ขิง

ขิง

ชื่อสมุนไพร : ขิง
ชื่ออื่น ๆ 
: ขิงแดง , ขิงแกลง (จันทบุรี) ขิงบ้าน , ขิงแครง , ขิงป่า , ขิงเขา , ขิงดอกเดียว (ภาคกลาง) , ขิงเผือก (เชียงใหม่) , สะแอ (แม่ฮ่องสอน-กระเหรี่ยง) , เกีย (จีนแต้จิ๋ว)
ชื่อสามัญ : Ginger
ชื่อวิทยาศาสตร์ Zingiber officinale  Roscoe.
ชื่อวงศ์ ZINGIBERACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นขิง เป็นพรรณไม้ล้มลุก มีลำต้นอยู่ใต้ดินซึ่งเรียกว่าเหง้า ลำต้นจะมีความสูงประมาณ 50-100 เซนติเมตร ลักษณะเหง้าที่อยู่ใต้ดินจะกลมและแบน ลำต้นแท้จะมีลัษณะเป็นข้อ ๆ เนื้อในจะเป็นสีขาวหรือเหลืองอ่อน สุดท้ายของข้อนั้นจะเป็นยอดหรือต้นเทียมใหญ่เท่าแท่งดินสอดำ และกาบหรือโคนใบหุ้ม
  • ใบขิง เป็นชนิดใบเดี่ยว จะออกสลับกันเป็นสองแถว ก้านใบนั้นจะยาวห่อหุ้มลำต้น ใบเขียวยาวรูปหอก ฐานใบนั้นเรียวแหลม ขอบใบจะเรียบ มีความกว้างประมาณ 2 เซนติเมตร ยาวประมาณ 20 เซนติเมตร รูปใบคล้ายใบไพล
  • ดอกขิง จะออกรวมกันเป็นช่อจากลำต้นใต้ดิน ซึ่งจะแท่งขึ้นมาจากเหง้า มีก้านช่อดอกยาวประมาณ 20 เซนติเมตร ทุก ๆ ดอกมีกาบสีเขียวปนแดงลักษณะโค้ง ๆ ห่อรองรับ กาบนั้นจะปิดแน่นเมื่อดอกยังอ่อน และจะบานให้เห็นดอกในภายหลัง ดอกที่ปิดกันแน่นนั้นจะยาวประมาณ 5 เซนติเมตร กว้างประมาณ 2.5 เซนติเมตร กลีบดอกจะติดกันแน่นยาวประมาณ 2 เซนติเมตร และมีสีเหลืองออกเขียวส่วนกลีบรองดอกจะยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร เป็นเยื่อบาง ๆ หุ้มอยู่ และมีกลีบเลี้ยงติดกันเป็นหลอดยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ทั้งกลีบดอกและกลีบรองดอกนั้น ตรงปลายของมันจะแยกเป็น 3 กลีบ สามารถอุ้มน้ำ และหลุดร่วงไว โคนกลีบดอกม้วนห่อ ส่วนตรงปลายของกลีบจะผายกว้างออก เกสรจะมีอยู่ 6 อัน เกสรตัวผู้ที่ฝ่อไปมีสีม่วงแดง และจะมีจุดสีเหลือง คล้ายลิ้น ตรงปลาย จะมนกลมสั้นกว่ากลีบดอก ส่วนที่มีลักษณะคล้ายลิ้นนั้นมีก้านเกสรตัวเมียอยู่ 1 อัน และมีอับเรณูล้อมรอบรังไข่ มีอยู่ 3 ห้อง
  • เมล็ดขิง (ผล)  จะมี 3 พู ภายในเมล็ด ผลจะกลม ผลโตและแข็งแรง วัดผ่าศูนย์กลางได้ประมาณ 1 เซนติเมตร
  • เหง้าขิง เมื่อแก้จะมีรสเผ็ดร้อนมาก เนื้อเหง้าขิงสีเนื้ออมเหลือง ๆ

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ต้น, ใบ, ดอก, ผล, ราก, เหง้า, เปลือกเหง้า, น้ำมันระเหย

สรรพคุณ ขิง :

