เขยตาย

เขยตาย

ชื่อสมุนไพร : เขยตาย
ชื่ออื่นๆ 
: เขยตายแม่ยายชักปรก, ลูกเขยตาย, ต้นชมชื่น, น้ำเข้า, โรคน้ำเข้า(ใต้), กะรอกน้ำข้าว, ละรอก, กะรอกน้ำ(ชลบุรี), ส้มชื่น, ศรีชมชื่น, น้ำข้าวต้น, พิษนาคราช, พุทธรักษา(สุโขทัย), ประยงค์ใหญ่ (กรุงเทพฯ), มันหมู (ประจวบคีรีขันธ์)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Glycosmis pentaphylla (Retz.) DC.
ชื่อวงศ์ RUTACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นเขยตาย ไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูงประมาณ 3-6 เมตร เปลือกลำต้นเรียบสีน้ำตาลเทา ผิวลำต้นตกกระเป็นวงสีขาว แตกกิ่งก้านต่ำตั้งแต่โคนต้น ใบออกดกทึบ
    เขยตาย
  • ใบเขยตาย เป็นใบเดี่ยว รูปหอกแกมวงรี ออกตรงข้าม หรือกึ่งตรงข้าม กว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร ปลายใบแหลมถึงกลม โคนสอบเรียว ใบด้านบนๆจะมีสีแดงที่ฐาน ขอบใบเรียบหรือมีรอยจักตื้น แผ่นใบเรียบ ผิวใบทั้งสองด้านมีจุดต่อม ผิวใบด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ลำต้นเป็นเหลี่ยม
    เขยตาย
  • ดอกเขยตาย เป็นช่อเชิงลดแยกแขนง ยาว 10-30 เซนติเมตร ออกดกทึบ ดอกเล็กสีขาว ดอกย่อยเป็นกระจุกละ 12-15 ดอก ออกตามซอกใบหรือที่ปลายกิ่ง กลีบดอก 5 กลีบ สีขาว ขนาด 4-5 x 2-2.5 มิลลิเมตร ผิวมีต่อมเป็นจุด รูปไข่กลับ กลีบเลี้ยง 5 กลีบ โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น 5 แฉก ยาว 1-1.5 มิลลิเมตร รูปแหลมกึ่งรูปไข่ มีขนอ่อนที่ส่วนปลาย มีใบประดับหุ้ม โดยชั้นบนมี 5 กลีบใหญ่ และมีส่วนย่อยเล็กๆหลายอัน มีต่อมซึ่งปลายเป็นร่อง ก้านชูดอกสั้นมาก เกสรตัวเมียเรียงเป็นวง ตรงกลางแกนดอกมีเกสรตัวผู้เป็นแท่ง รังไข่ขนาดกว้าง 2-2.5 มิลลิเมตร รูปไข่  เกสรเพศผู้ 8-10 อัน ก้านชูอับเรณูยาว 2-3 มิลลิเมตร
  • ผลเขยตาย  เป็นผลสดทรงกลมขนาดเล็ก ผิวผลเรียบ ปลายใบแหลม มีขนาดกว้างประมาณ 1-1.2 เซนติเมตร และยาว 1-2 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีชมพูใสฉ่ำน้ำ มีรสหวาน ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด เมล็ดสีดำ ลักษณะกลม เป็นลาย
    เขยตาย

ส่วนที่ใช้เป็นยา :  ราก, เปลือกต้น, เนื้อไม้, ดอก, ผล

สรรพคุณ เขยตาย :

