มะพร้าว

มะพร้าว

มะพร้าว เป็นพืชสารพัดประโยชน์ที่อยู่คู่วิถีคนไทยมาช้านาน ด้วยเราสามารถนำมะพร้าวมาใช้เป็นปัจจัยสี่ ทั้งอาหาร ใช้เป็นเครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค สร้างที่อยู่อาศัย และทุกส่วนของมะพร้าวนับแต่รากจดยอดล้วนใช้เป็นประโยชน์ได้ทั้งสิ้น

มะพร้าว

มะพร้าว

ชื่ออื่น ๆ :  หมากอูน, หมากอู๋น, มะพร้าว(ทั่วไป), คอส่า(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), มะพร้าว(ภาคใต้), ดุง(ชอง-จันทบุรี), ย่อ(มลายู-ภาคใต้), โพล(กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), เฮ็ดดุง(เพชรบูรณ์), เอี่ยจี้(จีน)
ชื่อสามัญ : Coconut
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cocos nucifera Linn.
ชื่อวงศ์ : PALMAE

น้ำมะพร้าวอ่อนเป็นเครื่องดื่มจากธรรมชาติที่ไร้ไขมัน รสหวานหอมชื่นใจ แม้จะดูใสไม่มีสิ่งเจือปน แต่ในความใสนั้นเปี่ยมคุณค่าเพราะอุดมไปด้วยแร่ธาตุต่าง ๆ มากมาย เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส โพแทสซียม เหล็ก รวมถึงมีน้ำตาลกลูโคสและฟรักโทสที่ร่างกายนำไปใช้สร้างเป็นพลังงานได้ ที่พิเศษคือมีฮอร์โมนเอสโทเจน (Estrogen) ซึ่งมีหน้าที่เหมือนฮอร์โมนเพศหญิงอยู่สูง ทำให้ผิวกระชับ เปล่งปลั่ง ช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งชนิดที่สัมพันธ์กับฮอร์โมนและลดอาการผิดปกติของสตรีวัยหมดประจำเดือน นอกจากนี้น้ำมะพร้าวอ่อนยังมีสรรพคุณช่วยลดไข้ แก้ร้อนใน บำรุงกำลัง รักษาอาการอ่อนเพลีย เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่กำลังพักฟื้น คนโบราณเชื่อว่าสตรีมีครรภ์ใกล้คลอด ควรดื่มน้ำมะพร้าวบำรุงครรภ์ให้เด็กแข็งแรงผิวพรรณผุดผ่อง แต่ผู้ที่กำลังมีประจำเดือนไม่ควรดื่ม เพราะอาจมีผลให้ประจำเดือนผิดปกติได้ และเนื่องจากมีน้ำเป็นส่วนประกอบหลักผู้เป็นโรคไตจึงควรคำนึงถึงปริมาณในการดื่มน้ำมะพร้าว

เนื้อมะพร้าวเมื่อยังอ่อน เนื้อค่อนข้างบางและนุ่ม ใช้เติมความอร่อยให้กับอาหารได้ทั้งคาวและหวาน เช่น ห่อหมก บักลอย เค้ก ส่วน “มะพร้าวทึนทึก” คือมะพร้าวกลางอ่อนกลางแก่ รสชาติหวานมันมักใช้เป็นส่วนผสมของขนมไทยหรือนำไปคั่วแล้วกินเป็นเครื่องเคียงเมี่ยง และเมื่อมะพร้าวแก่จัดเนื้อจะหนาขึ้น เรียกว่า “มะพร้าวห้าว” เป็นส่วนที่นำมาขูดเพื่อคั้นน้ำกะทิ ปรุงอาหารคาวหวาน เพิ่มกลิ่นหอมและรสหวานมันได้เป็นอย่างดี เนื้อมะพร้าวมีเส้นใยอาหารสูง อีกทั้งยังมีคาร์โบไฮเดรต โปรตีน โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส ทองแดง และเหล็กอีกด้วย

