แดง

แดง

ชื่อสมุนไพร : แดง
ชื่ออื่นๆ :
กร้อม (นครราชสีมา), คว้าย, ผ้าน (เชียงใหม่ กาญจนบุรี), ตะกร้อม สะกร๊อม (จันทบุรี), ปราน (สุรินทร์), ไปรน์ (ศรีสะเกษ), ไคว, เพร่, จะลาน, จาลาน (แม่ฮ่องสอน), ตะกร๊อม (จันทบุรี)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Xylia xylocarpa Taub. var. Kerrii Nielsen
ชื่อวงศ์ : LEGUMINOSAEMIMOSOIDEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นแดง ไม้ยืนต้น ผลัดใบ ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 15-30 ม. ลำต้นเรียวตรง กิ่งก้านลู่ลง เปลือกต้นเรียบสีเทาอมแดง เปลือกชั้นในสีชมพู เมื่อแก่เปลือกแตกร่อนมากที่โคนต้น กิ่งอ่อนยอดอ่อนมีขนสีน้ำตาลอ่อนประปรายหรือเกือบเกลี้ยง
  • ใบแดง ใบประกอบแบบขนนกสองชั้นปลายคู่ เรียงเวียน ก้านช่อใบรูปทรงกระบอก ยาว 4-7.5 ซม. มีขนประปราย ถึงหนาแน่น มีต่อมที่รอยต่อของก้านช่อ ใบย่อย หูใบรูปเส้นด้าย ยาวประมาณ 3 มม. ช่อใบย่อย 1 คู่ ยาว 10-30 ซม.แกนกลาง เป็นร่องตามยาว มีขนสั้นหนานุ่ม หรือเกือบเกลี้ยง มีต่อมระหว่างก้านใบย่อย ใบย่อย 3-6 คู่ เรียงตรงข้าม รูปไข่ถึงรูปรี กว้าง 1.8-6.5 ซม. ยาว 3.5-12.5 ซม. ปลายแหลม หรือเป็นติ่งหนาม โคนมนหรือกลม ขอบเรียบ ผิวด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนประปรายถึงมีขนกำมะหยี่ พบน้อยที่เกือบเกลี้ยง เส้นแขนงใบ ข้างละ 5-10 เส้น ก้านใบย่อย ยาว 2-3 มม.
  • ดอกแดง ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่นทรงกลม ไม่แตกแขนง ดอกสีเหลืองอ่อนเรียงอัดแน่นอยู่บนฐานดอก ขนาด 1.5-2 ซม. โคนเชื่อมติดกันที่ฐานดอก ออกที่ซอกใบและปลายกิ่ง ก้านช่อดอก ยาว 2.5-10 ซม. ประกอบด้วยดอกที่ไม่มีก้านจำนวนมาก ใบประดับรูปช้อน ยาว 2-3 มม. กลีบเลี้ยง ยาว3-3.5 มม. โคนเชื่อมกันเป็นรูปกรวย ปลายแยกเป็น 5 แฉก รูปไข่แกมรูปสามเหลี่ยมปลายแหลม ผิวด้านนอกมีขนสั้น หนานุ่ม กลีบดอก 5 กลีบ ยาว 3.5-4.5 มม. โคนเชื่อมเป็นหลอด ปลายแยก 5 แฉก รูปขอบขนานแคบ ปลายแหลม ผิวด้านนอก มีขนประปราย ถึงมีขนสั้นหนานุ่ม เกสรเพศผู้ 10  อัน แยกจากกันเป็นอิสระ ยาว 5-12 มม. อับเรณูไม่มีต่อม รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ยาว 2-2.5 มม. รูปขอบขนาน มีขนหนาแน่น
  • ผลแดง เป็นฝักแบน รูปไต หนาแข็ง สอบลงที่ฐาน โค้งงอที่ส่วนปลาย รูปร่างคล้ายบูมเมอแรง สีน้ำตาลแดง กว้าง 3.5-6 ซม. ยาว 9.5-10.5 ซม. โคนสอบ ผิวเรียบ แข็ง ฝักแก่แตกจากปลายลงสู่โคน แตกอ้าออกเป็น 2 ซีก ผนังของฝักที่แตกมักจะม้วนบิดงอ เมล็ด 7-10 เมล็ด รูปรีแบน กว้างประมาณ 7 มม. ยาวประมาณ 1 ซม.

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ดอก, เปลือกต้น, แก่น

สรรพคุณ แดง :

  • ดอก รสสุขุม แก้ไข้ บำรุงหัวใจ
  • เปลือกต้น รสฝาดร้อน สมาน ขับฟอกและบำรุงเลือด
  • แก่น รสฝาดร้อนขื่น ขับฝอกและบำรุงเลือด แก้กระษัยเลือดลม
Scroll to top