครั้งคราว เพื่อให้แน่ใจว่าการคลอดก้าวหน้าดำเนินไปเป็นปกติดี ในการตรวจต้องระวัง ไม่รบกวนมดลูกจนเกินไป

ในระยะเบ่ง ต้องคอยสังเกตที่บริเวณฝีเย็บและที่ปากช่องคลอดจะมีการโป่งนูนออกมาเมื่อมีการเบ่งและจะหายไปในเวลาพัก เมื่อการเบ่งอีกก็จะโป่งนูนอีก ตอนแรกศีรษะทารกโผล่ให้เห็นเวลาในการเบ่งแล้วผลุบหายเข้าไปในเวลาพัก และในเวลาพักควรทำความสะอาดบริเวณปากช่องคลอดเป็นการดี และทายาฆ่าเชื้อโรคไว้ให้เรียบร้อย และเมื่อเวลาศีรษะทารกโผล่ออกมา แต่ไม่ผลุบเข้าไปอีกนั้น เป็นระยะที่ฝีเย็บถูกดันดึงเต็มที่และอาจจะฉีกขาดได้ ฉะนั้นทุกสิ่งทุกอย่างต้องเตรียมไว้ให้พร้อมที่จะใช้ ก่อนจะถึงระยะเวลาที่ศีรษะทารกโผล่ไม่ผลุบนี้ ทำการล้างมือและใช้ยาทาฆ่าเชื้อโรคชโลมมือให้ทั่วทุกครั้งจัดให้ผู้คลอดนอนให้ถูกต้อง ในช่วงของการคลอดศีรษะทารกนี้ ข้อสำคัญคือต้องคอยเฝ้าดูอยู่ที่ปากช่องคลอดตลอดเวลา ไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องงดไว้ก่อน เพราะศีรษะทารกอาจเกิดมาได้โดยกะทันหัน และเป็นเหตุให้ฝีเย็บขาดอย่างรุนแรงได้ การเบ่งอย่างรุนแรง ศีรษะทารกอาจเกิดในทันทีจำเป็นต้องรีบป้องกันการฉีกขาดของฝีเย็บทันที แม้ว่าสิ่งอื่นๆยังไม่เรียบร้อย ก็ไม่ต้องทำ ต้องทำการช่วยป้องกันฝีเย็บก่อน โดยใช้มือจับผ้าที่ฆ่าเชื้อแล้วไปจับผิวหนังบริเวณฝีเย็บไว้ เพื่อประคองผิวหนังในส่วนนั้นไม่ให้ปริหรือฉีกขาดออกเวลาที่มารดาออกแรงเบ่ง แต่ต้องระวังไม่ให้ออกแรงกดหรือดันศีรษะทารกเพราะจะมีผลต่อการคลอด

ในระยะที่ปากมดลูกเปิดหรือขยายตัวยังไม่เต็มที่ ก็อย่าไปเร่งรัดโดยวิธีใดๆ ให้รอไปจนกว่าจะครบกำหนดอันสมควรตามธรรมชาติ แล้วจึงตรวจดูอีก ถ้าเห็นว่าเกินเวลาอันสมควรแล้วมดลูกยังไม่ขยายตัวตามสมควรจึงให้ป้ายยา (น้ำมันเบลลาดอนนา) ที่ปากมดลูก ครั้นมีอาการปวดมากขึ้น ผดุงครรภ์ต้องตรวจปากมดลูกอีก ถ้าเห็นว่าปากมดลูกเปิดโตแล้วสมควรจะคลอดได้ แต่ถุงน้ำคร่ำยังไม่แตกก็ช่วยฉีกขาดได้เลย แล้วให้ผูคลอดนอนนิ่งๆ พับเข่าตั้งขาชันขึ้นไว้ แม้จะไม่มีลมเบ่ง ในที่คลอดนี้ควรมีเชือกผูกเสา หรือสิ่งใดไว้เพื่อไว้ให้มารดาเหนี่ยวรั้ง หรือให้มีที่สำหรับยันเท้าด้วยยิ่งดี จะได้เบ่งแข็งแรงขึ้น ครั้นเมื่อมีลมเบ่งมากขึ้นปากมดลูกเปิดมาก ทารกก็เคลื่อนออกมาได้ ถ้าไม่มีการติดขัดใดๆ  ควรตรวจดูให้รู้แน่ว่า ศีรษะทารกคว่ำหรือหงาย หรือทารกเอาส่วนใดออก เช่น ก้น ขา แขน หรือมือ หรือมีการติดขัดหรือเปล่า เมื่อเห็นศีรษะโผล่พ้นช่องคลอดออกมา มือขวาคอยรับทารกหรือช่วยหมุนศีรษะทารกครึ่งรอบ เพื่อให้เหมาะกับเชิงกรานนี้ก็จะออกได้โดยสะดวกตามธรรมชาติ ช่วยเหลือแต่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

4.การปฏิบัติและการช่วยเหลือทารกในระยะคลอด

เมื่อทารกเคลื่อนออกจากปากมดลูกแล้ว ลงมาดันที่ฝีเย็บจนตึง เวลานี้ผู้คลอดจะเจ็บปวดที่สุดเจ็บปวดยิ่งกว่าเวลาอื่นๆ ของการคลอดบุตร ถ้ามารดาต้องกำลังลง การเจ็บปวดมากเกินควร ควรให้ยาหอมยาดม มารดามักจะบอกว่ามีอาการเจ็บปวดเมื่อยชา บางที่จะเป็นตะคริวที่หน้าท้องหน้าขา ควรให้ผู้ช่วยทำความสะอาดที่ช่องคลอดบ้าง เช่น ใช้สำลีชุบน้ำยาเช็ดช่องคลอด และช่วยอย่าให้ฝีเย็บขาด ช่วยโดยเอานิ้วมือขวาสอดเข้าทวารหนักช่วยยกปากมดลูกขึ้นอย่าให้ศีรษะทารกต่ำลงมา มือซ้ายประคองศีรษะทารกขึ้นหรือจะใช้มือขวาแบบออกประคองที่ฝีเย็บ และประคองที่หัวทารกขึ้นไว้จนกว่าฝีเย็บจะยืดออกพอที่ทารกคลอดออกมาได้บาดแผลฝ่ายมารดานั้นจะมีน้อยที่สุด บางทีไม่มีเลย การช่วยดังกล่าวจะต้องช่วยในเวลาที่มีลมเบ่งและฝีเย็บตึง การช่วยโดยการสอดนิ้วมือเข้าทางทวารหนักนั้นถ้าไม่จำเป็นก็อย่าใช้ ใช้วิธีอื่นดังกล่าวแล้วเพราะจะทำให้ทวารหนักช้ำและเป็นโทษภายหลัง ทำให้อุจจาระออกไม่สะดวก มีอาการปวดทวาร บางทีอาจกลายเป็นบิดก็มี ครั้นมีลมเบ่งที่ศีรษะทารกออกจากช่องคลอดแล้ว ให้เอามือขวาจับช่วยหมุนศีรษะทารกครึ่งรอบให้ไหล่ทารกหลุดและรับหัวทารกไว้ มือซ้ายกุมท้องมารดาไว้เสมอ รอให้ศีรษะทารกนั้นออกมาเองโดยมารดามีลมเบ่ง

