ข่าตาแดง

ข่าตาแดง

ชื่ออื่น ๆ : ข่าตาแดง, ข่าเล็ก, ข่าน้อย
ชื่อวิทยาศาสตร์ Alpinia officinarum Hance.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ : Languas officinarum (Hance) P.H.Ho, Languas officinarum (Hance) Farw.
วงศ์ ZINGIBERACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นข่าตาแดง จัดเป็นพืชหัวต้นของข่าตาแดงมีลักษณะคล้ายกับข่าแกง และข่าใหญ่ ทุกประการเพียงแต่จะมีขนาดของลำต้นที่เล็ก และลูกสูงน้อยกว่าข่าแกง (แต่สูงกว่าข่าลิง) เมื่อแตกหน่อจะมีสีแดงเข้ม และกลิ่นฉุนกว่าข่าใหญ่


  • ใบข่าตาแดง ใบมีลักษณะเช่นเดียวกับข่าใหญ่ โดยมีลักษณะของใบเป็นรูปไข่ยาว คล้ายใบพาย ออกสลับกันรอบ ๆ ลำต้น


  • ดอกข่าตาแดง ออกดอกเป็นช่อตรงปลายยอด ช่อดอกเป็นสีขาว แต้มด้วยสีแดงเล็กน้อย


  • หน่อข่าตาแดง เมื่อมันแตกหน่อจะมีสีแดงจัด เราเรียกว่าตาแดง แต่กลิ่นและรสนั้น จะหอมฉุนกว่าข่าใหญ่ หน่อนั้นใช้เป็นผักปรุงอาหาร 


ส่วนที่ใช้เป็นยา : ต้น, ดอก, ใบ, หัว

สรรพคุณ ข่าตาแดง :

  • หัวข่า มีกลิ่นฉุน รสเผ็ดร้อน ช่วยขับลมในลำไส้ เป็นยาระบายอ่อนๆ แก้ปวดท้อง แก้บิด แก้ท้องขึ้นท้องเฟ้อ ภายนอกใช้แก้บวม แก้ฟกช้ำ น้ำคั้นจากข่าสดใช้ทาแก้กลากเกลื้อน หรือผสมเหล้าโรงทาแก้ลมพิษ ใช้โขลกเอาแต่น้ำ ผสมกับน้ำส้มมะขามเปียก แทรกเกลือเล็กน้อย ให้สตรีหลังคลอดบุตรใหม่ๆ กินเป็นยาขับลม ขับเลือดเสีย เลือดเน่า ที่ตกค้างอยู่ในมดลูกออกมา
  • ต้น ใช้รักษาบิด ชนิดที่ตกเป็นโลหิต
  • ดอก ใช้ทารักษาเกลื้อน
  • ใบ ใช้ทารักษากลาก หัว ใช้รับประทานขับลมให้กระจาย บรรเทาอาการฟกช้ำ บวมและรักษาอาการพิษ ใช้นำหัวข่าโขลกแล้วคั้นกับน้ำส้มมะขามเปียกและเกลือประมาณ 1 ชาม แกงเขื่อง ๆ ให้หญิงที่คลอดบุตรใหม่ ๆ รับประทานให้หมด ใช้เป็นยาขับโลหิตที่เน่าในมดลูกและช่วยขับลมในลำไส้ นอกจากนี้ยังใช้เป็นยาระบายอยู่ในตัวด้วย รักษาอาการพิษโลหิตทำ รักษาบาดทะยักปากมดลูกด้วย

ข้อมูลเพิ่มเติม :

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้ขับลมให้กระจาย ใช้เป็นยาระบาย แก้พิษโลหิต แก้ไข้ แก้หอบหืด ขับเหงื่อ ขับลม แก้ท้องอืด แน่นเฟ้อ คลื่นเหียนอาเจียน แก้บิด ท้องร่วง โดยใช้เหง้าแก่มาตากให้แห้งต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้ฟกช้ำบวม โดยใช้เหง้าข่าตาแดง สดมาตำพอกบริเวณที่เป็น
  • ใช้รักษากลากเกลื้อนโดยใช้ใบ หรือ ดอกมาตำให้ละเอียดพอก หรือ ทาบริเวณที่เป็น
  • ใช้เป็นยาขับโลหิตที่เน่าในมดลูกของสตรีและช่วยขับลมในลำไส้ ด้วยการนำหัวข่าตาแดงมาโขลกคั้นกับน้ำส้มมะขามเปียกและเกลือประมาณ 1 ชาม แกงเขื่องๆ ให้หญิงที่เพิ่งคลอดบุตรใหม่ๆ รับประทานให้หมด

ข่าตาแดง ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ เช่นเดียวกับข่าแกง และข่าใหญ่ โดยนำหน่อที่มีรสหอมฉุนมาปรุงเป็นอาหาร หรือ ใช้เป็นผักสด หรือ ใช้เป็นผักลวกจิ้มน้ำพริก แต่ส่วนของเหง้ามีรสเผ็ดฉุนมากกว่าข่าแกง และข่าใหญ่ จึงมีบางพื้นที่นำมาใช้โขลกเป็นพริกแกงต่างๆ (ส่วนใหญ่จะใช้ข่าแกง)

ข่า เป็นพืชในตระกูลเดียวกับขิง มีลำต้นหรือที่เรียกว่าเหง้าอยู่ใต้ดินเป็นแนวนอน ซึ่งส่วนนี้เองที่นิยมนำมาใช้ปรุงอาหารเพื่อเพิ่มรสชาติเผ็ดร้อนและกลิ่นหอมน่ารับประทาน นอกจากนี้ ข่ายังเป็นสมุนไพรทางเลือกที่นิยมใช้รักษาอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ไม่ว่าจะใช้ทารักษากลากเกลื้อน ช่วยขับลมในระบบย่อยอาหาร บรรเทาอาการปวด และยังมีความเชื่อที่ว่าการรับประทานข่าอาจช่วยต้านมะเร็งได้

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในการใช้ข่าตาแดง ทั้งในรูปแบบการรับประทานเป็นยา หรือ การใช้เป็นยาสมุนไพร ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกับการใช้พืชสมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยเฉพาะผู้ที่แพ้พืชวงศ์ขิง (Zingiberaceae) รวมถึงผู้ที่เป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดีเนื่องจากพืชในวงศ์ขิงมีฤทธิ์ขับน้ำดี

Scroll to top