ครามใหญ่

ครามใหญ่

ชื่อสมุนไพร : ครามใหญ่
ชื่ออื่น :
ครามป่า, ครามผี, คราม, ครามเถื่อน
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Indigofera suffruticosa Mill.
ชื่อวงศ์ : FABACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นครามใหญ่ จัดเป็นพรรณไม้พุ่มขนาดเล็ก ลำต้นเป็นสีน้ำตาลอมม่วง มีขนสีขาวขึ้นปกคลุมบาง ๆ และมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 18.02-26.04 เซนติเมตร
    ครามใหญ่
  • ใบครามใหญ่ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ใบออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปรี ปลายใบแหลมมีติ่ง โคนใบรีกลม ส่วนขอบใบหยักแบบขนครุยมีขนสีขาวสั้น ๆ แผ่นใบเป็นสีเขียวเข้ม ผิวใบค่อนข้างนุ่ม หน้าใบมีขนสีขาวสั้น ๆ
  • ดอกครามใหญ่ ออกดอกเป็นช่อแบบช่อกระจะ ออกที่ตาข้างจำนวนมาก ช่อดอกยาวประมาณ 3.75-10.49 เซนติเมตร เป็นดอกเดี่ยวรูปดอกถั่ว สีชมพู มีก้านดอกสั้นประมาณ 1 มิลลิเมตร ช่อหนึ่งมีดอกประมาณ 14-36 ดอก
  • ผลครามใหญ่ ออกผลเป็นฝักรวมกันเป็นช่อ ฝักมีลักษณะเป็นรูปกลมโค้งงอคล้ายรูปเคียว มีรอยคอดระหว่างข้อตื้น ๆ ปลายยอดฝักชี้ลง ช่อหนึ่งมีประมาณ 10-30 ฝัก เมื่อฝักแก่จะแตกออกเป็น 2 ซีก ภายในฝักมีเมล็ดประมาณ 3-4 เมล็ด เมล็ดเป็นรูปทรงกระบอกปลายตัด เมล็ดเป็นสีน้ำตาล

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ใบ, ทั้งต้น, เปลือกต้น, น้ำมันจากเมล็ด

สรรพคุณ ครามใหญ่ :

  • ใบ รสเย็นฝาดเบื่อ ดับพิษ แก้ไข้ตัวร้อน ไข้หวัด แก้ปวดศีรษะ
  • ทั้งต้น รสเย็นฝาดเบื่อ ขับปัสสาวะ ฟอกปัสสาวะ แก้นิ่ว แก้กระษัย แก้ปัสสาวะขุ่นข้น
  • เปลือกต้น รสเย็นฝาดเบื่อ แก้พิษฝี แก้พิษงู ฆ่าพยาธิ แก้โลหิต
  • น้ำมันจากเมล็ด ใช้ทาแก้หิด

สารสำคัญใบ มี rutin และ rutinoid ประมาณ 0.65-0.80 เปอร์เซ็นต์ มีไนโตรเจนสูง เหมาะใช้ทำปุ๋ย ทำยาฆ่าแมลง

Scroll to top