ครั้นศีรษะทารกและบ่าทารกออกมาแล้วจึงประคองสองมือรับตัวทารก ค่อยๆพยุงออกมาจนคลอดพ้นออมาทั้งตัว เมื่อทารกคลอดออกมาแล้ว ต้องให้ศีรษะทารกอยู่ข้างขาซ้ายของมารดา โดยตะแคงตัวข้างขวาลง หันหน้าทารกเข้าหามารดา เพื่อให้โลหิตในห้องหัวใจทารกเดินได้สะดวก และไม่ให้สายสะดืดตึง แล้วจึงรีบปลุกทารกให้ฟื้นโดยเร็ว โดยวิธีกวักเมือกออกจากปากและจมูกทารก แล้วให้เอาน้ำอุ่นๆหรือน้ำเย็นปะพรมที่ตัวทารกแรงๆ ตามหน้าอกและเขย่า ทำวิธีผายปอดจนกว่าทารกจะฟื้น มีอาการเหนื่อยและร้องขึ้น ครั้นทารกฟื้น และร้องเรียบร้อยแล้ว จึงผูกสายสะดือเป็นสองตอนแล้วตัดระหว่างกลางที่ผูกนั้น และวเอาน้ำมันมะกอกเช็ดถูตามตัวทารกเพื่อให้ไขมันออก แล้วส่งทารกให้ผู้ช่วยอาบน้ำอุ่นๆ เสร็จแล้วหยอดตาทารกด้วยกรดเงิน 0.1 เปอร์เซนต์ที่เตรียมไว้ แล้วผดุงครรภ์ต้องรีบกับมาปฏิบัติกับมารดาโดยเร็ว

ถาม การคลอดคืออะไร

ตอบ  การคลอดบุตร คือการเคลื่อนที่ของทารกและรกออกจากครรภ์ของมารดา เริ่มต้นโดยมดลูกหดรัดตัวตั้งแต่น้อย จนกระทั่งแรงที่สุด กระทำให้เกิดความเจ็บปวดเป็นพักๆ ต่อไปถุงน้ำคร่ำสู่ภายนอกแรกทารกจะออกสู่ภายนอก เมื่อปากมดลูกได้เปิดออกกว้างเต็มที่แล้ว การคลอดบุตรจะถึงที่สุด ก็ต่อเมื่อมดลูกได้กระทำการรัดตัวอีกครั้ง บีบเอารกและถุงน้ำคร่ำออกทำให้ภายในมดลูกว่างเปล่า เช่น เวลาไม่มีครรภ์ ดังนี้เรียกว่า การคลอดบุตร

4.การทำคลอดรก และการตรวจรกและสายสะดือ

รกเป็นสิ่งสำคัญ จะต้องเป็นสื่อที่เลี้ยงทารกในครรภ์ให้เจริญเติบโตขึ้นตามลำดับและมีหน้าที่ดังนี้ รกเป็นเครื่องรับโลหิตจากมารดามาบำรุงเลี้ยงทารกในครรภ์ รกนี้มีลักษณะกลมหรือรีน้อยๆ คล้ายเนื้อปอดเป็นแผ่นกว้างประมาณ 7-8 นิ้ว ศูนย์กลางหนาประมาณ 1 นิ้ว รกมี 2 ด้าน ด้านหนึ่งเกาะติดอยู่กับมดลูก มีเส้นโลหิตละเอียดประสานกับของมารดาอยู่ภายในมดลูก อีกด้านหนึ่งติดอยู่กับสายรกและสายสะดือของทารก

รกเป็นเครื่องรับโลหิตที่สะอาดจากมารดา และรับโลหิตโสโครกจากทารกแล่นไปตามสายสะดือถ่ายสิ่งเสียให้กับมารดา และดูดออกซิเจนจากโลหิตของมารดามาบำรุงเลี้ยงทารกให้เจริญ อย่างไรก็ดี รกมีหน้าที่เปลี่ยนอากาศธาตุในโลหิตระหว่างทารกกับมารดา

รกนี้บางที มีแฝดถึงสองสามก้อนติดกัน รวมเป็นสายสะดือเดียวกันก็มีธรรมดารกจะเกาะอยู่กับพื้นของมดลูก บางทีติดอยู่ที่ปากมดลูก เวลาทารกคลอดจะมีโลหิตออกมามาก เมื่อปากมดลูกขยาย มารดามักเป็นอันตราย ถ้าแก้ไขไม่ดี เพราะเลือดออกมาก่อนและออกมามากผิดธรรมดา เรียกว่า ตกเลือด ถ้าพบควรรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที ตามธรรมดาเมื่อทารกคลอดออกมาแล้วจะมีเลือดออกตาม คงมีแต่น้ำคร่ำปนกับทารกออกมา ต่อเมื่อรกหลุดออกจากผนังมดลูก เลือดจะไหลตามรกออกมาด้วย ถ้าทารกคลอดออกมาครั้งแรก ถ้ามีเลือดตามตัวทารกออกมา แสดงว่ารกจะติดที่ปากมดลูก เพราะเวลาคลอดทารกจะเอาหัวดันมดลูก รกจึงหลุดออกมาพร้อมกับตัวทารก หรือมิฉะนั้นปากมดลูกฉีกขาด ในเวลาที่ทารกออกมาจึงมีเลือดไหลมาพร้อมกับตัวทารก นับว่าผิดธรรมดา หรือเป็นอันตราย ถ้าพบอาการเช่นนี้ควรรีบส่งโรงพยาบาล เพื่อความปลอดภัยของมารดา จงจำไว้ให้ดี

ระยะรกคลอด

กระบวนการคลอดระยะนี้ คือ การลอกตัวของรกหลุดจากผนังมดลูก ถูกผลักดันออกจากโพรงมดลูกลงไปอยู่ในช่องคลอด จนกระทั้งเดินพ้นออกจากช่องคลอดทั้งนี้ใช้เวลาประมาณ 20-30 นาที แต่ในบางรายอาจเร็วกว่าหรือช้ากว่านี้บ้าง แต่รายธรรมดาจะไม่เกิน 1 ชั่วโมง

เมื่อทารกเกิดออกมาแล้ว มดลูกก้จะเล็กลงไป ก้นมดลูกจึงอยู่แค่ระดับสะดือ ลักษณะค่อนข้างกลม เมื่อใช้นิ้วคลำดูที่ท้องจะรู้สึกว่า มดลูกบีบรัดตัวเป็นครั้งเป็นคราว คลำพบได้ง่าย และมีการคลายตัวอ่อนลงเป็นครั้งคราว และขณะที่มดลูกรัดตัว ก็มักมีการเจ็บท้องในระยะนี้ไม่รุนแรงเหมือนในระยะเบ่ง การหดรัดตัวลงของมดลูกนั้น เนื้อที่ผนังมดลูกทุกส่วนจึงเล็กลง ฉะนั้นรกที่เกาะอยู่ที่ผนังมดลูกจะถลอกออก จากสาเหตุนี้ ประกอบกับการที่มีเลือดออกมาคั่งอยู่ เลือดที่คั่งอยู่หลังรกนี้ มักจะรวมตัวกันเป็นก้อนจึงเรียกว่า เลือดหลังรก

เมื่อรกหลุดจากผนังมดลูกแล้ว มดลูกก็จะหดรัดตัวเล็กลงไปอีก รกจึงถูกดันจากโพรงมดลูกออกมาสายสะดือที่ติดอยู่กับรกจึงเลื่อนต่ำลงมาอีกด้วย เห็นได้ที่ภายนอกพร้อมกันนั้นเลือดที่คั่งค้างอยู่หลังรกก็จะไหลตามออกมาด้วย ส่วนมดลูกนั้นเมื่อไม่มีสิ่งใดเหลือกีดขวางอยู่ในโพรงมดลูกอีกแล้ว ก็หดรัดตัวลงอยู่ในลักษณะของมดลูกธรรมดา คือ หนา แบน รี ลอยขึ้นสูงกว่าระดับสะดือและมักเอนไปทางด้านขวาของช่องท้อง ลักษณะนี้ทำให้สันนิษฐานได้ว่า รกลอยตัวออกจากผนังมดลูกแล้ว คือ

