คัมภีร์ธาตุวิวรณ์

คัมภีร์ธาตุวิวรณ์ คือตำราที่ว่าด้วยการอธิบายสาเหตุที่ธาตุทั้ง 4 คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม และธาตุไฟ มีอาการไม่ปรกติ รวมถึงการแก้ไข การรักษาธาตุทั้ง 4 ให้เป็นปรกติ

ธาตุ 4 พิการ

    1. ปถวีธาตุพิการ ทำให้กายคนไข้แข็งกระด้างตึงชา เนื้อหนังเหี่ยวแห้งแข็งดังขอนไม้ เปรียบดังอสรพิษกฎมุขขบตอด
    2. อาโปธาตุพิการ ให้พรุนเปื่อยเป็นหิดเป็นฝี บางทีเป็นเม็ดคันทั่วกาย มีน้ำเหลืองไหลปรี่ กลิ่นเหม็นเน่า เปรียบดังงูปูติมุข ขบตอด มีพิษซ่านทั่วกาย
    3. เตโชธาตุพิการ ให้รุ่มร้อนเป็นกำลัง ผิวหนังหม่นไหม้ด้านดำ มีพิษดังงูอัคคีมุขขบตอด ดังไฟลนทั่วทั้งกาย
    4. วาโยธาตุพิการ มีโทษมากกว่าธาตุทั้ง 3 มีพิษให้เปื่อยพัง ให้ขาดเป็นชิ้นๆ ดังมีดเชือด เปรียบดังงูสัตถมุขขบตอด ให้เปื่อยเน่าทั่วร่างกาย

ฤดู 3 ให้ธาตุพิการ

    1. คิมหันตฤดู (แรม 1 ค่ำเดือน 4 ถึงขึ้น 15 ค่ำเดือน 8) เตโชธาตุพิการ โลหิตเป็นต้น ไข้มักให้โทษนานา ประการ
    2. วสันต์ฤดู (แรม 1 ค่ำเดือน 8 ถึงขึ้น 15 ค่ำเดือน 12) วาโยธาตุพิการ ให้โทษกว่าธาตุทุกกอง
    3. เหมันตฤดู (แรม 1 ค่ำเดือน 12 ถึงขึ้น 15 ค่ำเดือน 4) อาโปธาตุพิการ

ฤดู 4 ให้ธาตุพิการ

    1. คิมหันตฤดู (เดือน 5, 6 และ 7) เป็นเพื่อเตโชธาตุ พิกัดสันตัปปัคคี ให้โลหิตพิการ อยากอาหารบ่อย กินไม่ทันอิ่มให้อาเจียน ขัดอก แสบไส้จุกเสียด เวียนหน้าเป็นลมในครรภ์ ให้ปวดมวนท้อง มือเท้าสั่น เมื่อยตัว หายใจดุจหืด ระส่ำระสาย และเกิดลมร้าย 6 จำพวก
    2. วสันตฤดู (เดือน 8, 9, และ 10) เป็นเพื่อวาโยธาตุกำเริบ เหตุเกิดเพราะกินอาหาร ให้เกิดโรคผอมเหลือง หายใจสั้น ให้ท้องลั่นโครก แดกขึ้นแดกลง หาวเรอ วิงเวียนหน้าตา กินอาหารไม่รู้รส หูหนัก ปากเหม็น ปากหวาน เกิดกาฬเลือดออกมาทางปากทางหู
    3. วสันตเหมันตฤดู (เดือน 11,12 และ 1) สองฤดูระคนกัน อาโปธาตุกำเริบ เหตุด้วยกินอาหารผิดสำแดง มักขึ้งโกรธดุจเป็นบ้า ขบตามข้อกระดูก มือเท้าบวม ให้ลงเป็นโลหิต ให้ไอ ให้ผอมเหลือง ขัดทรวง ลงท้องปวดมวน กินไม่ได้ นอนไม่หลับ
    4. เหมันตคิมหันตฤดู (เดือน 2,3 และ 4) สองฤดูระคนกัน ปถวีธาตุกำเริบ นอนไม่หลับ กระหายน้ำ ให้รุ่มร้อน เสียดสองข้าง มักขึ้งโกรธ ให้เจ็บคอ ปากหวาน เจ็บอก ท้องลั่นปั่นป่วน

