มะกอก

กอก

ชื่ออื่น : กอก, มะกอกฝรั่ง, มะกอกหวาน,มะกอก (ภาคกลาง) มะกอกป่า, มะกอกไทย, มะกอกบก (ทั่วไป), กอก (ภาคใต้), กอกเขา (นครศรีธรรมราช), กรกไพ้, ไพแซะ (กะเหรี่ยง)
ชื่อสามัญ : Jew’s plum, Otatheite apple
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Spondias cytherea Sonn.
วงศ์ : ANACARDIACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • กอก จัดเป็นไม้ยืนต้น ผลัดใบ ขนาดกลาง เรือนยอดโปร่งเป็นพุ่มกลม ลำต้นกลมตั้งตรง สูง 7-20 เมตร เปลือกต้น สีเทา หนา เรียบ มีกลิ่นหอม มีรูอากาศตามลำต้น เปลือกต้นในมีสีน้ำตาลอมชมพู เนื้อไม้สีขาว ไม่มีแก่น ส่วนกิ่งอ่อนมีรอยแผลจากการหลุดร่วงของใบ
    กอก

  • ใบกอก ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว แบบปลายใบคี่ มีก้านใบหลักยาวประมาณ 5-25 เซนติเมตร ส่วนใบย่อยจะมี 9-13 ใบ โดยจะออกเรียงตรงข้ามกัน 4-6 คู่ และมีใบย่อยเดี่ยวบริเวณปลายใบอีก 1 ใบ ซึ่งใบย่อยจะมีลักษณะเป็นรูปขอบขนาน กว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-12 เซนติเมตร เนื้อใบค่อนข้างหนา เป็นมันและหยาบ โคนใบมน ปลายใบเป็นติ่งแหลม ขอบใบเรียบ แต่จะไม่เรียบไม่สม่ำเสมอกัน ใบมีเส้นกลางใบ และเส้นแขนงใบมองเห็นชัดเจน ใบอ่อนมีสีแดงเข้ม จากนั้นเปลี่ยนเป็นสีเขียวอ่อน และเขียวเข้มตามอายุ ส่วนก้านใบจะสั้นประมาณ 0.2-0.8 เซนติเมตร


  • ดอกกอก ดอกออกเป็นช่อแบบแยกเพศแต่อยู่บนต้นเดียวกัน โดยจะออกที่ปลายกิ่งหรือตามซอกใบ ซึ่งใน 1 ช่อดอก จะมีดอกย่อยลักษณะกลมขนาดเล็กจำนวนมาก โดยดอกย่อยจะมีสีเขียวสดจากนั้นเมื่อบานจะมีสีเขียวครีม มีกลีบดอก 5 กลีบ เป็นรูปรี ปลายกลีบดอกแหลม มีขนาดประมาณ 4 มิลลิเมตร และมีกลีบเลี้ยงดอกอยู่ ที่มีลักษณะเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก 5 กลีบ


  • ผลกอก ผลเป็นผลสด เนื้อฉ่ำน้ำมีความหนาของเนื้อผลประมาณ 2-5 มิลลิเมตร ลักษณะผลเป็นรูปไข่ หรือ กลมรี ขนาดผล 2.5-3.5 เซนติเมตร ยาว 3-5 เซนติเมตร เปลือกผลบาง เป็นมัน ผลอ่อนมีสีเขียวสด ผลแก่ หรือ ผลสุกมีสีเขียวอมเหลือง หรือ สีเหลือง และมีจุดประสีน้ำตาลอมดำกระจายทั่ว ด้านในมีเมล็ดขนาดใหญ่ 1 เมล็ด เมล็ดเป็นรูปไข่ มีสีเหลือง หนา แข็ง และเป็นเสี่ยวขรุขระ  มีขนาดใหญ่มากกว่าร้อยละ 80 ของพื้นที่ผล


ส่วนที่ใช้เป็นยา : ผล, เปลือก, ใบ, ยาง, เมล็ด

สรรพคุณ กอก :

