แตงโม

แตงโม

แตงโม ผลไม้ลูกกลมโต เปลือกนอกสีเขียวเข้มหรือมีลายสีเขียวอ่อนพาดตามยาว เนื้อในฉ่ำน้ำ รสหวานหอม มีเมล็ดสีดำเล็กๆ  แทรกอยู่ตามแนวแกนกลาง เนื้อในมีทั้งพันธุ์สีแดงและสีเหลือง แตงโมเป็นผลไม้ที่เหมาะกับเมืองร้อนอย่างบ้านเรา เพราะช่วยดับกระหายคลายร้อนได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีน้ำเป็นส่วนประกอบอยู่สูงถึงร้อยละ 92 เหมาะกับชื่อภาษาอังกฤษว่า “Watermelon”

แตงโม

แตงโม

ชื่ออื่น ๆ : แตงอุลิด, หมากโม
ชื่อสามัญ : water melon
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Citrullus lanatus (Thunb.) Matsum. & Nak.
ชื่อวงศ์ CUCURBITACEAE

เนื้อแตงโมมีเบตาแคโรทีนและวิตามินซีสูง ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันป้องกันการติดเชื้อ บำรุงสายตาและผิวพรรณ มีสารไลโคพีน ซึ่งเป็นรงควุตถุที่ทำให้ผักผลไม้มีสีแดง ไลโคพีนนี้จะช่วยต้านอนุมูลอิสระ ลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและโรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้เป็นอย่างดี

ที่น่าสังเกตคือในแตงโมเนื้อสีแดงและสีเหลืองมีปริมาณของเบตาแคโรทีนและไลโคพีนแตกต่างกันมาก โดยแตงโมเนื้อสีแดง 1 ส่วน (170 กรัม) มีเบตาแคโรทีน 1,047 ไมโครกรัม ไลโคพีน 11,378 ไมโครกรัม ในขณะที่แตงโมเนื้อสีแดง 1 ส่วน (188 กรัม) มีเบตาแคโรทีนเพียง 10 ไมโครกรัม และไม่มีไลโคพีนเลย นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิจัยการเกษตรฯ แห่งสหรัฐอเมริกา ยังพบว่าแตงโมมีสารซิทรูลีน (Citrulline) ที่ร่างกายจะใช้สารนี้ในการเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่กรดอะมิโนอาร์จินีน (Arginine) ซึ่งเป็นกรดอะมิโนที่ช่วยเสริมสร้างการทำงานของหลอดเลือด ส่งผลดีต่อระบบการไหลเวียนโลหิตช่วยกำจัดแอมโมเนียซึ่งเป็นของเสียจากการย่อยสลายโปรตีนออกจากร่างกาย และมีบทบาทต่อการแบ่งตัวของเซลล์ ช่วยรักษาบาดแผลให้หายเร็ว

เนื้อแตงโมยังมีสารสำคัญต่อร่างกายอีกหลายชนิด เช่น เส้นใยอาหาร โพแทสเซียม แคลเซียม ฟอสฟอรัส ขณะเดียวกันแตงโมก็ปราศจากไขมัน มีแคลอรีและโซเดียมต่ำ จึงเหมาะอย่างยิ่งกับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก สำหรับผู้ป่วยโรคไตที่ต้องจำกัดปริมาณน้ำควรหลีกเลี่ยงการกินแตงโม หรือแม้แต่ผู้มีสภาพร่างกายปกติก็ไม่ควรกินแตงโมมากเกินไป เพราะน้ำปริมาณมากจะทำให้น้ำย่อยในกระเพาะเจือจางลง ก่อให้เกิดอาการอาหารไม่ย่อยหรือท้องเสียได้

