ชิงชัน

ชิงชัน

ชื่ออื่น : ชิงชัน
ชื่ออื่น :
ประดู่ชิงชัน (ภาคกลาง), กระซิบ ประดู่สับ (สุราษฎร์ธานี), เก็ด เก็ดดำ เก็ดแดง (เชียงใหม่), กำพี้ต้น พะยูงหิน (เพชรบูรณ์), ดู่ลาย (ลำปาง), ดู่สะแดน (ภาคเหนือ), พะยูงแกลบ (สระบุรี), พะยูงแดง (พิษณุโลก), ยูน (จันทบุรี), หมากพลูตั๊กแตน (ภาคใต้)
ชื่อสามัญ : Blackwood, Rosewood
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dalbergia oliveri Gamble
ชื่อวงศ์ : FABACEAE (LEGUMINOSAEPAPILIONOIDEAE)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นชิงชัน เป็นไม้ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ผลัดใบ สูงถึง 25 เมตร เปลือกหนา สีน้ำตาลเทา กระเทาะล่อน เป็นแผ่นขนาดเล็ก เปลือกในสีเหลือง ยอดและใบอ่อนออกสีแดง เกลี้ยงหรือมีขนเพียงเบาบาง
  • ใบชิงชัน เป็นช่อ มีใบประกอบย่อย 11-17 ใบ มีลักษณะยาวรี รูปขอบขนานแกมรูปหอก ฐานใบมนกลม ปลายใบมนทู่และหยักเว้าเล็กน้อย ทางด้านท้องใบจะมีสีจางกว่าด้านหลังใบ
  • ดอกชิงชัน สีขาวอมม่วง ออกเป็นช่อดอกเชิง ประกอบตามปลายกิ่ง ดอกจะเกิดพร้อมกับการผลิตใบใหม่ เกสรผู้แยกเป็น 2 กลุ่มๆ ละ 5 อัน
  • ผลชิงชัน ผลเป็นฝักแบบถั่ว มีลักษณะแบนแผ่เป็นปีกยาวรีหรือขอบรูปขนาน กว้าง 3-3.5 ซม. ยาว 8-17 ซม. ผิวเรียบส่วนที่หุ้มเมล็ดหนาแข็ง มีลักษณะเป็นกระเปาะกลมหรือแกนรีเล็กน้อย นูนเห็นได้ชัด ส่วนมากมีเมล็ดเดียว มีลักษณะคล้ายรูปไตสีน้ำตาล

ส่วนที่ใช้เป็นยา : แก่น, เปลือก

สรรพคุณ ชิงชัน :

  • แก่น รสฝาดร้อน ช่วยบำรุงโลหิตสตรี
  • เปลือก รสฝาด ใช้ต้มชะล้างสมานบาดแผล ช่วยรักษาแผลเรื้อรัง

นอกจากนี้ ยังนิยมนำต้นชิงชันนี้มาทำเป็นเครื่องดนตรี เครื่องเรือน หรือเครื่องใช้สอยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลอง, ตะโพน, คันไถ, ด้ามปืน, ด้ามมีด, ตู้, เตียง หรือโต๊ะ ฯลฯ เพราะด้วยลักษณะเนื้อไม้ของชิงชันนั้นจะค่อนข้างแข็งและเหนียว แถมยังมีความสวยงามมากอีกด้วย ซึ่งสำหรับต้นชิงชันนั้นเป็นไม้หายากที่มีราคาแพง ที่เรียกได้ว่ามีประโยชน์ทั้งทางสมุนไพรและอุตสาหกรรมพื้นบ้านเลยทีเดียว

Scroll to top