ฤดู 6 ให้ธาตุพิการ

    1. คิมหันตฤดู (เดือน 5-6) เป็นเพื่อ (เพราะ) กำเดา และดี แสบอก เมื่อยมือเมื่อยเท้า เสียดแทง นอนไม่หลับ มวนท้อง อาเจียน สะอึก
    2. คิมหันตวสันตฤดู (เดือน 7-8) เป็นเพื่อ (เพราะ) เตโช วาโย กำเดา โลหิต ให้ปวดมวนในกาย ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ กินอาหารไม่รู้รส ให้ระส่ำระสาย คลั่งไคล้ลืมตัว
    3. วสันตฤดู (เดือน 9-10) เกิดเพื่อ (เพราะ) วาโยกล้า เกิดโรคเพื่อ (เพราะ) เสมหะ ให้หนักอกหายใจขัด คันตัว หากวาโย และเสมหะระคนกัน มีฤทธิ์กล้ามาก
    4. สาระทะฤดู (เดือน 11-12) วสันต และเหมันตเจือ ไข้เกิดเพื่อ (เพราะ) ลม และเสมหะมูตร ร้อนในทรวงอก ร้อนในไส้ในกาย ให้เจ็บฟก เจ็บกระดูกสันหลัง และเจ็บคอ
    5. เหมันตฤดู (เดือน 1-2) อาโป และปถวีแทรก เป็นไข้เพื่อ (เพราะ) เสมหะ กำเดา เลือด ให้เจ็บสันหลัง บั้นเอว เนื้อตึง ต้นคอแข็งดุจดังตรีโทษ
    6. ศิศิระฤดู (เดือน 3-4) ปถวีธาตุเป็นมูลโรค เกิดโรคด้วย เลือด ลม กำเดาเจือเสลด เกิดโรคฟกบวม หูทั้งสองเป็นน้ำหนวกเหม็นเลือดเน่าไหลออกจากหู

ธาตุ4 วิปลาส

    1. กองปถวีธาตุ เกิดเหา และเล็นมาก ใช้ครุ่นอยู่ เป็นประมาณ ท้องลั่น และพลุกพล่าน ให้ท้องขึ้นและเจ็บท้อง ตกเลือดเหม็นเน่า เสียดแทงในท้อง ขัดตะโพก อาการเหมือนเป็นกระษัย ให้เจ็บในอก ให้เนื้อช้ำฟก เล็บมือเล็บเท้าเขียว
    2. กองเตโชธาตุ ให้ร้อนปลายมือปลายเท้าดุจดังปลาดุกยอก ให้ร้อนในท้องในไส้ บวมหน้า บวมหลัง และท้อง เป็นเม็ดแสบร้อนดังหัวผดทั่วทั้งตัว และหลบกลับเข้าด้านใน ให้เจ็บหลัง ตกมูกเลือดเป็นหนอง
    3. กองวาโยธาตุ เป็นตะคริว เมื่อยมือเมื่อยเท้า หูอื้อตึง หนักเอว หนักสันหลัง ราก (อาเจียน) ลมเปล่า เจ็บอก ขัดหัวเข่า หายใจขัดอก เป็นหวัดหอบหืด ตาพราย (ตาลาย) วิงเวียนหน้าตา
    4. กองอาโปธาตุ จุกอก ลงท้อง แล้วแปรเป็นกระษัยกล่อน ขัดหนักขัดเบา ตึงหัวเหน่า ท้องน้อยเป็นก้อน เป็นลูกกลิ้งขึ้นกลิ้งลง ตกเลือดตกหนอง พรรดึกร้อนหน้าหลังดังเพลิง ให้เหลืองซีดผอม เกิดเสลด มือเท้าเย็น ขัดสีข้าง (ชายขัดทางขวา หญิงขัดทางซ้าย) เป็นไข้จับ

