ขมิ้นอ้อย

ขมิ้นอ้อย

ชื่อสมุนไพร : ขมิ้นอ้อย
ชื่ออื่นๆ
: ว่านขมิ้นอ้อย, ว่านเหลือง (กลาง), สากเบือ (ละว้า), ขมิ้นขึ้น (เหนือ), ละเมียด (เขมร), ขมิ้นเจดีย์ (ทั่วไป), ขี้มิ้นหัวขึ้น(ภาคอีสาน)
ชื่อสามัญ : Zedoary, Indian arrow root, Long zedoaria, Luya-Luyahan, Shoti
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Curcuma zedoaria (Christm.) Roscoe
ชื่อวงศ์ : ZINGIBERACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นขมิ้นอ้อย เป็นพรรณไม้ล้มลุกมีอายุหลายปีมีเหง้าอยู่ใต้ดินและมีรากเล็กน้อยที่บริเวณเหง้ารากกลมมีเนื้อนุ่มภายใน ทั้งนี้ขมิ้นอ้อยมีลักษณะทั่วไปคล้ายกับขมิ้นชันแต่มีลำต้นที่สูงกว่ารวมถึงขนาดเหง้าและใบก็ใหญ่กว่า โดยต้นขมิ้นอ้อยจะมีความสูงประมาณ 1-1.2 เมตรลำต้นตั้งตรง แตกหน่อมาก ส่วนเหง้ามักโผล่ขึ้นมาเหนือดินเล็กน้อย เหมือนเจดีย์ทรงกลมสูงหลายชั้น ๆ (จึงเป็นที่มาของชื่อขมิ้นขึ้นหรือขมิ้นเจดีย์) ลักษณะของเหง้ามีลักษณะเป็นรูปกลมรี มีความยาวประมาณ 18-24 เซนติเมตร และมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 7-11 เซนติเมตร ผิวด้านนอกเป็นสีขาวแกมเหลือง ส่วนเนื้อในเป็นสีเหลืองอ่อน


  • ใบขมิ้นอ้อย เป็นใบเดี่ยวเรียงสลับรอบลำต้น ลักษณะของใบเป็นรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน ปลายใบเรียวแหลม โคนใบแคบ ผิวใบด้านบนสีเขียวเข้มและมีเส้นนูนตามลายของเส้นใบ เส้นกลางใบเป็นร่องเล็กน้อยและมีแถบสีน้ำตาล ผิวด้านหน้าเรียบ ส่วนทางด้านท้องใบจะมีขนนิ่มเล็กน้อย ก้านใบเป็นกาบหุ้มกับลำต้น นานเป็นลำต้นเทียมมีความยาวเป็น 1 ใน 3 ของใบ กลางก้านเป็นร่องลึกตลอดความยาว


  • ดอกขมิ้นอ้อย  ดอก ออกดอกเป็นช่อ ก้านดอกจะยาวและพุ่งออกมาจากเหง้าที่อยู่ใต้ดิน ช่อดอกมีความยาวประมาณ 15เซนติเมตร ลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก ช่อดอกมีใบประดับ และดอกมักเป็นสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน กลีบดอกมีลักษณะกลมเป็นรูปไข่สีเขียว ตรงปลายของช่อดอกจะเป็นสีชมพูหรือสีแดงอ่อน ส่วนดอกสีเหลืองจะบานจากล่างขึ้นบน และจะบานครั้งละประมาณ 2-3 ดอกในฤดูฝน


  • ผลขมิ้นอ้อย มีลักษณะเป็นรูปไข่ เช่นเดียวกับผลของขมิ้นชัน แต่จะมีกลิ่นฉุนน้อยกว่า

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ใบ,  เหง้าที่อยู่ใต้ดิน ใช้ได้ทั้งสดและแห้ง

สรรพคุณ ขมิ้นอ้อย :