  1. สายสะดือเลื่อนต่ำลงมากว่าเดิม
  2. มีเลือดไหลตามออกมาด้วย
  3. มดลูกเล็กลงลักษณะค่อนข้างแบน
  4. มดลูกลอยสูงขึ้นกว่าระดับเดิม และสูงกว่าระดับสะดือ

รกที่ถูกผลักดันออกจากโพรงมดลูกลงมาอยู่ในช่องคลอดนั้น ต่อมาไม่ช้าผู้คลอดมักจะเกิดความรู้สึกอยากเบ่งอีกครั้ง และเมื่อทำการเบ่งรกก็จะถูกดันออกมาจากช่องคลอดตามสายสะดือออกมา แต่ในบางรายอาจไม่รู้สึกอยากเบ่ง หรือมีการเบ่งแต่ไม่ออก จะต้องอาศัยผู้ทำการคลอดช่วยเหลือ รกเกิดพ้นออกจากปากช่องคลอดผ่านปากถุง ตรงรอบฝีเย็บที่แตก ดังนั้นจึงเป็นปลิ้นออกมาจากภายในถุง ส่วนเยื่อซึ่งเป็นการบุอยู่ทางด้านทารกและเลยผ่านไปบุผนังมดลูก จนกระทั่งตึง จึงลอกออกมาจากผนังมดลูกตามออกมาภายหลัง

เมื่อเวลาทารกคลอดออกมาแล้วตามธรรมดารกยังไม่หลุดออกมาจากที่เกาะ(คือที่ก้นมดลูก) ในเวลานั้นมดลูกหดรัดตัวเหี่ยวลงทุกที (แต่รกยังไม่หดตัวเล็กลง) เพราะฉะนั้นเยื่อและเส้นโลหิตของรกที่ติดอยู่กับมดลูก จึงได้ขาดจากมดลูก รกก็จะหลุดออกจากที่เกาะ แผลที่รกเกาะหลุดออกมานั้นเป็นแผลใหญ่จึงมีเส้นโลหิตไหลเยิ้มออกมาจากแผลมาก แต่เมื่อรกออกมาพ้นมดลูกแล้ว มดลูกก็จะหดตัวเล็กลง เส้นโลหิตก็จะตีบลงโลหิตก็หยุด หรือเยิ้มออกมาบ้างเล็กน้อย ต่อไปก็จะออกมาเป็นน้ำคาวปลา

วิธีป้องกันรกบิน

สมัยก่อนถ้าการคลอดล่าช้า รกติดอยู่นาน ท่านก็มีวิธีการที่ดีในการคลอดลูกด้วยการผูกสายสะดือเข้า 2 เปลาะ ห่างจากกันประมาณ 1 คืบ แล้วตัวตรงกลาง ส่วนทารกก็ส่งให้ผู้ช่วยเอาไปอาบน้ำ หุ้มห่อให้ความอบอุ่นร่างกายทารก

หมอตำแยต้องเป็นธุระกับมารดาด้วย ต้องระวังว่ารกจะบิน วิธีป้องกันรกบินคือ ผูกซ้ำที่สายสะดือแล้วใช้ไม้ตับคาบที่สายสะดือแล้วผูกโยงกับขาผู้คลอดจนกว่าจะคลอดรก

โรคของรก

ตามธรรมดาเนื้อรกมีลักษณะเป็นเนื้อยุ่ยๆ ฟ่ามๆ มีสีแดงคล้ำ มีเส้นโลหิตทอดฝั่งคั่งค้างอยู่มาก มีลักษณะกลมแบนดังใบบัวหลวง มีสายคล้ายก้านบังทอดลงมาติดทับหน้าท้องทารก เรียกว่า สายสะดือ เมื่อเราถือก้านบัวคว่ำลงตรงกลางจะรกนูน แล้วริมจะบางราดลงมาขอบใบบัวหรือชายรก รกบางอันไม่กลม มีลักษณะยาวรีก็มี บางอันสายสะดือไปเกาะติดอยู่ที่ชายรก ถ้าสายสะดือไปเกาะอยู่ที่ส่วนใดส่วนนั้นก็หนากว่าส่วนอื่นๆ ตัวรกธรรมดากว้างประมาณ 6-12 นิ้ว ส่วนตรงกลางหนา 1 นิ้ว ด้านนอกของรกเกาะอยู่ที่ผิวเยื่อบุของโพรงมดลูก สายรกและสายสะดือติดต่อกัน ทำการแลกเปลี่ยนอาหารในร่างกายทารกกับมารดา คือ มารดาต้องเลี้ยงทารกทางสะดือ ซึ่งมีเส้นเลือดช่วยในการนี้

รกนั้นย่อมมีโรคต่างๆ ขึ้นได้ เช่น เกิดมีเนื้อไขมันมาก หรือแข็งกระด้างเป็นไต หรือเกิดเป็นเม็ดฝังในหรือแห้งเหี่ยว ทำให้แลกเปลี่ยนโลหิตไม่สะดวก และทำให้ทารกเกิดเป็นโรคต่างๆ ได้ ทารกที่รกผิดปกติก็เป็นโรคได้ เช่น โรคขาดอาหาร ผอมแห้ง ร่างกายไม่สมบูรณ์ หรือเป็นโรคติดต่อจากมารดา หรือติดต่อจากรกก็ได้ โรคของรกมีดังนี้ คือ

1.รกขวางทาง

รกขวางทาง คือ การที่รกเกาะผิดตำแหน่ง คือ เกาะอยู่ที่ผนังส่วนของมดลูก หรือต่ำลงปากมดลูก มดลูกต้องขยายทางออกให้ทารก เมื่อมดลูกขยายก็เผยออก ตั้งแต่ระยะแรกของการคลอดตรงที่เผยหลุดออกไป จึงมีการตกเลือด เลือดจึงออกมา

ชนิดของรกขวางทาง

  1. รกเกาะต่ำ อยู่ที่ส่วนล่างของมดลูก ขอบของมดลูกเมื่อคลำดู จะพบรกอยู่ที่ข้างๆ ด้านในที่คอมดลูก
  2. รกเกาะอยู่ที่ส่วนล่างของมดลูกและที่มดลูกด้วย คลำดูจะพบว่าส่วนหนึ่งของปากมดลูกมีขอบรกปิดขวางอยู่ แต่ไม่ได้ปิดปากมดลูกจนมิด
  3. การที่รกปิดปากมดลูกจนมิดหมด เมื่อคลำดูจะพบว่า ที่ปากมดลูกมีแต่รกปกคลุมอยู่จนมิด สอดนิ้วมือเข้าไปในโพรงมดลูกไม่ได้ นอกจากจะใช้นิ้วทะลุเข้าไป

อาการรกขวาง  มีดังนี้

  1. อาการแสดงขั้นแรกไม่รุนแรง ไม่มีอาการเจ็บปวดแต่อย่างไร นอกจากเจ็บท้องธรรมดา
  2. ในระยะแรกเลือดออกมาเล็กน้อย ซึ่งอาจจะออกๆ หยุดๆ หรือออกตลอดเวลาก็ได้
  3. อาการแสดงของการตกเลือดสมดุลย์กับจำนวนเลือดที่ออก (ประมาณ 400-500 ซีซี.)
  4. ถุงน้ำทูนหัวแตกแล้ว เลือดไม่หยุด
  5. เลือดออกมาขณะที่มดลูกหดรัดตัว
  6. ท้องไม่ตึงแข็งผิดปกติ และไม่มีอาการเจ็บปวดเวลาตรวจหน้าท้อง
  7. มดลูกไม่แข็งเสมอ คลำส่วนของทารกพบได้อย่างธรรมดา
  8. ส่วนนำเข้าเชิงกรานไม่ได้
  9. ไม่มีอาการของโรคพิษแห่งครรภ์

