มะม่วง

มะม่วง

มะม่วง เป็นผลไม้อีกชนิดที่คนไทยคุ้นเคยและชื่นชอบในรสชาติ ทั่วโลกมีมะม่วงไม่น้อยกว่า 1,000 พันธุ์ เฉพาะในประเทศไทยก็มีมากกว่า 150 พันธุ์ โดยมีทั้งแบบกินผลดิบและกินผลสุก พันธุ์ที่นิยมกินผลดิบก็มีทั้งมะม่วงมัน อย่างเช่น พันธุ์เขียวเสวยหรือฟ้าลั่นและมะม่วงเปรี้ยวที่มักกินคู่กับน้ำปลาหวานหรือจิ้มพริกเกลือ เช่น พันธุ์แรดหรือแก้ว ส่วนพันธุ์ที่นิยมกินผลสุก ก็เช่นพันธุ์น้ำดอกไม้หรืออกร่อง

มะม่วง

มะม่วง

ชื่ออื่นๆ : หมากม่วง (ภาคอีสาน) , ลูกม่วง (ภาคใต้) , บะม่วง (ภาคเหนือ) , หมักโม่ง (เงี้ยว-ภาคเหนือ)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mangifera indica L.
ชื่อวงศ์ : ANACARDIACEAE

มะม่วงมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย เริ่มจากวิตามินซีที่จำเป็นต่อการสร้างคอลลาเจน ช่วยป้องกันหวัด และเพิ่มการดูดซึมธาตุเหล็ก ซึ่งในผลดิบส่วนใหญ่จะมีวิตามินซีสูงกว่าผลสุก เบตาแคโรทีนซึ่งเป็นสารตั้งต้นของวิตามินเอจะพบมากในมะม่วงสุกช่วยบำรุงสายตาและป้องกันโรคตาบอดกลางคืน รวมทั้งวิตามินอีที่ไม่ค่อยพบในผลไม้ แต่มะม่วงก็เป็นหนึ่งในสิบอันดับผลไม้ที่มีวิตามินอีที่จะช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้ร่างกายพร้อมต่อสู้กับการติดเชื้อ ส่วนคาร์โบไฮเดรตในมะม่วงดิบจะอยู่ในรูปของแป้ง เมื่อมะม่วงเริ่มสุกแป้งเหล้านี้จะเปลี่ยนเป็นน้ำตาลอย่างกลูโคส ฟรักโทส และซูโคส ซึ่งเป็นน้ำตาลชนิดที่ร่างกายดูดซึมไปใช้ประโยชน์ได้เร็ว มีผลให้ร่างกายได้รับน้ำตาลและพลังงานในปริมาณที่เพิ่มขึ้น จึงควรระวังเรื่องปริมาณในการบริโภคมะม่วงสุก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ส่วนโพลีฟีนอลในมะม่วงเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ลดอาการอักเสบและลดความเสี่ยงในการเป็นโรคร้ายอย่างโรคมะเร็งและโรคหัวใจ

ธาตุสำคัญอย่างโพแทสเซียมที่มีในมะม่วงช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง มีเหล็กซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญที่คอยนำออกซิเจนไปสู่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย จึงเหมาะกับสตรีมีครรภ์และผู้ที่มีภาวะโลหิตจาง เส้นใยอาหารในมะม่วงช่วยให้ขับถ่ายสะดวก และมีเอนไซม์คุณสมบัติช่วยย่อยโปรตีนคล้ายเอนไซม์พาเพน (Papain) ในมะละกออยู่ด้วย ทำให้ลดอาการอึดอัดหรือแน่นท้องได้

จากผลการศึกษาวิจัยพบว่า สารแมนจิเฟอริน (Mangiferin) ที่สกัดได้จากใบและเปลือกต้นของมะม่วงมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ และต้านเชื้อไวรัส ซึ่งตรงกับสรรพคุณของยาไทยที่ใช้กันมาแต่โบราณ คือใช้ใบสดต้มน้ำดื่มแก้ท้องอืดแน่น ลำไส้อักเสบเรื้อรัง หรือใบสดตำละเอียดพอกแผลให้สมานเร็วขึ้น ส่วนเปลือกต้นนำมาต้มน้ำดื่มแก้ไข้ตัวร้อน หรือฝนน้ำปูนใสทารักษาแผลมีหนอง แต่บางคนเมื่อสัมผัสยางในใบหรือเปลือกมะม่วงที่มีสารนี้อยู่ ผิวหนังอาจระคายเคืองหรือบวมได้

ลักษณะของมะม่วง :

