กล้วย

กล้วย

ชื่อสมุนไพร : กล้วย
ชื่ออื่น ๆ
 : กล้วยหอม, กล้วยใต้, กล้วยพุทธมาลี, กล้วยน้ำว้า, กล้วยพัด, กล้วยหอมจัทน์, กล้วยหอมทอง, กล้วยหอมเขียว, กล้วยน้ำ กล้วยน้ำไท, กล้วยเล็บมือ, กล้วยนาก, กล้วยส้ม, กล้วยหักมุก, กล้วยหอม, กล้วยมณีอ่อง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Musa sapientum  L.
ชื่อวงศ์ : MUSACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นกล้วย เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว (ลำต้นสูง) 3.0- 4.5 เมตร ลำต้นแท้จะเป็นส่วนหัว (เหง้า)ที่อยู่เหนือดินเล็กน้อย หรือ ฝังอยู่ใต้ดิน เหง้ากล้วยน้ำว้าสามารถแตกหน่อแยกเป็นต้นใหม่ได้ ส่วนลำต้นเหนือดินที่เป็นลำต้นเทียมประกอบด้วยกาบใบ และใบ โดยกาบใบจะแทงออกจากเหง้าเรียงซ้อนกันแน่นเป็นวงกลมจนกลายเป็นลำต้นตามที่มองเห็น แผ่นกาบด้านนอกที่มองเห็นจะมีสีเขียว และมีสีดำประเล็กน้อย กาบใบเป็นแผ่นโค้งเป็นรูปครึ่งวงกลม โดยมีแกนกลางเป็นกาบอ่อนเรียงซ้อนกัน แต่เมื่อกล้วยออกปลี  แกนกลางจะกลายเป็นแก่นกล้วยแทน ขนาดของลำต้นเทียมประมาณ 15-25 เซนติเมตร ส่วนรากล้วยจะมีเพียงระบบรากแขนงที่แตกออกจากเหง้ากล้วย รากแขนงนี้มีลักษณะเป็นเปลือกหุ้มสีดำ แก่นรากมีสีขาว ขนาดของรากประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร หรือ ขนาดประมาณเท่านิ้วก้อย
  • ใบกล้วย เป็นส่วนที่ถัดจากกาบกล้วย ประกอบด้วยส่วนก้านใบ และใบ ก้านใบมีความยาวประมาณ 0.5-1 เมตร ถัดมาจะเป็นส่วนใบ หรือเรียก ใบตอง ซึ่งเป็นแผ่นเดียวกัน ซ้าย-ขวา ที่ถอดยาวไปจนถึงปลายใบยาว 1.5-2 เมตร แผ่นใบหรือใบตองที่เป็นยอดอ่อนจะมีสีเขียวอ่อน และตั้งตรง เมื่อแก่จะมีสีเขียวสด และก้านใบโน้มลงด้านล่าง แผ่นใบมีลักษณะเรียบ แผ่นใบด้านบนมีสีเขียวสด และเป็นมัน ส่วนแผ่นใบด้านล่างมีสีเขียวอมเทา ความยาวของแผ่นใบแต่ละข้างจะยาวเท่ากันประมาณ 25-30 เซนติเมตร
  • ดอกกล้วย (ปลี)กล้วยจะแทงออกที่ปลายยอด มีลักษณะเป็นช่อห้อยลง เรียกว่า เครือกล้วย โดยเครือกล้วยประกอบด้วยใบประดับสีแดงหุ้มดอกไว้ เรียกว่า ปลีกล้วย มีลักษณะค่อนข้างป้อมเมื่อเทียบกับปลีกล้วยชนิดอื่น ใบประดับส่วนปลายม้วนงอ แผ่นใบประดับด้านนอกบริเวณส่วนบนมีสีแดงม่วง ส่วนล่างมีสีแดง แผ่นใบประดับด้านในมีสีครีม ส่วนดอกที่อยู่ด้านในจะมีหลายดอกย่อยเรียงซ้อนกันเป็นแผง เรียกว่า หวี โดยกล้วยน้ำว้า 1 เครือ จะมีหวีกล้วยประมาณ 7-12 หวี แต่ละหวี มีผลกล้วยประมาณ 10-16 ผล
  • ผลกล้วย ผลกล้วยจะเจริญจากดอก ผลอ่อนมีลักษณะเปลือกผลสีเขียว และเป็นเหลี่ยม ผลห่ามจะมีเหลี่ยมน้อยหรืออวบกลม ไม่มีเหลี่ยม และจะมีสีเขียวอมเทา ส่วนผลสุก เปลือกผลจะค่อยเปลี่ยนเป็นสีเหลือง
    เนื้อกล้วยที่ถัดจากเปลือกผล เมื่อยังอ่อนจะมีสีขาว เนื้อแน่นเหนียว แต่หากสุกจะมีสีเหลืองอ่อน เนื้อสุกมีลักษณะอ่อนนุ่ม ให้รสหวาน
    กล้วย กล้วย กล้วย