ธาตุ 4 เป็นตรีโทษ

    1. ปถวีธาตุ ให้ราก (อาเจียน) ทรวงอกแห้ง กายแข็งเหมือนท่อนไม้ ไม่รู้รสอาหาร เป็นไข้อยู่ร่ำไป เจ็บอก กินอาหารแล้วให้แสบท้อง ร้อนในอก ท้องขึ้นท้องพอง เขียวช้ำทั่วกาย
    2. อาโปธาตุ กายซูบผอม เหงื่อตกมาก ตึงตัวตึงหน้า กินอาหารน้อย ร้อน กระหายน้ำ ขัดอก ในท้องเป็นลมลั่น อยากของมัน มักขึ้งโกรธ ให้ร้อน และเย็นในอก เป็นไข้จับ ปากชุ่ม ขม ร้อน เผ็ด หวาน
    3. เตโชธาตุ ร้อนในท้อง ไส้พุงพลุ่งพล่าน มือเท้าตาย ไอดังขลุกๆ ในลำคอ และทรวงอก เมื่อยขบทั่วทั้งกาย ให้ผอมแห้ง ปวดมวนท้อง ร้อนรุ่มกาย วิงเวียนหน้าตา มักแสบไส้ เป็นลม มือเท้าสั่น ให้ร้อนเสียวดังเพลิงรม
    4. วาโยธาตุ ผอมเหลือง ซูบเศร้าหมอง จุกอกเป็นก้อนในทรวง และท้อง ให้ราก (อาเจียน) สะอึก เรอ ให้ใจสั่น หวานปาก อาเจียนร้อนอก ปวดศีรษะ เจ็บอก คันตัว ผุดแดงดังสีเลือด ไอดังเป็นหืด หนักหน้า ตามัว

กำหนดวันเวลาเกิดไข้

    1. วาตะสมุฎฐาน  กำหนด    7 วัน    (คัมภีร์สมุฏฐานวินิจฉัย กำหนด 10 วัน)
    2. ปิตตะสมุฎฐาน  กำหนด  10 วัน    (คัมภีร์สมุฏฐานวินิจฉัย กำหนด 7 วัน)
    3. เสมหะสมุฎฐาน กำหนด  12 วัน

ลักษณะอาการของโทษ 2 (ทุวันโทษ)

    1. เสมหะกับลม อาการทำให้กายชุ่มไปด้วยเหงื่อ เจ็บทั่วทั้งกาย ง่วงนอน หนักเนื้อตัว เจ็บศีรษะ มักเป็นหวัด และให้ไอ
    2. เสมหะกับดี อาการเป็นไข้ ปากขม ตัวสั่น พูดพร่าเพ้อ ให้หนาวๆ ร้อนๆ และไอ
    3. ดีกับโลหิต อาการคนไข้ใจระทด รุ่มร้อน หมองจิต มักตกใจสะดุ้ง ดี ลม และกำเดาระคนกัน มักให้อยากน้ำ ยอกเสียวเป็นเวลา มักวิงเวียนหน้าตา มักให้กระวนกระวาย ให้คัดจมูก เจ็บศีรษะ ร้อนคอ สะท้านกายใจไม่สบาย ให้เจ็บไข้ ให้หนาว

ลักษณะอาการของโทษ 3 (ตรีโทษ)

