สลอด

สลอด

ชื่อสมุนไพร : สลอด
ชื่ออื่นๆ
: บะกั้ง (แพร่), มะข่าง, มะคัง, มะตอด, หมากทาง, หัสคืน (ภาคเหนือ), ลูกผลาญศัตรู, สลอดต้น, หมากหลอด, หมากยอง (แม่ฮ่องสอน)
ชื่อสามัญ : Purging Croton, Croton Oil Plant
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Croton tiglium L.
ชื่อวงศ์ : EUPHORBIACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นสลอด เป็นไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 2-4 เมตร แตกกิ่งก้านสาขามาก เปลือกลำต้นเรียบเกลี้ยง เป็นสีน้ำตาลอ่อนหรือสีเทาเข้ม มีเส้นร้อย ตรงกิ่งอ่อนเป็นสีเขียวและมีขนปกคลุม ยอดอ่อนเป็นสีแดง
  • ใบสลอด ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรี รูปหอก หรือรูปไข่ ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมนหรือกว้าง ส่วนขอบใบหยักห่างๆ หรือจักเป็นซีฟัน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-14 เซนติเมตร แผ่นใบบางเป็นสีเขียวอมเหลือง หรือหน้าใบเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนหลังใบเป็นสีเขียวอ่อน แต่พอแก่จัดจะเปลี่ยนเป็นสีแดงและร่วงไป หน้าใบมีขนขึ้นประปราย ส่วนหลังใบเรียบ มีเส้นใบประมาณ 3-5 เส้น ที่ฐานใบมีต่อม 2 ต่อม มีก้านใบเรียวเล็ก ยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร
    สลอด
  • ดอกสลอด มีขนาดเล็ก ออกเดี่ยว ๆ หรือออกเป็นช่อที่ยอด ใบประดับมีขนาดเล็ก ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียอยู่บนต้นเดียวกัน หรืออยู่ต่างต้นกัน ดอกเพศผู้ มีขนรูปดาว กลีบรองกลีบดอก 4-6 กลีบ ปลายกลีบมีขน กลีบดอก 4-6 กลีบ ขอบกลีบมีขน ฐานดอกมีขน และมีต่อมจำนวนเท่ากันและอยู่ตรงข้ามกันกับกลีบรองกลีบดอก เกสรผู้มีจำนวนมาก ก้านเกสรไม่ติดกัน เมื่อดอกยังอ่อนอยู่ ก้านเกสรจะโค้งเข้าข้างใน ดอกเพศเมีย กลีบรองกลีบดอกรูปไข่ มีขนที่โคนกลีบ ไม่มีกลีบดอก หรือถ้ามีก็เล็กมาก รังไข่มี 2-4 ช่อง
    สลอด
  • ผลสลอด เป็นรูปรี รูปกลมยาว หรือกลมรูปไข่ แบ่งเป็นพู 3 พู ผลมีขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2 เซนติเมตร ปลายผลหน้าตัดเป็นรูปสามเหลี่ยม ผิวผลขรุขระเล็กน้อยและสากมือ ผลแห้งจะออกเป็น 3 ซีก ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 1-3 เมล็ด เมล็ดเป็นสีน้ำตาลอ่อนหรือสีเหลืองเข้ม ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปรี กลมรี หรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่ เมล็ดแบนเล็กน้อย เมล็ดมีขนาดกว้างประมาณ 8-10 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร และหนาประมาณ 4-7 มิลลิเมตร ผิวเมล็ดเรียบเป็นมันเงา เนื้อเมล็ดอมน้ำมัน และน้ำมันจากเมล็ดมีพิษมาก
    สลอด

ส่วนที่ใช้เป็นยา : เมล็ด, ราก, ดอก, ใบ, เปลือกต้น

สรรพคุณ สลอด :

  • เมล็ด รสเผ็ดร้อนมัน เมล็ดมีพิษมาก ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง เพราะเป็นยาถ่ายอย่างแรงและเป็นพิษ ก่อนใช้ประกอบยาต้องฆ่าฤทธิ์ยาตามตำรับกำหนดไว้เสียก่อน จึงจะใช้เป็นยาถ่ายพิษเสมหะ และโลหิต ถ่ายน้ำเหลือง ถ่ายลม ถ่ายพยาธิ แก้การผิดปกติของจิตประสาท แก้โรคลมชักบางชนิด แก้ท้องผูกที่ใช้ยาอื่นไม่ได้ผล ขับพยาธิในลำไส้ แก้ท้องมาน บวมน้ำ ขับลม แก้ปวดท้อง แก้โรคเก๊าท์
  • ราก ต้มกินเป็นยาขับปัสสาวะ กินมากแท้งบุตรได้ แก้โรคเรื้อน ถ่ายเสมหะ ถ่ายโลหิตและลม
  • ดอก รสฝาดเมาเย็น ดับธาตุไฟไหม้ไม่ให้กำเริบ แก้กลากเกลื้อน แก้คุดทะราด
  • ใบ แก้ตะมอย แก้ไส้ด้าน ไส้ลาม (กามโรคที่เกิดเนื้อร้ายจากปลายองค์กำเนิดกินลามเข้าไปจนถึงต้นองค์กำเนิด)
  • เปลือกต้น แก้เสมหะอันคั่งค้างอยู่ในอกและลำคอ
Scroll to top