การเก็บยาตามวิธีการของโบราณ ถ้าหากจะพิจารณาให้ดีแล้ว เห็นว่ามีความสำคัญมาก สำคัญทั้งทางด้านให้ได้ตัวยา มีสรรพคุณดีและทั้งทางด้านการสงวนพันธุ์ของพืชสมุนไพรของตัวยาให้คงไว้อยู่ตลอดไปเก็บยาต่าง ๆ ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกาลเวลา วิธีการเก็บยาของแพทย์แผนโบราณมี 4 วิธี คือ การเก็บยาตามฤดู การเก็บยาตามทิศทั้ง 4 การเก็บยาตามวันและเวลา การเก็บยาตามยาม (กาลเวลา)
การเก็บตัวยาตามฤดู เก็บดังนี้
1) คิมหันตฤดู (ฤดูร้อน) เก็บ เหง้า หัว แก่น ราก จึงจะได้ยามีสรรพคุณดี
2) วสันตฤดู (ฤดูฝน) เก็บ ใบ ดอก ลูกหรือฝัก จึงจะได้ยามีสรรพคุณดี
3) เหมันตฤดู (ฤดูหนาว) เก็บ เปลือกไม้ กระพี้ และเนื้อไม้ จึงจะด้ามีสรรพคุณดี
การเก็บตัวยาตามทิศทางทั้ง 4
1) วันอาทิตย์ วันอังคาร เก็บยา ทิศตะวันออก
2) วันจันทร์ วันเสาร์ เก็บยา ทิศตะวันตก
3) วันพุธ วันศุกร์ เก็บยา ทิศใต้
4) วันพฤหัสบดี เก็บยา ทิศเหนือ
ในการเก็บยาตามทิศนี้ ให้ถือเอาที่อยู่ของหมอผู้เก็บยาเป็นศูนย์กลาง
การเก็บตัวยาตามวันและเวลา
1) วันอาทิตย์ เช้าเก็บต้น สายเก็บใบ เที่ยงเก็บราก เย็นเก็บเปลือก
2) วันจันทร์ เช้าเก็บราก สายเก็บแก่น เที่ยงเก็บใบ เย็นเก็บเปลือก
3) วันอังคาร เช้าเก็บใบ สายเก็บเปลือก เที่ยงเก็บต้น เย็นเก็บราก
4) วันพุธ เช้าเก็บราก สายเก็บเปลือก เที่ยงเก็บต้น เย็นเก็บแก่น
5) วันพฤหัสบดี เช้าเก็บแก่น สายเก็บใบ เที่ยงเก็บราก เย็นเก็บเปลือก
6) วันศุกร์ เช้าเก็บใบ สายเก็บราก เที่ยงเก็บเปลือก เย็นเก็บต้น
7) วันเสาร์ เช้าเก็บราก สายเก็บต้น เที่ยงเก็บเปลือก เย็นเก็บใบ
การเก็บตัวยาตามยาม(กาลเวลา)
1) กลางวัน
(06.00-09.00 น.) ยาม 1 เก็บ ใบ ดอก ลูก
(09.00-12.00 น.) ยาม 2 เก็บ กิ่ง ก้าน
(12.00-15.00 น.) ยาม 3 เก็บ ต้น เปลือก แก่น
(15.00-18.00 น.) ยาม 4 เก็บ ราก
2) กลางคืน
(18.00-21.00 น.) ยาม 1 เก็บ ราก
(21.00-24.00 น.) ยาม 2 เก็บ ต้น เปลือก แก่น
(24.00-03.00 น.) ยาม 3 เก็บ กิ่ง ก้าน
(03.00-06.00 น.) ยาม 4 เก็บ ใบ ดอก ลูก