  • ราก รสเมาขื่นปร่า กระทุ้งพิษ แก้พิษฝีภายในและภายนอก ขับน้ำนม ฝนน้ำกินและทาแก้พิษงู แก้พิษแมลงกัดต่อย ทาแผลที่อักเสบ แก้ไข้กาฬ แก้โรคผิวหนังพุพอง แก้ไข้รากสาด เกลื่อนฝีให้ยุบ แก้ฝีที่นม ตัดรากฝีที่นม ยับยั้งเชื้อไวรัสบางชนิด
  • เปลือกต้น รสเมาร้อน แก้ฝีภายนอกและภายใน กระทุ้งพิษ แก้พิษงู ขับน้ำนม แก้พิษต่างๆ แก้พิษไข้
  • เนื้อไม้ กระทุ้งพิษ แก้ฝีภายนอกและภายใน แก้พิษงู ขับน้ำนม
  • ดอกและผล รสเมาร้อน ทารักษาหิด
  • ไม่ระบุส่วนที่ใช้ กระทุ้งพิษ แก้ฝีภายนอกและภายใน แก้พิษงู ขับน้ำนม

ข้อมูลเพิ่มเติม :

รูปแบบและขนาดวิธีใช้เขยตาย

  • ใช้ขับน้ำนมโดยใช้รากเขยตาย ต้มกับน้ำดื่มหลังคลอด
  • ใช้แก้ไอ แก้ไข้ แก้โรคบิด แก้ท้องเดิน โดยนำรากและใบมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้ลดระดับน้ำตาลในเลือด แก้เบาหวาน โดยใช้ใบมาต้นกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้ไข้กาฬ ไข้รากสาด ลดไข้ แก้พิษฝีภายในกระทุ้งพิษ ขับน้ำนม โดยใช้รากหรือเปลือกต้นมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้ถอนพิษ เมื่อถูกแมลงมีพิษกัดต่อย รักษาเริม งูสวัด ไฟลามทุ่ง ขยุ้มตีนหมา โดยใช้ใบสดมาขยี้ หรือนำมาบดผสมกับแอลกอฮอลล์ เหล้าขาว หรือ นำมะนาว นำไปทาแล้วพอก บริเวณที่เป็น
  • แก้โรคตับ โดยใช้ใบสดมาคั้นเอาน้ำดื่ม
  • ใช้รักษาผิวหนังอักเสบ เป็นตุ่มพุพอง หรือคันอักเสบ โดยใช้ใบสดมาบดผสมกับขิง ใช้ทาบริเวณที่เป็น
  • ใช้เป็นยาแก้หิด โดยใช้ดอกและผลมาตากให้แห้งแล้วนำมาต้มน้ำดื่ม

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยระบุน้ำยางของเขยตายมีความเป็นพิษสูง ซึ่งหากรับประทานเข้าไปอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้ เช่น อาเจียน มึนงง เพ้อคลั่ง และหากได้รับในปริมาณมากอาจทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้

ถิ่นกำเนิดเขยตาย

เขยตาย เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในเขตทวีปเอเชียและออสเตรเลีย อาทิเช่น อินเดีย พม่า ไทย ลาว กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย จีนตอนใต้ และในออสเตรเลีย สำหรับประเทศไทยสามารถพบได้บริเวณป่าเบญจพรรณ ป่าโปร่ง ป่าดิบแล้ง และตามชายป่าทั่วไป


เอกสารอ้างอิง

  1. วุฒิ วุฒิธรรมเวช. (2540). สารานุกรมสมุนไพร: น. 141, กรุงเทพฯ:โอเดียนสโตร์.
  2. สยามไภษัชยพฤกษ์  น.129 คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล , อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์พับลิชชิ่ง
  3.  ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. เขยตาย. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 152-153.
  4. ภญ.ดร. สุภาภรณ์ ปิติพร. อาหารและสมุนไพรกระตุ้นน้ำนม. คอลัมน์เรื่อเดินจากปก. นิตยาสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 355. พฤศจิกายน 2551.
  5. นิจศิริ เรืองรังษ๊ ธวัชชัย มังคละคุปต์. เขยตาย Khoel tai. หนังสือสมุนไพรไทยเล่ม 1. หน้า 69.
  6. พญ. เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ. เขยตาย. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. หน้า 98.
Scroll to top