กระบือเจ็ดตัว

กระบือเจ็ดตัว

ชื่อสมุนไพร :  กระบือเจ็ดตัว
ชื่ออื่น :  
บัว, บัวลา, กระทู้, กระทู้เจ็ดแบก (ภาคเหนือ), ต้นลิ้นควาย, ตาตุ่มไก่, ตาตุ่มนก, กำลังกระบือ, ลิ้นกระบือ, ลิ้นกระบือขาว, ใบท้องแดง
ชื่อวิทยาศาสตร์ :   Excoecaria cochinchinensis  Lour. var.cochinchinensis
ชื่อวงศ์ :  EUPHORBIACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : 

  • ต้นกระบือเจ็ดตัว ไม้พุ่มขนาดย่อม สูงประมาณ 0.5-1.5 เมตร ตามกิ่งก้านมีน้ำยางสีขาวข้นเหมือนน้ำนม แตกกิ่งก้านมาก มีรูอากาศตามผิวกิ่ง
    ต้นกระบือเจ็ดตัว
  • ใบกระบือเจ็ดตัวใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบกิ่งหรือออกตรงข้าม รูปใบหอกหรือรูปใบหอกแกมรูปไข่ กว้าง 2-4.5 เซนติเมตร ยาว 4-12 เซนติเมตร ปลายใบเป็นติ่งแหลม โคนใบสอบ ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อยตื้นๆ หลังใบเรียบ สีเขียวเข้มเป็นมัน ท้องใบเรียบสีม่วงแดงเข้ม เส้นแขนงใบ ข้างละ 7-12 เส้น ก้านใบยาว 0.5-1.5 เซนติเมตร หูใบรูปไข่ ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร
    ใบกระบือเจ็ดตัว กระบือเจ็ดตัว
  • ดอกกระบือเจ็ดตัว ดอกช่อกระจะออกตามซอกใบและปลายกิ่ง ดอกขนาดเล็กสีเหลืองอมเขียว ดอกแยกเพศอยู่ร่วมต้นกัน ออกตามซอกใบหรือปลายยอด ช่อดอกเพศเมียอยู่ส่วนล่าง ส่วนปลายด้านบนเป็นดอกเพศผู้ ช่อดอกตัวผู้เป็นแบบช่อกระจะ ยาว 1-2 เซนติเมตร มีดอกย่อยจำนวนมาก โคนก้านดอกมีใบประดับเล็กๆเรียงซ้อนกัน รูปไข่ กว้างและยาว 1.7 มิลลิเมตร ก้านดอกยาว 1.5 มิลลิเมตร มีกลีบเลี้ยง 3 กลีบ รูปหอก ขนาดยาว 0.6-1 มิลลิเมตร กว้าง 0.3-0.4 มิลลิเมตร ส่วนปลายจักฟันเลื่อยถี่ เกสรเพศผู้เล็กมากมี 3  อัน อับเรณูรูปกลม สั้นกว่าก้านชุอับเรณูเล็กน้อย ช่อดอกตัวเมียสั้นกว่าดอกเพศผู้ มีดอก 2-3 ดอก ขนาด 1.2-1.5 ถึง 1-1.3 มิลลิเมตร ก้านดอกแข็ง ยาว 2-5 มิลลิเมตร โคนก้านดอกมีใบประดับเล็กๆ และมีต่อมเล็กๆสีเหลือง กลีบเลี้ยงเล็กมี 3 กลีบ รูปไข่ ติดกันที่ฐานเล็กน้อย กว้าง 1.2 มิลลิเมตร ยาว 1.8 มิลลิเมตร รังไข่เล็กสีเขียวอมชมพู กลม เกลี้ยง มี 3 ช่อง ก้านเกสรเพศเมียมี 3 อัน ยาว 2.2 มิลลิเมตร
  • ผลกระบือเจ็ดตัวผลแก่แตก ขนาดเล็ก รูปร่างค่อนข้างกลม กว้าง 8 มิลลิเมตร ฐานตัด ปลายเว้าเข้า ผลมี 3 พู เมื่อแก่แตกเป็น 3  ส่วน เมล็ดรูปเกือบกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.5 มิลลิเมตร

ส่วนที่ใช้เป็นยา :  ใบ, กระพี้และเนื้อไม้, ยางจากต้น

สรรพคุณ กระบือเจ็ดตัว :

  • ใบ รสร้อนเฝื่อนขื่น ขับเลือดเน่าเสีย ขับน้ำคาวปลาให้สะดวกหลังคลอด แก้อักเสบบริเวณปากมดลูก ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ แก้ไข้ แก้บวมฟกช้ำ ดำเขียว แก้พิษบาดทะยัก  ใบตำผสมเหล้าขาว คั้นเอาน้ำกิน แก้สันนิบาตหน้าเพลิง (บาดทะยักในปากมดลูก) ขับโลหิตร้าย แก้สัตนิบาตเลือด แก้ประจำเดือนขัดข้อง ทำให้เลือดกระจาย ใบตำพอกห้ามเลือด
  • กระพี้และเนื้อไม้ ถอนพิษไข้ ถอนพิษผิดสำแดง แก้ร้อนภายใน
  • ยาง ใช้เบื่อปลา

กระบือเจ็ดตัว กระบือเจ็ดตัว

Scroll to top