สาเหตุที่รกขวางทาง

เนื่องจากการเกาะของไข่ที่ผสมพันธุ์แล้ว เกาะที่ผนังมดลูกที่ต่ำมาก และเอนลงมาเกาะอยู่บริเวณคอมดลูกด้านใน บางรายถ้าพบว่ารกใหญ่และกว้างกว่าธรรมดามากซึ่งจะแผ่คลุมมาถึงคอมดลูกด้านใน หรือปิดปากมดลูกไว้ ถ้าพบอาการแสดงว่าเป็นการตกเลือดในชั้นแรก คืออยู่ดีๆ ก็มีการตกเลือดระยะหลังของการตั้งครรภ์ หรือระยะแรกของการคลอด โดยไม่ปรากฏมีอาการอื่นแต่อย่างไร โดยมากมักจะเป็นในเวลาตั้งครรภ์แล้วประมาณ 22 สัปดาห์ขึ้นไป แต่มีบางน้อยรายที่มีอาการตกเลือดก่อนเวลานี้ ผู้ป่วยไม่รู้สึกมีอาการอย่างไร แสดงให้ทราบล่วงหน้าอยู่ดีๆ ก็มีเลือดออกมาไม่มีอาการเจ็บปวด หรือเบ่งห่างในครั้งแรกๆ มีเลือดน้อย แต่ต่อมาจะมีเลือดออกมามากขึ้นทุกที แต่ในบางรายอาจมีเลือดจุกอยู่ที่ปากมดลูก แต่มีน้ำเหลืองไหลซึมออกมาเท่านั้น แต่ที่จริงมีเลือดออกมาคั่งค้างอยู่ภายในมากก็ได้ ถ้าพบต้องรีบส่งโรงพยาบาลทันที

ในระยะแรกของการคลอด คอมดลูกขยายถางออก และหดสั้นขึ้นไปทุกทีที่เป็นเช่นนี้ รกที่จะหลุดออจากผนังมดลูกมากขึ้นทุกทีและมีเลือดออกมาพร้อมกันด้วย เลือดที่ออกมานั้นสีค่อนข้างแดงสดเพราะไม่ค่อยติดค้างอยู่มาก และมักออกเป็นพักๆ พร้อมกันกับการหดรัดตัวของมดลูก

หน้าที่ของรก  มีความสำคัญอยู่ 2 อย่าง คือ ทำการหายใจแทนปอดของทารก และทำหน้าที่แลกเปลี่ยนอาหารกับมารดาทางโลหิตดังกล่าวแล้ว เมื่อทารกออกมาแล้ว รกและเส้นโลหิตก็หมดหน้าที่

ถ้าทารกแท้ง รกออกยาก เพราะยังไม่หมดหน้าที่ ยังไม่ครบกำหนด 9 เดือน ทารกโดยมากแท้งใน 3 เดือน ถ้ารกไม่ออก ก็จะต้องควักเอาออก ถ้ารกไม่ออกจะเป็นอันตรายต่อกับมารดาอย่างมาก บางรายเวลาแท้งรกออกมาพร้อมกันก็มี รายที่แท้งแล้วรกไม่ออก ต้องส่งโรงพยาบาลด่วน

2.รกลอกตัวก่อนเวลา

ภาวะที่รกลอกตัวก่อนเวลานี้ อาจพบได้ในมารดาที่มีประวัติได้รับการกระทบกระเทือนมาก่อน ซึ่งมีอันตรายต่อมารดาและทารกอย่างมาก เนื่องจากมารดาอาจจะตกเลือด หรือเสียชีวิตในเวลาต่อมาทารกอาจจะขาดอากาศหายใจและเสียชีวิตได้เช่นกัน ฉะนั้น ผดุงครรภ์ควรจะสังเกตอาการรกลอกตัวก่อนเวลาให้ดี เพื่อช่วยนำส่งโรงพยาบาลได้ทันท่วงที อาการรกลอกตัวก่อนเวลา มีดังต่อไปนี้

  1. แสดงอาการขั้นรุนแรง คือ มีอาการปวดอย่างมากในบริเวณข้างมดลูกที่รกเกาะ
  2. เลือดอาจตกข้างภายใน ไม่ไหลออกมา หรือเลือดออกมาก หรือออกกะปริบกะปรอย
  3. อาจแสดงอาการตกเลือดอย่างแรง ทั้งๆ ที่จำนวนเลือดออกไม่มากนัก
  4. เลือดหยุดเป็นพักๆ ขณะที่คอมดลูกทำการหดรัดตัว และเลือดอาจหยุด หลังจากน้ำทูนหัวแตกแล้ว
  5. ท้องตึงแข็ง และเจ็บมากเมื่อเวลาถูกต้อง
  6. คลำส่วนของทารกไม่พบ เพราะท้องแข็งตึงอยู่เสมอ
  7. ส่วนนำเข้าช่องเชิงกรานได้
  8. มักมีอาการโรคพิษแห่งครรภ์

วิธีตรวจเมื่อรกออกแล้ว

ตามธรรมดาเมื่อทารกออกมาแล้ว ผดุงครรภ์ต้องดูรกและช่องคลอดว่าจะปกติเหมือนเดิมหรือไม่หรือมีสิ่งใดเป็นโทษหรือไม่ คือ ต้องตรวจมดลูกและรกและตรวจบริเวณช่องคลอดมีแผลอย่างไร เพื่อจะได้จัดการแก้ไขเป็นอย่างดี หรือบำบัดระงับจัดการแก้ไขสิ่งที่ผิดปกตินั้นอย่าให้เป็นพิษขึ้นภายหลังได้

การตรวจมดลูกว่าปกติหรือไม่ เช่น มดลูกถลกปลิ้น กลับหรือเลื่อนลงมามากเกินควรหรือมีบาดแผลอย่างไร ต้องช่วยดันกลับคืนอย่าให้ยานออกมาหรือถลกปลิ้นเป็นอันขาด การตรวจดูว่าออกมาหมดหรือยังโดยใช้อ่างใหญ่ๆ ใส่น้ำ แล้วเอารกลงลอยในน้ำดูว่ามีรอยแหว่งบ้างหรือไม่ เมื่อเห็นว่ารกออกมาหมดแล้วก็จัดการไปตามวิธีของเจ้าของไข้

ถ้าตรวจเห็นว่ารกนั้นมีรอยแหว่งอยู่บ้าง เศษยังติดขาดอยู่ข้างในมดลูกบ้าง ให้ตัดเล็บมือผู้ทำคลอดให้สั้นและล้างให้สะอาดสอดล้วงเข้าไปตรวจดู เพื่อตรวจดูว่ารกติดอยู่ที่ใด ให้ใช้ปลายนิ้วค่อยๆ แซะหลุดออกได้ แล้วล้างด้วยน้ำยาให้สะอาด น้ำยา น้ำต้มสุก หรือน้ำยาแชฟลอนเจือจาง ให้ตรวจดูที่ปากช่องคลอดว่ามีแผลหรือไม่ถ้ามีแผลเล็กน้อยไม่ต้องเย็บ ถ้าเป็นแผลยาวถึงทวารหนักควรนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วนด้วย

