คัมภีร์อุทรโรค

คัมภีร์อุทรโรค ว่าด้วยมาน 18 ประการ

มาน 

เกิดขึ้นได้โดยอนุโลมตามธาตุวิปริต ในกองสมุฎฐานให้เป็นเหตุ  กระทำให้ท้องนั้นใหญ่สมมุติเรียกว่า “มาน”  มานมี 18 ประการ ดังนี้

  1. มานน้ำ มี 4 ประการ ดังนี้
    1) มานน้ำ บังเกิดด้วย โลหิต น้ำเหลือง ระคนกัน ซึมซาบไปในลำไส้
    2) มานน้ำ บังเกิดด้วย ลำไส้ปริ น้ำเหลืองไหลซึมออกมาขังอญู่ในท้อง
    3) มานน้ำ บังเกิดด้วย น้ำเหลืองซึมซาบซ่านไปในชิ้นเนื้อ และขุมขน
    4) มานน้ำ บังเกิดด้วย น้ำเหลือง ซ่านเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ และมดลูก
  2. มานลม มี 4 ประการ ดังนี้
    1) มานลม บังเกิดแต่ กองอโธคมาวาตา
    2) มานลม บังเกิดแต่ กองอุทธังคมาวาตา
    3) มานลม บังเกิดแต่ กองกุจฉิสยาวาตา
    4) มานลม บังเกิดแต่ กองโกฏฐาสยาวาตา
  3. มานหิน มี 4 ประการ ดังนี้
    1) มานหิน บังเกิดแต่ กองอโธคมาวาตา อัมพาต มุตตะฆาต ระคนกัน
    2) มานหิน บังเกิดแต่ กองอุทธังคมาวาตา อัณฑะพฤกษ์ สัณฑะฆาต ระคนกัน
    3) มานหิน บังเกิดแต่ กองกุจฉิสยาวาตา อัมพาต ปัตตะฆาต ระคนกัน
    4) มานหิน บังเกิดแต่ กองโกฏฐาสยาวาตา อ้ณฑะพฤกษ์ รัตตะฆาต ระคนกัน
  4. มานโลหิต มี 4 ประการ ดังนี้
    1) มานโลหิต บังเกิดแต่ ระดูขัด ระคนด้วยอังคมังคานุสารีวาตา
    2) มานโลหิต บังเกิดแต่ ระดูไม่ได้เดินเป็นปกติ ระคนด้วยวาโยพิการ
    3) มานโลหิต บังเกิดแต่ โลหิตเน่า ระคนด้วยระดุร้าง โลหิตคลอดบุตร ต้องพิฆาต พลัดตกหกล้ม
    4) มานโลหิต บังเกิดแต่ โลหิตจาง ทำให้บวม วิงเวียน หน้ามืด ตามัว 
  5. มานเกิดแต่ดาน มี 2 ประการ ดังนี้
    1) มานทักขิณมาน เกิดแต่กองดานทักขิณคุณ กำเนิดตั้งอยู่ฝ่ายขวา
    2) มานอุตรามาน เกิดแต่กองดานอุตราคุณ กำเนิดตั้งอยู่ฝ่ายซ้าย