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ยางกล้วยจากใบ, ผลดิบ, ผลสุก(ทุกประเภท), หัวปลี

สรรพคุณ กล้วย :

  • ใบ รสเย็นจืด ปิ้งไฟปิดแผลไฟไหม้ หรือต้มน้ำอาบแก้เม็ดผดผื่นคัน ตามร่างกาย
  • น้ำยาง รสฝาด น้ำยางจากก้านใบใช้เป็นยาสมานแผล ใช้ห้ามเลือด โดยใช้ยางหยดลงที่บาดแผล
  • ผล มีธาตุเหล็กในปริมาณสูง ช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง ป้องกันโรคโลหิตจาง มีแคลเซียม ฟอสฟอรัส และวิตามินซีช่วยบำรุงกระดูก ฟัน และเหงือกให้แข็งแรง ช่วยให้ผิวพรรณดี มีเบต้าแคโรทีน ไนอาซีนและใยอาหาร ช่วยให้ระบบขับถ่ายคล่องขึ้น
    กินกล้วยน้ำว้าสุก จะช่วยระบายท้องและสามารถรักษาโรคเลือดออกตามไรฟันในเด็กเล็กได้ ช่วยลดอาการเจ็บคอ เจ็บหน้าอกที่มีอาการไอแห้งร่วมด้วย โดยกินวันละ 4-6 ลูก แบ่งกินกี่ครั้ง ก็ได้
    กินกล้วยก่อนแปรงฟันทุกวันจะทำให้ไม่มีกลิ่นปาก และผิวพรรณดี เห็นผลได้ใน 1 สัปดาห์
    กล้วยน้ำว้าดิบและห่ามมีสารแทนนิน เพคตินมีฤทธิ์ฝาดสมาน รักษา อาการท้องเสียที่ไม่รุนแรงได้ โดยกินครั้งละครึ่งผล หรือ 1 ผล อาการท้องเสียจะทุเลาลง
    นอกจากนี้จากการศึกษาวิจัยยังพบว่า มีผลในการรักษาโรคกระเพาะได้อีกด้วย
  • ผลดิบ รสฝาด แก้โรคท้องเสีย สมานแผล รักษาแผลในกระเพาะอาหาร และอาหารไม่ย่อย, ใช้ผงกล้วยดิบโรยรักษาแผลเรื้อรัง แผลเน่าเปื่อย และแผลติดเชื้อต่างๆ
  • ผลสุก รสหวาน ใช้เป็นยาระบายสำหรับผู้ที่เป็นโรคริดสีดวงทวาร หรือผู้ที่มีอุจจาระแข็ง บำรุงกำลัง บำรุงร่างกาย รักษาแผลในกระเพาะอาหาร
  • ดอกหรือหัวปลี รสฝาด แก้โรคโลหิตจาง บำรุงน้ำนม ลดปริมาณน้ำตาลในเลือด แก้โรคกระเพาะอาหารลำไส้ และรักษาโรคเบาหวาน น้ำคั้นจากหัวปลี ดื่มเป็นยาบำรุงโลหิต และถ่ายเป็นมูกเลือด
  • หยวกกล้วย รสฝาดเย็น เผาไฟรับประทานเป็นยาขับพยาธิ
  • เหง้าหรือลำต้นใต้ดิน รสฝาดเย็น ปรุงเป็นยาแก้ริดสีดวงทวารชนิดมีเลือดออกหรือรักษาแผลภายในช่องทวาร
  • ราก รสฝาดเย็น ต้มน้ำดื่มแก้ไข้ ท้องเสีย แก้โรคบิด แก้ร้อนใน กระหายน้ำ สมานแผลภายใน และแก้ผื่นคัน

ข้อมูลเพิ่มเติม : 

