ชื่อสมุนไพร : โด่ไม่รู้ล้ม
ชื่ออื่น ๆ : หนาดมีแคลน(สุราษฎร์ธานี), ตะชีโกวะ(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), หญ้าไฟนกคุ่ม, หนาดผา(กะเหรี่ยง), หนาดผา, เคยโป้, หญ้าไก่นกคุ่ม, หญ้าปราบ, หญ้าสามสิบสองหาบ(ภาคใต้), คิงไฟนกคุ่ม(ชัยภูมิ), ขี้ไฟนกคุ่ม(เลย)
ชื่อสามัญ : elephant’s foot
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Elephantopus scaber L.
ชื่อวงศ์ : COMPOSITAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นโด่ไม่รู้ล้ม เป็นพืชล้มลุก ลำต้นสั้น กลม ชี้ตรง สูง 10-30 เซนติเมตร ตามผิวลำต้น และใบมีขนสีขาวตรงละเอียด ห่าง สาก ทอดขนานกับผิวใบ
- ใบโด่ไม่รู้ล้ม เป็นชนิดใบเดี่ยว อยู่บริเวณเหนือเหง้า ติดเป็นวงกลมเรียงสลับชิดกัน คล้ายแบบกระจุกกุหลาบซ้อนที่โคนต้น ใบรูปหอกกลับ หรือรูปไข่แกมใบหอกกลับ แผ่นใบยาว 8-20 เซนติเมตร กว้าง 3-5 เซนติเมตร ส่วนที่ค่อนไปทางปลายใบ ผายกว้าง แล้วสอบแหลมทู่ๆ ส่วนโคนใบสอบแคบจนถึงก้านใบ ผิวใบมีขนสากทั้งสองด้าน ท้องใบมีขนมากกว่าหลังใบ ขนตรงห่างสีขาว และขนต่อม ห่าง ขอบใบหยักมน หรือจักฟันเลื่อยห่างๆ เส้นแขนงใบมี 12-15 คู่ ใบมักแผ่ราบไปกับพื้นดิน เนื้อใบหนาสาก ก้านใบยาว 0.5-2 เซนติเมตร หรือไม่มีก้านใบ
- ดอกโด่ไม่รู้ล้ม เป็นช่อแทงออกจากกลางต้น ช่อดอกรูปขอบขนาน มี 4 ดอกย่อย ยาว 8-10 มิลลิเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 2-3 มิลลิเมตร ดอกย่อยขนาดเล็ก ดอกรูปหลอดสีม่วง หลอดกลีบดอกยาว 3-3.5 มิลลิเมตร เกลี้ยง ปลายกลีบดอกยาว 1.5-2 มิลลิเมตร ไม่มีขน เกสรเพศผู้สีเหลือง มีอับเรณูยาว 2.2-2.3 มิลลิเมตร ปลายแหลม ฐานเป็นติ่งแหลม ก้านชูอับเรณูยาว 1.5-1.7 มิลลิเมตร เกสรเพศเมียมีก้านเกสรยาว 7-8 มิลลิเมตร ยอดเกสรยาว 0.5-0.6 มิลลิเมตร มีขนที่ปลายยอดและสิ้นสุดที่รอยแยก แต่ละช่อย่อยมาอยู่รวมกันเป็นช่อกระจุกกลมที่ปลายก้านดอก บริเวณโคนกระจุกดอกมีใบประดับแข็งรูปสามเหลี่ยม แนบอยู่ 3 ใบ ยาว 1-2 เซนติเมตร กว้าง 0.5-1.5 เซนติเมตร ขอบเรียบ ปลายเรียวแหลม ผิวใบทั้งสองด้านมีขนตรงสีขาว ออกที่ปลายยอดแบบช่อแยกแขนง ก้านช่อดอกยาวถึง 8 เซนติเมตรมีขนสากๆทั่วไป ฐานรองดอก แบน เกลี้ยง เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5-0.7 มิลลิเมตร วงใบประดับรูปขอบขนาน มี 2 ชั้น สูง 7-10 มิลลิเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 2-3 มิลลิเมตร ใบประดับรูปใบหอก ผิวด้านนอกมีขนตรง และที่ขอบมีขนครุย ชั้นนอกรูปใบหอก ยาว 4-6 มิลลิเมตร กว้าง 0.5-1.5 มิลลิเมตร ปลายแหลม ชั้นที่ 2 รูปขอบขนานยาว 8-10 มิลลิเมตร กว้าง 1-2 มิลลิเมตร ปลายแหลม แพปพัส สีขาวเป็นเส้นตรงแข็งมี 5 เส้น เรียง 1 ชั้น ยาว 5-6 มิลลิเมตร
- ผลโด่ไม่รู้ล้ม เป็นผลแห้ง ไม่แตก ผลเล็กเรียว รูปกรวยแคบ ผิวด้านนอกมีขนหนาแน่น ยาว 2.5-3 มิลลิเมตร กว้าง 0.4-0.5มิลลิเมตร ไม่มีสัน
