มะพูด

มะพูด

ชื่อสมุนไพร : มะพูด
ชื่ออื่นๆ :
ไข่จระเข้, ตะพูด, ส้มปอง, ส้มม่วง(จันทบุรี), พะวาใบใหญ่(จันทบุรี, ชลบุรี), ปะหูด(ภาคเหนือ), ปะหูด, มะหูด(ภาคอีสาน), จำพูด, มะพูด(ภาคกลาง), ตะพูด, พะวา, ประหูด, ประโหด, ประโฮด, มะนู(เขมร), ปะพูด
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Garcinia dulcis (Roxb.) Kurz
ชื่อวงศ์ : GUTTIFERAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นมะพูด เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง มีความสูงของต้นประมาณ 7-10 เมตร (บ้างว่ามีความสูงประมาณ 15 มะพูดเมตร) เรือนยอดเป็นกลมกลมหรือเป็นรูปไข่ เป็นทรงพุ่มแน่นทึบ ลำต้นตั้งตรง และอาจมีร่องรอยของแผลเป็น มีลักษณะเป็นปุ่มปมตะปุ่มตะป่ำ ซึ่งเกิดจากการหลุดร่วงของกิ่งก้านทั่วไป โดยจะแตกกิ่งก้านต่ำเป็นพุ่มโปร่ง ก้านจะแตกออกจากลำต้นค่อนข้างถี่ และเปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลเข้ม เรียบ และแตกเป็นร่องตื้นๆ ตามยาวของลำต้น เมื่อเปลือกต้นเกิดบาดแผลจะมียางสีขาวแล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลืองไหลซึมออกมา
  • ใบมะพูด เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับตรงข้ามกันเป็นคู่ๆ ลักษณะของใบเป็นรูปใบหอกหรือแกมรูปขอบขนาน ปลายใบใบ โคนใบกว้างมนตัดตรง เว้าเล็กน้อยคล้ายกับรูปหัวใจและค่อยๆ สอบเรียวเล็กไปที่ปลายใบ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 8-12 เซนติเมตร และยาวประมาณ 15-25 เมตร แผ่นใบมักเป็นคลื่นเล็กน้อย เนื้อใบเหนียวและหนาคล้ายแผ่นหนัง หลังใบเรียบลื่นเป็นมัน สีเขียวเข้ม ส่วนท้องใบมีขนละเอียด แต่บางครั้งก็เกลี้ยง เมื่อแห้งเป็นสีเหลืองอมสีเทา ส่วนก้านใบสั้นย่นขรุขระยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร และมีขนบางๆ ขึ้นปกคลุม
  • ดอกมะพูด ออกดอกเป็นช่อ ช่อละประมาณ 3-5 ดอก โดยจะออกดอกตามซอกใบหรือตามแผลใบและตามกิ่งก้าน ดอกเป็นสีขาวอมเหลือง ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่ในต้นเดียวกัน ดอกมีกลีบดอก 5 กลีบซ้อนกันอยู่ ดอกมีลักษณะตูมเป็นรูปทรงกลม ส่วนกลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปทรงกลม หนาและเป็นสีเหลืองอ่อน เมื่อดอกบานเต็มที่จะกว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร บานเป็นรูปถ้วยโถ
  • ผลมะพูด มีลักษณะเป็นรูปทรงกลมหรือเป็นรูปไข่ ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-6 เซนติเมตร ผิวผลเรียบและเป็นมัน ผลอ่อนสีเขียว เมื่อสุกจะเป็นสีเหลืองสดอมสีส้ม เนื้อในผลเป็นสีเหลืองมีรสเปรี้ยวอมหวาน ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 2-5 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปรี สีน้ำตาล

ส่วนที่ใช้เป็นยา : น้ำคั้นจากผล, ราก, เปลือก

สรรพคุณ มะพูด :

  • น้ำคั้นจากผล รสเปรี้ยวอมหวาน แก้ไอ ขับเสมหะ แก้เจ็บคอ และแก้เลือดออกตามไรฟัน
  • ราก รสจืด แก้ไข้ แก้ร้อนใน และถอนพิษผิดสำแดง
  • เปลือก  มีรสฝาด ใช้ชำระบาดแผล

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : 

  1. ชยันต์ พิเชียรสุนทร, แม้นมาส ชวลิต, วิเชียร จีรวงศ์. (2544). คำอธิบาย ตำราพระโอสถพระนารายณ์. กรุงเทพ ฯ: สำนักพิมพ์อมรินทร์.
  2. เสงี่ยม พงษ์บุญรอด. (2522). ไม้เทศเมืองไทย สรรพคุณยาเทศและยาไทย. กรุงเทพ ฯ: เกษมบรรณกิจ
  3. สุนทร ทองนพคุณ. (2541). คู่มือนักทำยา. พิมพ์ครั้งที่ 2. ม.ป.ท.
  4. กองการประกอบโรคศิลปะ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข. (2541). ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป สาขาเภสัชกรรม. กรุงเทพ ฯ: โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์แห่งประเทศไทย.
  5. กรมหลวงวงศาธิราชสนิท. (2546). ตำราสรรพคุณยา (ฉบับโบราณ). กรุงเทพ ฯ: บุ๊คคอร์นเนอร์.
  6. โรงเรียนแพทย์แผนโบราณ วัดพระเชตุพน ฯ (วัดโพธิ์). (2520). ประมวลสรรพคุณยาไทย (ภาคสาม) ว่าด้วย พฤกษชาติ วัตถุธาตุ และสัตว์วัตถุนานาชนิด. กรุงเทพ ฯ: นำอักษรการพิมพ์.
  7. หลวงประเสริฐวิทยาศาสตร์ (ถนอม บุณยะกมล รวบรวม). (2494). ตำราสรรพคุณยาไทย. พระนคร: โรงพิพม์ใต้เชียง.
  8. อุทัย สินธุสาร. (2542). สมุนไพรร้านเจ้ากรมเป๋อ. กรุงเทพ ฯ: อาศรมศิลป์และศาสตร์.
Scroll to top