  • เหง้าแก่สด ยาแก้อาเจียน ยาขมเจริญอาหาร ยาแก้ท้องขึ้น ท้องอืดเฟ้อ ขับลม แก้ไอ ขับเสมหะ บำรุงธาตุ สามารถต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ลดอาการจุกเสียดได้ดี มีฤทธิ์ในการขับน้ำดี เพื่อย่อยอาหาร แก้ปากคอเปื่อย แก้ท้องผูก ลดความดันโลหิต
  • ต้น ขับผายลม แก้จุกเสียดแน่นเฟ้อ แก้นิ่ว บำรุงไฟธาตุ แก้คอเปื่อย ช่วยย่อยอาหาร ฆ่าพยาธิ แก้โรคตา แก้บิด แก้ลมป่วง แก้ท้องร่วงอย่างแรง แก้อาเจียน
  • ใบ รสเผ็ดร้อน บรรเทาอาการแก้ฟกช้ำจากการหกล้ม กระทบ กระแทก แก้โรคกำเดา ขับผายลม แก้นิ่ว แก้คอเปื่อย บำรุงไฟธาตุ ช่วยย่อยอาหาร ฆ่าพยาธิ แก้โรคตา ขับลมในลำไส้ แก้ขัดปัสสาวะ แก้โรคตา ใช้ร่วมกับสมุนไพรอื่น เช่น มะขามแขก กานพลู ต้มเอาน้ำดื่ม เป็นยาระบายชนิดกระตุ้นลำไส้ใหญ่ให้บีบตัว
  • ดอก รสฝาดร้อน ทำให้ชุ่มชื่น แก้โรคตาแฉะ ฆ่าพยาธิ ช่วยย่อยอาหาร แก้คอเปื่อย บำรุงไฟธาตุ แก้นิ่ว แก้เบาขัด แก้บิด แก้ขัดปัสสาวะ โรคประสาทซึ่งทำใจให้ขุ่นมัว
  • ผล (เมล็ด) รสหวานเผ็ด รักษาอาการไข้ บำรุงน้ำนม บรรเทาอาการคอแห้ง เจ็บคอ แก้ตาฟาง เป็นยาอายุวัฒนะ, ใช้ผสมกับสมุนไพรอื่น แก้หนองใน ตาต้อกระจก ตาฟาง ตามืด วิงเวียนศีรษะ โรคประสาทพิการ ปวดเอว การมีบุตรยากของสตรี
  • ลำต้นเหนือดิน รสเผ็ดร้อน ขับลมลำไส้ แก้ท้องร่วง จุกเสียด
  • เหง้า (ลำต้นใต้ดิน) รสหวานเผ็ดร้อน ขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้คลื่นไส้อาเจียน ขับปัสสาวะ บำรุงธาตุ แก้หอบ รักษาบิด และรักษาพิษจากปู ปลา นก เนื้อสัตว์อื่นๆ ต้มดื่มแก้ไอ ขับเสมหะ ช่วยขยายหลอดเลือดใต้ผิวหนังทำให้เหงื่อออก ปรับอุณหภูมิในร่างกายให้รู้สึกกระชุ่มกระชวย ให้ปรุงกับสมุนไพรอื่นเป็นยาคุมธาตุได้ดี และช่วยย่อยอาหาร ใช้เหง้าสดโขลกผสมกระเทียม เกลือ มะนาว รับประทานขับน้ำคาวปลาในสตรีที่คลอดบุตรใหม่ และขับลม บรรเทาอาการปวดท้องเกร็ง ป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ป้องกันการเมารถเมาเรือได้ดีกว่ายาแผนปัจจุบัน
  • เปลือกเหง้า รสเผ็ดร้อน เปลือกเหง้าแห้งต้มน้ำดื่มเป็นยาขับปัสาวะ ขับลม รักษาอาการท้องอืด แน่นจุกเสียด อาการบวมน้ำ หรือใช้เป็นยาภายนอกทารักษาโรคผิวหนัง กลากเกลื้อน และแผลมีหนอง
  • ราก รสหวานเผ็ดร้อนขม ขับลม ฆ่าพยาธิ และเจริญอาหาร แก้เสมหะ แก้บิด แก้พรรดดึก บำรุงเสียงให้เพราะ ทำให้ผิวหนังสดชื่น แก้นิ่ว แก้ไอ รักษาบิดตกเป็นโลหิตสีขมิ้น

ข้อมูลเพิ่มเติม :

           ตำรายาไทย: ใช้เหง้าขิง รักษาอาการท้องอืด เฟ้อ เสียดท้อง อาหารไม่ย่อย ปวดเกร็งช่องท้อง แก้คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ช่วยกระตุ้นความอยากอาหาร รักษาอาการหวัด รักษาอาการปวดศีรษะเนื่องจากไมเกรน และรักษาอาการปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ บำรุงธาตุไฟ ฆ่าพยาธิ สรรพคุณโบราณ ขิงแห้ง แก้ไข้ แก้ไอ ขับเสมหะ ขับเหงื่อ แก้หอบ แก้ลม แก้จุกเสียด แก้เสมหะ บำรุงธาตุ แก้คลื่นเหียน อาเจียน ส่วนขิงสด ใช้แก้ปวดท้อง บำรุงธาตุ ขับลมในลำไส้ให้ผายลมและเรอ แก้อาเจียน ยาขมเจริญอาหาร ขับน้ำดีช่วยย่อยอาหาร แก้ปากคอเปื่อย แก้ท้องผูก ลดความดัน