เรื่องของสายสะดือ

สายสะดือนี้ข้างหนึ่งติดอยู่กับสายสะดือทารกอีกด้านหนึ่งติดอยู่กับรก ตัวรกติดอยู่กับมดลูกที่มีเยื่อหุ้มสายสะดือโดยรอบมีเส้นโลหิตแดง 2 เส้น พอกมาตั้งแต่รกถึงสะดือทารก สายสะดือทารกเกิดขึ้นเมื่อทารกปฏิสนธิแล้วประมาณ 1 เดือนเศษ พออายุทารกในครรภ์ได้ 4 เดือน สายสะดือยาวตั้งแต่ 4-6 นิ้ว เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1/2 นิ้ว ครั้นทารกครบ 9 เดือน ยาวประมาณ 17-20 นิ้ว เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณเท่านิ้วหัวแม่มือ มีขนาดต่างๆ กัน แต่บางทีก็ยาวหรือสั้นกว่านี้ก็มี นับว่าผิดธรรมดา สายสะดือมีลักษณะเป็นเนื้อขาวๆ คล้ายลำไส้เหนียวเหมือนไขมันแต่ไม่มีเส้นประสาทหรือน้ำเหลือง (เวลาตัดไม่รู้สึกเจ็บ) สายสะดือเมื่อแรกเกิดเป็นเส้นตรง ครั้นเมื่อทารกดิ้นไปดิ้นมา จึงเกิดเป็นเกลียว บางทีเป็นปมเป็นขอด ทำให้ทารกในครรภ์ผอม เพราะส่งโลหิตมาเลี้ยงทารกไม่สะดวก สายสะดือบางคนเหนียว บางคนเปลื่อยยุ่ย ฉะนั้นเมื่อทารกครอดแล้วอย่าดึงสานสะดือเพราะอาจจะขาดได้ หรือมีเศษรกติดอยู่ข้างในมดลูกอาจจะเกิดเป็นพิษได้ การดึงสายสะดืออาจจะทำให้มดลูกถลกปลิ้นออกมาเป็นอันตรายแก่มารดา ควรช่วยเอารกออกตามวิธีที่ถูกต้อง ห้ามดึงแรกเป็นอันขาด

การตัดสายสะดือ

ก่อนตัดสายสะดือ ต้องทำความสะอาดมือให้สพอาดตามวิธีเสียก่อน จึงลงมือตัดสายสะดือโดยใช้ด้าย หรือไหมชนิดเหนียวๆ ต้มหรือแช่แอลกอฮอล์เสียก่อน ถ้าด้ายเส้นเล็ก เช่น ด้ายหลอดให้ทบกันหลายๆ เส้น เส้นไหมก็ทำเช่นเดียวกัน ทุบสัก 3-4 เส้นรวมกัน ไขว้ให้ด้ายหรือเส้นไหมนั้นรวมเป็นเส้นเดียว

การตัดสายสะดือ ต้องใช้เครื่องมือที่ทำความสะอาดโดยการต้มหรือนึ่งแล้ว ก่อนตัดต้องรูดสายสะดือไปทางรกสัก 2-3 ครั้งแล้วกดบีบดูจนไม่มีเส้นเลือดเต้น จึงทำการผูกสายสะดือไว้เปลาะหนึ่งก่อนประมาณให้ห่างจากท้องทารกประมาณ 2-3 นิ้ว แล้วจับสายรกให้อยู่คงที่ แล้วรีดออกทางรกอีก ห่างออกไปอีก 2 นิ้ว แล้วผูกอีกเปลาะหนึ่ง การรีดสายรกนี้ต้องจับสายสะดือไว้ให้แน่น ระวังเวลารีดอย่าดึงสายสะดือที่หน้าท้องของทารก จะทำให้สายสะดือของทารกเกิดการอักเสบ เลือดออก สะดือโปดนูนออกมา จงระวังจงหนักวิธีการตัดสายสะดือ ให้เอามือซ้ายใช้นิ้วชี้กับนิ้วกลางและนิ้วหัวแม่มือ จับสายสะดือให้ชิดกับหน้าท้องทารกตัดด้วยกรรไกรหรือเครื่องมือที่เตรียมได้ ตัดสายสะดือครงกึ่งกลางที่เปลาะที่ผูกไว้ โดยให้เลือกความยาวของสายสะดือคือในส่วนที่ติดตัวทารกยาวประมาณ 2 นิ้ว แล้วใช้ทิงเจอร์ไอโอดีน หรือ แอลกอฮอล์เช็ดตรงรอยแผลที่ตัดนั้น การตัดสายสะดือนี้สำคัญมาก ถ้าตัดไม่ดีไม่ถูกต้องตามแบบแผน หรือรักษาความสะอาดไม่พอ จะเกิดการติดเชื้อ ซึ่งเป็นอันตรายแก่ทารกขึ้นในวันต่อมา อาจเสียชีวิตได้หลังจากตัดสายสะดือ แล้วเอาผ้าหุ้มห่อตัวทารกไว้ก่อนหรือถ้ามีผู้ช่วยก็ให้จัดการกับทารกต่อไป ผดุงครรภ์จึงหันมาตรวจดูว่ามีรกฉีกขาดหรือมีเยื่อหุ้มน้ำคร่ำติดขาดในมดลูกหรือไม่ เพราะถ้ามีเศษเยื่อหรือรกติดอยู่ข้างในมดลูก อาจจะเป็นพิษได้ จึงต้องระวัง (ข้อนี้สำคัญมาก) จะลืมไม่ได้เป็นอันขาด ถ้ามีติดอยุ่ต้องรีบแก้ไขโดยนำมารดาส่งโรงพยาบาลทันที ควรตรวจดูอาการของมารดาว่าผิดปกติหรือไม่ ทำความสะอาดร่างกายมารดา ผลัดผ้านุ่งใหม่ (ต้องนอนผลัด) ห้ามไม่ให้ลุกขึ้นนั้งหรือยืนเป็นอันขาด อาจจะเป็นลมหน้ามืดได้ ตรวจช่องคลอดและฝีเย็บว่ามีการฉีกขาดหรือไม่ ถ้าไม่มีอะไรเกิดขึ้น จึงหันมาห่อสายสะดือทารกต่อไปตามวิธีที่จะกล่าวต่อไป ผดุงครรภ์ต้องคลึงมดลูกให้เล็กลงเสียก่อน แล้วใช้ผ้าสำลีหรือผ้าอนามัยที่สะอาดซับน้ำคาวปลาไว้ให้เปลี่ยนผ้าซับวันละ 2-3 ครั้ง ระหว่างนี้อย่าให้มารดาลุกขึ้นนั่งเป็นอันขาด แล้วให้รับประทานยาขับน้ำคาวปลาหรือยาควนินและแอสไพรินอย่างละ 1 เม็ด ถ้ามีอาการไข้หรือปวดมาก ให้รับประทานยาขับน้ำคาวปลารักษามดลูกเพื่อให้มดลูกเข้าอู่เร็วด้วย เมื่อครบกำหนด 5 วันแล้ว จะลุกขึ้นนั้งบ้างก็ได้ การเอาผ้าพันรัดหน้าท้องของมารดาเพื่อกันมดลูกเคลื่อนที่หรือตะแคง และเพื่อช่วยให้มดลูกแห้งและเข้าที่ (เข้าอู่) เร็วขึ้น

