แคบ้าน

แคบ้าน

ชื่อสมุนไพร :  แคบ้าน,
ชื่ออื่นๆ
ดอกแค, แค, แคแกง (ทั่วไป), แก, ดอกแก, ดอกแกขาว (ภาคเหนือ) แคดอกขาว, แคดอกแดง (ภาคกลาง)
ชื่อสามัญ : Sesban, Sesban white dragon tree, Flamingo bill tree, Vegetable humming bird.
ชื่อวิทยาศาสตร์  :  Sesbania grandiflora ( Desv. ) Linn.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ : Sesbania grandiflora (L.) Pers
ชื่อวงศ์ : LEGUMINOSAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นแคบ้าน เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง แตกกิ่งก้านสาขามากไม่เป็นระเบียบ มีความสูงประมาณ 3-10 เมตร เนื้อไม้อ่อน ที่เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลปนเทา เปลือกหนาและมีรอยขรุขระ แตกเป็นสะเก็ด
  • ใบแคบ้าน  เป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับ มีใบย่อยขนาดเล็กรูปขอบขนาน ปลายใบมนกว้าง ขอบใบและแผ่นใบเรียบ ใบสีเขียว กว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร
    ใบแคบ้านแคบ้าน
  • ดอกแคบ้าน ลักษณะของดอกคล้ายดอกถั่ว ออกดอกเป็นช่อบริเวณซอกใบ 2-3 ดอก ดอกมีกลิ่นหอม ดอกเป็นสีขาวหรือสีแดง มีก้านเกสรตัวผู้สีขาวอยู่ 60 อัน กลีบเลี้ยงเป็นรูประฆังหรือรูปถ้วย
    แคบ้านดอกแคแดง
  • ผลแคบ้าน (ฝัก) : มีลักษณะเป็นฝักกลมยาว มีความยาวประมาณ 8-15 เซนติเมตร ผสมเกสรโดยนก ฝักเมื่อแก่จะแตกออกเป็น 2 ซีก และมีเมล็ดอยู่ด้านใน ฝักแคมีสีเขียวอ่อน สามารถรับประทานเป็นอาหารได้ เมล็ดแคบ้าน มีลักษณะเหมือนลิ่ม เมล็ดกลมแป้น สีน้ำตาล มีหลายเมล็ด

ส่วนที่ใช้เป็นยา เปลือกต้น, ดอก, ใบสด, ยอดอ่อน

สรรพคุณ แคบ้าน :

  • เปลือกต้น  ต้มหรือฝนรับประทาน แก้โรคบิดมีตัว แก้มูกเลือด แก้ท้องเดิน ท้องร่วง คุมธาตุ ใช้ภายนอก ใช้ชะล้างบาดแผล
  • ดอก,ใบ รับประทานแก้ไข้เปลี่ยนอากาศ เปลี่ยนฤดู (แก้ไข้หัวลม)
    ชาวอินเดีย ใช้สูดน้ำที่คั้นได้จากดอกหรือใบแคเข้าจมูกรักษาโรค ริดสีดวงในจมูก และทำให้มีน้ำมูกออกมา แก้ปวดและหนักศีรษะ ลดความร้อน ลดไข้
  • ใบสด รับประทานใบแคทำให้ระบาย ใบแค ตำละเอียด พอกแก้ช้ำชอก

ข้อมูลเพิ่มเติม :

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • แก้มูกเลือด บิดมีตัว แก้ท้องเดิน ท้องร่วง คุมธาตุ โดยใช้เปลือกต้นปิ้งไฟ 1 ส่วน ต้มกับน้ำ หรือ น้ำปูนใส 10 ส่วน รับประทานครั้งละ 1-2 ช้อนแกง
  • แก้ไข้ ลดความร้อน แก้ไข้หัวลม (หรือ ไข้อากาศเปลี่ยน) ใช้ใบสด ต้มกับน้ำรับประทานลดไข้ หรือ ใช้ยอดอ่อนแคบ้าน จำนวนไม่จำกัด ลวกจิ้มกับน้ำพริก รับประทานแก้ปวดศีรษะข้างเดียว และอาจจะใช้ดอกที่โตเต็มที่ล้างน้ำ ต้มกับหมูทำบะช่อ 1 ชาม รับประทาน 1 มื้อ รับประทานติดต่อกัน 3-7 วัน จะได้ผล
  • ใช้รักษารำมะนาดด้วยการใช้เปลือกแคนำมาต้มผสมเกลือให้เค็มจัดแล้วนำมาอม
  • ช่วยรักษาปากเป็นแผล แก้อาการร้อนในจนปากลิ้นเปื่อย ด้วยการใช้เปลือกแคชั้นในสุดที่มีสีน้ำตาลอ่อนๆ นำมาเคี้ยว 3-5 นาทีแล้ว คายทิ้ง โดยทาวันละ 2 ครั้ง
  • ช่วยแก้ตานขโมย ด้วยการใช้แคทั้งห้าส่วนอย่างละ 1 กำมือ แล้วใส่น้ำพอท่วมยา หลังจากนั้นต้มให้เดือดประมาณ 5-10 นาที แล้วนำมากินครั้งละ 1ช้อนโต๊ะ วันละ 3ครั้ง นานประมาณ 15 วัน
  • ใช้ทำเป็นยาล้างแผล หรือ ใช้ ชะล้างบาดแผลสด ด้วยการใช้เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำเดือด 15 นาที ใส่เกลือเล็กน้อย แล้วนำมาใช้ล้างแผลวันละ 3 ครั้ง
  • ช่วยรักษาแผลมีหนอง ด้วยการใช้เปลือกต้นแคแก่ๆ นำมาตากแห้งแล้วฝนกับน้ำสะอาด หรือ น้ำปูนใส ใช้ทาแผลเช้าเย็น จะช่วยทำให้แผลหายเร็วยิ่งขึ้น