           มีการใช้เหง้าขิงใน “พิกัดจตุวาตะผล” คือการจำกัดจำนวนตัวยาแก้ลม ประกอบด้วยผล 4 อย่าง คือ เหง้าขิงแห้ง กระลำพัก อบเชยเทศ และโกฐหัวบัว มีสรรพคุณแก้ไข้ แก้พรรดึก แก้ตรีสมุฏฐาน ขับผายลม บำรุงธาตุ แก้ลมกองริดสีดวง “พิกัดเบญจกูล” คือการจำกัดจำนวนตระกูลยาที่มีรสร้อน 5 อย่าง มี เหง้าขิงแห้ง ดอกดีปลี รากช้าพลู เถาสะค้าน รากเจตมูลเพลิง มีสรรพคุณกระจายกองลมและโลหิต แก้คูถเสมหะ แก้ลมพานไส้ บำรุงกองธาตุทั้ง 4 ให้บริบูรณ์ ”พิกัดตรีรัตตะกุลา (ตรีสัตกุลา)” คือการจำกัด ตัวยาอันสามารถ 3 อย่าง ประกอบด้วย เหง้าขิงสด ผลผักชี และเทียนดำ ใช้อย่างละเท่าๆกัน ในการบำรุงธาตุไฟ ขับลมในลำไส้ แก้อาการธาตุ นอกจากนี้บัญชียาจากสมุนไพร ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา (ฉบับที่ 5) ปรากฏการใช้ขิงแห้ง ในยารักษาอาการโรคในระบบต่างๆของร่างกาย รวม 3 ตำรับ คือ

           ยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) ปรากฏตำรับ ”ยาหอมนวโกฐ” มีส่วนประกอบของขิงแห้ง ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณในการแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง

           ยารักษากลุ่มอาการทางระบบทางเดินอาหาร ปรากฏตำรับ “ยาธาตุบรรจบ” มีส่วนประกอบของขิง ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณ บรรเทาอาการท้องอืดเฟ้อ และตำรับ “ยาประสะกานพลู” มีส่วนประกอบของขิงแห้ง ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดท้อง จุกเสียด แน่นเฟ้อจากอาหารไม่ย่อย เนื่องจากธาตุไม่ปกติ นอกจากนี้ยังจัดอยู่ในบัญชียาพัฒนาจากสมุนไพรที่สามารถใช้เดี่ยว เพื่อบรรเทาอาการท้องอืด จุกเสียด แน่นท้อง ป้องกันและบรรเทาอาการคลื่นไส้ อาเจียนจากการเมารถ เมาเรือ ป้องกันอาการคลื่นไส้ อาเจียน หลังการผ่าตัด
ทางสุคนธบำบัด ใช้น้ำมันหอมระเหยจากขิง บรรเทาอาการเหนื่อยล้าของจิตใจโดยจะทำให้เกิดอาการตื่นตัว และรู้สึกอบอุ่น ช่วยเพิ่มความจำ กระตุ้นการไหลเวียนเลือด บรรเทาอาการปวดรูมาตอยด์ ปวดกล้ามเนื้อ เคล็ดขัดยอก