ลักษณะอาการของมานต่างๆ

มีดังนี้

  1. มานน้ำ 4 ประการ มีลักษณะอาการ คือ
    1) มานน้ำ บังเกิดด้วยโลหิต น้ำเหลือง ระคนกัน ซึมซาบไปตามลำไส้น้อย ลำไส้ใหญ่
             อาการ ทำให้ลำไส้นั้นพองขึ้นแน่นเข้าไปในท้อง บริโภคอาหารไม่ได้ ให้อิ่มไปด้วยลม และน้ำเหลืองเป็นกำลัง แล้วให้ท้องใหญ่ขึ้น จะลุกนั่งก็ไม่ได้ ให้เหนื่อย หอบ
    2) มานน้ำ บังเกิดด้วยลำไส้ปริน้ำเหลืองไหลซึมออกมาขังอยู่ในท้อง
             อาการ กระทำให้ขัดอุจจาระ ให้อุจจาระเดินไม่ปกติ โดยกำลังคูถทวารปิด แล้วให้เสียดแทงลำคอ กระทำนวดเฟ้นจึงลั่น ผายลมไม่สะดวก ต่อเมื่อรับประทานยาถ่ายจึงคลายลง แล้วกลับเป็นใหม่อีกสองครั้งสามครั้ง โรคนั้นทวีขึ้น ท้องนั้นใหญ่ออกมา นานเข้ากระทำให้ซูบผอม หาโลหิตไม่ได้ กินอาหารไม่รู้รส นอนไม่หลับ
    3) มานน้ำ บังเกิดด้วยน้ำเหลืองซึมซาบไปในชิ้นเนื้อ และขุมขน
             อาการ กระทำให้บวมขึ้นทั้งตัว แต่เป็นบั้นเป็นท่อน ครั้นถ่ายยาทายาลงไป ก็ยุบแล้วกลับเป็นมากกว่าเดิม เป็นอย่างนี้หลายครั้งหลายหน ครั้นนานเข้าจะนั่งไม่ได้ จะนอนราบลงก็ไม่ได้ ได้แต่นอนคดงอจึงค่อยสบาย แล้วบวมขึ้นไปทั่วตัวดังเนื้อจะปริแตกออกจากกัน ผิวหนังใสซีด ไม่มีโลหิต จะเคลื่อนไหวร่างกายส่วนใดก็ไม่ได้ นอนซมอยู่ดังศพขึ้นพองสมมุติว่า “มานทะลุน
    4) มานน้ำ บังเกิดด้วยน้ำเหลืองซ่านเข้าไปขังอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ และมดลูก
              อาการ กระทำให้น้ำเหลืองนั้นซ่าน และขังอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ ให้ขัดปัสสาวะ แต่ไม่ขัดเหมือนปะระเมหะ เป็นแต่ปัสสาวะไม่สะดวก ไม่มีฟอง และน้อยไป มีสีต่างๆ กัน บางทีสีเหลือง ขาว แดง ดำ กำหนดแน่นอนไม่ได้ นานเข้ากระเพาะปัสสาวะเบ่งออกมา เวลาเหงื่ออกเสียวไปทั่วร่างกาย สะบัดร้อนสะท้านหนาว ร่างกายซูบซีด ผอม ไอ อาเจียนออกแต่น้ำลาย รับประทานอาหารไม่ได้ อุจจาระไม่ปกติ
    มานน้ำทั้ง 4 ประการ เกิดแต่กองเตโชธาตุ เป็นมันทธาตุ ยิ่งไปด้วยเสมหะมีกำลัง คือไฟธาตุหย่อน อาหารไม่ย่อย ลงไปวันละ 2 – 3 เวลา สวิงสวายใจสั่น ไม่มีเรี่ยวแรง กระทำให้ท้องขึ้นอยู่เสมอๆ อุจจาระเป็นเมือกมัน เป็นเปลว หยาบ ละเอียด ปวดมวน โทษทั้งนี้เกิดแต่กองอาโปธาตุ 12 ประการเป็นเหตุ
  2. มานลม 4 ประการ มีลักษณะอาการ คือ
