มะตูม

มะตูม

มะตูม ปัจจุบันนี้ไม่ค่อยมีใครรู้จักหรือเคยเห็นผลมะตูมสด มักจะเห็นในรูปของมะตูมแห้งเสียมากกว่า มะตูมเป็นพืชในวงศ์เดียวกับส้มลักษณะผลกลมหรือค่อนข้างรี เปลือกแข็ง ผลดิบเปลือกสีเขียว ผลสุกเปลือกสีเขียวอมเหลือง เนื้อในสีเหลืองส้มมีเมล็ดจำนวนมากแทรกอยู่ รอบเมล็ดหุ้มด้วยเมือกสีเหลืองใสและเหนียวข้นจนใช้แทนกาวได้ เป็นที่มาของชื่อเรียกไข่แดงที่ยังไม่สุกดีของไข่ต้มหรือไข่ดาวว่า “ไข่ยางมะตูม”

มะตูม

มะตูม

ชื่ออื่น ๆ : มะปิน(เหนือ), กะทันตาเถร (ปัตตานี), ตูม(ใต้), บักตูม(อีสาน), ตุ่มตัง (ปัตตานี), พะโนงค์ (เขมร), มะตูม (กลาง), มะปีส่า (กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน)
ชื่อสามัญ : Bengal Quince, Bilak, Bael, Bael fruit
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Aegle marmelos Corr.
ชื่อวงศ์ : RUTACEAE

ผลมะตูมอ่อนนำมาหั่นบาง ๆ แล้วตากแห้งเก็บไว้ได้นาน เตรียมเป็นเครื่องดื่มโดยต้มกับน้ำ เติมน้ำตาล หากนำไปปิ้งหรือย่างไฟเล็กน้อยก่อนต้ม จะช่วยให้น้ำมะตูมมีกลิ่นหอมยิ่งขึ้น ถือเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพได้อย่างดีเยี่ยม เพราะมะตูมมีสารเมือก (Mucilage) ช่วยเคลือบผนังกระเพาะอาหาร มีสารแทนนินและเพกติน ช่วยกำจัดสารพิษที่เชื้อโรคผลิตออกมาและแก้อาการท้องเสีย คนโบราณนำมะตูมอ่อนทั้งผลมาต้มกับน้ำให้หญิงมีครรภ์ดื่ม เชื่อว่าจะทำให้คลอดง่าย ปลอดภัยทั้งแม่และเด็กแถมยังเป็นการเสี่ยงทายว่า หากต้มแล้วเปลือกแตกจะได้ลูกสาว ถ้าเปลือกไม่แตกจะได้ลูกชาย ส่วนผลแก่นำมาปอกเปลือก หั่นเป็นแว่นค่อนข้างหนา ทำมะตูมเชื่อม ไว้กินเป็นขนมหวานหรือนำไปใช้เป็นส่วนผสมของเค้กมะตูมหรือไอศกรีม ผลสุกใช้เป็นยาระบาย แก้ร้อนใน ช่วยทำความสะอาดและปรับสภาพลำไส้ เหมาะสำหรับผู้สูงอายุและผู้ที่ท้องผูกเป็นประจำ

ตามตำรายาไทยถือว่า ผลมะตูมแก่ รสฝาดหวาน ช่วยขับลม บำรุงธาตุ ทำให้เจริญอาหาร ผลมะตูมสุก รสหวานเย็น ใช้แก้ลม แก้เสมหะ มูกเลือด แก้กระหายน้ำ ใบสด รสฝาด ปร่า ซ่า ขื่น มัน ใช้เป็นยาบำรุงธาตุ ทำให้เจริญอาหาร แก้ท้องเดิน แก้โรคลำไส้ น้ำคั้นจากใบนำมาทาแก้หวัด แก้บวม แก้เยื่อตาอักเสบ รากมีรสฝาด ปร่า ชา ขื่นเล็กน้อย ใช้แก้หอบ หืด แก้ไอ แก้ไข้ตัวร้อน ช่วยขับปัสสาวะ เปลือกรากและลำต้น รสฝาด ปร่า ซ่า ขื่น แก้ไข้จับสั่น ขับลมในลำไส้