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ต้น, ราก, ใบ
สรรพคุณ โด่ไม่รู้ล้ม :
- ทั้งต้น รสกร่อยขื่น เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ไข้ แก้ไข้จับสั่น ขับน้ำเหลืองเสีย แก้บิด แก้ท้องเสีย แก้ไอ แก้วัณโรค บำรุงหัวใจ ขับเหงื่อ ขับระดู ขับพยาธิตัวกลม แก้ปัสสาวะพิการ บำรุงความกำหนัด แก้กระษัย ขับไส้เดือน แก้กามโรค แก้บวมน้ำ แก้นิ่ว แก้ไข้หวัด แก้เจ็บคอ แก้ตาแดง แก้ดีซ่าน แก้เลือดกำเดาออกง่าย แก้ฝี แก้แผลมีหนอง แก้แผลงู แก้แมลงมีพิษกัดต่อย แก้อักเสบ แก้แผลในกระเพาะอาหาร แก้แผลเปื่อยในปาก แก้เหน็บชา
- ราก รสกร่อยขื่น ขับปัสสาวะ แก้ไข้ตัวร้อน แก้ไข้หวัด แก้ไอเรื้อรัง แก้ท้องเสีย แก้บิด ขับพยาธิ ขับระดู บีบมดลูก ต้มเอาน้ำอมแก้ปวดฟัน แก้ฝี แผลมีหนอง บวมอักเสบทั้งหลาย เป็นยาคุมสำหรับหญิงที่คลอดบุตรใหม่ เป็นยาบำรุง เป็นยาขับไส้เดือน รักษาโรคบุรุษ ต้มดื่มแก้อาเจียน
- ใบ รสกร่อยขื่น รักษาบาดแผล แก้โรคผิวหนัง (ใช้ใบสดประมาณ 2 กำมือ เคี่ยวกับน้ำมันมะพร้าว ทาแผล แก้โรคผิวหนังผื่นคัน) แก้ไข้ ขับปัสสาวะ แก้อ่อนเพลีย รักษากามโรค รักษาโรคบุรุษ เป็นยาคุมสำหรับหญิงที่คลอดบุตรใหม่ เป็นยาบำรุง เป็นยาขับไส้เดือน แก้ไอ ทำให้เกิดความกำหนัด
- รากและใบ รสกร่อยขื่น ขับปัสสาวะ แก้ท้องร่วง แก้โรคแผลในกระเพาะอาหาร แก้บิด แก้กามโรคในสตรี ใช้สดหรือแห้งประมาณ 2 กำมือ ต้มดื่ม ขับปัสสาวะ แก้ท้องร่วง แก้กระเพาะอาหารเป็นแผล ต้มอาบหลังคลอด ไม่ระบุส่วนที่ใช้ บำรุงกำลัง ชูกำลัง ตัดกษัย บำรุงกษัยไม่ให้เกิด แก้ปัสสาวะพิการ บำรุงความกำหนัด ขับปัสสาวะ แก้ไข้จับสั่น แก้ไอ แก้ไข้ ขับพยาธิไส้เดือน แก้กามโรค แก้โรคหลอดลมอักเสบ แก้ปวดบวม แก้ตับอักเสบ แก้บิด รักษาตัวบวม รักษาไตอักเสบ
ข้อห้ามใช้ : ผู้หญิงที่มีครรภ์ห้ามรับประทาน หรือผู้ที่กลัวหนาวแขนขาเย็น
[su_quote cite=”The Description”] เลือดกำเดาออก ให้ใช้ต้นสด 30-60 กรัมต้มกับเนื้อหมูแดงพอประมาณ แล้วทานติดต่อกัน 3-4 วัน (ถ้าเป็นต้นแห้งให้ใช้ 10-15 กรัม)
โรคดีซ่าน ใช้ต้นสด 120-240 กรัม ต้มกับเนื้อหมูกินติดต่อกัน 4-5 วัน
ท้องมาน ใช้ต้นสด 60 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่มเช้าเย็นหรือตุ๋นกับเนื้อหมูทานก็ได้
เหน็บชา ใช้ต้นสด 30-50 กรัม ผสมกับเต้าหู้ 60-120 กรัม หรือตุ๋นนำมาทานแก้ได้
ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ ใช้ต้นสด 30 กรัมต้มผสมน้ำดื่ม
นิ่ว ใช้ต้นสด 90 กรัม ต้มผสมกับเนื้อหมู 120 กรัม ใส่เกลือเล็กน้อยทาน 4 ครั้ง
ทอนซิลอักเสบ หรือเจ็บคอ ให้ใช้ต้นที่แห้ง 6 กรัมนำมาแช่น้ำร้อน 300 มล. ทิ้งไว้ประมาณครึ่งชั่วโมงแล้วดื่ม หรืออาจทำเป็นเม็ดทานก็ได้
ฝีบวมหรือฝีหนอง ใช้ต้นสดตำใส่เกลือ และน้ำส้มสายชู นำไปพอกตรงบริเวณที่เป็นนั้น[/su_quote]