    1) มานลม บังเกิดแต่กองอโธคมาวาต
              อาการ กระทำให้ลมนั้นตั้งอยู่ในท้อง ไม่พัดลงไปตามปกติ ให้ผะอืดผะอม และทำให้ท้องขึ้นอยู่เสมอ บางทีจุก บางทีแน่นไปทั่วท้อง รับประทานอาหารไม่ได้ อิ่มไปด้วยลม ผายลมไม่สะดวก ท้องผูกเป็นพรรดึกด้วยลมกองนี้กระทำ จึงให้ท้องใหญ่ขึ้น พอสังเกตุตั้งอยู่ใต้สะดือ 2 นิ้ว ครั้นลดลงก็กระจายออกแล้วกลับแข็งเข้าอีก ลอยขึ้นมาทับเส้นอัณฑพฤกษ์อยู่ ลมนั้นจึงพัดกล้าขึ้น ให้ท้องนั้นใหญ่ออก แล้วแข็งดังกล่าวมาแล้ว
    2) มานลม บังเกิดแต่กองอุทธังคมาวาต
              อาการ กระทำให้ลมนั้นคั่งค้างอยู่ในท้อง ไม่ได้พัดขึ้นไปตามปกติ แน่นหน้าอก รับประทานอาหารไม่ได้ เรอไม่ออก ผายลมไม่สะดวก อุจจาระผูก ลมนั้นกล้าพ้ดเตโชให้กำเริบ จึงแน่นไปทั่วท้อง  ลมกองนี้ตั้งอยู่เหนือสะดือ 2 นิ้ว แข็งดุจแผ่นกระดาน ทับอยู่บนเส้นอัณฑพฤกษ์ ระคนด้วยลมอุทรวาต จึงพัดให้ท้องใหญ่ขึ้น ท้องเต็มไปด้วยลม และใหญ่กว่าปกติ
    3) มานลม บังเกิดแต่กองกุจฉิสยาวาต
              อาการ ลมกองนี้พัดอยู่ในท้อง ระคนเข้ากับลมอุทรวาต ก็พลอยกำเริบขึ้น ไม่ได้พัดลงไปสู่ทวาร ทวารจึงไม่ได้เปิด อุจจาระก็ไม่เดินเป็นปกติ ถ้ารับประทานยาก็เดินโดยกำลังยา ครั้นคุมเข้าก็ทำให้แน่นอืดเฟ้อ ถ้าถ่ายไปก็ค่อยสบายแล้วกลับเป็นอีกหลายครั้ง ท้องใหญ่ขึ้น โดยกำลังวาโยกล้า พัดเตโชธาตุให้ดับเสีย กระทำให้ท้องขึ้นอยู่เป็นนิจ หายใจไม่สะดวก เหนื่อยมากรับประทานอาหารมักให้คลื่นเหียน อาเจียน เวลาเช้าท้องค่อยหย่อนลง สบายจนไปถึงเที่ยงวัน เวลาบ่ายท้องนั้นขึ้นไปจนถึงย่ำรุ่ง หาความสุขไม่ได้
    4) มานลม บังเกิดแต่กองโกฎฐาสยาวาต
              อาการ ลมกองนี้พัดอยู่ในลำไส้น้อย และลำไส้ใหญ่ เมื่อจะเกิดโทษระคนกันเข้ากับลมอุทรวาต ก็พลอยกันกำเริบพัดไม่มีกำหนด ลำไส้นั้นก็พองขึ้น ดุจบุคคลเป่าลูกโป่งก็พองขึ้นเต็มไปด้วยลม กระทำให้ผะอืดผะอมถ่ายอุจจาระไม่ได้ โทษอันนี้คือลมโกฏฐาสยาวาตาไม่ได้พัดอุจจาระสู่คูถทวาร ทวารก็ไม่ได้เปิด อุจจาระจึงเดินไม่ปกติ ทำให้จุกแน่นไปทั้งท้อง สะบัดร้อนสะบัดหนาว โดยลมนั้นกระทำพิษ
  3. มานหิน 4 ประการ มีลักษณะอาการ คือ
    1) มานหิน บังเกิดแต่กองอโธคมาวาตา อัมพาต มุตตะฆาตระคนกัน
