ส้มกบ

ส้มกบ

ชื่อสมุนไพร : ส้มกบ
ชื่ออื่น ๆ
:  สังส้ม(แพร่), ผักแว่นเมืองจีน, เกล็ดหอยจีน, ผักแว่น(ภาคกลาง), ส้มสังกา, ส้มสามตา(เชียงใหม่),ส้มดิน,หญ้าตานทราย(แม่ฮ่องสอน), ซาเฮี้ยะซึ่งเช่า(จีน)
ชื่อสามัญ : Indian Sorrel, Yellow Oxalis
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Oxalis corniculata Linn.
ชื่อวงศ์ : OXALIDACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นส้มกบ พืชล้มลุกอายุหลายปี เป็นไม้เถาขนาดเล็กเลื้อยไปตามพื้นดิน มีรากออกตามข้อ ลำต้นยาว 5-20 เซนติเมตร ลำต้นเล็กสีแดง ฉ่ำน้ำ ไม่แตกกิ่งก้าน ชอบขึ้นตามที่ลุ่มต่ำชื้นแฉะ
    ส้มกบ
  • ใบส้มกบ เป็นใบประกอบมี 3 ใบย่อย ออกที่ปลายยอด แบบเรียงสลับ ใบย่อยทั้งสามออกแบบสมมาตร ใบย่อยรูปหัวใจกลับ กว้าง 5-18 มิลลิเมตร ยาว 4-20 มิลลิเมตร โคนใบสอบ ปลายใบเว้า ขอบใบเรียบ แผ่นใบเรียบ มีขนสั้นนุ่มทั้งสองด้าน ก้านใบยาว 4-10 เซนติเมตร หูใบมีขนาดเล็ก รูปสามเหลี่ยมมุมฉากถึงรูปคล้ายติ่งหู
    ส้มกบ
  • ดอกส้มกบ มีขนาดเล็กสีเหลืองสด ออกดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อซี่ร่มเล็ก 1-5 ดอก มีดอกไม่มาก ออกที่ซอกใบหรือปลายยอด ก้านช่อดอกยาวได้ถึง 20 เซนติเมตร ใบประดับรูปใบหอกแกมเส้นตรงขนาด 2-4 × 1 มิลลิเมตร กลีบดอก 5 กลีบ สีเหลืองสด รูปไข่กลับแกมขอบขนาน กว้าง 2-6 มิลลิเมตร ยาว 4-10 มิลลิเมตร โคนเชื่อมติดกัน กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ รูปหอกแกมขอบขนาน ขนาด 3.5-5 × 1.2-2 มิลลิเมตร มีขนครุยที่ขอบกลีบ โดยเฉพาะที่ปลายกลีบ ก้านดอกย่อยยาว 4-15 มิลลิเมตร มีขนแข็งเอนหนาแน่น
    ดอกส้มกบ
  • ผลส้มกบ เป็นผลแห้งแบบแคปซูล แก่แล้วแตกออกได้ตามแนว ผลรูปทรงกระบอกแคบ มีสันตามยาวผล 5 สัน ปลายผลแหลม ปกคลุมด้วยขน กว้าง 2-4 มิลลิเมตร ยาว 10-25 มิลลิเมตร มีกลีบเลี้ยงติดอยู่ที่ขั้วผล
    ส้มกบ
  • เมล็ดส้มกบ รูปไข่ แบน รูปขอบขนานแกมรูปไข่ขนาด 1-1.5 × 0.8-1  มิลลิเมตร สีน้ำตาลถึงสีน้ำตาลแดง มี 5-11 เมล็ดต่อช่อง
  • พบขึ้นได้ทั่วไปตามที่โล่ง มักขึ้นเป็นวัชพืช โดยเฉพาะบริเวณที่ชื้น หรือมีน้ำขังตื้นๆ ตามข้างทาง ทุ่งหญ้าหรือในสวน จนถึงระดับความสูงประมาณ 1,500 เมตร ออกดอกและติดผลช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงตุลาคม

ส่วนที่ใช้เป็นยา  : ทั้งต้น

สรรพคุณ ส้มกบ :

  • ใบ  เป็นยาเย็นดับพิษ มีรสเปรี้ยว เป็นยาธาตุ เจริญอาหาร ใช้ทาภายนอก เพื่อขจัดตาปลา หูด และเนื้อปูดชนิดอื่นๆ โขลกกับสุราใช้กากปิดแก้ปวดฝี แก้บวม ชุบสำลีอมข้างแก้ม แก้ฝีในคอ แก้ต่อมทอนซิลอักเสบ แก้ไข้ เป็นยาถอนพิษทั่วไป
  • น้ำคั้นจากใบ  แก้เจ็บคอ การกินใบมากทำให้คลื่นไส้ได้
  • ทั้งต้น รสเย็น เปรี้ยวเค็มหวานเล็กน้อย ดับพิษร้อนใน แก้ฝีในคอ แก้อาเจียนเป็นเลือด ตำพอกเท้าแก้ปวด ถอนพิษทำให้เย็น ตำอมแก้ฝีในคอ แก้ช้ำใน ฟกช้ำ แก้ปวดท้อง แก้หวัดร้อน  แก้ปวดเมื่อยรูมาติก แก้อุจจาระเป็นเลือด ปัสสาวะเป็นเลือด แก้เคล็ดขัดยอก เจ็บคอ ปวดฟัน ใช้หยอดตาแก้เจ็บตาระคายเคือง ตำกับต้นกะเม็งทาแก้ปากนกกระจอก
Scroll to top