กะเพรา

ชื่อสมุนไพร : กะเพรา
ชื่ออื่น ๆ
: กระเพรา, กะเพราแดง, กะเพราขาว (ภาคกลาง), ก่ำก้อขาว, ก่ำก้อดำ, กอมก้อขาว, กอมก้อดำ(เชียงใหม่-ภาคเหนือ), ห่อตูปลู, ห่อกวอซู(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)
ชื่อสามัญ : Sacred Basil, holy Basil
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ocimum sanctum Linn.
วงศ์ : LABRATAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นกะเพรา ไม้พุ่ม ขนาดเล็ก สูงประมาณ 0.3 – 1.0 เมตร ลำต้นตั้งตรง ลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยม โคนต้นแข็ง มีขนคลุมทั่ว แตกกิ่งก้านสาขามาก และมีกลิ่นหอมแรง กะเพรามี 3 พันธุ์ คือ กะเพราะแดง กะเพราขาว และกะเพราลูกผสมระหว่างกะเพราแดงและกะเพราขาว มีลักษณะทั่วไปคล้ายโหระพา ต่างกันที่กลิ่นและกิ่งก้านซึ่งมีขนปกคลุมมากกว่า กะเพราขาว มีใบและลำต้นสีเขียว และกะเพราะแดง มีใบและลำต้นสีแดงอมเขียว
    กะเพรา
  • ใบกะเพรา เป็นใบเดี่ยว แตกใบออกตรงข้ามในแต่ละข้อของลำต้นและกิ่ง ลักษณะใบรูปรีหรือรูปไข่ค่อนข้างยาว ปลายใบแหลม โคนใบรูปลิ่มหรือมน ขอบใบจักฟันเลื่อยและเป็นคลื่น แผ่นใบบางสีเขียวหรือสีแดง และมีขนปกคลุมทั้งสองด้าน ก้านใบสีเขียวหรือสีแดงแล้วแต่พันธุ์
  • ดอกกะเพรา ออกดอกเป็นช่อแบบช่อฉัตร ออกช่อที่ยอดหรือปลายกิ่ง ริ้วประดับรูปไข่หรือรูปหัวใจ ปลายแหลม ขอบมีขน ดอกย่อยแบบสมมาตรด้านข้าง ก้านดอกโค้งยาวมีขน มีกลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นหลอดปลายแยกเป็นปาก กลีบดอกสีขาวอมม่วงหรือสีม่วงเชื่อมติดกันเป็นรูประฆังปลายแยกเป็นปาก ปากบนมีแฉกมนๆ 4 แฉก ปากล่างโค้งลง แบน ขอบเรียบ ดอกกะเพราแดงสีเข้มกว่ากะเพราขาว
  • เมล็ดกะเพรา มีขนาดเล็ก รูปไข่ สีน้ำตาลมีจุดสีเข้ม หุ้มด้วยกลีบเลี้ยงของเมล็ด

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ใบสดหรือแห้ง

ช่วงเวลาที่เก็บยา : เก็บใบสมบูรณ์เต็มที่ ไม่แก่หรืออ่อนจนเกินไป

รสและสรรพคุณยาไทย : รสเผ็ดร้อน เป็นยาตั้งธาตุ แก้ปวดท้อง ท้องขึ้น จุกเสียดในท้อง ใช้แต่งกลิ่นแต่งรสได้

วิธีใช้ กะเพรา :

  • แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียดและปวดท้อง
    โดยใช้ใบและยอดกะเพรา 1 กำมือ (ถ้าสดหนัก 25 กรัม แห้งหนัก 4 กรัม) ต้มเอาน้ำดื่มเหมาะสำหรับเด็กท้องอืด หรือนำมาปรุงเป็นอาหารรับประทานแก้ท้องอืดก็ได้ จำนวนยาและวิธีใช้แบบเดียวกันนี้ ใช้แก้อาการคลื่นไส้อาเจียนที่เกิดจากธาตุไม่ปกติได้
Scroll to top