วิธีห่อสายสะดือทารก

เมื่อจะห่อสายสะดือทารก ให้ใช้ผ้าสำลีตัดเป็นชิ้นสี่เหลี่ยม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4 นิ้วและตัดช่องตรงกลาง ผ้านั้นกะพอให้สายสะดือลอดออกมาได้ ใช้แอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ เช็ดให้ถึงโคนสะดือ ทำสายสะดือเป็นวงกลมขดแล้วผับผ้าเหลี่ยมทบเข้าหากันห่อสะดือไว้ แล้วเอาสำลีซ้อนกันสองผืน ผืนในใช้พันรอบท้องทารก ผืนนอกใช้ชายผ้าฉีกเป็นริ้วๆ สัก 3-4 ริ้ว ห่อพัน ทับอีกทีหนึ่ง ใช้ชายผ้าที่ฉีกเป็นริ้วนั้นผูกกันไว้เป็นคู่ๆ ให้แน่นพอสมควร แล้วจึงห่อตัวทารกวางไว้ บนเบาะตามธรรมดาให้อยู่ในกระโจมเพื่อป้องกันอากาศเย็น ควรแก้ผ้าหรือที่ห่อสายสะดือไว้ ชำระล้างสายสะดือให้สะอาดทุกวัน ล้างด้วยแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ หรือน้ำยาบอริค หรือ คาร์บอริค 3 เปอร์เซ็นต์ หรือ 1 เปอร์เซ็นต์ แล้วเปลี่ยนผ้าใส่ยาใหม่ทุกวัน สะดือนี้สำคัญมาก ต้องระวังอย่าให้เป็นหนองขึ้นได้เป็นอันขาด ธรรมดาต้องให้หลุดเอง เมื่อหลุดแล้วรักษาแผลที่สะดือตามธรรมดาต่อไป

การปฏิบัติเมื่อทารกคลอดแล้ว

เมื่อทารกคลอดมาแล้ว ผดุงครรภ์ต้องล้างมือให้สะอาด ใช้ผ้าสำลีหรือผ้านิ่มๆ พันนิ้วมือเช็ดในปาก และจมูกทารก และหยอดตาเด็กด้วยกรดเงิน 0.1 เปอร์เซ็นต์ เพื่อเป็นการป้องกันการติดเชื้อโรคจากมารดา (โรคโกโนเรีย) แล้วเอาน้ำมันมะกอกทาให้ทั่วตัวทารก แล้วเช็ดด้วยสำลีหรือผ้าอ่อนๆ ให้ตัวทารกแห้งแล้ว ฟอกด้วยสบู่ให้ทั่วตัวและเช็ดตัวทารกด้วยน้ำอุ่นๆ จนหมดไขมันเอาขึ้นเช็ดตัวให้แห้ง หุ้มห่อทารกด้วยผ้าขนหนูไว้เพื่อให้ทารกอบอุ่นพอสมควร ข้อสำคัญต้องอาบด้วยน้ำอุ่นเสมอ ถ้าความอบอุ่นมีไม่เพียงพอกับร่างกายของทารกจะทำให้ทารกไม่สบาย มีอาการหน้าตา มือ เท้า เขียวซีดและเย็น ต้องรีบให้ความอบอุ่น ให้เพียงพอทันที โดยใช้กระเป๋าน้ำร้อนหรือขวดใส่น้ำร้อนวางไว้ข้างตัวทารกคลุมผ้าไว้ให้อุ่นพอดีกับร่างกายของทารกจึงจะสบายดี แต่ต้องระวังไม่ให้ความร้อนเกินไปจะทำให้เกิดแผลผุพองได้

การรักษาตัวของมารดาหลังคลอด

การพักฟื้นรักษาตัวหลังคลอดตามแบบอย่างที่ผู้ใหญ่ให้ปฏิบัติสือต่อกันมาให้ผู้คลอดใหม่นอนพักมากๆหลีกเลี่ยงอาหารบางจำพวกชั่วคราว (บางภาคจะเรียกว่าอยู่กรรม) ระหว่างเรือนไฟมีกำหนดสำหรับท้องสาวหรือลูกคนแรก 40 วัน คนต่อไปก็อยู่ไป 30 วัน อาหารส่วนใหญ่จะใช้หมูหรือพวกปลาก็ได้แก่ ปลาช่อนต้ม ผัด หรือแกงอย่างใดก็ได้ ห้ามภูกน้ำฝน ถูกลม ห้ามเดินมากๆ และห้ามยกของหนัก บางทีเจ้าตัวก็ลืม เพราะการคลอดบุตรจริงๆแล้ว ถ้าผู้คลอดอายุน้อย หลังคลอด 2-3 วันก็จะรู้สึกว่าสบายดี อยากจะทำโน่นทำนี่ แต่ความเป็นจริงแล้วสุขภาพร่างกายยังไม่เข้าที่ และต้องการการพักผ่อน คอยเวลาที่อวัยวะจะปรับตัวเข้าสู่สภาพปกติ และต้องการยาเข้าไปขับล้างภายในมดลูก บำรุงและซ่อมแซมความบอบช่ำและต้องใช้กำลังในการอุ้มท้องทารกมา 9 เดือนให้ได้รับการพักผ่อนให้อวัยวะต่างๆ ได้เข้าสู่สภาพปกติคือ การหดรัดตัวของสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะมดลูกได้ขยายตัวมากในระหว่างที่ลูกอยู่ในครรภ์

ตัวอย่าง

เมื่อข้าพเจ้าสอนเวชปฏิบัติอยู่ที่อายุรเวทวิทยาลัย (วัดบวรนิเวศฯ) ปี พ.ศ. 2527-2534 ได้พบหญิงที่มีปัญหาหลังคลอดหลายคน

หญิงหลังคลอดบุตรคนที่ 1 อายุ 28 ปี อาชีพรับราชการ

ประวัติ คลอดลูกแล้ว 2 วัน ท้องไม่ยุบตกเลือดจึงไปขูดมดลูก หลังจากตกเลือด 49 วัน จึงมีอาการเจ็บท้องตั้งแต่ใต้ลิ้นปี่จนถึงหัวเหน่า เดินขึ้นบันไดหรือกระเทือนนิดหน่อยก็เจ็บ รับประทานอาหารแล้วท้องจะอืดเสมอ จึงมารักษาที่อายุรเวทด้วยยาสมุนไพร

การรักษา หลังจากให้คนไข้กินยารักษามดลูกแก้บวม ขับเลือด แก้อักเสบ และแนะนำให้รัดท้องอาการต่างๆ ก็ทุเลาขึ้น

ตัวอย่างที่ยกมานี้ก็เพื่อจะให้ผู้ที่คลอดพุงสังวรณ์ว่า ถ้ารักษาตัวหลังคลอดก็ใช้เวลาเพียงหนึ่งเดือนปัญหาต่างๆ ก็จะไม่เกิด (ปัญหาหลังคลอด) จึงสมควรอย่างยิ่งที่เราจะต้องปฏิบัติและรักษาตัวหลังคลอดการที่รัดท้องนั้น ก็เพื่อช่วยให้มดลูกเข้าที่ได้เร็วขึ้น การรับประทานยาขับน้ำคาวปลาก็เพื่อขับถ่ายเลือดที่คั่งค้างและขับลมที่มีพิษออก ตามพระคัมภีร์มหาโชตรัต ท่านว่าไว้ การคลอดบุตร โลหิตออกไม่สิ้นเชิง คนทั้งหลายย่อมว่าเป็นบ้า พุทธยักษ์ บางคนก็ว่าผีพรายเข้าอยู่ บางคนก็ว่าเป็นไข้สันนิบาตเพราะว่าโลหิตนั้นดีขึ้น (โลหิตทำพิษ) อาการให้ ขบฟัน จักษุเหลือก แลบชิวหา ให้มือเย็น เท้าเย็น ถ้าหญิงไดคลอดบุตรได้ 1,2,3 วันก็จะดีจนถึงเดือนหนึ่งก็ดี กำหนดโลหิตร้ายนั้นยังอยู่ ถ้าถึงสองเดือนแล้วจึงจะพ้นโลหิตเน่าร้ายถ้าว่ากำลังโลหิตกล้านัก ให้ดีขึ้นไปไม่สมปฤดี ให้สลบ ให้ชัก มือกำ เท้ากำ อ้าปากมิออก ลิ้นกระด้างคางแข็ง ทำให้คนกลัว อันนี้วื่อว่าโลหิตเน่า เป็นใหญ่กว่าลมทั้งหลาย โลหิตเน่าร้าย ระดูขัดแลคลอดบุตรโลหิตดีขึ้นก็ดี แลโลหิตแห้งเข้าเป็นก้อน เป็นเถาจะกลายเป็นฝีในมดลูกจะให้เป็นมารโลหิต มารกระษัย ลางทีกลายเป็นฝีหัวคว่ำ เป็นมารโลหิต ลางทีเป็นฝีภายใน ทั้ง 5 ประการ ฯลฯ