โทษ 3 (ตรีโทษ) ปิตตะ เสมหะ ลม ให้เกิดมหาสันนิบาต คนไข้นั้นจะตาย เพราะอาการดังนี้ คือ ให้ร้อนกระวนกระวาย ให้เจ็บทั่วกาย เชื่อมซึม ไม่สมปฤดี เย็นสะท้านทั้งกาย ผิวนวล เวียนหน้าตา กินอาหารน้อย หน้าตาแดงดังสีเลือด เจ็บคอ เจ็บหัว และเจ็บอก และเจ็บทั่วทั่วกาย ไม่อยากข้าว นอนไม่หลับ ลิ้นกระด้าง หาวนอน ให้หนาวๆ ร้อนๆ ตัวแดง และเหลือง เหมือนทาขมิ้น หายใจขัดทั้งเข้าออก คนไข้ใดมีอาการเช่นว่านี้ ถึงตรีโทษ รักษายากนัก

มูลเหตุของการเกิดโรค มี 6 ประการ ดังนี้

    1. กินอาหารผิดเวลา และอิ่มนัก
    2. เสพเมถุนมาก
    3. กลางวันนอนมาก
    4. กลางคืนนอนไม่หลับ
    5. โทสะมาก
    6.   กลั้นอุจจาระ ปัสสาวะ

โทษห้ามผู้ไข้พึงเว้น 11 ประการ เริ่มตั้งแต่แรกไข้

    1. อย่าอาบน้ำ
    2. อย่าทาของหอม
    3. อย่าเสพเมถุน
    4. อย่าขัดสีร่างกาย
    5. อย่านอนกลางวัน
    6. อย่าทำงานหนัก
    7. อย่าเอาโลหิตออกจากกาย (อย่าปล่อยให้ปลิงกัดดูดเลือด หรือดูดเลือดออกโดยวิธีอื่น)
    8. อย่าโกนศีรษะหนวดเครา
    9. อย่าโกรธให้มากนัก
    10. อย่านอนตากแดด ตากลม
    11. อย่ากินของมันคาว

หมายเหตุ ถ้าเว้น โรคจะรักษาให้หายได้ ถ้าทิฏฐิจะตาย โรคจะพูนทวีเป็นทุวันโทษ และตรีโทษ

กำลังโรคแห่งสัตว์โลก ตามอายุสมุฏฐาน

    1. แรกเกิดถึงอายุ 16ปี เสมหะพิการ              (ใช้ยารสหวาน ขม เปรี้ยว )
    2. อายุ 16  ปี ถึง30 ปี กำเดา ดี โลหิตพิการ   (ใช้ยารสเปรี้ยวฝาด เปรี้ยว เค็ม ขม)
    3. อายุ 30 ปี ถึงชรา หรืออายุขัยวาตะพิการ    (ใช้ยารสขม ร้อน เค็ม ฝาด หอม )

การพิเคราะห์รสยารักษาโรค ใช้ยา 8 รส มีดังนี้

    1. รสขม         ซึมซาบผิวหนัง
    2. รสฝาด       ซึมซาบมังสัง
    3. รสเค็ม        ซึมซาบเส้นเอ็น
    4. รสเผ็ดร้อน  ซึมซาบกระดูก
    5. รสหวาน     ซึมซาบลำไส้ใหญ่
    6. รสเปรี้ยว     ซึมซาบลำไส้เล็ก
    7. รสหอมเย็น  ซึมซาบหัวใจ
    8. รสมัน         ซึมซาบข้อต่อทั้งปวง

หมายเหตุ ให้แพทย์แต่งรสยา รักษาโรคตามนี้ โรคจะหาย

การพิเคราะห์โรคตามสถานประเทศ มีดังนี้ คือ

    1. กัณห์ประเทศบุคคลเกิดที่น้ำจืด น้ำเค็ม เปียกตมมากมาย เกิดโรคเพราะเสมหะ และลมกล้ากว่ากำเดา ดี และโลหิต พึงแต่งยาแก้เสมหะ และวาตะ
    2. สาครประเทศบุคคลเกิดที่มีกรวด ทราย ศิลามาก น้ำน้อย เกิดโรคเพราะโลหิต และกำเดา กล้ากว่าเสมหะ และลม พึงแต่งยาแก้โลหิต และกำเดา
    3. สาธารณประเทศบุคคลใดเกิดในที่มากด้วย กรวด ทราย เปียกตม ศิลา น้ำจืด น้ำเค็ม หนองน้ำ เกิดโรคระคนกันทั้งเลือด ลม กำเดา ดี

