กัลปพฤกษ์

กัลปพฤกษ์

ชื่อสมุนไพร : กัลปพฤกษ์
ชื่ออื่นๆ :
  ชัยพฤกษ์, กาลพฤกษ์, กานล์
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cassia bakeriana Craib.
ชื่อวงศ์ : CAESALPINIACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นกัลปพฤกษ์ กัลปพฤกษ์เป็นไม้ยืนต้นพลัดใบขนาดเล็กถึงกลาง พบได้มากทางภาคอีสาน และภาคเหนือ มีความสูงลำต้นได้มากกว่า 12 เมตร แตกกิ่งในระดับต่ำ ทอดกิ่งในแนวตั้งขึ้นด้านบน มีทรงพุ่มแบนกว้าง มีทรงพุ่มโปร่ง ไม่หนาทึบ เปลือกลำต้นมีลักษณะเรียบ ผิวเปลือกมีสีเทา ยอดอ่อน และกิ่งอ่อนมีขนปกคลุมหนาแน่น


  • ใบกัลปพฤกษ์ ใบกัลปพฤกษ์มีลักษณะเป็นใบประกอบ คล้ายใบต้นขี้เหล็ก มีก้านใบหลักยาวประมาณ 15-40 เซนติเมตร ประกอบด้วยก้านใบย่อย แต่ละก้านใบย่อยมีใบ 5-10 คู่ ใบมีลักษณะรูปไข่ ปลายใบกลม ฐานใบมน ขอบใบเรียบ แต่ละใบมีก้านใบยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร  ใบกว้างประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร ยาวประมาณ 4-10 เซนติเมตร และอาจพบติ่งสั้นบริเวณปลายสุดของใบ แผ่นใบมีขนละเอียดปกคลุมทั้งสองด้าน แต่ด้านหลังใบจะมีขนมากกว่าด้านท้องใบ


  • ดอกกัลปพฤกษ์ ดอกมีสีชมพู ออกเป็นพวง ก้านช่อสีออกเหลืองมีขนนุ่ม ยาว 5-12 ซม. กลีบรองดอก 5 กลีบ รูปไข่แคบๆ กลีบดอก 5 กลีบ รูปไข่ ขนาดกว้าง 1-2.5 เซนติเมตร ยาว 3.5-4.5 เซนติเมตร เกสรผู้ 10 อัน ยาว 3 อัน มีต่อมที่โคนและสั้น 4 อัน กับที่เป็นหมันอีก 3 อัน
    กัลปพฤกษ์
  • ผลกัลปพฤกษ์ ผลเป็นฝักสีน้ำตาลเข้มอมเทา รูปทรงกระบอก ยาว 30-40 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 1-1.5 เซนติเมตร


ส่วนที่ใช้เป็นยา : เนื้อในฝัก, เปลือกฝัก, เมล็ด

สรรพคุณ กัลปพฤกษ์ :

  • เนื้อในฝัก รสหวานเอียนขม ระบายอุจจาระธาตุ แก้พรรดึก ไม่ไซ้ท้อง ระบายท้องเด็กได้ดีมาก (ฤทธิ์อ่อนกว่าเนื้อในฝักคูน) ใช้เป็นยาระบาย เป็นยาถ่ายพยาธิ
  • เปลือกฝัก นำมาต้มอาบ ใช้ฆ่าเชื้อ และรักษาโรคผิวหนัง ฝนสำหรับทาผิวหนังรักษากลาก เกลื้อน
  • เมล็ด รสขมเอียน ทำให้อาเจียน ถ่ายพิษไข้
Scroll to top