กกดอกขาว

กกดอกขาว

ชื่อสมุนไพร : กกดอกขาว
ชื่ออื่น ๆ
: หญ้าก๊ดหมู, สลายก๊ดหมู (ลำพูน), หญ้าหัวโม่ง (สุราษฎร์ธานี), หญ้ากกดอกขาว (กรุงเทพฯ), หญ้าขนหมู (ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ), หญ้าดอกขาว (ภาคกลาง),
ชื่อสามัญ : Green kyllinga, Perennial greenhead sedge, Shortleaf spikesedge
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Kyllinga brevifolia Rottb.
ชื่อวงศ์ : CYPERACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นหญ้ากกดอกขาว จัดเป็นพรรณไม้ประเภทเดียวกับหญ้า ลำต้นเป็นเส้นเล็กยาว มีลักษณะเป็นเหลี่ยม มีผิวเรียบ สีเขียว ลำต้นมีความสูงประมาณ 10-50 เซนติเมตร ลำต้นมีรากมาก เมื่อขยี้ดม มีกลิ่นหอม
  • ใบหญ้ากกดอกขาว ลักษณะใบเป็นเส้น ยาวแคบ ปลายใบแหลม โคนใบเป็นสีม่วง ขนาดของใบกว้างประมาณ 1.5-3 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 3-10 เซนติเมตร
  • ดอกหญ้ากกดอกขาว ดอกออกเป็นช่อ มีรูปทรงกลม ติดกันเป็นกลุ่มแน่น สีเขียวออกขาว ยาวประมาณ 4-8 มิลลิเมตร ดอกออกบริเวณปลายยอด โคนดอกมีกลีบรองช่อดอก 3 กลีบ มีลักษณะคล้ายใบยาวประมาณ 1.6-5 นิ้ว ดอกเมื่อแก่เต็มที่จะหลุดล่วงไป
  • ผลหญ้ากกดอกขาว ผลมีลักษณะค่อนข้างแบน กลมรี

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : หัว, ทั้งต้น

สรรพคุณ กกดอกขาว :

  • หัว รสหอมร้อน เป็นยาแก้โรคบิด ถ่ายเป็นมูกเลือด แก้ไข้ แก้ไอ แก้เจ็บคอ แก้หลอดลมอักเสบ ไอกรน ไข้มาลาเรีย ปวดข้อ แก้ปวดกระดูก ขับลมในกระเพาะอาหาร โรคดีซ่าน ตับอักเสบ อืดแน่นท้อง ขับปัสสาวะ ขับเสมหะ หรือใช้ภายนอก นำมาต้มเอาน้ำ หรือตำพอกบริเวณแผลมีหนองบวมอักเสบ แผลเจ็บจากการหกล้ม ผิวหนังเป็นผลผื่นคัน แผลมีดบาด กระดูกหัก และพิษงูกัด
  • ทั้งต้น รสหอมสุขุม แก้ไอเป็นเลือด

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. วุฒิ วุฒิธรรมเวช. 2540. สารานุกรมสมุนไพร. โอเดียนสโตร์:กรุงเทพมหานคร.
  2. ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. กรุงเทพฯ : บ.ฐานการพิมพ์, 2547.
  3. วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. 2539. พจนานุกรม สมุนไพรไทย. พิมพ์ครั้งที่ 4 .ประชุมทองการพิมพ์: กรุงเทพมหานคร.
Scroll to top