ส่วนอื่น ๆ ของแตงโมก็มีประโยชน์โดดเด่นไม่แพ้กัน เปลือกแตงโมช่วยลดอาการระคายเคืองจากการถูกแดดเผาได้ โดยการนำไปแช่เย็นแล้วแปะลงบนผิวบริเวณนั้น เมล็ดแตงโมอบหรือเมล็ด “ก๋วยจี๊” ในภาษาจีน เป็นของขบเคี้ยวที่ใครหลายคนติดใจ ส่วนประโยชน์ที่จะได้รับมากกว่าความหวานมัน คือ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต แมกนีเซียม สังกะสี เหล็ก รวมถึงแคลเซียมด้วย

เกษตกรจะเก็บผลผลิตแตงโมเมื่อขั้วผลเริ่มเหี่ยวยุบลง ผิวแตงกร้าน และมือเกาะใกล้ขั้วแห้ง สำหรับคนซื้อมีวิธีเลือกง่ายๆ เพื่อให้ได้แตงโมคุณภาพดี โดยการดีดหรือตบเบาๆ แล้วฟังเสียง เสียงกังวานแสดงว่าแตงโมอ่อน เสียงผสมระหว่างกังวานและทึบแสดงว่าแก่พอดี ถ้าเสียงทึบอย่างเดียวบ่งบอกว่าแก่เกินไปหรือที่เรียกว่า “ไส้ล้ม” การเก็บรักษาควรเก็บแตงโมทั้งไว้ที่อุณหภูมิห้อง จะช่วยให้มีปริมาณสารเบตาแคโรทีนและไลโคพีนสูงกว่าผ่าทิ้งไว้ ส่วนใครชอบกินแบบผ่าแล้วแช่เย็น ก็ควรใช้พลาสติกห่ออาหารหุ้มไว้ก่อนนำเข้าตู้เย็น เพื่อป้องกันการระเหยของน้ำแตงโม และป้องกันแตงโมดูดกลิ่นอื่นในตู้เย็นจนทำให้เสียรสชาติ

ลักษณะของแตงโม :

  • ต้นแตงโม เป็นพรรณไม้เถาเลื้อยชนิดหนึ่ง ที่ลำต้นจะเลื้อยทอดไปตามพื้นดิน ลำเถานั้นจะโตราว ๆ นิ้วก้อยหรืออาจจะเล็กกว่านี้ก็ได้ เถามีสีเขียว
  • ใบแตงโม ออกใบเดี่ยวตามข้อเถา ซึ่งใบนี้จะมีสีเขียว จะยาวประมาณ 1 คืบ หรืออาจจะยาวและสั้นกว่านี้ก็มี ตามใบจะมีลายสีขาวประทั่ว โคนใบกว้าง ปลายใบแหลมเล็ก ขอบใบจะเว้าลึก ใบของแตงโมนี้ความกว้างจะน้อยกว่าความยาว
  • ดอกแตงโม ออกตรงส่วนยอดของเถา มีสีเหลือง ขนาดเท่ากับหัวแม่มือ
  • ผลแตงโม มีทั้งชนิดกลมและชนิดยาว อย่างกลมก็โตราว ๆ ลูกมะพร้าวอย่างยาวก็ขนาดเท่าลูกฝัก แต่อย่างกลมนั้นเนื้อในจะแดงมีรสหวานกว่า เมื่อยังอ่อนเนื้อในเป็นสีขาวซึ่งเป็นผักใส่แกงได้ ผลยาวจะเป็นสีแดงอ่อนหรือสีเหลืองก็มี เมล็ดในของผลทั้งสองอย่างนี้เหมือนกัน คือจะเป็นเม็ดแบน ๆ เมื่ออ่อนสีขาว พอแก่กลายเป็นสีน้ำตาลอมดำ ซึ่งเรานำมารับประทานได้เช่นกัน ส่วนมากจะรู้จักกันดีมีชื่อว่า เมล็ดแตงโม และเราจะแกะกินเฉพาะเนื้อในเมล็ดเท่านั้น หวานมันอร่อย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Scroll to top