กระเทียม

ชื่อสมุนไพร : กระเทียม
ชื่ออื่น ๆ
: หอมเทียม (ภาคเหนือ), กระเทียมขาว, หอมเทียม(อุดรธานี), เทียม, หัวเทียม (ภาคใต้-ปัตตานี)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Allium sativum Linn.
ชื่อวงศ์ : AMARYLLIDACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นกระเทียม ไม้ล้มลุก ลำต้นสูงประมาณ 30 – 50 เซนติเมตร มีหัวอยู่ใต้ดิน แต่ละหัวประกอบด้วยกลีบหลายกลีบเรียงซ้อนกันเป็นชั้นๆ แต่ละกลีบจะมีเปลือกหรือกาบสีขาวหรือม่วงอมชมพูหุ้มอยู่ 2 – 4 ชั้นโดยรอบ ลอกออกได้และสามารถแยกออกจากหัวเป็นอิสระได้ บางพันธุ์แต่ละหัวมีเพียงกลีบเดียว เรียกว่า กระเทียมโทน
  • ใบกระเทียม เป็นใบเดี่ยว ลักษณะใบรูปขอบขนาน แบนและแคบยาว ปลายใบแหลม โคนของใบแผ่เป็นแผ่นและเชื่อมติดกันหุ้มรอบใบอ่อนกว่าด้านใน ลักษณะคล้ายลำต้นเทียม ขอบใบเรียบ ท้องใบมีรอยพับเป็นสันตลอดความยาว ใบมีสีเขียวแก่
  • ดอกกระเทียม ออกดอกเป็นช่อ ก้านช่อดอกยาว เล็ก ติดกันเป็นกระจุกที่ปลายก้านช่อ มีลักษณะกลม ประกอบด้วยดอกหลายดอก มีกาบหุ้มเป็นจะงอยยาว กลีบดอกมี 6 กลีบ รูปร่างยาวแหลม สีขาวแต้มสีม่วงหรือขาวอมชมพู
  • ผลกระเทียม ขนาดเล็กเป็นกระเปาะสั้นๆ รูปไข่หรือค่อนข้างกลม มี 3 พู
  • เมล็ดกระเทียม เมล็ดเล็ก สีดำ สามารถขยายพันธุ์ได้เช่นเดียวกับกลีบกระเทียม ซึ่งการปลูกกระเทียมในประเทศไม่ค่อยออกดอกหรือติดผลหรือเมล็ด

ส่วนที่ใช้เป็นยา : หัวใต้ดิน

ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา : เก็บในช่วงที่หัวแก่ อายุ 100 วันขึ้นไป

รสและสรรพยาคุณยาไทย : รสเผ็ดร้อน เป็นยาขับลมในลำไส้ แก้กลากเกลื้อน แก้ไอ ขับเสมหะ ช่วยย่อยอาหาร

วิธีใช้ กระเทียม :

ใชเป็นยารักษาอาการ ดังนี้

  1. อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และแน่นจุกเสียด
    ใช้กลีบปอกเปลือก รับประทานดิบๆ ครั้งละประมาณ 5 – 7 (หนัก 5 กรัม) หลังอาหารหรือเวลามีอาการ
  2. อาการกลาก เกลื้อน
    ฝานกลีบกระเทียมแล้วนำมาถูกบ่อยๆ หรือตำคั้นเอาน้ำทาบริเวณที่เป็นโดยใช้ไม้เล็กๆ ขูดบริเวณที่เป็น พอให้ผิวแดงๆ ก่อน แล้วจึงเอากระเทียมทาบ่อยๆ หรือวันละ 2 ครั้ง เช้า – เย็น
Scroll to top