คันทรง

คันทรง

ชื่ออื่นๆ : คันทรง
ชื่ออื่นๆ :
ก้านเถิง, ผักก้านถึง (เหนือ), ก้านตรง (สุรินทร์), กะทรง (ใต้), คันชุง(กลาง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Colubrina asiatica (L.) Brongn.
ชื่อวงศ์ : RHAMNACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นคันทรง จักเป็นไม้พุ่มขนาดกลาง หรือ ไม้พุ่มกึ่งเลื้อย ลำต้นตั้งตรงสูง 2-9 เมตร เปลือกต้นสีเขียวเข้มเป็นมัน มีรอยแตกเป็นร่องตื้น ถี่ๆ และมีตาที่ทิ้งใบเป็นตุ่มห่างๆ โดยมักจะแตกกิ่งก้านมากตั้งแต่โคนต้นกิ่งก้านมีสีเขียวลักษณะเส้นกลม
  • ใบคันทรง  ใบเป็นใบเดี่ยวแบบเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปหอกกว้าง รูปไข่กว้าง หรือ รูปหัวใจ กว้างประมาณ 3-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-9 เซนติเมตร ส่วนปลายใบมีลักษณะเรียวแหลม โคนใบมนหยักเว้าคล้ายรูปหัวใจ ขอบใบหยักมนแกมจักเป็นฟันเลื่อย แผ่นใบบาง หลังใบเรียบเป็นมันมีสีเขียวเข้ม ส่วนท้องใบเรียบเป็นมันสีเขียวอ่อนกว่าหลังใบ มีขนที่เส้นใบ โดยมีเส้นใบ 3 เส้น ออกจากโคนใบ ส่วนอีก 3-4 เส้น ออกจากเส้นกลางใบ และมีก้านใบยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร
  • ดอกคันทรง เป็นช่อกระจุก ออกที่ซอกใบ ช่อดอกยาว 1 เซนติเมตร ดอกมีขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลาง 4-5 มิลลิเมตร ก้านดอกย่อยยาว 2-3 มิลลิเมตร ดอกย่อยประกอบด้วยดอกสมบูรณ์เพศ 2-3 ดอก และดอกตัวผู้หลายดอก เกสรตัวผู้มี 5 อัน กลีบดอกสีเหลืองแกมเขียว มี 5 กลีบ รูปไข่กลับ ยาวเท่ากับเกสรเพศผู้ ประมาณ 1 มิลลิเมตร และมีเกสรเพศผู้ติดอยู่ ปลายกลีบดอกแหลม โคนกลีบดอกติดกันที่ฐานดอก จานรองสีเหลืองส้ม รังไข่มี 2-3 ห้อง หลอมรวมกับจานรอง กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปสามเหลี่ยม สีเขียวสด
  • ผลคันทรง ผลเป็นผลเดี่ยว ลักษณะเป็นผลสดรูปทรงกลม ผิวเรียบเป็นมัน ปลายผลเว้าเข้าแบ่งออกเป็นพู 3 พู มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.5-0.6 เซนติเมตร ผลดิบมีสีเขียว และเมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ภายในมีเมล็ดจำนวน 3 เมล็ด ที่ขั้วผลมีวงกลีบเลี้ยงสีเขียวติดอยู่ โดยผลจะเรียงห้อยลงเป็นแถวๆ ตามกิ่ง

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ราก, ใบ, เปลือกต้น, ผล

สรรพคุณ คันทรง :

  • ราก รสฝาดเฝื่อน แก้อาการบวม น้ำเหลืองเสีย กินแก้ร้อนในกระหายน้ำ
  • ใบและเปลือกต้น รสฝาดเฝื่อน ต้มน้ำอาบแก้เม็ดผื่นคัน แก้บวมทั้งตัว เนื่องจากโรคไตหรือโรคหัวใจพิการ น้ำเหลืองเสีย และเหน็บชา
  • ใบ ปรุงยาต้มทาบรรเทาอาการระคายเคืองที่ผิว และรักษาโรคผิวหนังบางชนิด
  • ผล ทำให้แท้ง ใช้เบื่อปลา

ข้อมูลเพิ่มเติม :

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้แก้น้ำเหลืองเสีย แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้อาการบวม โดยใช้ราก หรือ เปลือกต้นคันทรง มาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้ช่วยให้เจริญอาหาร แก้น้ำเหลืองเสีย โดยใช้ใบมากินเป็นผักสด หรือ นำมาต้มกับน้ำดื่มก็ได้
  • ใช้แก้อาการบวม แก้เหน็บชา แก้เม็ดผดผื่นคัน โดยใช้ใบ และเปลือกต้นมาต้มกับน้ำอาบ
  • ใช้แก้ตานขโมยในเด็ก แก้บวมโดยใช้รากมาฝนผสมน้ำมะพร้าว ดื่ม

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. สตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทานคันทรง เพราะมีฤทธิ์ทำให้แท้งบุตร
  2. คันทรง มีสารซาโปนิน มีฤทธิ์ทำให้ง่วงนอน หากบริโภคมากเกินไปอาจทำให้เกิดอันตรายได้
  3. ในการใช้คันทรงเป็นสมุนไพรตามตำรับตำรายาต่างๆ นั้นควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในปริมาณที่พอดี และไม่ควรใช้ต่อเนื่องกันเป็นเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับเด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หรือ ผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำก่อนจะใช้คันทรง เป็นสมุนไพรควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

การขยายพันธุ์คันทรง

คันทรง สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด และการปักชำลำต้น แต่ในปัจจุบันคันทรงยังไม่เป็นที่นิยมในการนำมาปลูกเพื่อใช้ประดยชน์ หรือ เพื่อการค้า ดังนั้นการขยายพันธุ์ของคันทรงจึงเป็นการขยายพันธุ์ทางธรรมชาติ โดอาศัยเมล็ดที่ร่วงหล่นจะงอกขึ้นมาเอง หรือ อาศัยนกมากินผลสุกแล้วไปขับถ่ายเอาเมล็ดไปแพร่กระจายพันธุ์ยังบริเวณอื่น แต่หากต้องการปลูกคันทรงไว้ใช้ประโยชน์ก็สามารถทำได้โดยการนำเมล็ดไปเพาะให้เป็นต้นกล้าแล้วจึงนำต้นกล้าไปปลูก โดยมีวิธีการเช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ดไม้ยืนต้นอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้

ถิ่นกำเนิดคันทรง 

เชื่อกันว่าคันทรง เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีเอเชีย (เพราะชื่อทางวิทยาศาสตร์มีปรากฎชื่อของทวีปเอเชียด้วย) แต่ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในภูมิภาคไหนของทวีปเอเชีย แต่สำหรับในประเทศไทยสามารถพบเจอได้ทั่วทุกภาคของประเทศโดยเฉพาะภาคเหนือจะพบได้มากกว่าภาคอื่น และจะพบได้ตามที่รกร้างว่างเปล่าทั่วไป หรือ ตามป่าละเมาะป่าตามพื้นราบทั่วๆ ไป หรือ ป่าดงดิบรวมถึงตามชายหาดหินปูนในภาคใต้

Scroll to top