  • ใบ รสเฝื่อน ขับปัสสาวะ แก้ช้ำบวม
  • เหง้า รสฝาดเฝื่อน แก้ครั่นเนื้อครั่นตัว สมานลำไส้ แก้ระดูขาว ขับปัสสาวะ ตำพอกแก้ฟกบวม แก้อักเสบ แก้พิษโลหิต แก้ลม รักษามะเร็งปากมดลูก มะเร็งในรังไข่ มะเร็งปอด มะเร็งตับ มะเร็งต่อมไธรอยด์ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เนื้องอกที่กล้ามเนื้อมดลูก แก้เลือดคั่ง เลือดลมไหลเวียน ไม่สะดวก รักษาระดูมาไม่ปกติ
     เหง้าสดตำผสมกับการบูรเล็กน้อย ดอกน้ำฝนกลางหาว รินเอาน้ำหยอดตา แก้ตาแดง ตาแฉะ ตามัว ตาพิการ หรือหัวใช้สมานแผล ใช้ผสมปรุงยาท้องอืดเฟ้อ
  • เหง้าสด ตำผสมการบูรเล็กน้อย ดองน้ำฝนกลางหาว รินเอาน้ำ หยอดตา แก้ตาแดง ตาแฉะ ตามัว ตาพิการ

ข้อมูลเพิ่มเติม :

  • ตำรายาไทย เหง้า รสฝาดเฝื่อน แก้ไข้ครั่นเนื้อครั่นตัว แก้เสมหะ แก้อาเจียน แก้หนองใน สมานลำไส้ ขับลม ขับปัสสาวะ แก้ท้องเสีย ใช้เป็นยาแก้ปวดท้อง ใช้ภายนอกเอาเหง้าโขลกละเอียด พอกแก้ฟกช้ำบวม แก้เคล็ด อักเสบ แก้พิษโลหิต และบรรเทาอาการปวด รักษาอาการเลือดคั่ง เลือดลมไหลเวียนไม่สะดวก รักษาระดูมาไม่ปกติ แก้ระดูขาว ขับประจำเดือน เหง้าผสมใบเทียนกิ่ง และเกลือเล็กน้อยตำละเอียด พอกหุ้มเล็บ เป็นยากันเล็บถอด
  • บัญชียาจากสมุนไพร : ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ปรากฏการใช้ขมิ้นอ้อย ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในกลุ่มอาการของระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ ตำรับ “ยาประสะมะแว้ง”  มีสรรพคุณของตำรับคือใช้บรรเทาอาการ ไอ มีเสมหะ ทำให้ชุ่มคอ ขับเสมหะ ตำรับ “ยาแก้ลมอัมพฤกษ์” มีส่วนประกอบของขมิ้นอ้อยร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดตามเส้นเอ็น กล้ามเนื้อ มือ เท้า ตึงหรือชา ตำรับ “ยาประสะไพล” มีส่วนประกอบของเหง้าขมิ้นอ้อยร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณรักษาระดูมาไม่สม่ำเสมอ หรือมาน้อยกว่าปกติ บรรเทาอาการปวดประจำเดือน  และขับน้ำคาวปลาในหญิงหลังคลอดบุตร ตำรับ ”ยาเหลืองปิดสมุทร” มีส่วนประกอบของขมิ้นอ้อย ร่วมกับสมุนไพรอื่นๆในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น อุจจาระไม่เป็นมูก หรือมีเลือดปนและท้องเสียชนิดที่ไม่มีไข้