5.อาการผิดปกติที่ควรส่งต่อไปโรงพยาบาล

5.1มดลูกฉีกขาด (มดลูกแตก) มดลูกฉีกขาด มีอาการแสดงว่า เจ็บปวดเหมือนถูกมีดเฉือนเป็นไปโดยฉับพลัน พร้อมทั้งอาการหดรัดตัวของมดลูกก็หยุดชะงักไม่มีอีกต่อไป พร้อมกับการเจ็บทุรนทุรายกลับหายไป แต่ผู้คลอดจะมีอาการช็อคมาทันที หน้าซีดเผือก ตัวเย็น มีเหงื่อเม็ดโตๆ ออก ชีพจรเต้นเบามาก คลำไม่ใคร่พบ ม่านตาเปิดกว้าง ทารกออกมาจากโพรงมดลูกเข้าไปอยู่ในช่องท้องข้างมดลูก จึงคลำพบได้มดลูกอยู่ข้างหนึ่ง แต่ส่วนของทารกอยู่อีกข้างหนึ่งซึ่งจะคลำพบได้ง่ายด้วยเพราะอยู่ใต้ผนังหน้าท้องเท่านั้นไม่ได้อยู่ในโพรงมดลูก สรุปอาการแสดงที่สำคัญของมดลูกกำลังจะแตกหรือฉีกขาด มีดังนี้

5.1.1.การคลอดชักช้าเสียเวลาเกินควรและในขณะเดียวกัน การเจ็บท้องยิ่งรุนแรงมากขึ้นอย่างผิดธรรมดาหรือการเจ็บท้องคลอดหยุดชะงักไปชั่วขณะหนึ่งและพอเจ็บท้องใหม่ก็มีอาการเจ็บอย่างรุนแรงทุรนทุราย ผิดจากธรรมดาปกติ

5.1.2.ชีพจรมากขึ้นกว่า 130 ครั้งต่อนาที และมักจะเต้นเร็วมากขึ้นถึง 150 ถึง 160 ครั้งต่อนาที ความร้อนในร่างกายสูงขึ้นบ้างเล็กน้อย

5.1.3.หน้าท้องเจ็บมาก เมื่อถูกต้องส่วนของหน้าท้องตึงและบางมาก

5.1.4.เส้นเอ็นของมดลูกดึงนูนให้เห็นได้ชัดที่หน้าท้อง

5.1.5.ผู้คลอดสีหน้าซีดมีอาการอิดโรยและทุรนทุราย

5.1.6.หัวใจทารกในครรภ์เต้นเร็วมากขึ้นเป็นลำดับ ถ้าตรวจพบอาการดังกล่าวมาต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลทันทีช้าไม่ได้

5.1.7.เลือดตกภายในและภายนอก อาจมีเลือดออกมาให้เห็นภายนอกบ้างเล็กน้อย ส่วนนำซึ่งเมื่อแรกตรวจพบภายในบัดนี้กลับหายไป เพราะหลุดไปจากโพรงมดลูกเข้าไปอยู่ในช่องท้อง

การปฏิบัติ เมื่อมดลูกฉีกขาดเป็นอันตรายอย่างแรงต่อผู้คลอด ซึ่งอาจเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็วการปฏิบัติเพื่อช่วยผู้คลอด ต้องอยู่ที่การป้องกันมิให้มีเหตุการเช่นนี้เกิดขึ้น โดยการตรวจผู้คลอดด้วยความละเอียดถี่ถ้วนในขั้นต้น ระมัดระวังในระยะคลอดเป็นอย่างดี เมื่อเห็นว่ามีเหตุการณ์ที่จะทำให้การคลอดติดขัด ไม่ควรปล่อยให้มดลูกฉีกขาด เมื่อตรวจพบอาการผิดปกติต้องรีบส่งโรงพยาบาลโดยด่วนที่สุด

5.2มดลูกปลิ้น มดลูกมีลักษณะเป็นถุง ซึ่งมีปากมดลูกอยู่ด้านล่าง และก้นถุงอยู่ด้านบน การที่มดลูกปลิ้นผ่านปากมดลูกออกมากลับด้านในของมดลูกออกมา เป็นด้านนอกและก้นมดลูกห้อยต่ำลงมา ต่ำกว่าปากมดลูก และ อาจปลิ้นกลับเข้าข้างในมาเป็นข้างนอกทั้งหมด และห้อยย้อยโผล่ออกมาที่ช่องคลอด (มดลูกปลิ้น) มีอาการดังนี้ ชนิดของมดลูกปลิ้นมี 4 ชนิด คือ

1.มดลูกปลิ้นอย่างรุนแรง เกิดขึ้นระยะแรกหลังคลอด เช่น เกิดขึ้นทันทีเมื่อทารกเกิดแล้วหายภายใน 2-3 สัปดาห์หลังคลอด

2.มดลูกปลิ้นเรื้อรัง ชนิดนี้เกิดขึ้นในระยะแรกหลังคลอดแล้วตั้งแต่ 2-3 สัปดาห์ขึ้นไป และมักจะค่อยๆ เป็นทีละเล็กทีละน้อย จึงไม่ค่อยได้ตรวจพบจนเป็นมากแล้ว

3.มดลูกปลิ้นเนื่องจากเนื้องอกในมดลูก ชนิดนี้ค่อยเป็นขึ้นเนื่องจากเกิดเนื้องอกในมดลูกถึงถ่วงภายในมดลูกทำให้ผนังมดลูกซึ่งติดอยู่กับเนื้องอกติดห้อยลงมาด้วย จนมดลูกปลิ้นกลับ

4.มดลูกปลิ้นโดยลำพังเอง โดยไม่ใช้เกิดจาการคลอด หรือ เนื้องอก

สาเหตุมดลูกปลิ้น

1.บีบมดลูกเพื่อให้รกออก เมื่อกระทำโดยปราศจากการระมัดระวัง พร้อมทั้งดึงที่สายสะดือในเมื่อรกยังไม่ลอกตัวจากผนังมดลูก

2.การลอกรกด้วยการใช้มือล้วงและดึงในเมื่อรกยังไม่หลุดจากผนังมดลูก

3.การคลอดฉับพลัน การที่ทารกเกิดโดยกระทันหัน สายสะดือติดอยู่กับตัวทารกถูกกระชากโดยแรงรกยังไม่ทันหลุด มดลูกจึงปลิ้นออกมา

4.การคลอดในท่าที่ผู้คลอดนั่ง หรืออาการจามอย่างรุนแรงในระยะเบ่ง

5.ผนังมดลูกขาดการหดรัดตัวที่ดีเนื่องจากคลอดใช้เวลานานเกินควร เมื่อตรวจพบก็ให้ผดุงครรภ์โบราณช่วยปฐมพยาบาลและนำส่งโรงพยาบาลทันที