เนื้อมะพร้าวห้าวนำมาทำน้ำมันมะพร้าวด้วยวิธีสกัดเย็น ในน้ำมันมะพร้าวประกอบด้วยกรดไขมันอิ่มตัวสูงถึงร้อยละ 90 แต่แทบไม่มีคอเลสเตอรอล ลบความเชื่อเดิมที่ว่าน้ำมันมะพร้าวเป็นกรดไขมันอิ่มตัว ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคต่าง ๆ อย่างโรคอ้วน โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน ปัจจุบันมีผลการวิจัยระบุว่า กรดไขมันอิ่มตัวในน้ำมะพร้าวเป็นกรดไขมันที่ร่างกายสามารถเปลี่ยนเป็นพลังงานได้อย่างรวดเร็ว ไม่มีไขมันสะสมในร่างกาย จึงช่วยควบคุมน้ำหนักและดีต่อสุขภาพหัวใจ น้ำมันมะพร้าวที่ผ่านวิธีสกัดเย็นจะยังมีวิตามินอีเหลืออยู่ วิตามินอีนี้อยู่ในรูปของสารโทโคไทรอีนอล (Tocotrienol) ที่มีอานุภาพสูงกว่าสารโทโคเฟอรอล (Tocopherol) ในวิตามินอีทั่วไป 40-60 เท่า จึงช่วยต้านอนุมูลอิสระอย่างมีประสิทธิภาพ น้ำมันมะพร้าวยังเป็นน้ำมันพืชชนิดเดียวที่มีกรดลอริก (Lauric acid) ในปริมาณสูง ช่วยทำลายเชื้อโรคและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย ทั้งยังมีประโยชน์ทางด้านความงาม ใช้ในการผลิตเครื่องสำอางที่เกี่ยวกับผิวและผมมากมาย น้ำมันมะพร้าวจะช่วยบำรุงผิวให้นุ่มชุ่มชื้น รักษาโรคผิวหนัง และสมานแผล รวมถึงช่วยรักษารังแคและบำรุงผมให้ดกดำเงางาม

ยังมีมะพร้าวอีกชนิดที่หากินได้ค่อนข้างยากและมีราคาสูงกว่ามะพร้าวธรรมดา ก็คือ “มะพร้าวกะทิ” เป็นมะพร้าวที่เกิดจากลักษณะด้อยทางพันธุกรรม โอกาสที่จะเกิดขึ้นตามธรรมชาติมีน้อยมากและไม่สามารถนำมาเพาะให้งอกได้ ลักษณะภายนอกของมะพร้าวกะทิจะเหมือนมะพร้าวปกติ แต่เนื้อข้างในหนา อ่อนนิ่ม ฟูคล้ายผิวมะกรูด รสชาติหวานมันอร่อยกว่าเนื้อมะพร้าวธรรมดามาก จึงต้องมีการศึกษาวิจัยเพื่อหาวิธีขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนต้นมะพร้าวกะทิ ให้มากพอกับความต้องการของผู้บริโภค

ลักษณะของมะพร้าว :

  • ต้นมะพร้าว เป็นพรรณไม้ยืนต้น ที่มีลำต้นสูงชะลูด จะไม่แตกกิ่งก้านสาขา ขนาดของลำต้นมีความสูงประมาณ 20-30 เมตร
  • ใบมะพร้าว ลักษณะของใบออกเป็นใบรวม มีใบย่อยเรียงสลับกันเป็นรูปขนนก ใบรวมก้านหนึ่งยาวประมาณ 3-7 เมตร กว้างประมาณ 1-1.4 เมตร ใบย่อยมีลักษณะเป็นแผ่นแคบยาว ปลายใบแหลม พื้นผิวเรียบเป็นมัน มีสีเขียวแก่ ขนาดของใบยาวประมาณ 2-3 ฟุต กว้างประมาณ 1-2.5 นิ้ว
  • ดอกมะพร้าว ดอกออกเป็นช่อ ออกตามบริเวณกาบที่หุ้ม ดอกย่อยมีลักษณะ เป็นดอกขนาดเล็ก ดอกหนึ่งมีกลีบดอกประมาณ 6 กลีบ ในช่อหนึ่ง ๆ มีทั้งดอกตัวผู้และตัวเมีย ดอกตัวผู้จะอยู่ปลาย และดอกตัวเมียจะอยู่บริเวณโคนช่อดอก
  • ผลมะพร้าว ผลมีลักษณะเป็นรูปทรงกลม หรือรูปรี มีขนาดยาวประมาณ 8-14 นิ้ว เส้นผ่าศูนย์กลางยาวประมาณ 8-9.5 นิ้ว เปลือกนอกเรียบเกลี้ยง ผลอ่อนมีสีเขียว เมื่อผลแก่ก็จะสีน้ำตาล เปลือกชั้นกลางเป็นเส้นใยนุ่ม ชั้นในจะแข็งเป็นกะลา ชั้นต่อไปเป็นเนื้อผลมีสีขาวนุ่ม และภายในมีน้ำใสมีรสจืด หรือบางทีก็จะมีรสหวาน
Scroll to top