โคกกะสุน

โคกกะสุน

ชื่อสมุนไพร : โคกกะสุน
ชื่ออื่น ๆ 
: กาบินหนี (ชื่อเรียกในตำรับยา) , โคกกระสุน (ภาคกลาง) , หนามดิน (ตาก) , ไปจี๋ลี่ , ซือจี๋ลี่ (จีน)
ชื่อสามัญ : Ground burnut, Small caltrops, Bullhead, Devil’s eyelashes.
ชื่อวิทยาศาสตร์ Tribulus terrestris Linn.
ชื่อวงศ์ ZYGOPHYLLACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : 

  • ต้นโคกกะสุน เป็นไม้ล้มลุกทอดเลื้อยไปตามพื้นดิน ยาวได้ถึง 150 เซนติเมตร เป็นพืชจำพวกหญ้าที่มีอายุได้ประมาณ 1 ปี แตกกิ่งก้านแผ่ออกโดยรอบปกคลุมไปตามพื้นดิน ชูส่วนปลายยอดและดอกตั้งขึ้นมา มีขนตามลำต้น
  • ใบโคกกะสุน เป็นใบประกอบแบบขนนกขนาดเล็ก มีใบย่อยประมาณ 4-8 คู่ ก้านใบยาวประมาณ 6-15 มิลลิเมตร ออกตามลำต้นและตามข้อ ออกเรียงแบบสลับตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบมน โคนใบเบี้ยว ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-4 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 8-10 มิลลิเมตร หลังใบและท้องใบมีขนนุ่มทั้งสองด้าน มีหูใบเป็นรูปใบหอก
  • ดอกโคกกะสุน ออกเป็นดอกเดี่ยวหรือออกเป็นช่อสั้นตามซอกใบหรือตามข้อของลำต้น ดอกเป็นสีเหลืองสด มีกลีบรองดอก 5 กลีบ และกลีบดอก 5 กลีบ กลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปรี รูปไข่กลับ หรือรูปไข่ปลายหอก มีสีเหลือง ดอกมีเกสรเพศผู้ 10 อัน ก้านดอกยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร เมื่อดอกบานจะมีขนาดกว้างประมาณ 0.7-2 เซนติเมตร
  • ผลโคกกะสุน ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม เปลือกผลแข็งเป็นรูป 5 เหลี่ยม มีหนามแหลมใหญ่ 1 คู่ และมีหนามแหลมเล็ก ๆ ทั่วไป ผลจะแบ่งออกเป็น 5 ช่อง ในแต่ละช่องจะมีเมล็ดอยู่ประมาณ 2-3 เมล็ด ผลพอแห้งจะแตกออกได้

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ทั้งต้น

สรรพคุณ โคกกะสุน : 

  • ทั้งต้น รสขมเล็กน้อย สรรพคุณ ช่วยขับปัสสาวะ แก้นิ่ว แก้กษัย แก้หนองใน ขับระดูขาว แก้ไตพิการ แก้ปัสสาวะพิการ แก้หน้ามืด แก้วิงเวียน ช่วยบำรุงตับ ช่วยบำรุงไต ช่วยบำรุงสายตา ช่วยบำรุงกระดูก ช่วยลดความดันโลหิต แก้อาการปวดทางเดินปัสสาวะ  ช่วยป้องกันการชัก แก้ปวดฟัน ช่วยบำรุงอสุจิในเพศชาย แก้โรคในระบบทางเดินปัสสาวะ ช่วยเสริมสมรรถภาพทางเพศ ช่วยเพิ่มฮอร์โมนเพศชาย

ข้อมูลเพิ่มเติม :

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้ขับปัสสาวะ แก้หนองใน ขับระดูขาว แก้ไตพิการ แก้ปัสสาวะพิการ แก้นิ่ว บำรุงกำลัง เพิ่มความกำหนัด เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ โดยใช้โคกกะสุน ทั้งต้น ต้มน้ำดื่ม ราก เมล็ด บดเป็นผง ชงกับน้ำร้อน ก็ได้
  • แก้ไตพิการ แก้นิ่ว แก้กษัย แก้หน้ามืด วิงเวียน โดยใช้ต้นโคกกระสุน 1 กำมือ ต้มดื่มวันละ 3 เวลา
  • แก้ปวดฟัน ใช้รากนำมาฝนผสมกับน้ำนิดหน่อย แล้วจึงนำมาถูกับฟันซี่ที่ปวด
  • บำรุงตับ ไต กระดูก และสายตา ใช้ผลแห้ง จำนวน 1 กำมือ นำมาต้มกับน้ำ 3 แก้ว แล้วเคี่ยวให้เหลือ 1 แก้ว นำมาดื่มครึ่งแก้ว วันละ 2 ครั้ง
  • กระตุ้นกำหนัด บำรุงน้ำอสุจิ โดยใช้เมล็ดแห้งบดให้เป็นผง ใช้กินกับน้ำผึ้ง วันละ 2 ครั้ง ครั้งละประมาณ 1 ช้อนชา
  • ลดความดันโลหิต ใช้ผลหนามกระสุน 15 กรัม ชุมเห็ดเทศ 30 กรัม ชะเอม 6 กรัม เก๊กฮวย 20 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม ส่วนสารสกัดหนามกระสุน 45% ที่มีในต่างประเทศได้ระบุขนาดการใช้ คือ 200–450 มิลลิกรัมต่อวัน

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. สตรีมีครรภ์ และสตรีที่อยู่ระหว่างให้นมบุตรห้ามใช้สมุนไพรหนามกระสุน
  2. เนื่องจากการศึกษาวิจัยพบว่าสารสกัดน้ำของหนามกระสุนมีปริมาณโพเทสเซียม สูง ดังนั้น ผู้ที่เป็นโรคหัวใจควรหลีกเลี่ยง หรือ ควรระมัดระวังในการใช้
  3. ในทางการแพทย์จีนได้ระบุไว้ว่า ผู้ที่มีภาวะ เลือดจาง เลือดน้อย ควรหลีกเลี่ยงการใช้หนามกระสุน
  4. ในการใช้สมุนไพรหนามกระสุนควรต้องระมัดระวัง ในการใช้ ควรใช้ในปริมาณที่พอดีที่ระบุไว้ในตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้มากเกินไป หรือ ใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ ส่วนเด็กผู้ป่วยเรื้อรัง หรือ ผู้ที่ต้องการรับประทานยาต่อเนื่องควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้หนามกระสุน เสมอ

ถิ่นกำเนิดหนามกระสุน

หนามกระสุน เป็นพรรณไม้ท้องถิ่นของเขตอบอุ่น และเขตร้อนของโลกโดยเชื่อกันว่ามีถิ่นกำเนิดอยู่หลายแหล่งตามทวีปต่างๆ เช่นในเขตอบอุ่นทางยุโรปตอนใต้ และออสเตรเลีย ส่วนในเขตร้อนได้แก่ บริเวณเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแอฟริกา เป็นต้น ทุ่งนา หรือ ตามไร่ส่วน และของเกษตรกร รวมถึงตามริมทาง ริมถนน ก็สามารถพบได้เช่นเดียวกัน

Scroll to top