กกธูปฤาษี

กกธูปฤาษี

ชื่อสมุนไพร :         กกธูปฤาษี
ชื่ออื่นๆ
:               กกช้าง, กกธูป, เฟื้อ, เฟื้อง, หญ้าเฟื้อง, หญ้ากกช้าง, หญ้าปรือ (ภาคกลาง), หญ้าสลาบหลวง, หญ้าสะลาบหลวง (ภาคเหนือ), ปรือ (ภาคใต้)
ชื่อสามัญ :            Bulrush, Cattail, Cat-tail, Elephant grass, Flag, Narrow-leaved Cat-tail, Narrowleaf cattail, Lesser reedmace, Reedmace tule
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Typha angustifolia Linn.
ชื่อวงศ์ :               TYPHACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นกกธูปฤาษี จัดเป็นไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี เหง้ากลม แทงหน่อขึ้นเป็นระยะสั้นๆ ลำต้นตั้งตรง มีความสูงประมาณ 1.5-3 เมตร เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ชุ่มน้ำ
    กกธูปฤาษี กกธูปฤาษี
  • ใบกกธูปฤาษี  ลักษณะเป็นใบเดี่ยว มีกาบใบเรียงสลับในระนาบเดียวกัน ใบเป็นรูปแถบ มีความกว้างประมาณ 1.2-1.8 เซนติเมตร และยาวประมาณ 50-120 เซนติเมตร แผ่นใบด้านบนมีลักษณะโค้งเล็กน้อยเพราะมีเซลล์หยุ่นตัวคล้ายฟองน้ำหมุนอยู่กลางใบ ส่วนด้านล่างของใบแบน
    กกธูปฤาษี
  • ดอกกกธูปฤาษี ลักษณะดอกเป็นช่อแบบเชิงลดลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก ช่วงดอกเพศผู้มีความยาวประมาณ 8-40 เซนติเมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางช่อประมาณ 0.2-0.7 เซนติเมตร และมีใบประดับประมาณ 1-3 ใบ หลุดร่วงได้ ส่วนช่วงดอกเพศเมียจะมีความยาวประมาณ 5-30 เซนติเมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของช่อประมาณ 0.6-2 เซนติเมตร มักแยกออกจากส่วนดอกเพศผู้ด้วยส่วนของก้านช่อดอกที่เป็นหมันที่มีความยาวประมาณ 2.5-7 เซนติเมตร ดอกมีขนาดเล็ก ไม่มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอก เกสรเพศผู้ส่วนมากแล้วจะมี 3 อัน มีขนขึ้นล้อมรอบ ก้านเกสรเพศผู้จะสั้น
  • ผลกกธูปฤาษี มีขนาดเล็กมาก เมื่อแก่จะแตกตามยาว ลักษณะเป็นรูปรี

ส่วนที่ใช้เป็นยา  : ลำต้น, อับเรณู, ราก, เหง้า, ลำต้นใต้ดิน

สรรพคุณ กกธูปฤาษี :

  • ลำต้น เป็นยารักษาโรคทางเดินปัสสาวะ ยาบำบัดโรคบางชนิด ช่วยขับปัสสาวะ ช่วยเพิ่มน้ำนมของสตรีหลังการคลอดบุตร
  • อับเรณู  เป็นยารักษาโรคทางเดินปัสสาวะ
  • ราก  เป็นยาบำบัดโรคบางชนิด ช่วยขับปัสสาวะ
  • เหง้าและราก ขับปัสสาวะ
  • ลำต้นใต้ดินและราก เป็นยาขับปัสสาวะ

การขยายพันธุ์

โดยการที่เมล็ดปลิวไปตามลม เมล็ดมีขนอ่อนนุ่ม มีอาณาเขตการกระจายพันธุ์อยู่ทั่วโลกในเขตร้อนและเขตอบอุ่น สำหรับประเทศไทยพบในทุกภูมิภาค ขึ้นตามพื้นที่ชุ่มน้ำ พบได้ทั่วไป สามารถควบคุมการขยายพันธุ์ได้โดยวิธีเขตกรรม (cultural control) การไถพรวน เตรียมดิน เตรียมพื้นที่ปลูกพืชในขณะเดียวกันก็เป็นการกำจัดวัชพืชไปพร้อม ๆ กัน การไถพรวนควรกระทำสองครั้ง ครั้งแรกเมื่อไถพรวนแล้ว ตากแดดทิ้งไว้ให้เศษของธูปฤๅษีแห้งตาย แต่เมล็ดจะสามารถงอกขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งได้ จึงทำให้ทำการพรวนดินอีกครั้งหนึ่ง เพื่อกำจัดเมล็ดวัชพืชที่งอกขึ้นมาในภายหลัง หรือโดยการออกกฎหมายควบคุมวัชพืช (legislative control) โดยการห้ามนำเข้าธูปฤๅษี หรือสิ่งของต่าง ๆ ซึ่งอาจจะมีเมล็ดธูปฤๅษีปะปนมา