ส่วนประเทศอินเดียมีรูปแบบ และขนาดวิธีการใช้แคบ้านเป็นสมุนไพร ดังนี้

  • รากสด 20 กรัม เคี่ยวในน้ำ 1 ลิตร 30 นาที กรองเอารากออกดื่มแก้อาการอักเสบ
  • เทน้ำเดือด 1 ลิตรท่วม  ใบสด 20 กรัม ทิ้งไว้ 15 นาที กรองเอาใบแคออก ดื่มแก้โรคตาบอดกลางคืน ขับพยาธิ บรรเทาอาการลมบ้าหมู และโรคเกาต์
  • เทน้ำเดือด 1 ลิตรท่วม ดอกแคสด 20 กรัม ทิ้งไว้ 15 นาที กรองเอาดอกแคออก ดื่มแก้หลอดลมอักเสบ ไซนัสอักเสบ และบำรุงตับ
  • ฝักสด 20 กรัม เคี่ยวในน้ำ 1 ลิตร 30 นาที กรองเอาฝักออกดื่มเพื่อระบายท้อง บรรเทาอาการไข้ ปวด เลือดจาง ช่วยความจำ และป้องกันการเกิดเนื้องอก
  • ใบแคตำพอกบรรเทาอาการช้ำบวม น้ำคั้นรากแคเจือน้ำผึ้งใช้ขับเสมหะ ลดอาการไอ โดยสูตรจากประเทศอินเดียทั้งหมดนี้ จะใช้ดื่มก่อนอาหาร เช้า เย็น 1 ชั่วโมงและก่อนนอน ซึ่งจะเตรียมแต่พอดื่มวันต่อวันเท่านั้น

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. การนำดอกแคบ้าน มาใช้ทำเป็นอาหาร ต้องเด็ดเอาเกสรสีเหลืองของดอกแคออกก่อน จะช่วยลดความขมได้
  2. การรับประทานดอกแคบ้านในปริมาณมากเกินไปอาจทำให้อาเจียนได้
  3. ในการใช้แคบ้าน เป็นยาสมุนไพรไม่ควรใช้เกินขนาดที่กำหนดตามตำรับยาต่างๆ และไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้
  4. ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว หรือ ต้องรับประทานยาต่อเนื่อง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้แคบ้านเป็นสมุนไพรในการรักษาโรคต่างๆ แต่หากเป็นการรับประทานเพื่อเป็นอาหารในปริมาณไม่มากก็ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพและโรคที่เป็นอยู่

แคบ้าน คนไทยนิยมกิน คือ ยอดอ่อน ใบอ่อน ดอก และฝักอ่อน ยอดอ่อน โดยทุกภาคกินแคเป็นผักและมักปลูกแคไว้ตามรั้วบ้าน หรือ สามารถหาซื้อได้ทั่วไป ซึ่งนิยมลวกน้ำร้อนใช้กินร่วมกับน้ำพริก ดอกอ่อนนำไปปรุงอาหารได้หลายชนิด มักจะเอาเกสรตัวผู้ออกจากดอกแคก่อนใช้ประกอบอาหารเพื่อลดความขม ชาวอีสานนิยมนำดอก และยอดอ่อนมานึ่ง หรือ ย่าง และนำดอกแคมาปรุงอาหารประเภทอ่อมได้อีกด้วย ส่วนในต่างประเทศ เช่น ประเทศอินโดนีเชีย ลาว และฟิลิปปินส์ ก็นิยมกินดอกและยอดอ่อนเช่นกัน โดยใช้กินสด หรือ นึ่งในสลัดผัก ส่วนฝักใช้กินเหมือนถั่วฝักยาว นอกจากนี้ยังมีการนำส่วนต่างๆ มาใช้ประโยชน์อื่นๆ อีกเช่น ใบนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ ลำต้นนำมาใช้ในการเพาะเลี้ยงเห็ดหูหนู หรือ ใช้ทำฟีนได้ แคมีจุลินทรีย์ทีปมราก และเมื่อจับก๊าซไนโตรเจนในอากาศผลิตเป็นปุ๋ย แคจึงเป็นพืชช่วยปรับปรุงดินอีกด้วย นอกจากนี้ในประเทศอินเดียยังมีการให้ใบอ่อนของแคเป็นอาหารเสริม บีตา-แคโรทีนอยด์ พบว่าบุคคลที่ขาดแคโรทีนอยด์ หลังจากได้รับอาหารเสริมใบอ่อนแคบ้าน (เรียกอะกาทิ-agathi) จะมีปริมาณแคโรทีนในซีรั่มเพิ่มในวันที่ 7

Scroll to top