  • ต้นมะม่วง เป็นไม้พุ่มยืนต้นมีน้ำยางสีขาวขุ่นอยู่ในทุกส่วน สูงประมาณ 10-15 ม.  ซึ่งขนาดของลำต้นจะขึ้นอยู่กับพันธุ์และอาจะ แต่โดยทั่วไปแล้วลำต้นจะมีลักษณะตรง ผิวลำต้นสีเทาหรือเกือบดำ เปลือกอ่อนมีสีเขียว เปลือกแก่เป็นสีน้ำตาล ผิวขรุขระแข็งมีเกล็ดมากและมีกิ่งก้านสาขาขนาดใหญ่ แข็งแรง ลักษณะทรงพุ่มเป็นรูปครึ่งวงกลมหรือรูปไข่ ส่วนเนื้อไม้เมื่ออายุน้อยจะมีสีเขียว เมื่อแก่จะเปลือกเป็นสีน้ำตาลแกมแดง
    มะม่วง
  • ใบมะม่วง เป็นแบบใบเดี่ยวเรียงตัวแบบสลับบริเวณปลายกิ่งมีใบเกิดถี่ ใบเป็นรูปหอกยาวแกมของขนาน เรียวยาว โดยยาวประมาณ 8-40 ซม. กว้าง 2-10 ซม.(แล้วแต่สายพันธุ์) ฐานใบค่อยๆ กว้างออกคล้ายรูปลิ่มแหลม ปลายใบแหลม ขอบใบเป็นคลื่น ไม่มีขน ไม่มีหูใบ ใบอ่อนสีออกแดง แต่เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีเขียวเข้ม ผิวใบเป็นมัน ก้านใบยาว 1-10 เซนติเมตร
  • ดอกมะม่วง ดอกออเป็นช่อแบบช่อแยกแขนง ซึ่งจะออกตามปลายกิ่งหรือตาดอกที่อยู่ปลายกิ่งโดยในช่อดอกหนึ่งๆ จะมีช่อย่อยหลายช่อ และบริเวณก้านช่อดอกจะมีสีเขียวออกแดงและมีขน ในแต่ละช่อดอกประกอบด้วยดอก 2 ประเภท คือ ดอกเพศผู้ และดอกสมบูรณ์เพศอยู่ร่วมช่อดอกเดียวกัน ส่วนกลีบดอกโดยทั่วไปมี 5 กลีบแยกกัน และมีร่องสีเหลืองเข้มบริเวณโคนกลีบดอก ในระหว่างวงกลีบดอก และวงเกสรเพสผู้จะมีแผ่นจานกลมคั่นอยู่ ส่วนสีของดอกนั้นดอกมีหลายสีแตกต่างกัน ได้แก่ แดง ชมพู หรือขาว แล้วแต่สายพันธุ์ และสำหรับ (ดอกสมบูรณ์เพศ คือ ดอกที่มีทั้งเกสรเพศผู้และเกสรเพศเมียอยู่ในดอกเดียวกัน และสามารถเจริญกลายเป็นผลได้เมื่อได้รับการผสมเกสร) กลีบเลี้ยงจะมี 4-5 กลีบ แยกกัน ลักษณะโค้งนูนมีสีเขียวอมเหลือง และมีขนแข็งขนาดยาวปกคลุม
  • ผลมะม่วง ผลเป็นแบบผลสดโดยจะออกเป็นผลเดี่ยว โดยขนาดของรูปร่าง รูปทรงสีปริมาณเสี้ยน รสชาติ และกลิ่น จะมีความต่างในแต่ละสายพันธุ์  ซึ่งขนาดความยาวของผลจะมีตั้งแต่ 5-20 เซนติเมตร ความกว้าง 4-8 เซนติเมตร ส่วนรูปร่างของผลมีตั้งแต่กลมไปจนถึงรูปไข่ค่อนข้างยาว สีเปลือกด้านนอกของผลประกอบด้วยส่วนผสมของสีต่างๆ เช่น เขียว เหลือง แดงและม่วง เนื้อในเมื่อยังอ่อน เนื้อแน่นแข็งรสหวานหรือเปรี้ยงแล้วแต่สายพันธุ์ แต่เมื่อผลสุกเนื้อจะอ่อนนุ่ม มีรสชาติหวานหอม  เมล็ดอยู่ถัดจากเนื้อ มีขนาดใหญ่ไปจนถึงเกือบไม่มีเมล็ด (แล้วแต่สายพันธุ์) เมล็ดจะมีสีขาวขุ่นมีเส้นใยขึ้นปกคลุม เปลือกหุ้มเมล็ดมีเยื่อหุ้ม 2 ชั้น คือ ชั้นนอก (testa) และชั้นใน (tegmen)

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Scroll to top