การพิเคราะห์ใช้ยารักษาโรคตามโลหิตฉวี มีดังนี้คือ

    1. คนไข้ผิวขาว                 โลหิตหวาน                    ใช้ยารสเผ็ด ร้อน ขม
    2. คนไข้ผิวเนื้อขาวเหลือง    โลหิตรสเปรี้ยว                ใช้ยารสเค็ม( ใส่เกลือเจือให้มาก)
    3. คนไข้ผิวเนื้อดำแดง         โลหิตรสเค็ม                  ห้ามใช้ยารสเค็ม
    4. คนไข้ผิวเนื้อดำ              โลหิตรสเค็ม และเย็นมาก  ให้ใช้ยารสหวาน

การพิเคราะห์ กำหนดเวลาไข้ มีดังนี้คือ

    1. ย่ำรุ่งถึงเที่ยง     เป็นไข้เพื่อ (เพราะ) เสมหะ
    2. เที่ยงถึงเย็น       เป็นไข้เพื่อ (เพราะ) โลหิต
    3. ค่ำถึงเที่ยงคืน    เป็นไข้เพื่อ (เพราะ) วาตะ
    4. เที่ยงคืน ถึงสว่างเป็นไข้เพื่อ (เพราะ) ดี

การพิเคราะห์ ลักษณะประเภทไข้ มีดังนี้คือ

    1. ไข้เพื่อ (เพราะ) เสมหะเอกโทษอาการให้หนาวให้ร้อน ขนลุก แสยงขน จุกอก ให้หลับใหล กินไม่ได้ อ่อนแรง ฝ่ามือฝ่าเท้าซีดเผือด ให้ปากหวาน ให้ราก (อาเจียน)
    2. ไข้เพื่อ (เพราะ) กำเดาเอกโทษ อาการให้ปากขม ให้ร้อน และละเมอเพ้อคลั่ง ปวดศีรษะ อยากน้ำเป็นกำลัง กายเหลือง หน้าตาเหลือง ปัสสาวะแดง ให้ตึงแตกระแหง เป็นไข้ ฟันแห้ง นอนไม่หลับ
    3. ไข้เพื่อ (เพราะ) โลหิตเอกโทษ อาการให้ตัวร้อน ปวดศีรษะมาก หน้าตาแดง ปัสสาวะเหลือง หน้าแตกระแหง ฟันแห้ง
    4. ไข้เพื่อ (เพราะ) ลมเอกโทษอาการ ให้ขนลุกขนชัน หนาวสะท้าน ปวดศีรษะ เวียนหน้าตา มักโกรธง่าย เสียดแทงในอก กระหายน้ำ ในท้องเป็นก้อน ทุรนทุรายหายใจขัด ตาและเล็บเหลือง ไอดังเป็นหวัด ปากฝาด เจ็บคาง เมื่อยขากรรไกร ไอแห้ง

การพิเคราะห์ ลักษณะ เวลาการจับไข้ มีดังนี้คือ

    1. โทษหนึ่ง   ย่ำรุ่งถึงบ่ายสามโมง                อาการไข้บรรเทาคลาย
    2. โทษสอง   บ่ายถึงสองทุ่ม                       อาการไข้สร่างเบาหาย
    3. โทษสาม   ไก่ขันถึงสามยาม                    อาการไข้หนัก
    4. โทษสี่       เวลาผิดจากโทษ 1 – โทษ 3     อาการถึงตาย

คัมภีร์ธาตุวิวรณ์ อ้างอิง ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป สาขาเวชกรรม เล่ม 1 กองการประกอบโรคศิลปะ

 

Scroll to top