หญ้าชันกาด

หญ้าชันกาด

ชื่อสมุนไพร : หญ้าชันกาด
ชื่ออื่น
 : หญ้าชันกาศ, หญ้าอ้อนน้อย, แขมมัน, หญ้าใบไผ่, หญ้าหวาย, หญ้าขิง, หญ้าครุน
ชื่อสามัญ : Torpedo grass
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Panicum repens L.
ชื่อวงศ์ : POACEAE (GRAMINEAE)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นหญ้าชันกาด หญ้าหลายปี ลำต้นเรียวตั้งขึ้นสูง 20-60 เซนติเมตร รากเป็นรากฝอย แตกออกบริเวณข้อของลำต้นใต้ดิน แตกรากสาขาแทงออกในนอนขนานกับพื้นดิน และหยั่งลึกประมาณ 15 เซนติเมตร หรือมากกว่าหากเป็นดินร่วนหรือดินทราย ลำต้นใต้ดิน มีลักษณะเป็นไหลยาวเลื้อยแทงขนานกับหน้าดิน อยู่ลึกจากหน้าดินประมาณ 5-15 เซนติเมตร ไหลมีลักษณะกลม สีน้ำตาล มีข้อปล้องสั้นๆ เมื่ออายุมากจะเกิดเป็นปมหรือเป็นก้อนสีน้ำตาลที่ข้อ และข้อจะแตกลำต้นแทงตั้งตรงโผล่ขึ้นเป็นลำต้นเหนือดิน ลำต้นเหนือดิน เป็นลำต้นที่เกิดบริเวณข้อของไหล และแทงขึ้นโผล่เหนือดิน ลำต้นมีขนาดเล็ก ทรงกลม มีความเหนียว และแข็งแรง สูงประมาณ 30-90 เซนติเมตร หากลำต้นสูงหรือยาวมากจะโน้มลงเลื้อยตามพื้นดิน
    หญ้าชันกาด
  • ใบหญ้าชันกาด เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว แตกใบเดี่ยวๆสลับข้างกันเป็นคู่ๆบริเวณข้อ มีกาบใบหุ้มที่ข้อ และลำต้น ก้านใบสั้น แผ่นใบเล็ก และเรียวแหลม มีสีเขียว ขนาดกว้าง 5-8 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 15-25 เซนติเมตร โคนใบสอบ ปลายใบแหลม แผ่นใบมีขนปกคลุม
  • ดอกหญ้าชันกาด ออกดอกเป็นช่อแขนงที่ปลายยอด ยาวประมาณ 10-18 เซนติเมตร แต่ละแขนงจะมีดอกย่อยเรียงซ้อนกัน ดอกย่อยมีรูปไข่ ยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ดอกย่อยอ่อนสีขาว เมื่อแก่จะมีสีเหลืองซีด
  • เมล็ดหญ้าชันกาด มีขนาดเล็ก รูปไข่ เปลือกเมล็ดมีสีฟางข้าว

ส่วนที่ใช้เป็นยา  : หัว, ราก

สรรพคุณ หญ้าชันกาด :

  • หัว รสเย็นจืดเฝื่อน ต้มดื่ม แก้ทางเดินปัสสาวะพิการ ขับปัสสาวะ แก้ไตพิการ มีไข่ขาวในปัสสาวะ หรือเป็นตะกอนขุ่นข้น ดับร้อน แก้พิษไข้ พิษกาฬ ฝนหยอดตา แก้ตาฟาง ตาแดง ตามัว แก้พิษปวดเคืองตา
  • ราก รสจืดเฝื่อน แก้ปัสสาวะพิการ แก้ไตทำงานไม่สะดวก แก้ไข้
Scroll to top