ประโยชน์

ใบยาวและเหนียวนิยมใช้ทำเครื่องจักสาน เช่น เสื่อ ตะกร้า ใช้มุงหลังคา และทำเชือก ดอกแก่จัดมีขนปุยนุ่มมือลักษณะคล้ายปุยนุ่นจึงนิยมใช้แทนนุ่น ยอดอ่อนกินได้ทั้งสดและทำให้สุก ช่อดอกปิ้งกินได้ แป้งที่ได้จากลำต้นใต้ดินและรากใช้บริโภคได้เช่นกัน ในอินเดียเคยใช้ก้านช่อดอกทำปากกา และเชื่อว่าลำต้นใต้ดินและรากใช้เป็นยาบำบัดโรคบางชนิด เช่น ขับปัสสาวะ เยื่อ (pulp) ของต้นกกช้างนำมาใช้ทำใยเทียม (rayon) และกระดาษได้ มีเส้นใย (fibre) ถึงร้อยละ 40 เส้นใยนี้มีความชื้นร้อยละ 8.9 เซลลูโลส (cellulose) ร้อยละ 63 เฮมิเซลลูโลส (hemicellulose) ร้อยละ 8.7 ลิกนิน (lignin) ร้อยละ 9.6 ไข (wax) ร้อยละ 1.4 และเถ้า (ash) ร้อยละ 2 เส้นใยมีสีขาวหรือน้ำตาลอ่อน นำมาทอเป็นผ้าใช้แทนฝ้ายหรือขนสัตว์ สามารถนำมาใช้เป็นพืชคลุมดิน เพื่อลดการพังทลายของหน้าดิน เนื่องจากมีระบบรากที่ดี

กกช้างมีปริมาณโปรตีนและคาร์โบไฮเดรตค่อนข้างสูง กากที่เหลือจากการสกัดเอาโปรตีนและคาร์โบไฮเดรตออกแล้วใช้แบคทีเรียที่ไม่ใช้ออกซิเจน (anaerobic bacteria) ย่อย จะให้แก๊สมีเทน (methane) ซึ่งใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ ผลของกกช้างมี long chain hydrocarbon 2 ชนิด คือ pentacosane 1-triacontanol สารพวก phytosterol 2 ชนิด คือ B – sitosterol และ B-sitosteryl-3-0-B-D-glucopyranoside กกช้างสามารถกำจัดไนโตรเจนจากน้ำเสียในที่ลุ่มต่อไร่ได้ถึง 400 กก. ต่อปี และสามารถดูดเก็บโพแทสเซียมต่อไร่ได้ถึง 690 กก. ต่อปี จึงเป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่จะมีบทบาทเป็นพืชเศรษฐกิจในอนาคต

ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น

ธูปฤๅษีจัดเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่เข้ามาแพร่ระบาดรุกรานจนก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศในประเทศไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบในที่ลุ่มทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม ผลเสียที่เกิดจากธูปฤๅษีต่อสภาพแวดล้อม ทำให้เกิดน้ำเสียในแหล่งน้ำต่าง ๆ ส่งกลิ่น​เหม็นไปรอบ ๆ สร้างความรำคาญแก่ผู้สัญจร และผู้อยู่อาศัยบริเวณนั้น ขึ้นอย่างหนาแน่นปกคลุมเนื้อที่ได้มาก ทำให้มีลักษณะเป็นที่รก และสกปรกทำให้สัตว์มีพิษเข้าไปอาศัยอยู่ได้ เป็นแหล่งหลบซ่อนอาศัยของโรค แมลง และศัตรูพืช แย่งน้ำและอาหารจากพืชปลูก ทำให้ผลผลิตและคุณภาพผลผลิตลดลง นอกจากนี้ ยังทำให้แหล่งน้ำตื้นเขิน รากและซากธูปฤๅษีทับถมกันแน่น สัตว์น้ำไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ และเมื่อทับถมไปนาน ๆ จะทำให้เกิดน้ำเสีย น้ำเน่า ขาดออกซิเจน สัตว์น้ำก็จะตาย และเนื่องจากธูปฤๅษีขึ้นปกคลุมอยู่อย่างแน่นทึบ ทำให้พรรณพืชดั้งเดิม เช่น กกและหญ้าหลายชนิด ไม้ล้มลุก รวมทั้งไม้พุ่มที่ขึ้นตามริมน้ำหรือที่ชื้นแฉะขาดแสงไม่สามารถแข่งขันได้และค่อย ๆ สูญหายไปจากพื้นที่


แหล่งข้อมูลอ้างอิง กกธูปฤาษี :

  1. ข้อมูลกกช้างโดยโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ
  2. วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. มูลนิธิวิกิมีเดีย. อัปเดต 10 เมษายน 2552, 7.24 UTC. สารานุกรมออนไลน์. เข้าถึงได้จาก http://th.wikipedia.org/wiki/ธูปฤๅษี

ภาพประกอบ :

  • Nicholas Turland. (2563). Typha angustifolia. [Image]. Retrieved from www.flickr.com
  • mingiweng. ( 2013). Typha angustifolia. [Image]. Retrieved from www.flickr.com
  • Luis Rodrigo ajajajja. ( 2009). Typha angustifolia. [Image]. Retrieved from www.flickr.com
Scroll to top