มะม่วงหิมพานต์

มะม่วงหิมพานต์

มะม่วงหิมพานต์ เป็นไม้พื้นเมืองของประเทศแถบอเมริกาใต้ ในประเทศไทยปลูกมากทางภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผลมีลักษณะแปลกประหลาดเหมือนมีเมล็ดอยู่นอกผล แต่ในทางพฤกษศาสตร์ถือว่า ผลที่คนทั่วไปเรียกกันนั้นเป็นผลเทียม ซึ่งเจริญมาจากฐานร้องดอก รูปร่างคล้ายผลชมพู่ เนื้อนิ่ม ฉ่ำน้ำ เมื่อผลสุกจะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นเหลือง เหลืองอมแดง ส้ม หรือแดง รสเปรี้ยวอมฝาด จะนำไปประกอบอาหาร แปรรูป หรือจะกินสดเป็นผลไม้ก็ได้

มะม่วงหิมพานต์

 

มะม่วงหิมพานต์

ชื่ออื่นๆ : กะแตแก(มลายู-นราธิวาส), กายี(ตรัง), ตำหยาว, ท้ายล่อ, ส้มม่วงชูหน่วย(ภาคใต้), นายอ(มลายู-ยะลา), มะม่วงกาสอ(อุตรดิตถ์), มะม่วงกุลา, มะม่วงลังกา, มะม่วงสินหน, มะม่วงหยอด(ภาคเหนือ), มะม่วงทูนหน่วย, ส้มม่วงทูนหน่วย(สุราษฎร์ธานี), มะม่วงยางหุย, มะม่วงเล็ดล่อ(ระนอง), มะม่วงไม่รู้หาว, มะม่วงหิมพานต์(ภาคกลาง), มะม่วงสิโห(เชียงใหม่), มะโห(เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน), ยาโงย ยาร่วง(ปัตตานี)
ชื่อสามัญ : Cashew nut tree
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Anacardium occidentale L.
ชื่อวงศ์ : ANACARDIACEAE

ในขณะที่ผลแท้ของมะม่วงหิมพานต์ คือส่วนที่มีรูปร่างเหมือนไต ห้อยติดอยู่กับปลายผลเทียม ซึ่งคนทั่วไปเรียกว่า “เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ (Cashew Nut)” ตอนดิบเปลือกหุ้มเมล็ดจะนิ่มสีเขียว เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีเทาและแข็ง มียางเป็นพิษ อาจก่อให้เกินอาการระคายเคืองต่อผิวหนัง เนื้อข้างในมีสองซีกประกบกัน สีขาวนวล นำมาอบ คั่ว หรือทอด ได้รสอร่อยหวานมัน จนยอมรับกันทั่วโลกว่าเป็นเมล็ดพืชเปลือกแข็ง (Nut) ที่ได้รับความนิยมรองจากอัลมอนด์

เมล็ดมะม่วงหิมพานต์มีไขมันชนิดดีร้อยละ 75 จากไขมันทั้งหมด คือไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว ที่ช่วยลดคอเลสเตอรอลชนิดที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย และเพิ่มคอเลสเตอรอลชนิดดี อีกทั้งในเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ยังไม่มีคอเลสเตอรอล จึงช่วยป้องกันโรคหัวใจได้ เมล็ดมะม่วงหิมพานต์อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง ที่ทำหน้าที่ขนส่งออกซิเจนไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย มีแมกนีเซียมที่ช่วยควบคุมการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ทองแดงช่วยเพิ่มความหน้าแน่นให้กระดูก ป้องกันภาวะกระดูกพรุน นอกจากนี้เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ยังมีฟอสฟอรัส แมงกานีส โพแทสเซียม และเส้นใยอาหารอีกด้วย แต่ขอเตือนว่าเมล็ดมะม่วงหิมพานต์เพียง 100 กรัม นั้นให้พลังงานเกินกว่า 500 กิโลแคลอรี ผู้ที่ควบคุมน้ำหนักจึงควรกินในปริมาณที่พอเหมาะ

เปลือกหุ้มเมล็ดมะม่วงหิมพานต์มีน้ำมันเป็นส่วนของกรดอะนาคาร์ดิก (Anacardic) ร้อยละ 90 และสารการ์ดอล (Cardol) ร้อยละ 10 ซึ่งเป็นพิษต่อผิวหนัง แต่มีการนำมาใช้ประโยชน์กันอย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ พลาสติก สี และหมึกพิมพ์

ลักษณะของมะม่วงหิมพานต์ :

  • ต้นมะม่วงหิมพานต์ เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง เมื่อโตเต็มที่จะมีความสูงโดยเฉลี่ย 6 เมตร (สามารถสูงได้ถึง 12 เมตร) ลำต้นเนื้อไม้แข็ง มีกิ่งแขนงแตกออกเป็นพุ่มแน่นทรงกลมถึงกระจาย เปลือกหนาผิวเรียบมีสีน้ำตาลเทา
    มะม่วงหิมพานต์
  • ใบมะม่วงหิมพานต์ ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงเวียน ใบหนาเกลี้ยงเหมือนแผ่นหนัง ใบคล้ายรูปไข่กลับหัวถึงรูปรีกว้าง ปลายใบกลม โคนใบแหลม เนื้อใบมีกลิ่นหอม ใบมีขนาดกว้างประมาณ 6-10 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-20 เซนติเมตร
  • ดอกมะม่วงหิมพานต์ ดอกออกเป็นช่อกระจาย ดอกมีสีขาวหรือสีเหลืองนวล และจะเปลี่ยนไปเป็นสีชมพู ช่อดอกแต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยจำนวนมาก และมีกลีบเลี้ยงสีเขียวขนาดเล็ก โคนดอกเชื่อมติดกัน ดอกหนึ่งมีปลายแยกเป็นกลีบ 5 กลีบ ปลายแหลมเรียว ตรงกลางดอกมีเกสรตัวผู้ประมาณ 8-10 อัน หลังจากดอกร่วงจะติดผล
  • ผลมะม่วงหิมพานต์ เปลือกแข็งเมล็ดเดียว รูปไต สีน้ำตาลปนเทา เมล็ดรูปไต ส่วนของฐานรองดอกขยายใหญ่ อวบน้ำ รูประฆังคว่ำ มีกลิ่นหอม กินได้

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Scroll to top