สารภี

สารภี

ชื่อสมุนไพร : สารภี
ชื่ออื่นๆ :
 ทรพี(จันทบุรี), สร้อยพี(ใต้), สารภีแนน(เชียงใหม่)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mammea siamensis Kosterm.
ชื่อวงศ์ : GUTTIFERAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นสารภี เป็นไม้ยืนต้น ขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ไม่ผลัดใบ สูง 10-15 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มทึบแผ่กว้าง เปลือกต้นสีเทาหรือเทาปนน้ำตาล แตกล่อนเป็นสะเก็ด เปลือกชั้นในสีแดงเข้ม มีน้ำยางสีคล้ายน้ำนม เมื่อทิ้งให้สัมผัสกับอากาศจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อน กิ่งอ่อนเป็นสันสี่เหลี่ยม
    สารภี
  • ใบสารภี ใบเดี่ยวเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรี รูปขอบขนาน หรือรูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน กว้าง 4-6.5 เซนติเมตร ยาว 15-20 เซนติเมตร ปลายมนหรือแหลม โคนสอบแคบหรือสอบเรียว ปลายใบมนหรือสอบทู่ๆ อาจมีติ่งสั้นๆ หรือหยักเว้าตื้นๆ ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยงทั้งสองด้าน สีเขียวเข้มเป็นมัน เส้นแขนงใบจำนวนมาก ไม่ชัดเจน ก้านใบ ยาว 0.5-1 เซนติเมตร เกลี้ยง
    สารภี
  • ดอกสารภี ดอกออกเป็นช่อ ช่อเดียวหรือหลายช่อตามกิ่ง สีขาว กลิ่นหอมมาก เมื่อใกล้โรยดอกเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ก้านดอกยาว 0.5-2.5 เซนติเมตร กลีบเลี้ยง 2 กลีบ เกือบกลม โค้งเป็นแอ่ง โคนเชื่อมติดกัน ติดทน และขยายโตตามผล กลีบดอก 4 กลีบ รูปไข่กลับ กว้าง 4-6 มิลลิเมตร ยาว 7-8 มิลลิเมตร มีเส้นตามยาว เมื่อบานมีเส้นผ่าศูนย์กลางราว 1.5 เซนติเมตร เกสรเพศผู้ จำนวนมาก ก้านชูอับเรณูเรียวยาว อับเรณูรูปขอบขนาน สีเหลืองเข้ม รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี 2 ช่อง แต่ละช่องมีออวุล 2 เม็ด ยอดเกสรเพศเมีย เป็น 3 แฉก
    ดอกสารภี
  • ผลสารภี แบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปรีหรือรูปกระสวย กว้าง 0.8-2.5 เซนติเมตร ยาว 2-2.5 เซนติเมตร เมื่อสุกสีเหลืองอมส้ม มีเนื้อสีเหลืองหรือสีแสดหุ้มเมล็ด ก้านผลยาว 1.4-1.6 เซนติเมตร ผลแก่แตกออกได้ เมล็ด 1 เมล็ด ขนาดใหญ่ แข็ง
    สารภี

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ดอก, เกสร, ผลสุก

สรรพคุณ สารภี :

  • ดอก รสหอมเย็น จัดอยู่ในเกสรทั้งห้า ใช้บำรุงกำลัง แก้อ่อนเพลีย ทำให้เจริญอาหาร แก้ไข้พิษร้อน  ใช้ผสมในยาหอมแก้ลม วิงเวียนศีรษะ หน้ามืดตาลาย แก้ร้อนใน ชูกำลัง บำรุงหัวใจและประสาท บำรุงปอด แก้โลหิตพิการ ขับลม ฝาดสมาน รักษาธาตุไม่เป็นปกติ
  • เกสร รสหอมเย็น เป็นยาแก้ไข้ บำรุงครรภ์รักษา ทำให้ชื่นใจ
  • ผลสุก รสหวาน รับประทานได้ เป็นยาบำรุงหัวใจ ขยายหลอดโลหิต
Scroll to top