ผักหวานป่า

ผักหวานป่า

ชื่อสมุนไพร : ผักหวานป่า
ชื่ออื่นๆ :
ผักหวาน
ชื่อสามัญ : Pak-wan Tree
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Melientha suavis Pierre
ชื่อวงศ์ : Opiliaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ผักหวานป่า เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 4-11 เมตร เปลือกต้นเรียบกิ่งอ่อนเป็นสีเขียวเข้ม เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเทาอมสีน้ำตาลอ่อน เนื้อไม้มีความแข็ง เป็นพืชผลัดใบตามฤดูกาล จึงเก็บสะสมอาการไว้ที่รากและลำต้น นิยมขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด มักจะพบต้นผักหวานป่าได้ตามป่าเบญจพรรณในที่ราบ หรือเชิงเขาที่มีความสูงไม่เกิน 600 เมตร จากระดับน้ำทะเล และโดยปกติจะชอบขึ้นอยู่บนดินร่วนปนทราย
    ผักหวานป่า
  • ใบผักหวานป่า ใบเดี่ยวเรียงสลับกัน ใบอ่อนรูปร่างแคบรี ปลายใบแหลม สีเขียวอมเหลือง ใบแก่เต็มที่รูปร่างรีกว้างถึงรูปไข่หรือรูปไข่กลับ ใบสีเขียวเข้ม เนื้อใบกรอบ ขอบใบเรียบ ปลายใบมน ขนาดของใบประมาณ 2.5-5 ซม. x 6-12 ซม. ก้านใบสั้น ช่อดอกแตกกิ่งก้านคล้ายช่อดอกมะม่วงหรือลำไย และเกิดตามกิ่งแก่ หรือตามลำดับต้นที่ใบร่วงแล้ว
  • ดอกผักหวานป่า ออกดอกเป็นช่อยาว ก้านช่อดอกยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร โดยจะออกจากกิ่งหรือตามซอกใบ ใบประดับดอกเป็นรูปไข่ปลายแหลม ดอกเป็นแบบแยกเพศแต่อยู่บนก้านดอกเดียวกัน โดยดอกเพศผู้จะมีกลีบสีเขียวอ่อน เกสรสีเหลือง ส่วนดอกเพศเมียจะมีกลีบดอกเป็นสีเขียวเข้ม และก้านดอกจะสั้นกว่าดอกเพศผู้
  • ผลผักหวานป่า ผลเป็นผลเดี่ยวอยู่บนช่อยาวที่เป็นช่อดอกเดิม ลักษณะของผลเป็นรูปไข่ มีขนาดกว้างผักหวานป่าประมาณ 1.5-1.7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2.3-3 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองส้มหรือสีแดง ส่วนก้านผลจะยาวประมาณ 3-5 มิลลิเมตร

 

 

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ราก, ยอดอ่อน, แก่น, ใบ

สรรพคุณ ผักหวานป่า :

  • ราก มีรสเย็น แก้ไข้ แก้ดีพิการ แก้เชื่อมมัว แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้กระสับกระส่าย และแก้ปวดมดลูก
  • ยอดอ่อน  มีรสหวานกรอบ ช่วยแก้ร้อนในกระหายน้ำ และระบายความร้อนหรือใช้ปรุงเป็นยาเขียวเพื่อลดไข้ ลดความร้อน
  • แก่น ต้มรับประทานน้ำเป็นยาแก้ปวดตามข้อ เป็นยาเพิ่มน้ำนมแม่หลังคลอดบุตร
  • ใบและราก แก้อาการปวดศีรษะ แก้อาการปวดในข้อ แก้อาการปวดท้อง

สามารถนำยอดและใบอ่อนมาปรุงอาหารได้หลากหลายทั้งต้ม ผัด แกง เช่น แกงเลียงผักหวานป่า ต้มจืดผักหวานป่า ยอดอ่อนใส่แกง ชาวกะเหรี่ยงไม่นิยมปลูกในบ้านเพราะเชื่อว่าทำให้คนในบ้านป่วย

Scroll to top