กระบก

กระบก

ชื่ออื่นๆ : กระบก, มะมื่น, มื่น(ภาคเหนือ), มะลื่น, หมักลื่น(สุโขทัย นครราชสีมา), บก, หมากบก(ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), กะบก, จะบก ตระบก(ภาคกลาง), จำเมาะ, หลักกาย
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Irvingia malayana Oliv. ex. A. W. Benn.
ชื่อวงศ์ : Irvingiaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นกระบก เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงได้ถึง 35 เมตร ผลัดใบช่วงสั้นๆ ลำต้นเปลาตรง เรือนยอดแน่นทึบและแผ่กว้าง ลำต้นหนาโคนต้นที่อายุมากมักเป็นพูพอน เส้นผ่าศูนย์กลางถึง 200 ซม. เปลือกสีเทาอมน้ำตาล เรียบหรือแตกเป็นสะเก็ดเล็ก ๆ เปลือกชั้นในสีส้มอ่อน กิ่งอ่อนมีรอยหูใบที่หลุดร่วงไปชัดเจน
  • ใบกระบก เป็นใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรี รูปรีแกมรูปขอบขนาน รูปไข่ หรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้าง 2.5-9 เซนติเมตร ยาว 8-20 เซนติเมตร ปลายเป็นติ่งแหลม โคนสอบมน หรือเบี้ยวเล็กน้อย ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ผิวด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างเกลี้ยง หรือมีขนประปราย ใบแก่ผิวเรียบ ด้านบนเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างมักจะมีนวลสีเขียวเทา เส้นแขนงใบ ข้างละ 8-10 เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแหเห็นชัดเจน ทั้งสองด้าน ก้านใบ ยาว 0.5-1.5 เซนติเมตร เป็นร่องทางด้านบน เกลี้ยง หูใบลักษณะเป็นกรวยยาวหุ้มยอดอ่อน ปลายแหลมโค้งเล็กน้อย เป็นรูปดาบ ยาว 1.5-3 เซนติเมตร หลุดร่วงง่าย ทิ้งร่องรอยเป็นวงแหวนบนกิ่ง
  • ดอกกระบก เป็นช่อดอก แบบช่อแยกแขนง ยาว 5-15 เซนติเมตร ออกตามซอกใบ หรือปลายกิ่ง ดอกมักจะออกก่อนที่จะเกิดใบชุดใหม่ ดอกร่วงอย่างรวดเร็ว ใบประดับ รูปไข่ปลายแหลม ขนาดเล็กร่วงง่าย ดอกขนาดเล็ก สีขาวอมเขียว หรือสีเหลืองอ่อน กลีบเลี้ยงและกลีบดอก มีอย่างละ 5 กลีบ กลีบเลี้ยง กว้างประมาณ 0.5 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร เชื่อมกัน กลีบดอก กว้างประมาณ 1.5 มิลลิเมตร ยาว 2-3 มิลลิเมตร ปลายกลีบดอกจะม้วนออก เกสรเพศผู้ 10 อัน ติดกับขอบนอกของหมอนรองดอก รังไข่อยู่ เหนือวงกลีบ มี 2 ช่อง แต่ละช่อง มีออวุล 1 เม็ด
  • ผลกระบก เป็นผลสด แบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปไข่หรือรูปรี กว้าง 3-4 เซนติเมตร ยาว 4-5 เซนติเมตร มีนวลเล็กน้อย ผลมีสีเขียว เมื่อผลสุกสีเหลือง มีเนื้อสีส้ม เมล็ด 1 เมล็ด แข็ง รูปไข่หรือรูปรีแกมรูปไข่ ค่อนข้างแบน เนื้อในเมล็ดสีขาว และมีน้ำมัน 

ส่วนที่ใช้เป็นยา : เนื้อในเมล็ด

สรรพคุณ กระบก :

  • เนื้อในเมล็ด มีรสมันร้อน บำรุงเส้นเอ็น บำรุงไขข้อ แก้ข้อขัด บำรุงไต ฆ่าพยาธิในท้อง
  • ไม่ระบุส่วนที่ใช้ ผสมกับกระเบาและมะเกลือ ต้มน้ำดื่มสำหรับผู้หญิงที่อยู่ไฟไม่ได้

ข้อมูลเพิ่มเติม :

  • ต้นกระบก พบตามป่าเต็งรัง ป่าชายหาด ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ตลอดจนป่าดิบชื้น ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับน้ำทะเล จนถึงประมาณ 300 เมตร ออกดอกระหว่าง เดือนมกราคม-มีนาคม เป็นผล ระหว่างช่วง เดือน กุมภาพันธ์- สิงหาคม เนื้อในเมล็ดนำมาคั่วสุกมีรสมัน รับประทานได้ น้ำมันจากเมล็ด ใช้ทำอาหาร สบู่ และเทียนไขได้ ผลสุก เป็นอาหารสัตว์ป่า
Scroll to top