ชื่อสมุนไพร : มันแกว
ชื่ออื่นๆ :
หมากบ้ง (เพชรบูรณ์), เครือเขาขน, ถั่วกินหัว, ถั่วหัว, ถั้วบ้ง, ละแวก, มันละแวก, มันแกวละแวก, มันลาว, มันแกวลาว (ภาคเหนือ), มันเพา, มันเภา (ภาคอีสาน), มันแกว (ภาคกลาง), หัวแปะกัวะ (ภาคใต้), มะคะตุ๋ม (ไทลื้อ)
ชื่อสามัญ :
Yam bean, Jicama
ชื่อวิทยาศาสตร์ :  Pachyrhizus erosus (L.) Urb.
ชื่อวงศ์ :  FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นมันแกว เป็นพืชพื้นเมืองของประเทศเม็กซิโกและประเทศในแถบอเมริกากลาง โดยจัดเป็นพืชในตระกูลถั่วชนิดหนึ่ง ลำต้นมีขน เป็นไม้เถาเลื้อยพันต้นไม้อื่น แต่ไม่มีมือเกาะ ลำต้นอาจยาวได้ถึง 5.5 เมตร ต้นไม่แตกแขนง โคนต้นเนื้อแข็ง มีหัวใต้ดินเป็นรากสะสมอาหาร หัวมีลักษณะอวบและมีขนาดใหญ่
  • ใบมันแกว ใบเป็นประกอบแบบขนนก มีใบย่อย 3 ใบ แตกจากก้านใบ เรียงสลับ ก้านใบยาวประมาณ 10 เซนติเมตร ลักษะของใบย่อยเป็นรูปจักใหญ่หรือเป็นรูปสามเหลี่ยม ปลายใบแหลม โคนใบป้านมนเข้าหาเส้นกลางใบ แผ่นใบเรียบแต่สากมือ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 10 เซนติเมตร
    มันแกว
  • ดอกมันแกว ออกดอกเป็นช่อกระจะออกเดี่ยว ๆ ที่ซอกใบ มีขนสีน้ำตาล ช่อดอกยาวประมาณ 15-30 เซนติเมตร ลักษณะเป็นรูปดอกถั่วหรือรูปไต กลีบดอกเป็นสีม่วงแกมน้ำเงิน สีชมพู หรือสีขาว เมื่อดอกบานจะมีรูปร่างคล้ายดอกแค แต่มีขนาดเล็กกว่าและยาวประมาณ 2 เซนติเมตร
    มันแกว
  • ผลมันแกว ออกผลเป็นฝัก ลักษณะของฝักเป็นรูปขอบขนาน แบน และมีขนปกคลุมทั่วทั้งฝัก ฝักมีขนาดกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7-15 เซนติเมตร ฝักเมื่อแก่จะเรียบ ทั้งฝักมีเมล็ดเรียงกันอยู่ภายในประมาณ 4-10 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปจัตุรัสแบน เมล็ดเป็นสีน้ำตาลอ่อนถึงเข็มหรือสีแดง ผิวมัน

ส่วนที่ใช้เป็นยา : หัว, ใบ, เมล็ด

สรรพคุณ มันแกว :

  • หัว ช่วยทำให้เกิดน้ำหล่อเลี้ยง แก้กระหายน้ำ ร้อนกระสับกระส่าย ช่วยลดไข้ ดับพิษร้อนภายใน แก้อาการปวดศีรษะ หน้าแดง แก้ความดันโลหิตสูง เป็นยารักษาพิษสุราเรื้อรัง
  • ใบ เป็นยาถ่ายพยาธิ รักษาโรคผิวหนังกลากเกลื้อน
  • เมล็ด ใช้เมล็ดแก่นำมาป่น หรือบด ใช้ทาผิวหนังเป็นยารักษาโรคผิวหนัง กัดหูด

หัวมันแกว

ส่วนที่เป็นพิษ  มันแกวเป็นพืชที่มีหัวใต้ดินซึ่งรับประทานได้ แต่บางส่วนของมันแกวก็เป็นพิษได้เช่นกัน เช่น ใบและเมล็ดของมันแกวนั้นเป็นพิษ
สารพิษ : 
    ฝักอ่อนของมันแกวสามารถรับประทานได้ แต่เมื่อแก่จะเป็นพิษ โดยเฉพาะที่เมล็ดของมันแกวนั้น มีสารที่มีฤทธิ์เป็นยาฆ่าแมลง หลายชนิด ได้แก่ pachyrrhizin, pachyrrhizone, 12-(A)-hydroxypachyrrhizone, dehydropachyrrhizone, dolineone, erosenone, erosin, erosone , neodehydrorautenone, 12 -(A)-hydroxy lineonone, 12-(A)-hydroxymundu- serone (8), rotenone (9) นอกจากนี้ยังมีสารซาโปนิน ได้แก่ pachysaponins A และ B ซึ่งละลายน้ำได้ และเป็นพิษต่อปลาทำให้ปลาตาย ส่วนใบของมันแกวนั้นมีสารพิษคือ pachyrrhizid ซึ่งมีพิษต่อโคและกระบือมากกว่าม้า 

การเกิดพิษ มันแกว : 

ใบ และเมล็ด เมื่อศึกษาพิษของ rotenone พบว่า ถ้ารับประทาน rotenone เข้าไป จะทำให้เกิดอาการระคายเคืองในระบบทางเดินอาหาร คลื่นไส้ อาเจียน การหายใจเข้าไปพิษจะรุนแรงกว่า โดยไปกระตุ้นระบบการหายใจ ตามด้วยการกดการหายใจ ชัก และอาจถึงชีวิตได้  มีรายงานว่าถ้ารับประทานเมล็ดมันแกวเพียงครึ่งเมล็ดจะเป็นยาระบาย และบางแห่งใช้เป็นยาขับพยาธิ ดังนั้นจึงควรระมัดระวัง นอกจากนี้อาจเกิดอาการพิษเรื้อรัง โดยทำให้ไขมันในตับและไตเปลี่ยนแปลง ส่วนพิษของสารซาโปนิน จะมีผลต่อระบบทางเดินอาหารเช่นกัน คือมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ลำไส้อักเสบ ในรายที่เป็นรุนแรงอาจมีปัญหาในระบบกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง ไม่สามารถทรงตัวได้ ระบบไหลเวียนโลหิตผิดปกติและทำให้ชักได้

การรักษา 
ล้างท้อง ให้รับประทานพวก demulcents เช่น นมและไข่ขาว ระวังการเสีย น้ำและ electrolyte balance ถ้าสูญเสียมากต้องให้น้ำเกลือ ทางเส้นเลือด

Previous articleม้ากระทืบโรง
Next articleมังตาล