รูปแบบและขนาดวิธีใช้กล้วยน้ำว้า

  • ยาระบาย สำหรับริดสีดวง ใช้กล้วยสุก 2 ลูก ปิ้งอย่าให้เปลือกไหม้ กินทั้งเปลือกท้องเสีย
  • แผลในกระเพาะอาหารและอาหารไม่ย่อย ใช้กล้วยดิบทั้งลูก บดปั่นกับน้ำเล็กน้อย เติมน้ำตาล(ชนิดใดก็ได้)กิน (อาจใช้กล้วยดิบ แห้ง บดเป็นผงเก็บในภาชนะที่ปิดแน่น ไว้ใช้ยามจำเป็น โดยผสมกับน้ำอุ่นหรือน้ำผึ้งกิน)
  • แผลในกระเพาะอาหาร ผงผลกล้วยห่าม  3-4  ช้อนชา  หรือ  5-7  กรัม  ผสมน้ำ  หรือน้ำผึ้ง  1-2  ช้อนโต๊ะ  ดื่มวันละ  4  ครั้ง  ก่อนอาหารและก่อนนอน แต่หากรับประทานแล้ว  ถ้ามีอาการท้องอืดเฟ้อ  ให้แก้โดยดื่มน้ำต้มขิงหรือสมุนไพรขับลมอื่นๆ นำมาบดรับประทานกับน้ำ รักษาโรคหรืออาการปวดท้องจุกเสียด
  • ใช้มาส์กหน้า โดยใช้กล้วยสุกหนึ่งผลมาบดให้ละเอียด แล้วเติมน้ำผึ้ง 2 ช้อนโต๊ะ จากนั้นคลุกให้เข้ากัน แล้วนำมาพอกหน้าทิ้งไว้ประมาณ 15 นาทีแล้วล้างออก
  • รักษาโรคหูดบนผิวหนัง ใช้เปลือกกล้วยวางบนลงบริเวณหูดแล้วใช้เทปกาวแปะไว้ ใบอ่อนของกล้วย หากนำไปอังไฟให้นิ่ม ใช้ประคบแก้อาหารเคล็ดขัดยอกได้ มีการแนะนำให้ใช้เปลือกกล้วยมาถูบริเวณที่เกิดสิวอักเสบ ทิ้งไว้สักพักแล้วล้างออกด้วยน้ำ

กล้วยน้ำว้าเป็นพืชที่สามารถนำทุกส่วนมาใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง ซึ่งไม่ว่าจะเป็นลำต้น,ใบ,ก้าน,ผล,ดอก(ปลี) ก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ เช่น ผลกล้วยน้ำว้าสุก นำมารับประทานเป็นผลไม้หรือใช้ทำเป็นขนม ของหวานต่างๆ อาทิ กล้วยเชื่อม กล้วยบวชชี กล้วยตาก ข้าวต้มมัด เป็นต้น หรือนำมาใช้สำหรับการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เช่น ทำบุญบ้าน ผลกล้วยน้ำว้าดิบ นำมาแปรรูปเป็นกล้วยฉาบ ทอด และโรยน้ำตาลหรือน้ำเชื่อม หรือ นำมาปอกเปลือก หั่นผลบางๆ แล้วนำมาตำรวมกับมะยม ลำต้นหรือหยวกกล้วยอ่อน นำมาปรุงอาหาร เช่น หมกหยาวกล้วย แกงหยวกกล้วย เป็นต้น หรือลำมาใช้เลี้ยวสัตว์ เช่น หมู เป็นต้น ปลีกล้วย ปลีกล้วย นำมาประกอบอาหาร เช่น ยำหัวปลี แกงหัวปลีใส่ปลา ห่อหมกหัวปลีใส่ไก่ หรือจะนำมาใช้เป็นเครื่องเคียงก็ได้ ใบกล้วย นำมาห่ออาหาร เช่น ห่อหมกต่างๆ และขนมไทยต่างๆ ใช้ทำเครื่องเล่นเด็ก ใช้ทำเครื่องพิธีกรรมทางศาสนา เช่น ใช้ทำพานบายศรีสู่ขวัญ หรือ ใช้ห่อกระทง กาบกล้วย กาบกล้วยสด นำมาฉีกแบ่งเป็นเส้นเล็ก (เชือกกล้วย) สำหรับใช้แทนเชือกรัดของ  ก้านกล้วย ใช้ทำเครื่องเล่นให้แก่เด็ก เช่น ม้าก้านกล้วย และใช้ปักดอกไม้สำหรับถือไปไหว้พระเป็นต้น

Scroll to top