ผักกาดกบ

ผักกาดกบ

ชื่อสมุนไพร : ผักกาดกบ
ชื่ออื่น ๆ
: คำโคก ผักกาดดง ผักกาดนกเขา หนาดแห้ง ผักกาดดิน ดาวเรือง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Gynura pseudochina (L.) DC. (Asteraceae, Compositae)
ชื่อวงศ์ : Compositae

 ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นผักกาดกบ พืชล้มลุก อายุหลายปี ลำต้นสั้น เป็นเหลี่ยม อวบน้ำ  ตั้งตรง มีเหง้าใต้ดินขนาดใหญ่ ปลายยอดมีขนสั้นนุ่มปกคลุม สูง 10-50 เซนติเมตร
  • ใบผักกาดกบ ใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับชิดกัน เป็นกระจุกแบบกุหลาบซ้อน มักเรียงชิดกันเป็นกลุ่มที่โคนผักกาดกบลำต้น แผ่นใบรูปไข่กลับ หรือรูปขอบขนาน กว้าง 1.5-5 เซนติเมตร ยาว 10-15 เซนติเมตร ปลายมนหรือแหลม โคนสอบเรียวแคบ ขอบใบจักเว้าลึก แบบซี่ฟัน มีขนสั้นๆ ผิวใบด้านบนมีสีม่วงสลับกับเขียว มีขนสั้นกระจาย แผ่นใบหนา ใบอวบน้ำ เส้นแขนงใบข้างละ 10-12 เส้น ก้านใบสั้นหรือไม่มีก้านใบ
  • ดอกผักกาดกบ ดอกออกเป็นช่อแบบช่อกระจุกแน่นแยกแขนง ออกที่ซอกใบและปลายยอด กลีบดอกสีเหลือง รูปหลอด ยาว 10-12 มิลลิเมตร ปลายแยกเป็น 5 แฉก ปลายแฉกด้านหลังมีปุ่มเล็ก มี 60-70 ดอก ก้านช่อ ยาว 30-50 เซนติเมตร ฐานดอกแบน ทั้งก้านช่อดอกและก้านช่อกระจุกแน่นมีขนสีขาวหนาแน่น เกสรเพศผู้ มี 5 อัน อับเรณูปลายมน เกสรเพศเมีย มีขนสั้น รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ รูปทรงกระบอก เกลี้ยง วงใบประดับมี 2 ชั้น ชั้นนอกแยกกัน รูปแถบ ยาว 1-4 มิลลิเมตรวงใบประดับวงใน 10-15 ใบ รูปใบหอก ยาว 10-12 มิลลิเมตร ปลายแหลม มีขนประปราย หรือเกือบเกลี้ยงตรงกลางใบ
  • ผลผักกาดกบ ผลแห้ง รูปทรงกระบอก ยาวประมาณ 2.5 มิลลิเมตร แพปพัส ยาว 7-9 มิลลิเมตร ร่วงง่าย มีรยางค์ 10 เส้น เมล็ดล่อน พบตามป่าโปร่งในป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ออกดอกช่วงเดือน กุมภาพันธ์ ถึง พฤษภาคม

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ทั้งต้น ใบ

สรรพคุณ ผักกาดกบ :

  • ทั้งต้น รสเฝื่อนเย็น  เป็นยาบรรเทาอาการปวดและบวม เป็นยาพอกเนื้องอกที่เต้านม แก้โรคไฟลามทุ่ง
  • ใบ รสเฝื่อนเย็น น้ำคั้นใบเป็นยาอมกลั้วคอ แก้เจ็บคอ เหง้า รสเฝื่อน ปรุงเป็นยาแก้ช้ำใน เป็นยาห้ามเลือด แก้โรคบิด รักษาแผลอักเสบ รักษามดลูก แก้มดลูกอักเสบ ชงร่วมกับชาดื่มหลังคลอด ขับประจำเดือน แก้ไข้ รากและใบสด ตำพอกแก้ปวดบวม
Scroll to top