5.3การตกเลือดหลังคลอด

การตกเลือดหลังคลอด หมายถึง การมีเลือดออกอย่างมากผิดปกติ เกิดขึ้นหลังจากการคลอดของทารกและรกออกเรียบร้อย แต่เนื่องจากมีเลือดออกมากอย่างผิดปกติตั้งแต่ระยะที่หนึ่งของการคลอดมีความสัมพันธ์กันอยู่มาก จะรวมอธิบายได้ภายใต้ข้อความเดียวกันคือ การมีเลือดออกผิดปกติ เกิดขึ้น ตั้งแต่เมื่อทารกคลอดออกมา แล้วจนกระทั่งพ้นระยะเรือนไฟ ผู้คลอดมีสุขภาพและอนามัยในระยะหลังคลอดมีเลือดออกประมาณ 500-600 ซีซี. ไม่มีอาการแต่อย่างใด ให้ถือว่าการมีเลือดมากกว่าปกติคือมีการตกเลือดแล้ว

การวิเคราะห์พิจารณาอาการ

  1. อยู่ดีๆ มีเลือดออกในระยะหลังคลอดของการตั้งครรภ์ หรือระยะแรกของการคลอด
  2. ไม่มีอาการเจ็บปวดแต่อย่างไร
  3. ส่วนนำจึงลอยอยู่หรือไหลไปอยู่ข้างหนึ่งข้างใด เนื่องจากรกปิดขวางที่ส่วนล่างของมดลูก
  4. ตรวจภายในไม่พบน้ำทูนหัว
  5. ไม่พบส่วนนำของทารก แต่พบทารกและขอบรกที่ปากมดลูกหรือที่มดลูก

การปฏิบัติของผดุงครรภ์แผนโบราณ

  1. ป้องกันการช็อคเนื่องจากเสียโลหิตมาก
  2. หมั่นฟังหัวใจทารกและตรวจอาการทั่วๆไปของผู้คลอด
  3. ควรให้รับประทานยาหอมบำรุงหัวใจก่อนนำส่งโรงพยาบาล

5.4.การตกเลือดภายนอก

มักจะมาเนื่องจากตกเลือดภายในก่อนแล้วไหลผ่านคอมดลูก ออกมาให้เห็นภายนอกมดลูกได้

อาการแสดง ในระยะมีครรภ์ มีเลือดออกเล็กๆ น้อยๆ โดยปราศจากอาการผิดปกติใดๆนั้นอาจเป็นอาการแสดงขั้นแรกที่รกลอกตัวก่อนเวลา ทั้งนี้อาจเป็นการลอกตัวเล็กๆน้อยๆ ก่อน แต่ถ้าหากปรากฏว่าผู้ป่วยมีการถูกกระทบกระเทือนกระแทกอย่างแรง หรือปรากฏอาการแสดงของโรคทางไตอยู่ด้วยจำเป็นต้องเฝ้าคอยระวังเป็นอย่างดี นำส่งโรงพยาบาลทันทีที่พบ

บางรายอาจมีเลือดออกเล็กน้อยในครั้งแรกนั้น ต่อมาอาจมีการตกเลือดอย่างร้ายแรงได้ อันตรายของอาการนี้เกิดจากเสียเลือดมาก

อาการ มีการเจ็บปวดที่บริเวณหน้าท้องอย่างแรงและปวดอย่างปัจจุบันทันด่วน ต่อมามีการระบมและตึงหน้าท้อง และตกเลือดภายใน ก็ไม่มีเลือดออกมาให้เห็น มีอาการเสียเลือดเป็นอย่างมาก มีอาการแสดงดังนี้คือ หน้าซีด ริมฝีปากและเปลือกตาซีดขาวและชีพจรเต้นเร็ว เหงื่อออกมาก เหนื่อย คอแห้ง กระหายน้ำ หาว กระสับกระส่าย เป็นตะคริว ในขั้นสุดท้ายหมดสติถึงแก่ความตาย

ในบางรายเลือดตกภายนอก อาจมีเลือดออกมาให้เห็นเป็นสีแดงเข้ม โดยมาทารกมักจะตายในท้องเพราะไม่มีเลือดเลี้ยงร่างกายทารกเพียงพอ กระบวนการคลอดอาจดำเนินไปตลอดได้หากมดลูกทำงานดีและผู้คลอดยังไม่เสียเลือดมากเกินไป มดลูกหดกำลังอาจเกิดขึ้นได้ก่อนที่ทารกเกิดและหลังจากทารกเกิดแล้ว เพราะฉะนั้นอันตรายของผู้คลอดจึงมีมากขึ้นแม้ว่าทารกเกิดแล้วหรือรกออกแล้วก็ตาม ยังหาพ้นอันตรายได้ไม่

การพิจารณาอาการตกเลือด

  1. อยู่ดีๆ มีอาการเจ็บปวดอย่างรุนแรงทางด้านหนึ่งด้านใดของมดลูก
  2. มดลูกโตและแข็ง เจ็บเวลาสัมผัสถูก
  3. หน้าท้องตึงและเจ็บมาก
  4. เลือดออกมาก
  5. มีอาการของการตกเลือด
  6. ฟังหัวใจทารกไม่ได้ยิน ทารกไม่ดิ้น

ถ้าตรวจพบอาการเหล่านี้ควรนำส่งโรงพยาบาลทันที ป้องกันการช็อคให้ยาบำรุงหัวใจ

สาเหตุของการตกเลือดหลังคลอด มีดังนี้

  1. การฉีกขาดของช่องคลอด เช่น ที่คอมดลูก ที่ช่องคลอด หรือที่ฝีเย็บ เป็นต้น
  2. มดลูกหดรัดตัวน้อย หรือไม่หดรัดตัว จึงมีเลือดออกในบริเวณนั้นมาก
  3. เป็นโรคเกี่ยวกับเลือด (เลือดเสีย เลือดจาง) หรือเนื่องจากการแตกของเส้นโลหิต

อาการ ของผู้ตกเลือด คือ

  1. ตาพร่า หน้ามืด เป็นลม วิงเวียน
  2. เหนื่อยหอบ หายใจลึก ชีพจรเบาและเร็ว
  3. หาวบ่อยๆ
  4. ปากแห้ง คอแห้ง คลื่นไส้ กระหายน้ำ
  5. กระสับกระส่าย หงุดหงิด ใจสั่นกลัว
  6. อาเจียน ซึม ชักกระตุก เป็นตะคริว
  7. อุจจาระเหลว หมดสติถึงตาย

การปฏิบัติแก้ไข

ควรป้องกันเสียแต่ทีแรก ตั้งแต่ระยะตั้งครรภ์และปฏิบัติในการคลอด โดยตรวจอย่างถี่ถ้วนและแก้ไขเสียก่อนถ้ามีอาการแสดงว่ามีการตกเลือดหลังคลอดขึ้น ควรช่วยปฏิบัติในการคลอดด้วยความระมัดระวังและรอบคอบเป็นอย่างดี ต้องมีเครื่องมือเครื่องใช้ให้พร้อมทั้งยาต่างๆ ให้ครบถ้วน เพื่อแก้ไขได้ทันท่วงที เมื่อมีอาการตกเลือดควรปฏิบัติคือ

  1. ตรวจให้ถี่ถ้วนว่าตกเลือดเนื่องจากอะไร ถ้าเนื่องจากการฉีกขาดของช่องคลอด ให้ใช้ผ้าก๊อชอุดไว้ให้แน่นก่อน เมื่อทารกออกมาแล้วจึงนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน
  2. ถ้าเนื่องจากรกติดค้างควรช่วยเหลือมดลูกจนมดลูกหดรัดตัวดีแล้วหรือบีบมดลูกเพื่อให้รกหลุดจากผนังมดลูก
  3. รกติดค้างแน่นไม่หลุดหรือเศษรกติดค้างจำเป็นต้องทำการล้วงควรนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด
Scroll to top