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • เป็นยารักษาอาการท้องร่วง ใช้เหง้าสดประมาณ 2 แว่น นำมาบดผสมกับน้ำปูนใส นำมาใช้ดื่ม
  • แก้โรคกระเพาะ ใช้เหง้านำมาหั่นเป็นแว่น ๆ (เหง้าสดหรือตากแห้งก็ได้)  นำมาต้มกับน้ำเป็นยาดื่ม
  • แก้หัดหลบใน โดยใช้เหง้า 5 แว่น และต้นต่อไส้ 1 กำมือ นำมาต้มกับน้ำและน้ำปูนใส แล้วนำมาใช้ดื่มเป็นยาก่อนอาหารเช้าและเย็น ครั้งละ 1 ถ้วยชา
  • รักษาอาการ ปวดบวม แก้บวม ฟกช้ำ แก้ช้ำใน แก้อักเสบ แก้อาการเคล็ดขัดยอก ข้อเคล็ดอักเสบ และบรรเทาอาการปวด ด้วยการใช้เหง้าขมิ้นอ้อยสด ๆ นำมาตำให้ละเอียด แล้วเอามาพอกบริเวณที่มีอาการบวม จะช่วยบรรเทาอาการปวดบวม ฟกช้ำได้
  • ใช้รักษาอาการหวัด ด้วยการใช้หัวขมิ้นอ้อย อบเชยเทศ และพริกหาง นำมาต้มแล้วเติมน้ำผึ้งใช้รับประทานเป็นยาแก้หวัด 
  • ช่วยรักษาริดสีดวงทวาร ด้วยการใช้เหง้าขมิ้นอ้อย พริกไทยล่อน และเปลือกยางแดง นำมาผสมกันทำเป็นยาผง แล้วนำไปละลายในน้ำยางใส ปั้นเป็นยาลูกกลอนขนาดเท่าปลายนิ้วชี้ ใช้กินเช้าและเย็น
  • ช่วยแก้อาการปวดประจำเดือนของสตรี ด้วยการใช้เหง้าหนักประมาณ 12 กรัม, ขมิ้นชัน 10 กรัม, ดอกคำฝอย 6 กรัม, ฝางเสน 8 กรัม, เม็ดลูกท้อ 8 กรัม, หง่วงโอ้ว 8 กรัม และโกฐเชียง 10 กรัม นำมาต้มกับน้ำหรือใช้ดองกับเหง้าเป็นยารับประทาน
  • เหง้านำมาหุงกับน้ำมันมะพร้าว แล้วนำมาใส่แผล จะช่วยทำให้แผลหายเร็วยิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยบรรเทาอาการฟกช้ำบวมได้อีกด้วย
  • ใช้รักษาฝี ฝีหนองบวม ด้วยการใช้เหง้าขมิ้นอ้อยสด, ต้นและเมล็ดของเหงือกปลาหมอ อย่างละเท่ากัน นำมาตำรวมกันจนละเอียดแล้วใช้พอกเช้าเย็น
  • แก้ฝีในมดลูกของสตรี ด้วยการใช้เหง้าขมิ้นอ้อยประมาณ 3 ท่อน, บอระเพ็ด 3 ท่อน, ลูกขี้กาแดง 1 ลูก (นำมาผ่าเป็น 4 ซีก แล้วใช้เพียง 3 ซีก) แล้วนำมาต้มรวมกับสุรา ใช้กินเป็นยาแก้ฝีในมดลูก
  • บำรุงผิว นำขมิ้นอ้อย กระชาย พริกไทย หัวแห้วหมู มาทุบรวมกันแล้วดองด้วยน้ำผึ้ง รับประทานก่อนนอนทุกคืน จะช่วยให้ผิวสวย

ส่วนอีกตำราหนึ่งระบุถึงขนาดการใช้ว่า รักษาโรคใช้ภายใน ให้นำเหง้ามาต้มกับน้ำรับประทานเป็นยา โดยใช้ครั้งละประมาณ 5-10 กรัม หากใช้เป็นยารักษาภายนอก ให้นำมาบดเป็นผงหรือทำเป็นยาเม็ดตามตำรายาที่ต้องการ

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. สตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทานขมิ้นอ้อย
  2. ไม่ควรรับประทานขมิ้นอ้อยในปริมาณที่มากจนเกินไปเพราะอาจส่งผลให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้
  3. สำหรับผู้ที่แพ้ขมิ้นหรือพืชในวงศ์ ไม่ควรรับประทานขมิ้นอ้อยเพราะอาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้ เช่น ท้องเสีย ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ หรือคลื่นไส้ได้

 

Scroll to top