หนามแดง

หนามแดง

ชื่อสมุนไพร : หนามแดง
ชื่ออื่น ๆ
 : หนามขี้แฮด (ภาคเหนือ), มะนาวไม่รู้โห่ (ภาคกลาง), มะนาวโห่ (ภาคใต้)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Carissa carandas Linn.
ชื่อวงศ์ : APOCYNACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นหนามแดง เป็นพรรณไม้พุ่ม ขนาดใหญ่ ลำต้นมีความสูงประมาณ 2-3 ฟุต ลำต้นแตกกิ่งก้านสาขา ทั่วลำต้นมีหนามแหลมยาวประมาณ 2 นิ้ว
    หนามแดง
  • ใบหนามแดง เป็นใบเดี่ยว ซึ่งจะออกตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ป้อม หรือรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบมน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 นิ้ว ยาวประมาณ 1.5-3 นิ้ว ริมขอบใบเรียบ ไม่หยัก พื้นผิวใบเกลี้ยงเรียบเป็นมัน ใต้ท้องใบมีเส้นใบมาก และเห็นได้ชัดมาก
    หนามแดง
  • ดอกหนามแดง ออกเป็นช่อ ตามบริเวณปลายยอด ดอกมีสีขาว หรือสีชมพู กลิ่นหอม ลักษณะของดอกย่อย มีกลีบรองกลีบดอก ซึ่งมีโคนกลีบเชื่อมติดกัน ส่วนปลายกลีบแยกเป็นรูปหอก กลีบดอกมี 5 กลีบ ยาวประมาณ 1 ซม. ข้างในหลอดดอกมีเกสรตัวผู้ 5 อัน และตัวเมีย 1 อัน
    หนามแดง
  • ผลหนามแดง มีลักษณะ เป็นรูปรี มีขนาดยาวประมาณ 0.5-1 นิ้วผลอ่อนมีเป็นสีแดง แต่พอผลแก่เต็มที่ก็จะเปลี่ยนเป็นสีดำ ข้างในผลมีเมล็ดอยู่ 4 เมล็ด

ส่วนที่ใช้เป็นยา : เนื้อไม้, ใบ, ผล, ราก

สรรพคุณ หนามแดง :

  • เนื้อไม้ ใช้เนื้อไม้ นำมาปรุงเป็นยาบำรุงธาตุ บำรุงไขมัน ในร่างกายให้แข็งแรง และเป็นยาแก้อ่อนเพลีย
  • ใบ ใช้ใบสด นำมาต้มเอาน้ำกินเป็นยาแก้ท้องร่วง แก้ปวดหู แก้ไข้ แก้เจ็บคอ และแก้เจ็บปาก
  • ผล ใช้ทั้งผลสุก และผลดิบ กินเป็นยาแก้โรคเลือดออกตามไรฟัน และเป็นยาฝาดสมาน
  • ราก ใช้รากสด นำมาต้มเอาน้ำกิน เป็นยาขับพยาธิ บำรุงธาตุ เจริญอาหาร เป็นยาบำรุงกระเพาะอาหาร หรือใช้รากสดนำมาตำให้ละเอียด ผสมกับสุรา นำมาทาหรือพอกแก้คัน และใช้พอกบาดแผล
Scroll to top