คัมภีร์มัญชุสาระวิเชียร

คัมภีร์มัญชุสาระวิเชียร จะกล่าวถึงลม ที่ทำให้เกิดโรค และมีอาการต่างๆ ตามลักษณะของลม 10 ประการ คือ

  1. ลมเป็นก้อน เป็นดาน ตั้งอยู่เบื้องขวา มีนาภีเป็นที่สุด ชื่อว่า ทักษณะคุละมะ
  2. ลมเป็นก้อนเป็นดาน ตั้งอยู่เบื้องซ้าย มีนาภีเป็นที่สุด ชื่อว่า วามะกะคุละมะ
  3. ลมเป็นก้อนเป็นดาน ตั้งอยู่เบื้องต่ำแห่งนาภี ชื่อว่า โลหะคุละมะ
  4. ลมเป็นก้อนเป็นดาน ตั้งอยู่เบื้องบนแห่งนาภี ชื่อว่า กูปะคุละมะ
  5. ลมเป็นก้อนเป็นดาน ตั้งอยู่ในอุระประเทศ ชื่อว่า เสลศามะกะคุละมะ หรือ เสลศะมะกะกุละมะ
  6. ลมเป็นก้อนเป็นดาน ตั้งอยู่ในลำไส้ มีนาภีเป็นเบื้องต่ำ มีเสมหะกระจายออกเป็นอันมาก ชื่อว่า กฤตคุละมะ
  7. ลมเป็นก้อนเป็นดาน ตั้งอยู่ในอุระ มีดีซึมอยู่เป็นอันมาก ชื่อว่า ปิตตะคุละมะ
  8. ลมเป็นก้อนเป็นดาน ตั้งอยู่หน้าขา มีโลหิตแตกออกมา ชื่อว่า รัตตะคุละมะ
  9. ลมเป็นก้อนเป็นดาน ตั้งแอบก้อนลม วามะกะคุละมะอยู่ ชื่อว่า ทัษฐะคุละมะ
  10. ลมก้อนดาน อันชื่อว่า ประวาตะคุละมะ 

ตั้งแอบก้อนลม ทักษณะคุละมะ อยู่ ลมก้อน ดาน เถา อันใด อันตั้งอยู่ในอก และตั้งอยู่บนยอดไส้ เกี่ยวผ่านลงไปอยู่ในนาภี ตั้งอยู่ได้เดือนหนึ่ง แพทย์อย่าพึงรักษาเลย อันว่าลมก้อน ดาน เถา อันอื่น นอกจากลม 10 ประการนี้แพทย์พอจะเยียวยารักษาหาย

ลมปิตตะคุละมะ นั้น แพทย์ไม่พึงรักษา หากจะรักษา ก็พึงให้เผาเหล็กให้แดง เอาทาบลงบนยา เพื่อจะให้ทีเผานั้นพองขึ้น ทำทั้งนี้ เพื่อมิให้พยาธิ จำเริญขึ้นมาได้

ยาที่จะนาบ นั้นมีดังนี้

  1. ขมิ้นอ้อย
  2. ว่านน้ำ
  3. เปราะหอม
  4. เมล็ดพันธุ์ผักกาด
  5. เมล็ดงาดำ
  6. เทียนดำ

เอาสิ่งละ 6 ส่วน ตำให้แหลก เคล้าด้วยน้ำมันสุกร แล้ววางลงตรงที่เจ็บนั้น จึงเอาเหล็กแดงนาบลง แก้ลมก้อนดานเถานั้นหาย

ยาชื่อ ขิปะปะกะโอสถ
  1. รากสะค้าน
  2. เกลือสินเธาว์
  3. เปลือกมะขามป้อม
  4. ขิงแห้ง
เอาสิ่งละ 4 ส่วน บดเป็นผงละลายน้ำร้อนกิน แก้ลมเสียดแทง และแก้ลมคุละมะ ทั้งปวง หาย

โรคมูตร 20 ประการ ( โรคปัสสาวะ)

  1. น้ำปัสสาวะเป็นโลหิต
  2. น้ำปัสสาวะเหลืองดังขมิ้น
  3. น้ำปัสสาวะดังน้ำนมโค
  4. น้ำปัสสาวะดังน้ำข้าวเช็ด
  5. น้ำปัสสาวะดังใบไม้เน่า
  6. น้ำปัสสาวะเป็นดังน้ำหนอง
  7. น้ำปัสสาวะไหลซึมไป
  8. น้ำปัสสาวะร้อน
  9. น้ำปัสสาวะออกมาขัด
  10. น้ำปัสาสาวะดังน้ำล้างเนื้อ
  11. น้ำปัสสาวะขัดเพราะดีให้โทษ
  12. น้ำปัสสาวะขัดเกิดแต่ความเพียรกล้า
  13. น้ำปัสสาวะขัดเกิดแต่ไข้ตรีโทษ
  14. น้ำปัสสาวะขัดเพราะโรคปะระเมหะให้โทษ
  15. น้ำปัสสาวะขัดเพราะเป็นนิ่ว
  16. ไปปัสสาวะ วันละ 7 เวลา
  17. ไปปัสสาวะ วันละ 10 เวลา
  18. ไปปัสสาวะบ่อยๆ
  19. น้ำปัสสาวะขัด เพราะเสมหะให้โทษ
  20. น้ำปัสสาวะขัด เพราะลมให้โทษ

ยาใน คัมภีร์มัญชุสาระวิเชียร
ยาชื่อ อัพยาธิคุณ สมออัพยา
สมออัพยา (สมอ 6 เหลี่ยม หรือสมอไทย) ผลมะขามป้อม แฝกหอม แห้วหมู เอาส่วนเสมอภาค ต้มแล้วตัดน้ำผึ้งลง กินแก้มูตรพิการหาย

Scroll to top