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ขิง

  • แก้หวัดแก้ไอ ใช้เหง้าขิงสดอายุ 11-12 เดือน ขนาดเท่าหัวแม่มือ หนักประมาณ 5 กรัม ทุบให้แตก แล้วต้มเอาน้ำมาดื่ม ถ้ามีอาการไอร่วมด้วยก็อาจผสมน้ำผึ้งในน้ำขิง หรืออาจเหยาะเกลือลงในน้ำขิงเล็กน้อยหากมีอาการไอร่วมกับเสมหะ เกลือจะทำให้ระคายคอและขับเสมหะที่ติดในลำคอออกมา จิบน้ำขิง บ่อยๆ แทนน้ำ รับรองอาการหวัดหายเป็นปลิดทิ้ง
  • แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ จุก เสียดแน่น แก้ปวดท้อง นำขิง 30 กรัม ชงกับน้ำเดือด 500 มิลลิลิตร แช่ทิ้งไว้ 1 ชั่วโมง ดื่มครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะ (60 มิลลิลิตร) ใช้ ขิงแก่ต้มกับน้ำ รินน้ำดื่ม
  • แก้โรคจุกเสียด ทำให้หลับสบาย ขิงแก่ยาว 2 นิ้ว ทุบพอแหลก เทน้ำเดือดลงไปครึ่งแก้ว ปิดฝา ตั้งทิ้งไว้นาน 5 นาที รินเอาแต่น้ำมาดื่มระหว่างอาหารแต่ละมื้อ ใช้ผงขิงแห้ง 1 ช้อนโต๊ะปาดๆ หรือ 0.6 กรัม ถ้าขิงแก่สดยาวประมาณ 1 องคุลี หรือประมาณ 5 กรัม ต้มกับน้ำ เติมน้ำตาลดื่มทุกๆ วัน ถ้าเป็นผงขิงแห้งให้ชงน้ำร้อน เติมน้ำตาลดื่ม
  • แก้ไอ ใช้เหง้าสดประมาณ 60 กรัม น้ำตาลทรายแดง 30 กรัม ใส่น้ำ 3 แก้ว นำไปต้มเคี่ยวให้เหลือครึ่งแก้ว แล้วจิบตอนอุ่นๆ หรือใช้ฝนกับมะนาวแทรกเกลือใช้กวาดคอหรือจิบบ่อยๆ ในกรณีที่ต้องการใช้ขับเสมหะ คั้นน้ำขิงสดประมาณครึ่งถ้วย ผสมน้ำผึ้ง 30 กรัม อุ่นให้ ร้อนก่อนดื่ม ส่วนในรายที่ไอเรื้อรัง ใช้น้ำผึ้งประมาณ 500 กรัม น้ำคั้นจากเหง้าสดประมาณ 1 ลิตรนำมาผสมกันแล้วเคี่ยวในกระทะทองเหลือง (ถ้าไม่มีอาจใช้กระทะสแตนเลสที่ทนกรดทนด่างได้ แต่ ไม่ควรใช้กระทะเหล็ก) จนน้ำระเหยไปหมดจึงนำมาปั้นเป็นลูกกลอนเท่าเม็ดลูกพุทราจีน ให้อมกินครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง
  • ทาปวดข้อ ใช้น้ำคั้นจากเหง้าสด ผสมกาวหนังวัว เคี่ยวให้ข้น นำไป พอกบริเวณที่ปวด หรือใช้เหง้าสดย่างไปตำ ผสมน้ำมัน มะพร้าวใช้ทาบริเวณที่ปวด
  • แก้คลื่นไส้ อาเจียน ขิงสด 30 กรัมสับให้ละเอียด ต้มดื่มขณะท้องว่าง ใช้ขิงแก่สด หรือแห้ง ขิงสดขนาดหัวแม่มือ (ประมาณ 5 กรัม) ทุบให้แตก ถ้าแห้ง 5-7 ชิ้น ต้มกับน้ำดื่ม นำขิงสด 3 หัว หัวโตยาวประมาณ 5 นิ้ว ใส่น้ำ 1 แก้ว ต้มจนเหลือ 1/2 แก้ว (ประมาณ 15-20 นาที หลังจากเดือดแล้ว) รินเอาน้ำดื่ม
  • แก้ปวดประจำเดือน ขิงแห้ง 30 กรัม น้ำตาลอ้อย (หรือน้ำตาลทรายแดง) 30 กรัม ต้มน้ำดื่ม
  • เด็กเป็นหวัดเย็น เอาขิงสดและรากฝอยต้นหอมตำรวมกัน เอาผ้าห่อคั้นเอา แต่น้ำทาที่คอ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า หน้าอก และหลังของเด็ก
  • ผมร่วงหัวล้าน ใช้เหง้าสด นำไปผิงไฟให้อุ่น ตำพอกบริเวณที่ผมร่วง วันละ 2 ครั้ง สัก 3 วัน ถ้าเห็นว่า ดีขึ้นอาจจะใช้พอกต่อไปจน กว่าผมจะขึ้น
  • ยาขมเจริญอาหาร ใช้เหง้าสดประมาณ 1 องคุลี ถ้าผงแห้งใช้ 1/2 ช้อนโต๊ะ หรือประมาณ 0.6 กรัม ผงขิงแห้งชงกับน้ำดื่ม เหง้าสดต้มน้ำ หรือปรุงอาหาร เช่น ผัด หรือรับประทานสดๆ เช่น กับลาบ แหนม และอื่นๆ
  • ลดความดันโลหิต ใช้ขิงสดเอามาฝานต้มกับน้ำรับประทาน