              อาการ คือ ลมอโธคมาวาตาพัดขึ้นตามเกลียวอัมพาต เกลียวมุตตะฆาตนั้นกล้าเหลือกำหนด ทำให้เส้นนั้นพองแข็งเข้าติดกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ยันขึ้นไปถึงยอดอก ทำให้แน่นหน้าอกเป็นกำลัง ทำให้หนังท้องนั้นใหญ่ขึ้นโดยอำนาจเส้นตึงแข็งติดกันเข้าดุจทำนบกั้นน้ำ คือ กั้นไม่ให้ลมตกลงได้สะดวก
    2) มานหิน บังเกิดแต่กองอุทธังคมาวาตา อัมพฤกษ์ สัณฑะฆาตระคนกัน
              อาการ คือ ลมอุทธังคมาวาตาพัดลงมานั้นกล้าเหลือกำลังยิ่งนัก และขังอยู่ในเกลียวอัณฑพฤกษ์ และสัณฑะฆาตนั้นก็พลอยกำเริบแข็งตัวตึงกล้าขึ้นติดเป็นแผ่นอันเดียวกัน แล้วขึ้นไปยันหน้าอกด้านซ้าย แข็งดังท่อนเหล็ก แน่นในทรวงอกมาก ท้องนั้นก็ใหญ่ขึ้นโดยกำลังลม ถ้าได้บีบนวดจึงคลายลงบ้าง
    3) มานหิน บังเกิดแต่กองกุจฉิสยาวาตา อัมพาต ปัตคาตระคนกัน
              อาการ คือ ลมกุจฉิสยาวาตากำเริบขึ้นในท้องกล้ายิ่งนัก ไม่ได้พัดลงตามช่องทวาร จึงทำให้เป็นอัมพาตปัตคาต เป็นเถาเป็นดานแข็ง โดยอำนาจของลมเดินในลำไส้นั้นกล้า เส้นนั้นก็พองติดกับชายโครงด้านขวา กระทำให้เจ็บอยู่ 2 – 3 วัน แล้วหายไปโดยกำลังพิษวาโยกระทำ
    4) มานหิน บังเกิดแต่กองโกฎฐาสยาวาตา อัมพฤกษ์ รัตฆาตระคนกัน
              อาการ คือ ลมโกฎฐาสยาวาตา พัดในลำไส้น้อยกล้ายิ่งนัก กระทำให้ลำไส้พองขึ้นทับอัณฑพฤกษ์ รัตฆาตนั้น จึงลงไปแขวนติดกระดูกสันหลังอยู่ยันลงมาถึงท้องน้อย ให้ตึงหัวเหน่ามาก แล้วตั้งเป็นก้อนแข็งใหญ่ขึ้น มีอาการให้ถ่วงท้องน้อย ยอกสันหลัง และหน้าตะโพก
  4. มานโลหิต 4 ประการ มีลักษณะอาการ คือ
    1) มานโลหิต บังเกิดแต่ระดูขัดไม่ได้มาตามปกติ ระคนด้วยลมอังคมังคานุสารีวาตา
              อาการ เมื่อจะกระทำให้เกิดโทษนั้น ระดูไม่ได้มาตามปกติในรอบเดือน จึงเป็นพิษระคนด้วยลมอังคมังคานุสารีวาตา ก็พากันกำเริบขึ้น กระทำให้เตโชธาตุนั้นเป็นอธิกธาตุยิ่งขึ้น ตั้งเป็นก้อนเหนือสะดือทับกองลมอุทรวาตไม่ให้เดินเป็นปกติ
    2) มานโลหิต บังเกิดแต่ระดูมิได้มาตามปกติ ระคนด้วยลมชื่อว่า วาโยพิการ
              อาการ เมื่อจะกระทำให้เกิดโทษนั้น ระดูไม่ได้มาตามปกติในรอบเดือน ครั้นนานเข้าก็กระทำให้เป็นพิษระคนด้วยลมอันชื่อว่าวาโยพิการ ก็พากันกำเริบฟุ้งซ่านไปทั้งอุทร จึงกระทำให้ท้องใหญ่ ร่างกายซูบผอม ไอ ร้อนๆ หนาวๆ หรือร้อนๆ หนาวๆ บางส่วนของร่างกาย บางทีมือบวม เท้าบวม หน้าตะโพกบวม ท้องขึ้นอืดเฟ้อ จุกแน่น
