ชื่อสมุนไพร : แกแล
ชื่ออื่น
: แกก้อง, สักขี, เหลือง, แกล, แหร ,เข, ช้างงาต้อก, น้ำเคี่ยวโซ่, หนามแข
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Maclura cochinchinensis (Lour.) Corner
ชื่อวงศ์ : MORACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นแกแล เป็นไม้พุ่มรอเลื้อยที่ทั่วไปมักพบกิ่งเป็นเถาเลื้อยยาวพาดตามต้นไม้ใหญ่จากลำต้นที่เกิดอยู่ใกล้เคียง กิ่งมีลักษณะเหนียว สามารถโค้งงอได้ดี โดยตามลำต้น และกิ่งมีหนามแข็งขนาดใหญ่ และแหลมคม โดยหนามจะเกิดบริเวณเดียวกับใบ ยาวประมาณ 3-5 ซม. ส่วนเปลือกลำต้นมีผิวขรุขระ และสากมือ เปลือกผิวสีเทา เนื้อไม้ค่อนข้างแข็ง และเหนียว เนื้อไม้ด้านนอกค่อนข้างขาว ส่วนแก่นกลางมีสีเหลืองปนน้ำตาล
    แกแล
  • ใบแกแล เป็นใบเดี่ยวเยื้องสลับข้างกันบนกิ่ง ตรงจุดเดียวกันกับหนาม มีก้านใบสีเขียว ยาว 1-3 ซม. ใบมีลักษณะเป็นรูปรี แผ่นใบเรียบ ค่อนข้างเป็นมัน ใบกว้างประมาณ 2-4 ซม. ยาวประมาณ 4-8 ซม. แผ่นใบมองเห็นเส้นกลางใบ และเส้นใบที่แตกออกด้านข้างเส้นกลางใบอย่างชัดเจน ขอบใบเรียบ ปลายใบโค้งมน ใบค่อนข้างเหนียว และหนา ใบอ่อนบริเวณยอดมีสีม่วงแดง ใบแก่มีสีเขียวเข้ม
  • ดอกแกแล ออกเป็นช่อเดี่ยว แทงออกบริเวณซอกใบตามส่วนปลายของกิ่ง โดยดอกแกแลจัดเป็นดอกไม่สมบูรณ์เพศ โดยมีดอกเพศผู้ และดอกเพศเมียแยกต้นกันอยู่ จึงต้องอาศัยการผสมพันธุ์ด้วยแมลง และกระแสลมเป็นสำคัญ โดยดอกจะมีรูปทรงกลมที่ประกอบด้วยดอกขนาดเล็กเรียงติดกันจำนวนมาก ดอกเพศผู้จะสีเหลืองอ่อน ส่วนดอกเพศเมียจะมีสีเขียว
  • ผลแกแล เป็นผลชนิดรวมเหมือนผลน้อยหน่าที่เจริญมาจากรังไข่ของดอกที่เชื่อมติดกันจำนวนมาก และเมื่อเจริญเป็นผลจะมีเปลือกเป็นแผ่นเชื่อมต่อกันคล้ายเปลือกสับประรด ผลดิบมีสีเขียว ผลสุกมีสีเหลือง เมื่อเด็ดขั้วผลจะมียางสีขาวคล้ายน้ำนมไหลออกมา ส่วนผลสุกจัดจะมีสีส้มแดง มีเนื้อด้านในเป็นสีเหลืองส้ม

ส่วนที่ใช้เป็นยา : แก่น

สรรพคุณ แกแล :

  • แก่น รสขมปร่า แก้ไข้รากสาด แก้ท้องร่วง รักษาอาการท้องเสีย บำรุงน้ำเหลืองให้ปกติ บำรุงกำลัง แก้พุพอง เป็นยาขับปัสสาวะ
    เป็นยาสำหรับสตรีที่คลอดบุตร บำรุงเลือด และแก้ประจำเดือนมาไม่ปกติ แก้มุตกิตระดูขาว แก้อาการตกขาวในสตรี เป็นยาขับเลือด ขับของเสียในสตรีหลังคลอดบุตร ช่วยขับสารพิษออกจากร่างกาย
    ลดอาการไอ และขับเสมหะ  ใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย
    ใช้น้ำต้มมาป้วนปากสำหรับลดกลิ่นปาก หรือ ลดอาการอักเสบของแผลในปาก
แก่นแกแลนิยมนำมาใช้สำหรับย้อมผ้า ย้อมสีพื้นแห ย้อมสีจีวร โดยจะให้สีเหลือง
Previous articleแก้ว
Next articleเกว้า