หม่อน

หม่อน

หม่อน คนส่วนใหญ่รู้จักดีว่าใบหม่อนเป็นอาหารอันโอชะของหนอนไหม แต่อาจไม่รู้ว่าผลหม่อนหรือที่รู้จักกันในชื่อภาษาอังกฤษว่า Mulberry นั้นมีประโยชน์เกินกว่าจะมองข้าม ผลหม่อนมีลักษณะเป็นผลรวม คือมีหลายๆ ผลอัดรวมกันเป็นช่อเดียว รูปทรงกระบอก เมื่อยังอ่อนผลสีขาวเขียว แล้วค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีแดง จนสีแดงคล้ำหรือสีม่วงเกือบดำเมื่อผลสุกเต็มที่ รสหวานอมเปรี้ยว

หม่อน

หม่อน

ชื่ออื่น : มอน (ตะวันออกเฉียงเหนือ)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Morus alba Linn.
ชื่อวงศ์ : MORACEAE

ผลหม่อนลูกเล็กๆ ลักษณะแปลกตานี้ ดูแล้วแทบไม่น่าเชื่อว่าอุดมไปด้วยวิตามินซีและเอ ช่วยให้ผิวพรรณอ่อนเยาว์ เสริมภูมิคุ้มกัน และบำรุงสายตา มีธาตุเหล็กซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการสร้างเม็ดเลือดแดง เหมาะสำหรับผู้ที่มีภาวะโลหิตจาง จากการวิจัยพบว่า ผลหม่อนมีสารเคอร์ซิติน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระในกลุ่มฟลาโวนอยด์ ช่วยลดการอักเสบ กระตุ้นระบบการไหลเวียนโลหิต ป้องกันโรคหลอดเลือดและโรคหัวใจได้ โดยสารดังกล่าวจะมีมากในผลหม่อนสุก และร่างกายจะได้รับเคอร์ซิตินในปริมาณมากขึ้นเมื่อกินในรูปของผลแห้ง

สารสำคัญอีกชนิดที่ทำให้ผลหม่อนมีสีแดงจนถึงม่วงก็คือแอนโทไซยานิน ที่ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์เนื้องอก ลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคมะเร็งและโรคหัวใจ ประโยชน์ของผลหม่อนไม่หมดเพียงเท่านี้ ยังมีสรรพคุณช่วยให้ชุ่มคอ แก้ไอ ปรับสมดุลระบบขับถ่าย บำรุงประสาทและไต ช่วยสลายแอลกอฮอล์ในร่างกาย แก้ผมหงอกก่อนวัย และบรรเทาอาการปวดข้อได้อีกด้วย

ด้วยว่าในอดีตเน้นปลูกหม่อนพันธุ์ที่ให้ใบเพื่อเลี้ยงหนอนไหม ผลจึงมีขนาดเล็ก เนื้อน้อย ไม่นำมากินเป็นผลสด แต่ปัจจุบันกรมวิชาเกษตรได้ทำการปรับปรุงพันธุ์ จนได้พันธุ์ลูกผสมที่มีขนาดผลใหญ่ เนื้อหนา เหมาะที่จะกินเป็นผลสดหรือนำมาแปรรูปเป็นน้ำผลไม้ แยม ไวน์ หรือเยลลี ส่วนใบหม่อนก็นิยมนำมาทำชา ซึ่งมีผลการวิจัยยืนยันว่า ใบหม่อนมีสารดีออกซีโนจิริมัยซิน (deoxynojirimycin) ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด สารกาบา (GABA-gamma aminobutyric acid) ช่วยลดระดับความดันโลหิต สารไฟโทสเตอรอล (phytosterol) ลดระดับคอเลสเตอรอล รวมทั้งสารเคอร์ซิตินและเคมเฟอรอล ซึ่งเป็นสารกลุ่มฟลาโวนอยด์เช่นเดียวกับที่มีในผลหม่อน ด้วยสรรพคุณมากมายทั้งในผลและใบนี้เอง หม่อนจึงไม่ใช่พืชที่ปลูกไว้เพียงแค่เก็บใบเพื่อเลี้ยงหนอนไหมอีกต่อไป

ลักษณะของหม่อน :

  • ต้นหม่อน เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง เปลือกต้นสีน้ำตาลแดง ลำต้นตั้งตรง แตกกิ่งก้านไม่มากนัก
  • ใบหม่อน เป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่ หรือรูปไข่กว้าง ขอบเรียบหรือหยักเว้าเป็นพู ขึ้นกับพันธุ์ กว้าง 8-14 เซนติเมตร ยาว 12-16 เซนติเมตร ผิวใบสากคาย ปลายเรียวแหลมยาว ฐานใบกลม หรือรูปหัวใจ หรือค่อนข้างตัด ใบอ่อนขอบจักเป็นพูสองข้างไม่เท่ากัน ขอบพูจักเป็นซี่ฟัน เส้นใบมี 3 เส้น ออกจากโคนยาวไปถึงกลางใบ และเส้นใบออกจากเส้นกลางใบ 4 คู่ เส้นร่างแหเห็นชัดด้านล่าง ใบสีเขียวเข้ม  ผิวใบสากคาย ก้านใบเล็กเรียว ยาว 1.0-1.5 เซนติเมตร หูใบรูปแถบแคบปลายแหลม ยาว 0.2-0.5 เซนติเมตร
  • ดอกหม่อน เป็นช่อ รูปทรงกระบอกออกที่ซอกใบ และปลายยอด แยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน ช่อดอกเพศผู้และช่อดอกเพศเมียอยู่ต่างช่อกัน วงกลีบรวมสีขาวหม่น หรือสีขาวแกมเขียว ช่อดอกเป็นหางกระรอก ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร ดอกเพศผู้ วงกลีบรวมมี 4 แฉก เกลี้ยง เกสรเพศเมีย วงกลีบรวมมี 4 แฉก เกลี้ยง ขอบมีขน
  • ผลหม่อน จะอวบน้ำ รังไข่เกลี้ยง ก้านเกสรเพศเมียมี 2 อัน ผลเป็นผลรวม รูปทรงกระบอก มีสีเขียว เมื่อสุกสีม่วงแดงเข้ม เกือบดำ ฉ่ำน้ำ มีรสหวานอมเปรี้ยว รับประทานได้ ยอดอ่อนรับประทานได้ มักใช้ใส่แกงแทนผงชูรส หรือใช้เป็นอาหารต่างผัก พบทั่วไปในป่าดิบ ใบใช้เลี้ยงตัวไหม วัวควายที่กินใบหม่อนทำให้มีน้ำนมเพิ่มขึ้น

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Scroll to top