    3) มานโลหิต บังเกิดแต่กองโลหิตเป็นพิษ (โลหิตเน่า) ระคนด้วยระดูร้างโลหิต ระหว่างคลอดบุตร โลหิตต้องพิฆาต ชอกช้ำ
              อาการ เมื่อแรกจะบังเกิดขึ้น กระทำให้อาเจียนก่อน มีเหงื่อออกที่หน้ามาก อาเจีกระทำให้คลื่นเหียนอาเจียน น้ำลายมีรสขม มืดหน้าตาลาย สวิงสวาย แล้วกระทำให้ฟกบวมขึ้นที่ตะโพก หัวเหน่า สะดือ ท้องน้อย แล้วจึงฟกบวมไปทั่วร่างกาย แน่นหน้าอก ท้องอืด หายใจไม่เต็มปอด นอนไม่หลับ อ่อนเพลียมาก รับประทานอาหารไม่ได้.
    4) มานโลหิต บังเกิดแต่กองโลหิต คือ เมื่อโลหิตจาง กระทำให้บวมไปทั่วร่างกาย วิงเวียน หน้ามืด ตามัว
              อาการ เมื่อจะกระทำโทษนั้น ให้วิงเวียน หน้ามืดตามัว จุกเสียดถึงเวลาบ่าย เมื่อทุเลาแล้วกลับเป็นอีก จนล่วงเข้าสามยามจึงกระทำให้ท้องนั้นใหญ่ มีอาการอืดจุกแน่น ครั้นรับประทานยาถ่ายก็ทำให้ท้องนั้นยุบลง ครั้นยุบลงแล้วก็กลับมีอาการเช่นเดิมอีก เป็นอยู่อย่างนี้หลายต่อหลายครั้ง ต่อไปให้มีอาการใหม่เกิดขึ้นอีก คือ กระทำให้บวมลงไปจนถึงหัวเข่า และเลื่อนขึ้นไปจนถึงใบหน้า เบื่ออาหาร หอบ หิวโหย เป็นกำลัง
  5. มานเกิดแต่ดาน 2 ประการ มีลักษณะอาการ คือ
    1) มานทักขิณมาน บังเกิดแต่ดานทักขิณคุณ ตั้งอยู่ฝ่ายขวา (ท้องด้านขวา)
              อาการ เมื่อจะเกิดขึ้น กระทำให้ร่างกาย มือ เท้าเย็นดุจน้ำแข็ง ให้แสยงขน ขนลุกชัน ท้องบวมจุกแน่นอยุู เป็นประจำ ปัสสาวะไม่สะดวก อุจจาระปวดถ่วงคล้ายเป็นบิด แน่นหน้าอกเป็นส่วนมาก อาการนี้ จะบวมแต่ปลายเท้าขึ้นก่อน อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร จุกแน่นท้อง นอนไม่หลับ ต่อเมื่ออาเจียน หรืออุจจาระออกมา จึงค่อยทุเลาลงบ้าง ให้ท้องข้างขวาแข็งเป็นดาน
    2) มานอุตรามาน บังเกิดแต่ดานกองอุตราคุณ ตั้งอยู่ฝ่ายซ้าย (ท้องด้านซ้าย)
              อาการ เมื่อจะบังเกิด กระทำให้เสียดราวข้างซ้ายตลอดสันหลัง วิงเวียนเป็นประจำ แน่นหน้าอก รับประทานอาหารไม่ได้ อาเจียนแต่ลมเปล่า สวิงสวาย แสยงขนให้ขนลุกชัน ท้องด้านซ้ายนั้น บวมแข็งเป็นดานขึ้น

ลักษณะอุตรามาน ก็เหมือนกับทักขิณมาน ต่างกันก็แต่อุตรามานตั้งอยู่ท้องด้านซ้าย ส่วนทักขิณมานตั้งอยู่ท้องด้านขวาเท่านั้น กระทำพิษเหมือนกันทุกประการ

Scroll to top