  • ผล รสเปรี้ยวอมหวานเย็น เป็นยาฝาดสมาน แก้เลือดออกตามไรฟัน เนื่องจากมีวิตามินซีสูง แก้กระหายน้ำ ทำให้ชุ่มคอ แก้ธาตุพิการ แก้โรคขาดแคลเซียม
  • เนื้อในผล แก้ธาตุพิการเพราะน้ำดีไม่ปกติ และกระเพาะอาหารพิการ แก้บิด
  • ผล ใบ และเปลือกลำต้น แก้ร้อนใน ช่วยให้ชุ่มคอ แก้กระหายน้ำ แก้เลือดออกตามไรฟัน แก้หอบ บำรุงธาตุ และแก้บิด
  • เปลือกลำต้น รสฝาดเย็นเปรี้ยว ช่วยสมานแผล มีกลิ่นหอม ฝาดสมานและเป็นยาเย็น ใช้ในโรคท้องเสีย และโรคที่เกี่ยวกับลำไส้ แก้บิดปวดมวน ระงับอาเจียน ดับพิษกาฬ แก้ร้อนใน แก้สะอึก
  • ยางจากต้น มีลักษณะใส สีน้ำตาลปนแดง ไม่ละลายน้ำ แต่จะเกิดเป็นเมือก ใช้ติดของ และทำให้เยื่อเมือก อ่อนนุ่ม
  • เปลือกต้นและแก่น เป็นยาแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ
  • ใบ รสฝาดเปรี้ยว แก้ปวดท้อง
  • น้ำคั้นจากใบหยอดแก้ปวดหู แก้หูอักเสบ
  • ใบ มีกลิ่นหอม รสเปรี้ยว และฝาดสมาน เป็นผักจิ้ม และแต่งกลิ่นอาหาร
  • เมล็ด เผาไฟแช่น้ำดื่ม รสเย็น แก้ร้อนใน สุมแก้หอบ แก้สะอึก
  • ราก รสฝาดเย็น แก้ร้อนใน กระหายน้ำ ทำให้ชุ่มคอ ขับปัสสาวะ

ข้อมูลเพิ่มเติม :

ในประเทศไทยมะกอกถูกนำมา ใช้ประโยชน์ในฐานะผักพื้นบ้านอย่างหนึ่งมากกว่าใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ เช่นนำใบอ่อน (ยอด) และช่อดอกของมะกอกมากินเป็นผักทั้งดิบและสุก ซึ่งใบอ่อนมะกอกมีกลิ่นหอม รสเปรี้ยวใช้ได้ทั้งเป็นผักจิ้ม สำหรับผลมะกอกนิยมใช้ผลสุก ที่มีรสเปรี้ยวอมฝาด ชุ่มคอ มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ใช้แต่งกลิ่นอาหารและใช้รสเปรี้ยว ใช้แต่งรสน้ำปลาจิ้มพวกเนื้อหรือปลาย่าง ใช้เป็นส่วนประกอบของส้มตำลาว โดยจะให้กลิ่นและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนส้มตำตำรับอื่นๆ  ส่วนผลดิบในบางพื้นที่ ยังมีการนำมาดองเป็นมะกอกดองอีกด้วย  สำหรับเนื้อไม้มะกอกซึ่งเป็นไม้เนื้ออ่อน ก็มีการนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น ทำกล่องไม้ขีด ทำไม้จิ้มฟัน ทำกล่องใส่ของ หีบศพ และยังมีการนำเนื้อไม้มะกอก มาสับเป็นเยื่อที่ใช้ผลิตกระดาษอีกด้วย

การขยายพันธุ์มะกอก

มะกอกสามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี เช่น การเพาะเมล็ด การตอน และการปักชำ แต่ส่วนมากมักจะนิยมใช้การเพาะเมล็ด เพราะทำให้ได้ต้นใหญ่ ติดผลมาก และอายุยืนยาว เหมาะสำหรับปลูกตาม ไร่ นา ส่วนการตอน และการปักชำ ไม่เป็นที่นิยม เพราะติดรากยาก อายุต้นนั้น และการแตกกิ่งน้อย  สำหรับการเพาะเมล็ดมะกอกมีวิธีการดังนี้

          เลือกเมล็ดจากผลมะกอก ที่แก่จัดที่ร่วงจากต้น แล้วนำมาตากแดดจนแห้ง ก่อนนำผลมาห่อด้วยผ้าหรือหนังสือพิมพ์ เก็บไว้ในที่ร่ม นาน 2-3 เดือน เพื่อให้เมล็ดพักตัว เมื่อถึงต้นฤดูฝน ให้นำผลมะกอกที่เก็บไว้มาปอกเปลือกผลออกให้หมด ก่อนนำไปแช่น้ำอุ่นนาน 5-10 นาที และแช่น้ำอุณหภูมิปกติ นาน 6-12 ชั่วโมง จากนั้น นำเมล็ดลงเพาะในถุงเพาะชำ ทั้งนี้ ควรใช้ถุงขนาดใหญ่ 8-10 นิ้ว เพาะ เนื่องจาก รากมะกอกในระยะหลังงอกจะเติบโตเร็ว และมีความยาวมาก เมื่อเพาะกล้าจนต้นกล้าสูง 15-20 เซนติเมตร จึงย้ายลงปลูกในแปลง หรือบริเวณที่ต้องการ

Scroll to top