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. หญิงมีครรภ์ไม่ควรกินมาก เพราะในทางการแพทย์ตะวันออกจัดว่าขิงเป็นยาร้อน การแพทย์ตะวันออกเชื่อว่าการกินยาร้อนมากเกินไปอาจทำให้แท้งได้ เช่น คนสมัยก่อนจะใช้ขิง ดีปลี กระเทียม ดองเหล้าเป็นยาขับประจำเดือน
  2. การต้มน้ำขิงด้วยความร้อนจะทำให้สาระสำคัญบางอย่างที่ออกฤทธิ์รักษาอาการปวดข้อสลายตัวไปได้
  3. ถ้าใช้น้ำสกัดจากขิงที่เข้มข้นมากๆ แทนที่จะช่วยแก้อาการท้องอืดเฟ้อ จุกเสียด จะมีฤทธิ์ตรงข้ามคือไประงับการบีบตัวของลำไส้จนอาจถึงกับหยุดบีบตัวไปเลย
  4. เคล็ดลับในการต้มน้ำขิงให้หอมอร่อย คือ ให้ใช้เวลาต้มสั้นๆ ไม่เกิน 2 – 5 นาที เพราะกลิ่นของขิงจะหายไปหมดหากตั้งไฟนาน
  5. คนที่เป็น “หวัดเย็น” คือ รู้สึกหนาว มีไข้ต่ำ ไม่ค่อยมีเหงื่อ เสมหะเหลวใส ลองดื่มน้ำขิงต้มร้อนควันฉุย จะช่วยให้อาการดีขึ้น
  6. คนที่เป็น “หวัดร้อน” คือ มีอาการปวดหัว ตัวร้อน เหงื่อออก คอแห้ง เจ็บคอ เสมหะเหนียวข้น สีออกเหลืองนั้น ขิงไม่เพียงช่วยไม่ได้ แต่ยังอาจทำให้อาการทรุดลงด้วย
  7. การกินให้ปลอดภัย ควรซื้อแบบเป็นแง่งจะดีกว่าแบบซอยมาให้แล้ว เพราะเสี่ยงกับการได้รับสารฟอกขาวจำพวกซัลไฟต์ แต่ถ้าจำเป็นให้เลือกซื้อ ขิงซอยที่มีสีขาวอมชมพูเล็กน้อย จะปลอดภัยกว่าสีขาวซีดหรือเหลืองจัด
  8. ไม่ควรใช้ขิงในผู้ที่มีนิ่วในถุงน้ำดี เนื่องจากขิงมีฤทธิ์ขับน้ำดี ถ้าหากจะใช้ขิงจึงควรระมัดระวังในการใช้และอยู่ในความดูแลของแพทย์
  9. การใช้ขิงในขนาดสูง อาจเพิ่มฤทธิ์การรักษาของยาละลายลิ่มเลือด ดังนั้นผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการจับตัวของเกล็ดเลือด ควรระมัดระวังการ กินขิง และควรแจ้งให้แพทย์ทราบ
  10. การกินขิงในขนาดสูง อาจเกิดอาการหัวใจเต้นไม่ปกติ เนื่องจากฤทธิ์การกดประสาทส่วนกลางของขิง
  11. ขิงอาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ จึงควรระมัดระวังการใช้ในคนที่เป็นโรคกระเพาะอาหาร

           ขิงเป็นพืชที่มีความสำคัญทางอาหารเนื่องมีธาตุฟอสฟอรัสและวิตามิน เอ สูงและยังช่วยในการปรับปรุงรสชาติอาหาร คนโบราณนำส่วนต่างๆ ของขิง ได้แก่ แง่งขิง เปลือกขิง น้ำมันหอมระเหยและใบ สดๆ มาใช้เป็นยาสมุนไพร เพื่อรักษาโรคชนิดต่างๆ
           การใช้เป็นอาหาร ขิงนำมาทำอาหารได้หลากหลาย ขิงอ่อนใช้เป็นผักจิ้ม ใช่ทำผัดขิง ใสในยำเช่นยำหอยแครง ใส่ในแกงฮังเล น้ำพริก กุ้งจ่อม ซอยใส่ในต้มส้มปลา เมี่ยงคำ ไก่สามอย่าง ใช้ทำขิงดอง ใส่ในบัวลอยไข่หวานเพื่อดับกลิ่นคาวไข่ ทำเป็นอาหารหวาน เช่น น้ำขิง เต้าฮวย ขิงแช่อิ่ม ขนมปังขิง และยังทำเป็นขิงผงสำเร็จรูป สำหรับชงดื่มได้อีกด้วย

Scroll to top