บอระเพ็ด

ชื่อสมุนไพร : บอระเพ็ด
ชื่ออื่น ๆ
: จุงจิง, เครือเขาฮ่อ, จุ่งจะลิง (ภาคเหนือ-พายัพ), หางหนู (อุบลราชธานี-สระบุรี), เจตมูลหนาม, เจตมูลย่าน (หนองคาย), เจตมูลย่าน, เถาหัวด้วน (ภาคใต้), เจ็ดหมุนปลูก (ภาคใต้)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tinospora crispa (L.) Miers ex Hook.f.& Thomson
ชื่อวงศ์ : Menispermaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นบอระเพ็ด เป็นไม้เลื้อย ไม่มีขน ยาวถึง 15 เมตร เถากลม ขรุขระไม่เรียบ เป็นปุ่มเปลือกของเถาบางลอกบอระเพ็ดออกได้ เป็นปุ่มกระจายทั่วไป เมื่อแก่เห็นปุ่มปมเหล่านี้หนาแน่น และชัดเจนมากเปลือกเถาคล้ายเยื่อกระดาษ มียางขาว ใส  เถามีรสขมจัด สีเทาแกมเหลือง มีรากอากาศคล้ายเส้นด้ายยาว กลม ยาว สีน้ำตาลเข้ม

 

  • ใบบอระเพ็ด เป็นใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับ มักเป็นรูปหัวใจ รูปไข่กว้าง หรือรูปกลม กว้าง 6-12เซนติเมตร ยาว 7-14 เซนติเมตร โคนเรียวแหลมยาว ปลายจักเป็นรูปหัวใจลึก หรือตื้น เนื้อคล้ายแผ่นกระดาษบาง มักมีต่อม ใบด้านล่างบางครั้งพบต่อมแบนตามโคนง่ามของเส้นใบ เส้นใบออกจากโคนใบรูปฝ่ามือมี 3-5 เส้น และมีเส้นแขนงใบอีก 1-3 คู่ ก้านใบยาว 5-15 เซนติเมตร บวมพอง และเป็นข้องอ
  • ดอกบอระเพ็ด ออกเป็นช่อตามกิ่งแก่ๆที่ไม่มีใบ มักออกดอกเมื่อใบหลุดร่วงหมด มี 2-3 ช่อ เล็กเรียว ดอกมีขนาดเล็กสีเขียวอมเหลือง ดอกเพศผู้และเพศเมียแยกกันอยู่ต่างดอก ช่อดอกเพศผู้ ยาว 5-9 เซนติเมตร ดอกมี 1-3 ดอก ติดเป็นกระจุก ดอกเพศผู้ มีก้านดอกย่อยเล็กเรียว ยาว 2-4 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงสีเขียวอ่อน วงนอกมี 3 กลีบ รูปไข่ หนาที่โคน ยาว 1-1.5 มิลลิเมตร วงในมี 3 กลีบ รูปไข่กลับ มีก้านกลม หรือโคนแหลม ยาว 3-4 มิลลิเมตร กลีบดอกมี 3 กลีบ กลีบวงนอกเท่านั้นที่เจริญขึ้น รูปใบหอกกลับแคบ แบน ไม่มีตุ่ม ยาว 2 มิลลิเมตร ส่วนกลีบวงในลดรูป เกสรเพศผู้มี 6 อัน ยาว 2 มิลลิเมตร ช่อดอกเพศเมีย ยาว 2-6 มิลลิเมตร ดอกส่วนมากเกิดเดี่ยวๆ ตามง่ามใบ ดอกเพศเมีย กลีบเลี้ยงและกลีบดอกคล้ายดอกเพศผู้ เกสรเพศผู้ปลอมมี 6 อัน เป็นรูปลิ่มแคบ ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร เกสรเพศเมียมี 3 อัน ทรงรี ยาว 2 มิลลิเมตร ยอดเกสรเพศเมียเป็นพูสั้นมาก
  • ผลบอระเพ็ด ออกเป็นช่อ มีก้านช่อยาว 1.5-2 เซนติเมตร มีก้านผลเป็นรูปกึ่งปิรามิด ยาว 2-3 มิลลิเมตร ใต้ลงมาเป็นกลีบเลี้ยงที่ติดแน่น รูปไข่ ยาว 2 มิลลิเมตร โค้งกลับ ผลสด เมื่อสุกมีสีเหลืองหรือสีส้ม ทรงรี ยาว 2 เซนติเมตร ผนังผลชั้นในสีขาว ทรงรี กว้าง 7-9 มิลลิเมตร ยาว 11-13 มิลลิเมตร ผิวย่นเล็กน้อย หรือเกือบเรียบ มีสันที่ด้านบนชัด มีช่องเปิดรูปรีเล็กที่ด้านบน พบตามป่ารุ่น ป่าที่ถูกแผ้วถาง ป่าผลัดใบผสม ตามริมรั้ว ออกดอกปลายเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม

ส่วนที่ใช้เป็นยา : เถาหรือลำต้นสด

ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา : เก็บเถาแก่

รสและสรรพคุณยาไทย : รสขมจัด เย็น มีสรรพคุณ ระงับความร้อน แก้ไข้ทุกชนิด ช่วยเจริญอาหาร

วิธีใช้ บอระเพ็ด :

  1. แก้อาการเบื่ออาหาร เป็นยาช่วยเจริญอาหาร
    โดยใช้เถาหรือต้นสด ครั้งละ 2 คืบครึ่ง ตำคั้นเอาน้ำดื่ม หรือต้มกับน้ำ โดยใช้น้ำ 3 ส่วน ต้มเคี่ยวให้เหลือ 1 ส่วน ดื่มก่อนอาหารวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น หรือเวลามีอาการหรืออาจใช้ดองน้ำผึ้ง หรือปั้นเป็นลูกกลอน
  2. แก้อาการไข้
    ใช้เถาหรือต้นสดครั้งละ 30-40 กรัม ตำคั้นเอาน้ำดื่ม หรือต้มกับน้ำ โดยใช้น้ำ 3 ส่วน ต้มเคี่ยวให้เหลือ 1 ส่วน ดื่มก่อนอาหารวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็นหรือเวลามีอาการ
Scroll to top