ผลการทดลองในอินเดียพบว่า สารสกัดจากผลมะตูมทดลองกับหนูขาวที่เป็นโรคเบาหวาน มีผลทำให้น้ำในเลือดลดลง เนื่องจากเกิดการหลั่งของอินซูลินหรือฮอร์โมนควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดมากขึ้น ซึ่งจะยังประโยชน์ให้มนุษย์เพียงใด คงต้องค้นคว้าวิจัยต่อไป

ลักษณะของมะตูม :

  • ต้นมะตูม เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ผลัดใบ สูง 10-15 เมตร เรือนยอดรูปไข่ เปลือกต้นสีเทาเรียบหรือแตกเป็นร่องตื้นๆตามยาว เนื้อไม้แข็ง มีสีขาวแกมเหลือง และมีกลิ่นหอม โคนต้นและกิ่งก้านมีหนามแหลม ยาว แข็ง ออกเดี่ยวหรือเป็นคู่ตามกิ่ง
    มะตูม
  • ใบมะตูม เป็นใบประกอบแบบมีใบย่อย 3 ใบ ออกเรียงสลับ ใบรูปไข่ กว้าง 1-7 เซนติเมตร ยาว 4-13 เซนติเมตร สองใบล่างมีขนาดเล็กและติดตรงข้ามกัน ใบปลายมีขนาดใหญ่ ปลายใบสอบ โคนใบแหลม ขอบใบเรียบหรือมีหยักมนๆ แผ่นใบเรียบเกลี้ยงเป็นมัน ใบอ่อนสีเขียวอ่อนหรือสีชมพู มีขนละเอียด ใบแก่สีเขียวเข้ม เรียบเกลี้ยง เส้นใบข้าง 4-12 คู่ จรดกันที่ขอบใบ นูนขึ้นด้านบน ก้านใบย่อยที่ปลายยาว 0.5-3 เซนติเมตร
  • ดอกมะตูม ออกเป็นช่อตามซอกใบและปลายกิ่ง ออกรวมกันเป็นช่อสั้นๆ ดอกสีขาวอมเขียวหรือสีเหลืองอ่อน ขนาด 1.5-2 เซนติเมตร ดอกมักออกพร้อมกับใบอ่อน มีกลิ่นหอม กลีบดอกมี 5 กลีบ กลีบดอกขนาด 6-8 มม. รูปไข่กลับ โคนติดกัน ดอกสมบูรณ์เพศ เกสรตัวผู้มี 65-70 อัน อับเรณูสีน้ำตาลอ่อน ก้านเกสรตัวเมียสั้น รังไข่สีเขียวสด หมอนรองดอกเห็นไม่ชัดเจน กลีบฐานดอกกางแผ่เป็นรูปดาวมี 4-5 แฉกแหลมๆ กลีบเลี้ยงแบนมี 4-5 พู  ก้านดอกมีขนอ่อนปกคลุม
  • ผลมะตูม รูปรีกลมหรือรียาว ขนาดกว้าง 8-10 เซนติเมตร ยาวประมาณ 12-18 เซนติเมตร ผิวเรียบเกลี้ยง เปลือกหนา แข็งมาก ไม่แตก ผลอ่อนมีสีเขียวพอสุกมีสีเหลือง เนื้อผลมีสีเหลือง นิ่ม มีกลิ่นหอม และมีเนื้อเยื่อสีส้มที่มียางเหนียวๆ ภายในมี 8-15 ช่อง
  • เมล็ดมะตูม สีน้ำตาลอ่อน จำนวนมาก มียางใสเหนียวหุ้มเมล็ดอยู่ เมล็ดรูปรีๆ และแบน มีเส้นขนหนาแน่นปกคลุม

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Scroll to top